ชีวิตที่พอเพียง  4313. สะท้อนคิดเรื่องการเดินจงกรมยามเช้าของผม


 

สาระในบทความ Mindfulness and Experiential Learning (2009)  (๑)      เขียนโดย Bauback Yeganeh & David Kolb ยังก้องอยู่ในสมองของผมระหว่างออกไปเดินออกกำลังเช้าวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๕   

ผมตีความว่า สาระในบทความนี้ ช่วยให้ผมเข้าใจการฝึกฝนความแข็งแรงด้านจิตจดจ่อ (mindfulness) ของผม    ที่ผมสงสัยมานาน   ว่าสมองของผมแข็งแรงหรืออ่อนแอกันแน่ในเรื่องนี้    เพราะหากผมปฏิบัติสติภาวนาด้วยการนั่งนิ่งๆ ไม่คิด   เอาจิตไปเพ่งที่ลมหายใจเข้าออกตรงปลายจมูก และการยุบพองของหน้าอก และท้อง     ผมทำได้ไม่นาน     หากทำนานผมจะหลับไปเลย    สภาพเช่นนี้เป็นมาตั้งแต่อายุ ๑๘ จนถึง ๘๐ ในปัจจุบัน   

แต่ผมสังเกตว่า ในช่วงที่ผมออกไปเดินออกกำลังยามเช้า ตั้งแต่ตี ๕ เศษๆ จนถึง ๖ โมงเช้า     หากไม่ฟังวิทยุ  มุ่งให้จิตผูกพันกับธรรมชาติรอบด้าน    ทั้งเสียงหรีดหริ่งเรไร  เสียงนก   ภาพต้นไม้  ดอกไม้  แสงไฟ ภาพท้องฟ้ายามอรุณรุ่ง  ทัศนียภาพรอบอ่างน้ำ    และกลิ่นหอมของไม้หอมหลากชนิด   จิตของผมสงบมาก    และผูกพันอยู่กับธรรมชาติเหล่านี้    ความสงบของจิตทำให้ความสร้างสรรค์ โผล่ออกมาโดยไม่ต้องคิด   อย่างเช้าตรู่วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๕ ผมต้องหยุดเดิน จดคำว่า connected & disconnected mindfulness   

ซึ่งหมายความว่า จิตจดจ่อมี ๒ แบบ คือ แบบจิตว่างจากเรื่องราวรอบตัว และเรื่องราวในอดีตและอนาคต    กับ แบบจิตจดจ่อกับสิ่งที่สัมผัสในปัจจุบันขณะรอบตัว    ที่ผมเรียกแบบแรกว่า จิตจดจ่อกับความว่าง    และเรียกแบบหลังว่า จิตจดจ่อกับปัจจุบันขณะรอบตัว    แนวคิดนี้ได้จากบทความ  (๑)       

ผมฝึกจิตจดจ่อกับความว่างได้ไม่ดีเลย    ฝึกไม่ขึ้น   แต่จิตจดจ่อกับปัจจุบันขณะรอบตัวเกิดขึ้นเองอย่างเป็นธรรมชาติ  ไม่ต้องตั้งใจฝึก 

การเดินออกกำลังยามเช้าของผมจึงให้ประโยชน์สองด้าน    คือด้านกายภาพ ช่วยให้ได้ physical exercise    และด้านจิตใจ ได้ฝึก mental & spiritual exercise    ที่ส่งผลดีต่อ experiential learning ของผม

ซึ่งหมายความว่า ช่วยให้ผมสามารถเรียนรู้จากกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่ผมเข้าร่วมได้ดียิ่งขึ้น    นั่นคือ experiential learning   ช่วยให้ชีวิตสนุกมาก   คือไม่ว่าเข้าไปร่วมกิจกรรมใด ผมเอามาเป็นเครื่องมือฝึกสติภาวนาของผม พร้อมๆ กันกับฝึก experiential learning ไปด้วยในตัว    ซึ่งก็คือ ฝึกตีความเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น นั่นเอง

โดยผมบอกตนเองว่า ต้องเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ต่อการตีความของตนเอง    ต้องเอาไปทดลองใช้ในโอกาสต่อไป     และหากเอามาแชร์ใน บล็อก แบบที่กำลังทำอยู่นี้   ก็ต้องเตือนท่านผู้อ่านว่า อย่าเพิ่งเชื่อ ให้ฟังหูไว้หู     

เป็นกระบวนการทางปัญญาที่ผมสนุกมาก กับชีวิต ๘๐ กะรัต ในยามนี้                          

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ส.ค. ๖๕

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 708035เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2022 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2022 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท