พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็น means  ไม่ใช่ end


 

นี่คือปิ๊งแว้บ จากการเตรียมประชุมคณะอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผล ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ ๔/๒๕๖๕ เย็นวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕   

หลังจากดำเนินการมา ๓ ปี    เริ่มเห็นผลของการ ปลดล็อก กฎระเบียบที่รัดรึงโรงเรียนและครู   โดยเห็นว่านักเรียนได้รับประโยชน์   ผลลัพธ์การเรียนรู้มีท่าทีว่าจะดีขึ้น   ครูจัดการเรียนรู้แบบ เรียนรู้เชิงรุก (active learning) แก่นักเรียนได้สะดวกขึ้น    ครูถูกใช้งานด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการดูแลนักเรียนน้อยลง     โรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากกลไกสนับสนุนในพื้นที่มากขึ้น   มีจังหวัดสมัครเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด     จาก ๘ จังหวัดเดิม คือ กาญจนบุรี  เชียงใหม่ ระยอง   ศรีสะเกษ  สตูล    นราธิวาส  ยะลา   ปัตตานี    มีสมัครขอเป็นจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพิ่มอีก ๗ จังหวัด คือ กระบี่   ตราด   แม่ฮ่องสอน   สุโขทัย  สงขลา    สระแก้ว   อุบลราชธานี      

ผมตีความว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นการทดลองให้พื้นที่ (จังหวัด) จัดการตนเองด้านการศึกษา    ซึ่งในขณะนี้การทดลองทำได้เพียงไม่ถึงครึ่ง   เพราะยังไม่สามารถปลดล็อกด้านการบริหารเงินและบุคลากรได้    แม้เวลาจะผ่านมากว่า ๓ ปีแล้ว    ไม่ทราบว่าปลดไม่ได้หรือไม่อยากปลด   

กระแสสังคม น่าจะช่วยกันเรียกร้อง ให้ปลดให้หมด ไม่ขยักอำนาจของส่วนกลางไว้   

แต่นั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของบันทึกนี้

วัตถุประสงค์หลักของบันทึกนี้คือ ต้องการชี้ให้เห็นเป้าหมายหลักของการมีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา     ว่าไม่ใช่เพื่อมีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา    แต่เพื่อใช้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของระบบใหญ่    ในลักษณะทำไปเรียนรู้ไปขับเคลื่อนไป   คือต้องรู้จักใช้พลังของ Kolb’s Experiential Learning Cycle 

ดังนั้น สบน. (สำนักบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา) จึงต้องสร้าง Experiential Learning Platform ของและระหว่างพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาขึ้น   สำหรับยกระดับคุณภาพผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนในพื้นที่นวัตกรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป   และสื่อสารเป็นตัวอย่างให้แก่ระบบใหญ่ของประเทศ        

ข้างบนนั้นเขียนก่อนการประชุม    ในที่ประชุม มีการเสนอข้อมูลการขอเข้าเป็นจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดอุบลราชธานี และสงขลา   ที่การนำเสนอสะท้อนภาพของมุมมองและวิธีคิดของคนในวงการบริหารการศึกษา    ที่น่าจะได้นำมาวิเคราะห์เพื่อหาทางขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อไป   

อีกวาระหนึ่งคือ ความก้าวหน้าของโครงการจัดทำมาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษาของ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่ทีมงานจากจุฬาฯ นำเสนอ   ช่วยให้ได้ตั้งคำถามลึกๆ    จากมุมมองของผมว่า มาตรฐานข้อมูลและระบบข้อมูลเป็น means   ไม่ใช่ end    ตัว end คือมีการใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ต่อตัวเด็ก   และนักเรียนเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ต้องการ   

การประชุมล่วงเลยไป ๑ ชั่วโมง    ผมได้โอกาสเสนอตอนจบ    ว่า สบน. ควรจัดให้มี learning platform ระหว่างพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา   เปิดโอกาสให้แต่ละพื้นที่นำประสบการณ์ของตนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน    สู่ความเข้าใจหลักการ ที่จะนำสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และมีความเสมอภาค ของนักเรียน

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ส.ค. ๖๕

 

หมายเลขบันทึก: 707802เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2022 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2022 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท