ชีวิตที่พอเพียง  4308a. เขียน (และอ่าน) หนังสือด้วย Kolb’s Experiential Learning Cycle


ชีวิตที่พอเพียง  4308a. เขียน (และอ่าน) หนังสือด้วย Kolb’s Experiential Learning Cycle 

ผมกำลังอ่านหนังสือ เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคนพร้อมสู้อนาคต  (แปลจาก PREPARED : What Kids Need For a Fulfilled Life) ไปได้ค่อนเล่ม    และสังเกตว่า ผู้เขียน (Dianne Tavenner)   เขียนหนังสือเล่มนี้ด้วย Kolb’s Experiential Learning Cycle เป็นหลัก

คือเขียนจากการตกผลึกจากประสบการณ์ตรงของตนเอง    เล่าเรื่องราว แล้วโยงสู่หลักการ (conceptualization)     ที่มีคนเสนอไว้ก่อนแล้ว     แต่ครูและผู้บริหารการศึกษา (ของอเมริกา) เอาไปใช้ไม่เป็น   

ในเชิงหลักการแล้ว หนังสือเล่มนี้ไม่มีอะไรใหม่   สิ่งที่ใหม่คือวิธีนำหลักการไปใช้   โดยต้องฟันฝ่ามรสุมความเคยชินในการปฏิบัติต่อๆ กันมา     แม้จะมีผู้เสนอว่าหลักการที่ใช้อยู่เดิมนั้นบัดนี้ใช้การไม่ได้แล้ว     แต่คนเรามักอ่านเรื่องเชิงทฤษฎีแบบฟังเข้าหูซ้ายทะลุออกหูขวา    คือเหมือนจะเข้าใจ แต่ไม่ตระหนักว่าตนเข้าใจแบบผิวเผิน     เอาไปใช้ไม่เป็น   

การศึกษาไทยตกอยู่ภายใต้กับดักนี้    กับดัก เข้าใจแบบผิวเผิน  เอาไปใช้ไม่เป็น    เนื่องจากการเรียนแบบเน้นให้รู้ทฤษฎี มีข้อจำกัด   คือเมื่อรู้แล้วต้องมีความกล้า และมี “ปัญญาปฏิบัติ” (actionalable wisdom) ผ่านการนำไปทดลองในปฏิบัติการจริง   

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว  ผมตีความว่า การเรียนจากอ่านหนังสือ หรือฟังครูบอก    ไม่สามารถช่วยให้ผู้เรียนทุกคนเกิดการเรียนรู้ในระดับนำไปใช้งานได้   อาจมีนักเรียนเพียงบางคนเท่านั้นที่บรรลุ    หากต้องการให้นักเรียนทุกคน บรรลุ   ต้องมีการออกแบบกิจกรรม เพื่อหมุนวงจร Kolb’s Experiential Learning Cycle   

หนังสือเล่มนี้บอกเราว่า การนำทฤษฎีใหม่เข้าไปใช้ในวงการศึกษา (ที่ยึดติดแนวทางเก่าๆ) ไม่ใช่เรื่องง่าย   ต้องเอาชนะความเคยชินเก่าๆ ของ stakeholders มากมาย    ที่สำคัญคือ พ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียน   และที่สำคัญที่สุดคือตัวเอง    ดังที่ Dianne Tavenner เล่าเรื่องที่ตนเองเอาชนะความเคยชินเดิมๆ ของตนเอง ในเรื่องการเลี้ยงลูกชายคนเดียวของตน   

ทั้งหมดนั้นเพราะเราผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ แบบผิวเผิน     ไม่เรียนสู่การเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง (transfer learning)  ตามที่อธิบายไว้ในหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง 

เพื่อเรียนรู้ในระดับ “รู้จริง” (mastery learning)    ต้องเรียนแบบ “เรียนรู้เชิงรุก” (active learning)    เน้นเรียนรู้จากการปฏิบัติ ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิดสู่การสร้างหลักการด้วยตนเอง    หรือทำความเข้าใจหลักการที่มีผู้เสนอไว้ก่อนแล้ว จากความเข้าใจของตนเอง ที่ได้จาก reflective observation    ตามหลังการปฏิบัติ     โดย reflect   สู่ conceptualization   

วิจารณ์ พานิช

   ๒๕ ก.ย. ๖๕  

 

 

 

 

                   

 

หมายเลขบันทึก: 707795เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2022 07:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2022 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท