ชีวิตที่พอเพียง  4307. ศ. นพ. อารี วัลยะเสวี ปูชนียบุคคลทางการแพทย์ และผู้อุทิศชีวิตเพื่อสังคม 


 

ตอนที่ผมเรียนแพทย์ที่ศิริราช ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๕ – ๒๕๐๙ ศ. นพ. อารี วัลยะเสวี อยู่ในกลุ่มอาจารย์แพทย์หนุ่มหัวก้าวหน้า    และเป็นไอดอลท่านหนึ่งของผม    ผมเปิดหนังสือทำความรู้จักท่าน รู้ว่าท่านเรียนจบแพทย์ที่ศิริราชปี ๒๔๙๔  ในขณะที่ ศ. นพ. ณัฐ ภมรประวัติ จบปี ๒๔๙๕   และ ศ. นพ. ประเวศ วะสี จบปี ๒๔๙๘   

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ผมได้เขียนยกย่องท่านใน บล็อก Gotoknow ในหัวข้อ คนดีวันละคน อ่านได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/125521  

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ท่านได้รับยกย่องเป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น   โดยมีคำยกย่องของรางวัลดังกล่าวดังนี้ 

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี

นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี พ.ศ. 2537 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องทางด้านโภชนาการ โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับการเกิดนิ่ว ในกระเพาะปัสสวะ ซึ่งได้ค้นพบว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี อันเนื่องมาจากอาหาร โดยมีสาเหตุมาจากการขาดสารฟอสฟอรัสในอาหาร และการเพิ่มขึ้นของของปริมาณสารออกซาเลท ที่มาจากอาหารท้องถิ่น ซึ่งเป็นตัวผลึกสำคัญในก้อนนิ่ว ผลการวิจัยนำไปสู่การป้องกันโรคนิ่ว โดยการให้เกลือฟอสเฟต ในระดับชุมชนจนสำเร็จ โดยการผสมผสานงานวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ เข้ากับงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาพอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านโภชนาการ.

ศ. นพ. อารี วัลยะเสวี เป็นแพทย์ไทยคนแรกที่ได้รับการศึกษาด้านวิชาการระดับปริญญาเอก และได้รับการฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพกุมารแพทย์ American Board of Pediatrics ในช่วงเวลาเดียวกัน    ถือเป็นบุคคลที่ได้รับการศึกษาและฝึกฝน “ครบเครื่อง” เมื่อผสานกับความเป็นคนมีจิตใจเห็นแก่ส่วนรวม    ทำเพื่อชาติบ้านเมือง จึงทำให้ชีวิตของท่านเต็มไปด้วยผลงานเพื่อสังคม เพื่อบ้านเมืองในหลากหลายด้าน

เพื่อจารึกไว้จากประสบการณ์ตรงของผม ขอเรียนว่า ท่านเป็นผู้ริเริ่มการก่อตั้ง บวท. (บัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย – tast.or.th)    จากการที่ท่านได้รับยกย่องเป็น Fellow of the (American) National Academy of Sciences เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับยกย่อง    ท่านบอกผมให้หาทางสร้างองค์กรทำนองเดียวกันให้แก่ประเทศไทยบ้าง   เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำได้ร่วมกันทำประโยชน์แก่ประเทศ     เราจึงร่วมกันก่อตั้ง บวท. โดยมี ศ. นพ. อารี วัลยะเสวี  เป็นประธานท่านแรก    และ ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นประธานท่านต่อมา     บวท. มีกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่สังคม มาจนปัจจุบัน     

การริเริ่มเพื่อประโยชน์ต่อสังคมของท่านอีกอย่างหนึ่งของท่าน คือการใช้พื้นที่ที่เป็นบ้านเดิมของ พลตรี นายแพทย์สฤษดิ์วงศ์ และคุณหญิงสดศรี วงศ์ถ้วยทอง ในซอย ๒๒ ถนนพหลโยธิน เป็นที่ตั้งของมูลนิธิ สดศรี-สฤษดิ์วงศ์  และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ    ที่เมื่อ นพ. สฤษดิ์วงศ์ถึงแก่กรรม ท่านต้องการอุทิศทรัพย์สมบัติของท่านเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปัญญาเลิศ    คุณหญิงสดศรี น้องสาวของท่านได้ปรึกษาพี่ชาย และท่านนำมาปรึกษา ศ. นพ. ประเวศ วะสี นำสู่การก่อตั้งมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ โดยมอบพื้นที่ดังกล่าว และบ้านเดิมของคุณหญิงและ พลตรี นพ. สฤษดิ์วงศ์ ให้ดำเนินการกิจการของมูลนิธิ   

ผมได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิด และเรียนรู้จากท่าน ตั้งแต่สมัยที่ผมยังทำงานอยู่ที่หาดใหญ่     แต่ ศ. นพ. ประเวศ วะสี ตามตัวมาช่วยงานด้านสังคมเป็นระยะๆ    และเมื่อมูลนิธิ ร็อกกี้เฟลเล่อร์ ให้ทุนสนับสนุนให้ ศ. นพ. ประเวศ วะสี ให้ก่อตั้งกิจการด้านระบาดวิทยาในประเทศไทยในนามของ National Epidemiology Board of Thailand – NEBT  เริ่มปี พ.ศ. ๒๕๓๐   ผมได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่รองประธานฝ่ายโรคไม่ติดต่อ (NCD – Non-communicable diseases) โดยมี ศ. นพ. อารี วัลยะเสวี เป็นประธาน  และ ศ. นพ. ไพบูลย์ สุรียะวงศ์ไพศาล เป็นเลขานุการ   การเดินทางขึ้นมาประชุมทำหน้าที่นี้ร่วมกับ ศ. นพ. อารี และ ศ. นพ. ไพบูลย์ และกรรมการท่านอื่นๆ ช่วยให้ผมได้เรียนรู้มาก   และเป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ผู้อำนวยการ สกว. (สำนักงานกองทุนสับสนุนการวิจัย) ในปี ๒๕๓๖    

NEBT ต่อมาเปลี่ยนสภาพเป็น มสช. (มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ)    ทำคุณประโยชน์แก่พัฒนาการด้านสาธารณสุขของประเทศมากมาย มาจนปัจจุบัน    มีอายุ ครบ ๓๐ ปีแล้ว            

ผมได้รับความเมตตาจากท่านอาจารย์หมออารีมาก ในหลากหลายเหตุการณ์ เล่าได้ไม่มีทางหมด    ตัวอย่างเช่น ปลายปี ๒๕๓๕ ผมเข้ารับการสัมภาษณ์ในฐานะ candidate ๔ คนที่เป็น finalist จาก ๕๙ คนที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการกองทุนสนับสนุนการวิจัย    พบว่า ท่านเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหา   ต่อมาไม่กี่วันท่านก็แสดงความยินดีกับผมว่าผมได้รับการคัดเลือก 

หลังจากนั้นอีกปีเศษ ท่านได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบาย สกว. ให้คุยกับผม (ในฐานะ ผอ. สกว. ที่ผลงานในปีแรกไม่เป็นที่น่าพอใจ) สองต่อสอง   เมื่อผมเข้าพบท่าน คำแรกที่ท่านถามคือ “สู้ไหม”    และคำสนทนาสะท้อนความเมตตาของท่านที่มีต่อผม    ที่ให้คำแนะนำ และบอกให้มุ่งมั่นทำงานสร้างผลงานให้ได้    

 ศ. นพ. อารี วัลยะเสวี เป็นบุคคลที่ชีวิตเป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นหลัง   ผมเป็นคนหนึ่งที่มุ่งดำเนินชีวิตตามแนวของท่าน    แต่ทำไม่ได้ถึงหนึ่งในสิบ 

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ส.ค. ๖๕

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 707610เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2022 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2022 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท