ชีวิตที่พอเพียง  4299. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ๑๖๐. เตรียมจัดตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ 


  

ร่าง พรบ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... ระบุในมาตรา ๕๕ ให้มีสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้  และมาตรา ๙๘ ระบุให้ สสวท. ทำหน้าที่นี้ ใน ๕ ปีแรก     สสวท. จึงตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ (สพลร.)    มี รศ. ดร. คุณหญิง สุมณฑา พรหมบุญ เป็นประธาน   ผมได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการด้วย    จึงมีโอกาสได้เรียนรู้มากจากกระบวนการทำงาน    

ผมมีความเห็นว่า สถาบันนี้ต้องก้าวข้ามมายาคติอย่างน้อย ๒ อย่าง   ที่เป็นกับดักความก้าวหน้าของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย  คือ   

  1. คิดว่าการพัฒนา และกำหนดหลักสูตรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานวิชาการที่ส่วนกลาง   โรงเรียนและหน่วยงานส่วนปลายทางเป็นผู้ดำเนินการตามข้อกำหนด  และ 
  2. คิดว่าการพัฒนาหลักสูตรเป็นกิจกรรมเชิงเส้นตรง  มีจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุด   

ในโลกแห่งความเป็นจริงที่มีลักษณะ VUCA (volatile, uncertain, complex, ambiguous) / BANI (brittle, anxious, non-linear, incomprehensible)   ระบบใดก็ตามที่ไม่มีกลไกเรียนรู้และปรับตัวภายในระบบ    เสี่ยงต่อความล้าหลักตกยุค (ดังที่ระบบการศึกษาของเรากำลังเผชิญ)     

สพลร. จึงต้องใช้กระบวนทัศน์ใหม่ใน ๒ ประเด็นข้างบนคือ 

  1. สพลร. ทำหน้าที่ระดมภาคีมาร่วมกันพัฒนาและประยุกต์ใช้หลักสูตรที่ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทของสภาพสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่ที่โรงเรียนนั้นตั้งอยู่    และ
  2. สพลร. ทำหน้าที่หมุนวงจรการเรียนรู้ของการกำหนด และการประยุกต์ใช้หลักสูตร    เป็น Double-Loop Learning   โดยใช้พลังของ Kolb’s Experiential Learning Cycle

เท่ากับ สพลร. ทำหน้าที่จัดกระบวนการพัฒนาหลักสูตรที่มีชีวิต   ทำให้การพัฒนาและการประยุกต์ใช้หลักสูตรเข้ามาบรรจบเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน    และขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไปด้วยกัน    โดยมีการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ หรือเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงาน ที่เรียกว่า Kolb’s Experiential Learning Cycle   โดยใช้พลังของ Action Science ที่เรียกว่า Double-Loop Learning 

หัวใจสำคัญคือ หน่วยพัฒนาหลักสูตรต้องไม่ทำตัวเป็นหน่วยเหนือ    ทำหน้าที่ “ผู้รู้” กำหนดให้ฝ่ายปฏิบัติ (“ผู้ไม่รู้”) ทำตาม    เพราะลงท้ายจะกลายเป็น “ผู้เขลา” ไปทั้งหมด   ชวนกันร่วมกันเป็นขบวน “ผู้ล้มเหลว”    

ในยุค VUCA/BANI “ผู้สำเร็จ” คือผู้เรียนรู้เร็ว ปรับตัวเร็ว    ต้องไม่รอให้คนอื่นมาบอก    คือต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติของตัวเอง    และต้องหาภาคีร่วมเรียนรู้    และที่สำคัญยิ่งคือต้องกล้าหาญที่จะร่วมเรียนรู้กับ ผู้/หน่วยงาน ที่คิดต่างมองต่าง     ต้องพร้อมที่จะเข้าสู่ transformative learning     

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ก.ค. ๖๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 707304เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2022 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2022 17:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท