วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙)  ๑๓๘. พัฒนาการของระบบ ววน. ไทย 


 

สอวช. จัดประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการ เพื่อขอคำแนะนำต่อทิศทางเชิงกลยุทธต่อ สอวช. เมื่อเย็นวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕  ผมโชคดีได้รับเชิญเข้าร่วมด้วย   ทำให้ได้รับความรู้มาก   แต่ข้อสะท้อนคิดลงในบันทึกนี้จะมองที่ระบบ ววน. ของประเทศเป็นหลัก    ไม่ใช่ที่ สอวช. ซึ่งเป็นประเด็นที่คุยกันในเย็นวันนั้น   

สอวช. เสนอ สิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ๙ ประการคือ (๑) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (๒) เศรษฐกิจเติบโตช้า  (๓) ความเหลื่อมล้ำ  (๔) disruptive innovation  (๕) ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ  (๖) ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ  (๗) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  (๘) โควิด ๑๙  และโรคติดเชื้ออุบัติใหม่  (๙) การแย่งชิง talents และภาวะสมองไหล   

สอวช. เสนอว่า ความท้าทายดังกล่าวมีนัยยะต่อการพัฒนา อววน. ไทย ๙ ประการคือ  (1) knowledge-based industry  (2) creative & cultural-based industry  (3) local economy  (4) poverty eradication  (5) inclusive innovation  (6) climate change mitigation & adaptation  (7) human security (health, water, food)  (8) reinventing education & human capital development  (9) lifelong learning /  future skills / future jobs     

ที่จริง ในช่วง ๔ ปีที่มีกระทรวง อว.   ได้มีการปฏิรูประบบ อววน. อย่างน่าชื่นชม   ส่วนหนึ่งมาจากผลงานเชิงวิชาการหรือเชิงระบบ ที่เสนอไปจาก สอวช. และองค์กรภาคี    แต่ก็ยังมีประเด็นที่ต้องพัฒนาอีกมาก   หากจะให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง       

 เรื่องสำคัญที่สุดที่ผมได้เรียนรู้คือการทำงานของ สภานโยบาย อววน. ไม่เข้มแข็ง   โดยที่สภานี้มีหน้าที่  (๑) เสนอ นโยบาย  ยุทธศาสตร์ แผน อ และ ววน. ต่อ ครม.  (๒) เห็นชอบกรอบวงเงิน งปม. อ และ ววน. เพื่อเสนอ ครม. อนุมัติ  (๓) กำกับทิศทางการดำเนินงานของ คกก. และหน่วยงาน ในระบบ ววน.  (๔) เสนอ ครม. เร่งรัดการปรับปรุงกม. อววน. และเชื่อมโยงการทำงานภาครัฐกับเอกชน  (๕) เสนอแนะ ครม. กำหนดมาตรการแรงจูงใจเพื่อพัฒนา อววน.  (๖) ติดตามประเมินผลการดำเนินการตาม นโยบาย ยุทธศาสตร์  แผน  (๗) กำกับ เร่งรัด ติดตาม บูรณาการการจัดทำฐานข้อมูล อววน.  (๘) เสนอรายงานการพัฒนา อววน. ต่อ ครม. และรัฐสภา   

สอวช. บอกเองว่า สอวช. ยังอ่อนในด้านการแสดงให้เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม    ทั้งๆ ที่มีผลงานมากมาย   

ที่จริง ตามเอกสารที่เสนอ    สะท้อนว่า สอวช. มีศักยภาพสูงมากในการวิเคราะห์ตนเอง     คำแนะนำของผู้ได้รับเชิญไปร่วมให้ข้อคิดเห็นจึงเป็นส่วนเสริมเท่านั้น   

แต่ก็เป็นการช่วยระดมความคิดที่ตื่นตาตื่นใจผม    เพราะผมไม่มีประสบการณ์ตรงในกระบวนการพัฒนา อววน. ในขณะนี้   ในวงเสวนามีผู้ใหญ่ที่อยู่ในจุดต่างๆ ของการพัฒนาประเทศ     ช่วยให้ข้อมูลและความเห็นเชื่อมโยงกับกิจกรรมสำคัญๆ ในการพัฒนา อววน.    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเชื่อมกับภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจเอกชน    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุน start-up พัฒนา deep tech   

หลังจากยุให้คนอื่นพูดหมดแล้ว ผมให้ความเห็นเสริมประเด็นเดียว คือ การสร้าง solidarity ระหว่างหน่วยงานในระบบ อววน.   ที่คนในทุกหน่วยงานรู้สึกว่าตนอยู่ในเรือลำเดียวกัน    หากทำงานสร้างผลงานให้สังคมเชื่อถือไม่ได้ ก็ถือเป็นความล้มเหลวร่วมกัน   ดังนั้นต้องกลมเกลียวกันทำงานสร้างผลงานที่เป็นรู้ธรรม    ให้สังคมมีความยอมรับนับถือ    คล้ายกับที่ประชาชนเกาหลีแสดงออกต่อระบบงาบประมาณสนับสนุน ววน. ของรัฐบาล (๑) 

จิตวิทยาของ Solidarity คือ synergy   ระบบ อววน. จะแข็งแรง เอาชนะความซับซ้อน และความเฉื่อยเชิงระบบได้    ส่วนต่างๆ ของระบบ อววน. ต้องมุ่งทำงานอย่างมี synergy กัน    ต้องมีความเชื่อว่าหากร่วมมือกัน เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน    จะเกิดสภาพ win – win    ไม่ใช่ win – lose    ต้องมีกระบวนทัศน์ของ positive sum game    ไม่ใช่ zero sum game   

ผมมีความเห็นว่า สอวช. ค้องค้นหาวิธีการสร้างกระบวนทัศน์นี้ขึ้นในระบบ อววน.    ซึ่งผมได้เล่าประสบการณ์เล็กๆ ตอนผมทำหน้าที่ ผอ. สกว. ในการสร้าง “ความเป็นพวกเดียวกัน” ระหว่าง สกว. กับนักวิจัย และสถาบันที่เขาสังกัด     

ผมมองว่า ตัวชี้วัดความสำเร็จของ สอวช. อย่างหนึ่งคือ ประชาชนเชื่อถือ ให้ความสำคัญต่อระบบ และกิจกรรม ววน.   

ที่จริงการประชุมในวันนี้ให้ความรู้ด้านการทำงานในองค์กรที่ใกล้ชิดกับการเมือง    ที่ผมไม่คุ้นเคย    ผมจึงได้ความรู้มาก    ว่าผู้บริหาร สอวช. ต้องพัฒนาทักษะในการนำเอาจุดแข็งในการเป็น technocrat ของตน ไปเชื่อมโยงกับการเมืองและนักการเมือง    โดยตนเองไม่สูญเสีย integrity                  

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ก.ค. ๖๕   เพิ่มเติม ๑๔ ก.ค. ๖๕      

  

หมายเลขบันทึก: 707302เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2022 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2022 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท