ชีวิตที่พอเพียง 4261. ทักษะรู้เท่าทัน เรียนจากพ่อ


 

ผมสนใจเรื่องการเรียนรู้มาตลอดชีวิต    ในช่วงสิบกว่าปีมานี้มีเรื่องการเรียนรู้เพื่อให้รู้เท่าทันสภาพแวดล้อมรอบตัว     เช่น รู้เท่าทันสื่อ (media literacy)    ส่อสัญญาณว่าคนเรามีชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีทั้งที่เอื้อเอ็นดูหรือหวังดี  และที่มุ่งตักตวงผลประโยชน์จากเรา โดยไม่สนใจว่าเป็นการทำร้ายเรา    

ชีวิตของผมโชคดีที่ได้รับการฝึกทักษะรู้เท่าทันตั้งแต่เด็ก    จากพ่อและแม่    พ่อฝึกแบบหนึ่ง  แม่ฝึกอีกแบบหนึ่ง     โดยท่านทั้งสองไม่รู้ตัว     และผมก็ไม่รู้ตัว     ตอนนี้แก่แล้วย้อนคิดกลับไป แบบสะท้อนคิด     ตีความว่าพ่อแม่ฝึกความรู้เท่าทันให้ผมและน้องๆ ไว้อย่างดีมาก    ทำให้พวกเรา ๖ คนพี่น้องมีชีวิตที่ดี และเป็นคนที่ทำประโยชน์แก่สังคม   ไม่ใช่เป็นภาระของสังคม   

การฝึกของพ่อมาในรูปแบบสะท้อนคิดออกมาดังๆ  (reflective uttering) ต่อเรื่องราวต่างๆ ในสังคม   ให้คนรอบตัวได้ยิน    เป็นถ้อยคำที่แสดงว่ารู้เท่าทันข่าว สื่อ หรือเรื่องราว นั้นๆ   ให้เห็นว่าเรื่องนั้นไม่ตรงไปตรงมา    ข่าว สื่อ ประกาศ ที่ออกมา (มักเป็นประกาศของราชการหรือทางการ) มีเลศนัยเบื้องลึกเบื้องหลังที่เราต้องรู้เท่าทัน   

ถึงตอนนี้ ผมตีความว่า พ่อมองว่าเรื่องนั้นๆ เป็น complexity    ทางการผู้ให้ข่าวมองมุมหนึ่งแล้วให้ข่าวหรือประกาศให้ประชาชนปฏิบัติ   แต่พ่อมองจากมุมของตนเองว่าเรื่องนั้นไม่ตรงกับที่ทางการสื่อ    จึงเถียงออกมาดังๆ    ให้คนรอบตัวได้ยิน    ผมเดาว่าการเถียงดังๆ เป็นการลดความอัดอั้นตันใจ    แต่ผมได้รับผลประโยชน์มาโดยพ่อไม่ตั้งใจ     คือมันหล่อหลอมให้ผมเป็นคนไม่เชื่อง่าย    กล้ามีมุมมองที่ต่าง

สมัยเรียนแพทย์ผมคุยกับเพื่อนๆ ด้วยมุมมองที่ต่างจนเพื่อนๆ บอกว่า “ไอ้นี่สมกับชื่อวิจารณ์”      

มาถึงสมัยนี้ ผมเข้าใจเหตุการณ์เหล่านี้ว่า    เป็นเพราะผมถูกหล่อหลอมให้เชื่อในความซับซ้อนและเลื่อนไหลของเรื่องราวต่างๆ   จึงไม่จำเป็นต้องเชื่อในมุมมองใดมุมมองหนึ่งเท่านั้น    สามารถมีมมุมมองที่ต่างได้เสมอ โดยไม่จำเป็นต้องขัดแย้งหรือทะเลาะกัน   

พ่อมักพูดวิจารณ์คำพูดของคนอื่น หรือในข่าว ว่า “พูดแบบเอาเปรียบ” คือเสนอจากมุมมองที่ทำให้ผู้เสนอได้ประโยชน์   ผู้ฟังที่เชื่อและทำตามบางคนเสียประโยชน์    ผู้ฟังแบบพ่อฟังแล้วรู้ทัน ไม่ทำตาม    แต่ทำในแนวที่พ่อได้รับประโยชน์    คือรู้จักปรับให้ครงกับบริบทของตน

ที่จริงทักษะรู้เท่าทันมีหลากหลายมิติมาก    มิติที่ลึกมากคือรู้เท่าทันตนเอง    รู้เท่าทันร่างกายหรือสรีรวิทยาของตนเอง    อย่างกรณีของคนวัยรุ่น ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงมากก่อความร้อนรุ่ม    หากไม่รู้เท่าทันตนเอง และจัดการในทางที่ถูกต้องเหมาะสม ก็มีโอกาสเสียคนได้ง่าย   

แต่ที่ลึกที่สุดคือรู้เท่าทันกิเลสของตนเอง    ทั้งกิเลสอย่างหยาบและอย่างละเอียด    อย่างละเอียดมากคือเรื่องอัตตาตัวตน     ที่ต้องมีอย่างพอเหมาะพอดี ก็จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตนเอง   แต่หากอัตตาจัดก็จะส่งผลทำลายตัวเอง                   

วิจารณ์ พานิช          

๒๑ มิ.ย. ๖๕ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 704022เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2022 18:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2022 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท