เที่ยวปราจีนบุรี - สระแก้ว เมืองโบราณใกล้กรุงเทพฯ (5) อุทยานแห่งชาติปางสีดา ดินแดนผีเสื้อแห่งผืนป่าตะวันออก


เที่ยวปราจีนบุรี -สระแก้ว เมืองโบราณใกล้กรุงเทพฯ (5) อุทยานแห่งชาติปางสีดา ดินแดนผีเสื้อแห่งผืนป่าตะวันออก

กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ เป็นแหล่งมรดกโลกแหล่งที่ 5และเป็นลำดับที่ 2 ของมรดกทางธรรมชาติของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 10 -17 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีก 1แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นราว 3,874,863 ไร่ หรือ 6,155 ตารางกิโลเมตร ถูกเรียกว่าเป็น "ผืนป่าตะวันออก" เพื่อเทียบเคียงกับ "ผืนป่าตะวันตก" บริเวณภาคตะวันตกของไทย ประกอบด้วย
1. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
2. อุทยานแห่งชาติทับลาน
3. อุทยานแห่งชาติปางสีดา
4. อุทยานแห่งชาติตาพระยา
5. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่

อุทยานแห่งชาติปางสีดา ผืนป่ามรดกโลกที่ยังคงความเป็นธรรมชาติและสภาพป่าไว้อย่างสวยงามสมบูรณ์ ที่สำคัญไปกว่านั้นยังได้รับสมญานามว่า " ดินแดนผีเสื้อแห่งผืนป่าตะวันออก" เพราะเป็นแหล่งอาศัยของผีเสื้อที่สวยงามมากกว่า 400 สายพันธุ์ และหากมาเที่ยวถูกเวลาก็อาจได้พบเห็นผีเสื้อจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่ผีเสื้อจะบินออกมามากที่สุดในช่วงฤดูฝน

อุทยานแห่งชาติปางสีดา ครอบคลุมท้องที่อำเภอตาพระยา อำเภอวัฒนานคร อำเภอเมืองสระแก้วและอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี พื้นที่โอบล้อมไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อนและเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรักซึ่งทอดยาวมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน ไปยังอุทยานแห่งชาติตาพระยา จรดประเทศกัมพูชา มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ที่เต็มไปด้วยผืนป่าที่หลากหลาย เป็นแหล่งต้นน้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก และได้ประกาศเป็น "มรดกโลกทางธรรมชาติ" แห่งที่ 2 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548

การเดินทางจากกรุงเทพฯถึงอำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว เป็นระยะทาง 256 กิโลเมตร จากอำเภอเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 3462 สายสระแก้ว - บ้านคลองน้ำเขียว ระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติปางสีดา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง 

สถานที่ท่องเที่ยวหลักในอุทยานแห่งชาติปางสีดา ได้แก่

น้ำตกปางสีดา

อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 800 เมตร เป็นน้ำตกที่ทิ้งตัวจากหน้าผาสูง 8 เมตร เบื้องล่างเป็นแอ่งน้ำกว้างใหญ่ บรรยากาศร่มรื่น และจะมีน้ำมากในช่วงฤดูฝน 

นอกจากนี้ภายในอุทยานฯ ยังมีน้ำตกอีกหลายแห่ง เช่น น้ำตกผาตะเคียน อยู่ห่างจากน้ำตกปางสีดา 2.5 กิโลเมตร มีหน้าผาสูง 20 เมตร สายน้ำไหลลงมาเป็นชั้นๆสวยงามมาก น้ำตกแควมะค่า ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 40 และต้องเดินเท้าเข้าไปอีก 6 กิโลเมตร ใกล้ๆกันยังมีน้ำตกรากไทรน้อยที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร การเที่ยวชมน้ำตกในอุทยานแห่งชาติปางสีดาควรมาช่วงปลายฝนต้นหนาว (ตุลาคม - พฤศจิกายน) ซึ่งป่าจะมีความอุดมสมบูรณ์มีน้ำมาก

โป่งผีเสื้อ

ถัดจากน้ำตกปางสีดาไปอีกนิด ตรงข้ามกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติจะมีโป่งผีเสื้อให้ได้ชมกัน เป็นโป่งเทียมที่ทางอุทยานฯทำขึ้นบริเวณริมทาง เพื่อให้ผีเสื้อมากิน เนื่องจากโป่งผีเสื้อเป็นแหล่งอาหารเสริมที่มีแร่ธาตุต่างๆในการสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อนั่นเอง ที่โป่งผีเสื้อจึงเปรียบเหมือนจุดรวมตัวของผีเสื้อนานาพันธุ์ที่มีอยู่หลากหลายชนิด
 

หากต้องการมาเที่ยวชมผีเสื้อสวยๆจำนวนมากควรมาเที่ยวชมในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีแดดหลังฝนตกจะดีกว่า จะมีโอกาสได้พบเห็นผีเสื้อมากที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ แสงแดด ความชื้น  และช่วงเวลาที่เหมาะสมคือตั้งแต่เวลา 9.00 น. ไปจนถึงเวลา11.00 น.

จุดชมวิว กม.25

ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 25 กิโลเมตร ลักษณะเป็นหุบเขากว้างทิวทัศน์สวยงามเป็นจุดชมวิวยอดนิยมของปางสีดาในการชมพระอาทิตย์ตก ระหว่างทางไปยังจุดชมวิวเป็นทางลูกรัง ต้องขับขี่รถด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจมีสัตว์ป่าออกหากินและเดินผ่านถนน

เป็นที่น่าเสียดาย การเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติปางสีดาในช่วงเวลาต้นเดือนกรกฎาคมที่คาดหมายว่าเป็นช่วงที่น้ำตกเริ่มมีน้ำพอสมควร และเป็นช่วงที่เข้าสู่หน้าฝนเหมาะแก่การชมความสวยงามของผีเสื้อ เจ้าหน้าที่ของอุทยานฯได้ให้ข้อมูลว่าปีนี้เป็นปีที่น้ำตกมีน้ำน้อยกว่าปกติ และจำนวนผีเสื้อก็น้อยเช่นกัน ทำให้รู้สึกผิดหวังเล็กๆ แต่ก็ไม่เป็นไร แค่ได้กลับมาพบกันอีกครั้งในวันนี้ก็ทำให้มีความสุขแล้ว...ปางสีดา ดินแดนผีเสื้อแห่งผืนป่าตะวันออก

ขอขอบคุณ

  • การบริการที่ดีเยี่ยมจากบริษัททัวร์ฟ้าใสและทีมงานทุกคน
  • น้ำใจไมตรีจากเพื่อนร่วมเดินทางทุกท่าน

  • ขอบคุณภาพสวยๆจากไกด์น้องวาว ศรัญทา พูลสวัสดิ์ และไกด์น้องจี๊ป เชาว์วดี แตงทอง

หมายเลขบันทึก: 704011เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2022 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2022 00:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท