ชีวิตที่พอเพียง 4260b. ศาสตร์ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกาย – PNI (psychoneuroimmunology)


ชีวิตที่พอเพียง 4260b. ศาสตร์ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกาย – PNI (psychoneuroimmunology)    

สมัยผมเรียนแพทย์เมื่อเกือบ ๖๐ ปีมาแล้ว   เราเรียนเรื่องโรคกลุ่มหนึ่งที่เรียกชื่อว่า psychosomatic    คือมีอาการทางกาย แต่หาสาเหตุไม่ได้   ก็เหมาว่า เกิดจากสาเหตุด้านจิตใจ   มีอะไรลึกๆ ในใจที่ก่อบาดแผลทางกาย   ยังจำคนไข้หญิงอายุสามสิบกว่าที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิงที่ศิริราช    ที่กลับบ้านทีไรอึออกมาเป็นเลือดสดๆ ต้องกลับมาอยู่โรงพยาบาล    อยู่จนกลายเป็นเหมือนผู้ช่วยพยาบาล   และเป็นคนร่าเริงพูดคุยกับพวกเราที่เป็นนักศึกษาแพทย์อย่างสนุกสนาน    พยาบาลกระซิบบอกพวกเราว่า แกเป็นเมียน้อย   

ตอนนี้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปมาก    รู้ว่าความเครียดมีกลไกสู่การเป็นโรคทางกายอย่างไร    ว่ามันเกี่ยวข้องกับกลไกระบบประสาทส่วนไร้สำนึก    ที่มีสมอง ระบบฮอร์โมน และระบบภูมิคุ้มกัน ทำงานเชื่อมโยงกัน    เกิดศาสตร์แขนงที่เรียกว่า psychoneuroimmunology และที่บางทีเรียกชื่อขยายเพิ่มเอา endo(crinology) – ระบบฮอร์โมน เพิ่มเข้าไปด้วย (๑)   

อ่านข้อมูลใน Wikipedia แล้วผมคิดว่า ยังไม่ครบถ้วน    ผมเชื่อว่าศาสตร์นี้จะช่วยอธิบายว่า การมีจิตใจที่ร่าเริงเบิกบานไม่เครียด   และการออกกำลังกาย สร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาวะอย่างไร   คือน่าจะเป็นศาสตร์ว่าด้วย homeostasis - ความสมดุลภายในร่างกาย   ที่ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงในมิติที่เกิดโรคยาก    ไม่ว่าโรคกลุ่มใด    หรือเมื่อเกิดโรคขึ้นแล้ว  ก็สามารถต่อสู้เอาชนะได้    ดังกรณีที่เล่าในหนังสือ Love, Medicine and Miracles : Lessons Learned about Self-Healing from a Surgeon's Experience with Exceptional Patients (1986)    ที่กำลังจะแปลพิมพ์ออกจำหน่ายในชื่อ ความรัก, การแพทย์ และปาฏิหาริย์   คนไข้โรคมะเร็งระยะสุดท้าย ที่เป็น “คนไข้พิเศษ” (exceptional patient) ที่บอกตัวเองให้สู้   เชื่อมั่นว่าตัวเองจะหายหรืออยู่ได้อีกนาน    ผลการรักษาจะดีกว่าคนไข้ที่ไม่สู้อย่างชัดเจน    บางคนถึงกับหาย   

ระบบภูมิคุ้มกันไม่ได้แค่ป้องกันโรคติดเชื้อเท่านั้น    ยังป้องกันร่างกายทำร้ายตนเองด้วย    เรื่องนี้ผมเชื่อว่า อารมณ์ดี มีส่วนช่วย    การฝึกจิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology)   และการอยู่ร่วมกันใน สนามพลังบวก (คำของครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง แห่งโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา) จนติดนิสัยบวก    จึงน่าจะมีคุณต่อชีวิตไปตลอด   

ที่จริงร่างกายทำร้ายตนเอง    มีจุดเริ่มต้นจากจิตใจที่ทำร้ายตนเอง    ส่งผลไปยังระบบประสาทอัตโนมัติที่เราไม่รู้ตัว    ไปยังระบบฮอร์โมนและสารเคมีต่างๆ ในร่างกาย   และไปยังระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดความอ่อนแอขึ้นที่บางส่วนของร่างกาย    เปิดช่องให้ด้านลบของร่างกายเช่นเซลล์มะเร็ง  เชื้อจุลินทรีย์  หรือความบกพร่องทางพันธุกรรม  (ที่ตามปกติมีอยู่แล้วในร่างกาย และอยู่อย่างสงบ) โผล่ออกมา    

ตัวอย่างโรคพันธุกรรมที่ซ่อนอยู่ในตัวผมคือ โรคสะเก็ดเงิน ไม่เคยโผล่ออกมาแสดงอาการในตัวผมเลย    รู้ว่าต้องมาจากพ่อและปู่ (ทั้งพ่อและปู่ไม่เคยมีอาการ)     คนที่มีอาการคือคุณลุงธรรมทาส  และลูกชายของผม     ลูกชายเป็นตอนที่ชีวิตเครียดอยู่ช่วงหนึ่ง อาการมากทีเดียว    พอปรับตัวได้ อาการก็หายไป      

ทักษะชีวิต จึงมีความละเอียดอ่อน   มีหลากหลายมิติ   เป็นทักษะที่สร้างทั้งความเข้มแข็งภายใน  และความเข้มแข็งภายนอก   หรือทั้งความเข้มแข็งทางกาย  ทางใจ  และทางอารมณ์   ซึ่งรวมทางสังคมไปด้วย   

การศึกษาและการเลี้ยงดูเด็กหรือลูกหลาน    จึงต้องคำนึงถึงพัฒนาด้านเหล่านี้  เพื่อชีวิตที่ดี         

มีการพัฒนาหลักการ “ทักษะแห่งอนาคต” (future skills) ที่มีคุณค่ามาก (๒)    แต่ผมก็ยังคิดว่ายังไม่ครบถ้วน   มนุษย์เราต้องการทักษะกำกับอารมณ์ภายในของตนเอง    ให้ “นิ่ง” ไม่อ่อนไหววุ่นวายไปกับเรื่องภายนอก   การพัฒนาพื้นฐานอารมณ์บวก และอารมณ์นิ่ง   จึงมีความสำคัญมาก   นั่นคือทักษะด้านในของทางศาสนาพุทธ ที่สังคมไทยเรามีอยู่   

วิจารณ์ พานิช          

๑๖ ก.ค. ๖๕    

 

 

หมายเลขบันทึก: 704007เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2022 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2022 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท