สมรรถนะอนาคต  2. ทำความรู้จักสมรรถนะอนาคต


 

บันทึกชุด สมรรถนะอนาคต นี้ ตีความจากหนังสือ Future Skills : The Future of Learning and Higher Education (2020) เขียนโดย Ulf-Daniel Ehlers  ศาสตราจารย์ด้าน Lifelong Learning and Educational Management  แห่ง University of Augsburg  เยอรมนี  และ University of Maryland สหรัฐอเมริกา    ผมเขียนบันทึกชุดนี้ เพื่อร่วมขบวนการขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะให้แก่สังคมไทย   

ผังอธิบายสมรรถนะอนาคตอยู่ในเว็บไซต์ของโครงการ NextSkills (https://nextskills.org/future-skills-overview/)  ที่ประกอบด้วยสมรรถนะ ๓ กลุ่ม  ๑๗ สมรรถนะย่อย คือ (๑) กลุ่มสมรรถนะเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง  (๒) กลุ่มสมรรถนะต่อผู้อื่นและต่อสิ่งของภายนอก (๓) กลุ่มสมรรถนะต่อระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น    สมรรถนะทั้งสามกลุ่มนี้มีปฏิสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ในการก่อการผุดบังเกิดของสมรรถนะที่ต้องการในสถานการณ์ใหม่ในอนาคต    โดยโครงการ nextskills.org เรียกว่าเป็นโมเดลเกลียวเชือกสามเส้น (triple helix model)    ที่ผมแปลแต่ละสมรรถนะเป็นไทยลงในผังสมรรถนะ   ดังนี้     

 

สะท้อนความซับซ้อนของสมรรถนะอนาคต และการพัฒนาสมรรถนะอนาคต 

 ท่านที่ต้องการดูชื่อแต่ละสมรรถนะในภาคภาษาอังกฤษ สามารถเข้าไปดูได้ที่ https://nextskills.org/future-skills-overview/  

หากเข้าไปที่เว็บไซต์ที่ระบุ  แล้วค่อยๆ ทำความเข้าใจแต่ละสมรรถนะในแผนผังโดยคลิกที่สมรรถนะที่สนใจ   จะค่อยๆ เข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมรรถนะแต่ละตัว    และเส้นทางพัฒนาสมรรถนะนั้นๆ   โดยที่แผนผังนี้แสดงความสัมพันธ์ หรือการจัดระบบแบบเครือข่าย (network) ไม่ใช่แบบที่สมรรถนะหนึ่งมีฐานะสูงกว่าหรือต่ำกว่า (hierarchical)   และโครงสร้างของระบบเป็นสิ่งที่เกิดการจัดระบบขึ้นเอง (self-organized)   ไม่ใช่เป็นระบบที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า    โดยขอย้ำว่าผังนี้และคำอธิบายแต่ละสมรรถนะ ได้จากงานวิจัย   

ตัวอย่างเช่นคลิกที่สถานี Self-Determination   จะได้ภาพข้างล่าง  ซึ่งตรงกับภาพที่ ๑๒ ในหนังสือหน้า ๕๖   แสดงเส้นทางการพัฒนาความมุ่งมั่นส่วนตน (self-determination) ของบุคคล   ที่จะต้องพัฒนาสมรรถนะที่เกี่ยวข้องโดยตรงอีก ๘ สมรรถนะ    และยังมีสมรรถนะอื่นที่เกี่ยวข้องโดยอ้อมอีก ๘ สมรรถนะ    นอกจากภาพแผนผังแล้ว ยังจะได้คำอธิบาย ซึ่งเข้าไปอ่านได้ที่ https://nextskills.org/wp-content/uploads/2020/11/03-Self-Determination.pdf    ดังนี้

 

สมรรถนะอนาคตตามข้อเสนอในหนังสือ Future Skills และเว็บไซต์ nextskills.org ประกอบด้วย ๓ มิติของสมรรถนะ ที่เกาะเกี่ยวกัน หรือมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน   เขาจึงเรียกชื่อว่าเป็น โมเดลเกลียวเชือกสามเส้น (Triple Helix Model) ประกอบด้วย มิติสัมพันธ์ภายในตน (ในแผนผังข้างบนใช้คำว่า object-related),  มิติสัมพันธ์กับบุคคลหรือวัตถุสิ่งของภายนอกตน (ในแผนผังข้างบนใช้คำว่า subject-related),  และ มิติสัมพันธ์กับระบบต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่นองค์กร ประเทศ และโลก (ในแผนผังข้างบนใช้คำว่า organization-related)   ที่เมื่อผมใคร่ครวญแล้วก็คิดว่าน่าจะมีมิติที่ ๔  คือมิติสัมพันธ์กับธรรมชาติรอบตัว (nature-related)    เกาะเกี่ยวกันเป็น Quadruple Helix Model    แต่จะขอละความคิดฟุ้งซ่านนี้ไว้    ขอดำเนินตามในหนังสือ  

โปรดสังเกตว่า สมรรถนะเป็นเรื่องของมิติสัมพันธ์ (relationship)   

ภาพที่ ๖ ในหนังสือ แสดง ๓ มิติ และ ๑๗ สมรรถนะ ของสมรรถนะอนาคต ดังนี้ 

 

เพื่อให้อ่านง่าย ผมขอนำ ๓ มิติ  ๑๗ สมรรถนะอนาคต มาลงไว้เป็นตารางดังนี้

สมรรถนะต่อตนเอง (subject) สมรรถนะต่อบุคคลและสิ่งของภายนอก (object) สมรรถนะต่อระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น (world) 
สมรรถนะด้านจริยธรรม (ethical competence) สมรรถนะด้านการคิดเชิงออกแบบ (design-thinking competence)  สมรรถนะสื่อสาร (communication competence) 
สมรรถนะใช้ประโยชน์ความไม่ชัดเจน (ambiguity competence) สมรรถนะด้านนวัตกรรม (innovation competence) สมรรถนะร่วมมือ (cooperation competence) 
สมรรถนะริเริ่มและดำเนินการจนสำเร็จ (initiative & performance competence) สมรรถนะเชิงระบบ (systems competence)  ความมุ่งมั่นส่วนตน (self-determination)
สมรรถนะตัดสินใจ (decision competence) สมรรถนะด้าน ดิจิทัล (digital competence) สมรรถนะอนาคตและการออกแบบ (future & design competence)
สมรรถนะสะท้อนคิด (reflective competence)    สร้างความหมาย (sense-making)
สมรรถนะต่อตนเอง (self-competence)    
ความมุ่งมั่นส่วนตน (self-determination)     
คุณสมบัติส่วนตน (self-efficacy)    
ความสามารถด้านการเรียนรู้ (learning literacy)    

 

ย้ำอีกทีนะครับ ว่า ทักษะอนาคตยังไม่เกิด    จะเกิดในอนาคตเมื่อมีความต้องการ    เราได้แค่เตรียมฝึกพื้นฐานความพร้อมไว้ ให้ทักษะอนาคตมันผุดบังเกิดขึ้นเองยามต้องการในอนาคต     ดังนั้น สมรรถะ ๑๗ ตัวที่ศาสตราจารย์ Ulf-Daniel Ehlers ตกผลึกเขียนไว้ในหนังสือ และผมคัดลอกมาลงไว้   เป็นทักษะเตรียมพร้อมให้สมรรถนะอนาคตผุดบังเกิดได้ง่ายขึ้น    และเมื่อผุดบังเกิดก็เป็นสมรรถนะที่ทรงพลัง สร้างผลลัพธ์ได้อย่างมีคุณภาพสูง              

   ทั้งหมดนั้น ตีความมาจากหนังสือ Future Skills โดยที่ในทางปฏิบัติเราไม่จำเป็นต้องจัดหมวดหมู่ของสมรรถนะที่จะต้องพัฒนาให้แก่นักเรียนนักศึกษาของเราตามแบบของเขาไปเสียทั้งหมด    ดังกรณีคณะกรรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอสมรรถนะหลักสำหรับผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑๐ สมรรถนะคือ  (๑) ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร  (๒) คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน  (๓) การสืบสอบวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ (๔) ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร  (๕) ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน  (๖) ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ  (๗) ทักษะการคิดขั้นสูงและนวัตกรรม  (๘) การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล  (๙) การทำงานแบบรวมพลังเป็นทีม และภาวะผู้นำ  (๑๐) การเป็นพลเมืองตื่นรู้ ที่มีสำนึกสากล    และคณะกรรมการอำนวยการในคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช .... (หลักสูตรฐานสมรรถนะ)ที่มี ดร. สิริกร มณีรินทร์ เป็นประธาน มีมติให้ระบุเพียง ๖ สมรรถนะคือ (๑) การจัดการตนเอง  (๒) การคิดขั้นสูง  (๓) การสื่อสาร  (๔) การรวมพลังทำงานเป็นทีม  (๕) เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง  (๖) การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน     

จะเห็นว่า แนวคิดสมรรถนะอนาคตยังไม่เข้ามาในวงการการศึกษาไทย            

วิจารณ์ พานิช 

๑๒ ธ.ค. ๖๔ 

        

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท