ชีวิตที่พอเพียง 4260a. สะท้อนคิดวันหยุดยาวจากวันหยุดแถม 


ชีวิตที่พอเพียง 4260a. สะท้อนคิดวันหยุดยาวจากวันหยุดแถม   

เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๕ มีวันหยุดยาวสองช่วง   คือระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๗    กับ ๒๘ - ๓๐    โดยรัฐบาลเพิ่มวันหยุดช่วงละ ๑ วันเพื่อให้เกิดวันหยุดยาว ๕ และ ๔ วัน   เพื่อให้คนออกไปเที่ยว หวังผลกระตุ้นเศรษฐกิจ       

 มาตรการดังกล่าวมีประโยชน์ ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ซบเซามานานเกือบ ๓ ปี จากการระบาดของโควิด    แต่ผมคิดว่า เป็นประโยชน์ระยะสั้น     และอาจก่อโทษในระยะยาว     คือสร้างวัฒนธรรมทำงานแบบเหลาะแหละ ไม่เอาจริงเอาจัง

ใครที่คุ้นกับวัฒนธรรมการทำงานของทั้งภาคราชการ  และภาคธุรกิจเอกชนอย่างผม     จะบอกได้ว่า หน่วยราชการโดยทั่วไปมีวัฒนธรรมการทำงานแบบเฉื่อยๆ    ที่มีคนพูดประชดว่า แบบเช้าชามเย็นชาม    เช้าขึ้นมาก็เริ่มงาน  หมดเวลาก็เลิกงาน    งานเสร็จหรือไม่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ    และจะเสร็จอย่างมีคุณภาพเป็นที่พอใจของผู้ใช้บริการหรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ    ส่วนภาคธุรกิจเอกชนยึดงานเป็นหลัก  งานต้องเสร็จภายในเวลาที่กำหนด และต้องเป็นที่พอใจของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ    มิฉะนั้นธุรกิจก็แข่งขันไม่ได้   

คนที่ทพะงานอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใดแบบหนึ่งนานๆ ก็จะติดเป็นนิสัย              

 ดังนั้น ที่ผมระบุข้างต้นว่า การสร้างวันหยุดยาวของราชการ เป็นการสร้างวัฒนธรรมทำงานแบบเหลาะแหละ ไม่เอาจริงเอาจัง    จึงเป็นคำกล่าวที่ผิด    เพราะวัฒนธรรมดังกล่าวมีอยู่แล้ว    การจัดให้มีวันหยุดยาวจึงเป็นการส่งเสริม ไม่ใช่สร้าง   

เรื่องนี้ผมสอนตัวเองตั้งแต่เริ่มรับราชการในปี ๒๕๑๑   ว่าเมื่อเป็นข้าราชการก็ต้องมุ่งทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม   ทุ่มเททำงานเพื่อสร้างผลงานหรือความสำเร็จ    เพื่อประโยชน์ของประชาชน    ผมทำงานโดยไม่คำนึงถึงเวลาราชการ    ไม่คำนึงถึงวันหยุดหรือวันเปิดทำงาน    รวมทั้งเอางานไปทำที่บ้านด้วย    มุ่งทำงานให้เสร็จเร็วและคุณภาพสูง     ด้วยความเชื่อว่า ทำดีย่อมมีคนเห็น   ส่วนที่ไม่มีคนเห็นตัวเราเองก็มีความสุขความภูมิใจ

คนทั่วไปเห็นหมด    ไม่ว่าผมไปทำงานที่ไหน  ว่าผมทำงานหนักและทุ่มเท    เริ่มงานตั้งแต่เช้ามืดหลังวิ่งออกกำลัง    และไปทำงานกลางคืนบ่อยๆ    ผมบอกตัวเองว่า เราอยากมีความสำเร็จในชีวิตก็ต้องทุ่มเท   แม้เราไม่เก่งมาก หากทุ่มเท ก็จะสู้คนเก่งคนฉลาดมากๆ ได้    ตอนนั้นผมทำงานเพื่อต่อสู้แข่งขัน    แต่ตอนนี้ความคิดแบบนั้นไม่มีแล้ว     ตอนนี้ผมไม่แข่งกับใคร     ผมยินดีต่อคนที่เก่ง และประสบความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่การงานมากกว่าผม   

เป้าหมายในชีวิตเปลี่ยนไป    จากเอาความสำเร็จของตนเองเป็นหลัก เป็นเอาเป้าหมายของสังคม ของบ้านเมืองเป็นหลัก   เป็น transformation อย่างหนึ่งของผม     จึงเป็นห่วงสังคมไทย ในเรื่องวัฒนธรรมความเอาจริงเอาจัง ทุ่มเทรับผิดชอบงาน (ตัวอย่างคือ คนเยอรมัน คนญี่ปุ่น)    และไม่อยากให้มีการซ้ำเติมวัฒนธรรมนี้ในภาคราชการ

แต่ในภาคธุรกิจ ที่เป็นองค์กรสมรรถนะสูง เขาสร้างวัฒนธรรมทุ่มเททำงานกันอยู่แล้ว     โดยบางครั้งพนักงานต้องทำงานอดหลับอดนอน หรือทำงานในวันหยุด เพื่อทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลา   

ข้อเป็นห่วงอีกอย่างหนึ่งคือ ราชการไทยไม่เป็นองค์กรเรียนรู้   เอางานยากๆ ว่าจ้างหน่วยงานภายนอกทำ ที่เรียกว่า งาน consult   คือจ้างให้ consultant ทำแทน    เพราะข้าราชการทำไม่เป็น (และไม่คิดจะเรียนรู้)    วัฒนธรรมนี้รุนแรงขึ้นในช่วง ๔๐ ปีที่ผ่านมา   เป็นสภาพของราชการที่น่าห่วงมาก   และสำนักงาน กพ. และ กพร. ไม่ตระหนัก                               

วิจารณ์ พานิช          

๑๕ ก.ค. ๖๕ 

 

      

 

หมายเลขบันทึก: 703971เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2022 20:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2022 20:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ศักยภาพการทำงานของคนทำงานราชการก็จะ “ถดถอย” ไปเรื่อย ๆ ครับ อาจารย์หมอ ;)…

I agree with the summary “ราชการไทยไม่เป็นองค์กรเรียนรู้ เอางานยากๆ ว่าจ้างหน่วยงานภายนอกทำ ที่เรียกว่า งาน consult คือจ้างให้ consultant ทำแทน เพราะข้าราชการทำไม่เป็น (และไม่คิดจะเรียนรู้) วัฒนธรรมนี้รุนแรงขึ้นในช่วง ๔๐ ปีที่ผ่านมา เป็นสภาพของราชการที่น่าห่วงมาก และสำนักงาน กพ. และ กพร. ไม่ตระหนัก “ and would add that many public servants work quite hard to corrupt.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท