๑,๒๘๖ นักการภารโรง...ในดวงใจ.....(๑)


  เรื่องราวของผมกับพี่แบน..มีกรณีที่ผมประทับใจไม่รู้ลืมหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่วันแรกที่มารายงานตัว...ผมถามพี่แบน เพื่อให้พูดความจริง บอกผมมาตามตรงเลยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

       หลายคนแปลกใจ จึงเอ่ยปากต่อว่าผมว่าบ้าหรือเปล่า ที่ย้ายมาอยู่โรงเรียนเล็กๆที่มีเด็กไม่ถึง ๕๐ คน วันนั้นมีครู ๒ คน ภารโรง ๑ คน (๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙)

       ตอนนั้น...ผมเริ่มเบื่องานบริหารคน แต่มันสลัดไม่หลุดจริงๆก็ต้องอยู่ให้ได้ แต่เลือกที่จะอยู่แบบที่ไม่ต้องวุ่นวาย การที่ผมเลือกบ้านหนองผือก็ด้วยเหตุปัจจัย ๓ ประการ

          ประการแรก..คือ ใกล้บ้านที่สุดแล้ว ประการต่อมา คือ ต้นไม้เยอะมาก ร่มรื่นจริงๆ ประการสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นใด ก็คือมีภารโรงที่นิสัยดี มีความขยันขันแข็งในการทำงาน

          นักการภารโรงที่ว่า คือ พี่แบน หรือนพชัย โชสนับ ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว ผมเพิ่งไปส่งพี่แบนสู่สัมปรายภพ ที่วัดเลาขวัญ ในตอนบ่ายสามโมงของวันนี้ ด้วยความรักและความคิดถึงจับใจ

          ผมอยู่กับพี่แบน ๔ ปีเต็ม ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ – ๒๕๕๓ แต่ความคุ้นเคย เหมือนอยู่กันมานาน ๑๐ ปี ช่วงนั้น ผมทำงานอย่างมีความสุข สอนหนังสือทุกวันแต่ไม่รู้สึกเหนื่อยเลย

          เพราะงานอาคารสถานที่ งานสิ่งแวดล้อม งานซ่อมบำรุง ตลอดจนงานดูแลรักษาความสะอาดเรียบร้อย พี่แบนทำตั้งแต่เช้ายันเย็น โดยที่ผมไม่ต้องสั่งการใดๆ...

          เรื่องราวของผมกับพี่แบน..มีกรณีที่ผมประทับใจไม่รู้ลืมหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่วันแรกที่มารายงานตัว...ผมถามพี่แบน เพื่อให้พูดความจริง บอกผมมาตามตรงเลยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

          ผมพบว่า..ในห้องเรียนห้องหนึ่ง มีเสื่อ มุ้ง หมอน กระติกน้ำร้อน กาแฟ กระโถนและขี้บุหรี่ สภาพที่เห็นสกปรกมาก...ผู้บริหารคนไหนเห็น ก็คงต้องถามเหมือนผม

          พี่แบนทรุดนั่งอย่างเหนื่อยอ่อน เล่าให้ผมฟังเป็นชั่วโมง ตั้งแต่ต้นจนจบ..

          “โรงเรียนถูกโจรกรรมเครื่องขยายเสียง ก็เลยต้องให้ผู้ปกครองมานอนเฝ้า ผลัดเวรกันมา คืนละ ๒ – ๓ คน บางคืนก็ชุมนุมกันเป็นที่เอะอะวุ่นวาย เช้าขึ้นมาผมก็ต้องมาเก็บกระดาษกวาดขยะเป็นประจำทุกวัน ผมเบื่อที่สุดเลยครับ ” ผมเห็นพี่แบนมีสีหน้าเคร่งเครียด แต่ก็ต้องให้พี่เขาพูดต่อ

          “จะให้ผมนอนเวรกลางคืนที่โรงเรียน ผมทำไม่ได้ครับ เพราะผมต้องตื่นเช้ามืดช่วยเมียผมขูดมะพร้าว ทำกะทิสดส่งตลาดครับ” ความรู้สึกของผมตอนนั้น...เข้าใจและเห็นใจพี่แบนมากๆ

          เมื่อภารโรงนอนเฝ้าโรงเรียนไม่ได้ ผู้บริหารก็เลยบีบให้พี่แบนไปบริหารจัดการเอาเอง ทำยังไงก็ได้ ขอให้มีคนมาอยู่เวรก็แล้วกัน...มันจึงเป็นเรื่องตลกระคนขมขื่นยิ่งนัก

          “พี่แบนครับ แบบนี้ไม่มีที่ไหนเขาทำกันนะ ผมรับไม่ได้นะครับ” ผมพูดอย่างตรงไปตรงมา

          “แล้ว ผอ.จะทำยังไงครับ จะให้ผมนอนอยู่เวรที่โรงเรียน ผมขอลาออกดีกว่า” พี่แบนมีสีหน้าท่าทางที่เอาจริง น้ำเสียงขุ่นๆ ออกอาการเบื่อระอาเต็มทน คงเก็บกดกับเรื่องนี้มานาน

          “ใจเย็นๆครับพี่...วันนี้ผมจะยกเลิก..ไม่ต้องให้ใครมานอนที่โรงเรียน ผมรับผิดชอบเอง เย็นนี้พี่เข้าไปในหมู่บ้าน หาคนที่ไว้วางใจได้ ไม่กินเหล้าไม่สูบบุหรี่ มีลูกหลานเรียนอยู่กับเรา ให้พี่ตัดสินใจว่าเขาดีจริงๆ ให้เขามาคุยกับผมที่โรงเรียน ผมจะให้ค่าตอบแทนเองครับ”

          วันรุ่งขึ้น...เป็นอันสำเร็จเรียบร้อย จากนั้นเป็นต้นมา โรงเรียนก็มี รปภ.เป็นครั้งแรก ชื่อ..นายกร่าง กรับทอง อายุ ๖๐ ปี ผมเป็นคนจ่ายค่าตอบแทนเองทุกเดือน เพราะเงินโรงเรียนไม่มี

          พี่กร่าง..ประจำการตั้งแต่.. กันยายน ๒๕๔๙ จนถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ ค่าตอบแทน เริ่มที่ ๑,๘๐๐ บาท จากนั้นก็ขึ้นมาที่ ๒,๐๐๐ และ ๒,๒๐๐ บาท ในช่วง ๓ ปีสุดท้ายพี่กร่างได้รับค่าตอบแทนเดือนละ ๒,๕๐๐ บาท จากภารกิจสำคัญ คือนอนที่โรงเรียนตั้งแต่ ๖ โมงเย็นถึง ๖ โมงเช้า...พอตื่นขึ้นมา พี่กร่างก็จะช่วยเปิดประตูห้องเรียน แล้วก็กลับบ้าน

          ผมภูมิใจ..ที่มีส่วนช่วยแก้ปัญหาให้พี่แบน ได้ช่วยนักการทำงานอย่างมีความสุข และทำให้ผมได้รปภ.ที่ดีมีความรับผิดชอบ จากวันนั้นถึงวันนี้ ไม่มีมิจฉาชีพเข้ามาโจรกรรม ทำให้ผมรู้สึกว่าคุ้มมากกับเงินส่วนตัวที่ผมหมดไปกับค่าตอบแทนรปภ. กว่า ๒ แสนบาท

          ๒ ปีก่อนที่พี่แบนจะเกษียณอายุราชการ...ผมเตรียมตัวพึ่งตนเอง ด้วยการสังเกตและเรียนรู้การทำงานของพี่แบน ผมได้รับประสบการณ์ความรู้อย่างมากมาย...แล้วผมจะเล่าให้ฟังครับ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๗  กรกฎาคม  ๒๕๖๕

 

         

หมายเลขบันทึก: 703676เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2022 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กรกฎาคม 2022 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอให้ท่านไปสู่สัมปรายภพครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท