สองสามวันก่อน อาจารย์หมอปรีดา มาลาสิทธิ์ ส่งหนังสือ There Are Places in the World Where Rules Are Less Important Than Kindness เขียนโดย Carlo Rovelli พร้อมคำวิจารณ์ใน นสพ. นิวยอร์ก ไทม์ส (๑)
มาได้โอกาสอ่านตอนนั่งเครื่องบินไปประชุมที่ฝรั่งเศส คืนวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ โดยเลือกอ่านสองตอน คือ Between Certainty and Uncertainty : A Precious Intermediate Space กับ Bruno de Finetti : Uncertainty is Not Our Enemy อ่านแล้วนึกถึงชื่อบันทึกนี้ และนึกถึง ทักษะในการใช้ประโยชน์ของความกำกวม (ambiguity) ใน Future Skills
ข้อสรุปจากบทความทั้งสองคือ สำหรับมนุษย์ “ความจริง” เป็นสิ่งไม่เที่ยง เพราะเรามีสิทธิ์ตีความ “ความจริง” นั้นตามบริบทที่กำลังเผชิญ
Carlo Rovelli เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวอิตาเลียน หนังสือของท่านเขียนเป็นภาษาอิตาเลียน แล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษ ทุกเล่มเป็นหนังสือเบสต์เซลเล่อร์ มีความลุ่มลึกสุดพรรณนา เพราะเป็นการผสานความรู้หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ เข้ากับมุมมองเชิงมนุษยศาสตร์ มีผลให้ “ความจริง” ดิ้นได้ทันที
ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ที่แข็งทื่อตายตัว ไร้วิญญาณ มีชีวิตและชีวิตชีวาขึ้นมาทันที เมื่อศาสตราจารย์ Carlo Rovelli นำมาตีความผ่านแว่นมนุษยศาสตร์
ท่านชี้ว่า เมื่อทฤษฎีความน่าจะเป็น (probability) เข้าสู่การใช้งานของมนุษย์ ในชีวิตประจำวัน ก็จะมีการตีความผิดๆ มากมาย ทำให้ผมนึกถึงการซื้อล็อตเตอรี่ ที่ผมไม่ซื้อเลย เพราะรู้ว่าทันทีที่ซื้อ เงิน ๘๐ บาทที่จ่ายไปด้อยค่าลงเหลือ ๔๐ บาททันที เพราะสำนักงานสลากจ่ายเงินรางวัลจากเพียงครึ่งหนึ่งของรายได้ที่สำนักงานได้รับ
คนไทยนักแทงหวย มักปลอบใจตนเองว่า คราวนี้แทงผิด คราวหน้าจะมีโอกาสแทงถูกเพิ่มขึ้น นี่ก็เป็นมายาคติในการตีความความน่าจะเป็น ที่เป็นเครื่องปลอบใจมนุษย์ให้มีความหวัง
เมื่อท่านบอกว่า ระหว่างความแน่นอน (certainty) กับ ความไม่แน่นอน (uncertainty) มีช่องว่างตรงกลางอยู่ ผมก็นึกถึง ความกำกวม (ambiguity) ทันที (๒) ช่องว่างนี้หากใช้เป็น จะนำสู่ ความสร้างสรรค์ (creativity)
ยิ่งเมื่อได้อ่านเรื่อง Bruno de Finetti : Uncertainty is Not Our Enemy ยิ่งได้ประจักษ์ ว่าสรรพสิ่งเป็นอนิจจัง และเป็นการตีความ “ความเป็นจริง” (reality) ของผู้นั้น ดังนั้น เมื่อมีคน ๑๐ คนเผชิญปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์หนึ่งร่วมกัน ย่อมมี “ความเป็นจริง” ที่ผ่านการตึความ ๑๐ แบบ
เขาลงท้ายบทความหลังว่า จุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่ ความแน่นอน แต่อยู่ที่ “ความน่าเชื่อถือ” (reliability)
ผมยังอ่านไม่ถึงตอนที่เอ่ยถึงคติทางพุทธ ที่เอ่ยในบทความวิจารณ์หนังสือ (๑)
ข้อสะท้อนคิดต่อเนื่องของผมคือ เราคนไทยถูกสอนวิทยาศาสตร์ว่าเป็นความจริงแท้แน่นอนตายตัว และวิทยาศาสตร์พัฒนาขึ้นในประเทศตะวันตก บัดนี้ นักวิทยาศาสตร์ตะวันตก ชี้ให้เห็นความไม่สมบูรณ์ของวิทยาศาสตร์ โดยใช้ปัญญาตะวันออกเข้าไปเชื่อมโยง
วิจารณ์ พานิช
๑๖ พ.ค. ๖๕
บนเครื่องบิน ออสเตรียน จากกรุงเทพสู่เวียนนา
ไม่มีความเห็น