16 มิถุนายน 2565
: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
เริ่ม 24 สิงหาคม 2564 ปลดล็อกใบกระท่อม (Kratom) ออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5
เป็นเรื่องฮอตตีคู่มาพร้อมๆ กับการปลดล็อกกัญชายาเสพติดประเภทที่ 5 โดยพรรคภูมิใจไทยที่ชูนโยบาย หาเสียง “กัญชาเสรี” (Cannabis Liberalization) อ้างเป็นผลงานเต็มๆ ของพรรคและของรัฐบาล แม้จะมีเสียงโจมตีจากพรรคฝ่ายค้านบ้างในเรื่องความเหมาะสมของคำว่า “เสรี” เพราะใบกระท่อม นั้นคือ วิถีชีวิตชาวบ้านมาแต่โบราณ ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลและบริบทของสังคมไทยในบางพื้นที่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน
คือวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ประเทศไทยเริ่มมีผลบังคับใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2564 ปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ในลักษณะเดียวกับพืชกัญชา-กัญชง (Cannabis, Hemp) ทำให้ชาวบ้านทั่วไปสามารถปลูกพืชกระท่อม เอาไว้ครอบครอง และสามารถซื้อ ขาย หรือนำมาบริโภคได้อย่างเสรี ไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป ตามนโยบายรัฐบาลต้องการผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สามารถส่งขายเชิงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรมได้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย เพราะกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้พืชกระท่อมสามารถประกอบอาหาร-แปรรูปได้ ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
กระท่อมเป็นพืชควบคุมมาตั้งแต่ปี 2486 รัฐบาลได้ออกกฎหมายควบคุมโดย ห้ามปลูก ห้ามเสพ ห้ามขาย พืชกระท่อม การปลดล็อกครั้งนี้เพื่อหวังชูให้กระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง พันธุ์กระท่อมที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 3 สายพันธุ์ (ชนิด) ได้แก่ (1) ก้านเขียว (แตงกวา) (2) ก้านแดงใบหยักหางกั้ง และ (3) ก้านแดง พบมากในป่าธรรมชาติโดยเฉพาะบริเวณภาคใต้มีมานานแล้ว แต่เดิมใบกระท่อมเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะเบาหวาน ความดัน คลายความเครียด
ปัจจุบันสถานะของ “กระท่อม” จึงเป็นพืช ที่สามารถปลูก กิน ซื้อขายและครอบครองได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ประชาชนคนทั่วไปที่อายุ 18 ปีขึ้นไป จึงสามารถนำใบกระท่อมมาเคี้ยว การต้มทำน้ำกระท่อมบริโภคเป็นยาชูกำลัง หรือชากระท่อมดื่มได้ ช่วยให้มีสมาธิและระงับประสาท ช่วยบรรเทาความวิตกกังวลและควบคุมอารมณ์ไปในทางที่ดีขึ้น ช่วยในเรื่องการเผาผลาญ แก้ท้องเสีย แก้ท้องร่วง ปวด เบ่ง แก้บิด ตามวิถีท้องถิ่น เพราะใบกระท่อมมีสารอัลคาลอยด์หลักทึ่สกัดได้ 66% คือ สารไมทราไจนีน (mitragynine) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
และนับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ได้มีการยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ห้ามใช้พืชกระท่อมเป็นส่วนผสมของอาหารแล้ว ปัจจุบันจึงสามารถใช้พืชกระท่อมในการประกอบอาหารหรือต้มน้ำกระท่อมในเชิงอุตสาหกรรมได้
“สำหรับความผิดฐานขับเสพ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษนั้น เมื่อพืชกระท่อมไม่ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ผู้ขับขี่เสพพืชกระท่อมในขณะขับรถ จึงไม่มีความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วยเช่นกัน”
การปลูกการผลิตต้องได้รับอนุญาต
แม้ว่ากฎหมายจะปลดล็อกกระท่อมและกัญชาออกจากยาเสพติดแล้วก็ตาม ยังมีการควบคุมโดยรัฐอยู่ ชาวบ้านต้องไปขออนุญาตเสียก่อน จึงเป็นกฎหมายที่เอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่ เป็นนัยยะกีดกันประชาชนทั่วไปมิให้ผลิตกัญชา น้ำกระท่อมแข่งกับนายทุน พืชกระท่อมขายใบได้ แต่ทำเป็นน้ำขายยังไม่ได้ เพราะนายทุนใหญ่จะได้เปรียบเชิงพาณิชย์มากกว่าประชาชน
ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิดก็มีข่าวปลอมออกมาว่า พีชกระท่อมสามารถยับยั้งและทำลายเชื้อไวรัสโคโรน่าได้
ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. ...
ณ วันทึ่ 25 พฤษภาคม 2565 พบว่ามี ร่าง กฎหมายสำคัญค้างท่อรัฐสภาอยู่อย่างน้อย 40 ฉบับ หนึ่งในนั้นก็คือ
ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. … ซึ่งเสนอโดยครม. สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างกฎหมายนี้เมื่อ 7 กรกฎาคม 2564 (สคก.ตรวจพิจารณาแล้ว) และพิจารณาลงมติวาระสองและวาระสามเมื่อ 8 กันยายน 2564 ในชั้นวุฒิสภา มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจึงต้องตั้งกมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณา จากนั้นจึงจะส่งให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรลงมติ
ความหวังพืชเศรษฐกิจ
การทำสิ่งที่เคยผิดกฎหมายให้ขึ้นมาสู่เวที “ถูกกฎหมาย” และ “เสรี” ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้คนรากหญ้าได้ลืมตาอ้าปากได้ ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโรคโควิด 2019 มาร่วม 3 ปี (2563-2565) กระท่อม กัญชา เสรี ต่อไปเหล้า(พื้นบ้าน) ก็เสรี เพราะสิ่งเหล่านี้คือวิถีของชาวบ้าน (folkways) คือภูมิปัญญาของชาวบ้าน (Intelligence/wisdom) เป็น “Soft Power” ของท้องถิ่นที่ทรงพลังในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ที่เป็นความหวังในการฟื้นเศรษฐกิจพื้นบ้านไทยได้
ปัจจุบันมีพี่น้องเกษตรกรลงทุนปลูกต้นกระท่อมกันทุกภูมิภาค มิใช่เฉพาะภาคใต้ที่เป็นพืชพื้นถิ่นอยู่แล้ว เช่น ที่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์, อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์, อ.เมือง จ.แพร่ เป็นต้น
ในด้านการลงทุนปลูกกระท่อมนั้น ราคาจะลดหรือเพิ่มอยู่ที่การทำตลาดของแต่ละบริษัทหรือแต่ละบุคคน เชื่อว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้า หากปลูกได้ดี ใด้มาตรฐาน GAP ผลผลิตมีคุณภาพ การขายใบก็ไม่ขาดทุน เพราะกระท่อมปลูกครั้งเดียวเก็บผลผลิตไปใด้หลายสิบปี เดือนหนึ่งเก็บใด้ 2-3 รอบ การลงทุนก็น้อย มองตลาดให้ออก ราคาขายกิโลกรัมละ 50 บาทก็ขายได้ไม่ขาดทุน ปัจจุบันกระท่อมขายกิโลละ 300-400 บาท เก็บใบขายใด้เดือนละ 2 ครั้ง
การปราบปรามยาเสพติดหนักข้อขึ้น
ต้วอย่างข่าวเมื่อ 11 มิถุนายน 2565 เจ้าหน้าที่หน่วยกองร้อยป้องกันชายเเดนที่ 1 คุมเข้มบริเวณรั้วชายแดนที่กั้นกลางระหว่างไทยและมาเลเซีย ในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยเฉพาะในจุดที่มีช่วงแคบ ที่มักถูกใช้จุดที่ขนย้ายยาเสพติด เช่น พืชกระท่อม เพราะหลังการปลดล็อคพืชกระท่อม ก็ยังพบว่ายังมีการลักลอบขนย้ายเข้าในประเทศ เนื่องจากมีราคาขายกิโลกรัมละ 150-200 บาท เเละการปลดล็อคกัญชาล่าสุด ก็อาจทำให้มีการลักลอบขนย้ายมากขึ้น เนื่องจากกัญชามีราคากิโลกรัมละเกือบหมื่นบาทเมื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยกลุ่มขบวนการจะโยนผ่านรั้วชายแดน แล้วนัดแนะให้ไปรับตามจุดที่นัดหมาย ก่อนจะโอนเงินให้ในภายหลัง
โดยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่สามารถยึดกัญชาล็อตใหญ่น้ำหนัก 1,680 กิโลกรัมมูลค่ากว่า 50 ล้านบาทได้ที่ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส อย่างไรก็ตาม เเม้จะมีความกังวลว่ากัญชาอาจถูกลักลอบส่งออกมากขึ้น เเต่สำหรับในพื้นที่สามจังหวัดชายเเดนภาคใต้ เเม้จะมีผู้ติดยาเสพติดมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ กลับพบว่ามีกลุ่มผู้เสพกัญชาไม่มากนัก เมื่อเทียบกับยาเสพติดประเภทอื่น
โดยนางสาวลัดดา นิเงาะ อดีตผู้ทำงานกับกลุ่มผู้ใช้สารเสพติด สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่า การเปิดเสรีกัญชาน่าจะมีผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะการนำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาบนโต๊ะจะทำให้เห็นที่มาที่ไปของการเสพ และคุณสมบัติของกัญชาก็มีประโยชน์ทางการแพทย์ และโดยส่วนตัวไม่ห่วงว่าจะเป็นสารตั้งต้นในการเสพยาเสพติดชนิดอื่น เพราะกลุ่มนักเสพหน้าใหม่อายุน้อย หรือ ผู้เสพยาเสพติดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ เสพยาเสพติดชนิดอื่น เช่น ยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีน และยาเสพติดชนิดใหม่ที่มีส่วนผสมของยานอนหลับ ยาสำหรับผู้ป่วยจิตเวช ที่เรียกว่า ลูกอม เเละกฎหมายยังมีช่องว่างในการจำหน่ายยาบางประเภทก็ทำให้เยาวชนเข้าถึงยาที่นำมาเป็นส่วนผสมของยาเสพติดได้ง่าย เเละมีฤทธิ์ที่รุนเเรงมากกว่าการเสพกัญชา
ข้อห่วงใยต่อสังคม
ในความห่วงใยเด็กและเยาวชน และการใช้ในทางที่ผิด (Drug Abuse Control) จึงอยากแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนทุกคน ต้องดูแลบุตรหลานอันเป็นที่รักไว้ด้วย เพราะคำว่า “เสรี” ยังไม่มีนิยามความหมายและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ห่วงปัญหายาเสพติดและจิตเวชที่จะตามมา นี่ยังมียาบ้าอีกที่ยังไม่หมด
อ้างอิง
กฎหมาย
พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138ตอนที่ 73 ก วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 หน้า 1-80, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/073/T_0001.PDF
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 430) พ.ศ.2564 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 2 ง วันที่ 5 มกราคม 2565 หน้า 1, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/002/T_0001.PDF
บทความ
ปลดล็อกพืชกระท่อม คนไทยได้อะไร ชาวบ้านได้อะไร, โดย ผศ.ดร.สมชาย ศรีวิริยะจันทร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, https://kratom.sci.psu.ac.th/news-and-activity/sci-psu/2673/
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับพืชกระท่อม, งานประชุมวิชาการพืชกระท่อมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, โดยกองกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ส., 23 สิงหาคม 2564, https://kratom.sci.psu.ac.th/faq/
ผลดีและผลเสียของใบกระท่อม ปลดล็อกยาเสพติด, INN, 9 กันยายน 2564, 10:00, https://www.innnews.co.th/lifestyle/news_183795/
ข่าวทั่วไป
'พืชกระท่อม' ได้เวลาปลดล็อก ต่างประเทศเป็นยาควบคุม-แปรรูปขาย, TCIJ, 30 กันยายน 2561, https://www.tcijthai.com/news/2018/30/scoop/8366
ข่าวปลอมองค์การอนามัยโลกปิดบังเราไว้พีชกระท่อมสามารถยับยั้งและทำลายเชื้อไวรัสโคโรน่าได้ ดูเฟซบุ๊ก อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์, 5 มีนาคม 2563,
https://www.facebook.com/219186678564393/posts/832114000604988/?d=n
จี้กระท่อมเชิงพาณิชย์ CBGรอผสมเพิ่มสูตร โดย เฉลิมชัย ศิรินันทวิทยา(บรรณาธิการรายงาน), ทันหุ้น, 31 พฤษภาคม 2564, https://thunhoon.com/article/240568
ปลดล็อกพืชกระท่อม ยาขยันพื้นบ้าน ปลูกกิน-ซื้อ-ขาย เสรี ไม่ผิดกฎหมาย, ไทยรัฐออนไลน์, 27สิงหาคม 2564, 14:57 น., https://www.thairath.co.th/scoop/infographic/2178618
หลัง “ปลดล็อกพืชกระท่อม” เกษตรกรที่ต้องการปลูกควรเตรียมตัวอย่างไร รูปแบบไหน, โดยธาวิดา ศิริสัมพันธ์, เทคโนโลยีชาวบ้าน, 16 ธันวาคม 2564, https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_203047
เฮถ้วนหน้า ปลดล็อกแปรรูป “พืชกระท่อม”ประกอบอาหาร ช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชน, คมชัดลึก, 8 มกราคม 2565, https://www.komchadluek.net/news/500335
รมว.ยุติธรรม เดินสายขอบคุณชาวใต้ ช่วยผลักดันปลดล็อก "กระท่อม", ไทยรัฐออนไลน์, 24 มีนาคม 2565, https://www.thairath.co.th/news/local/south/2349426
‘เทพไท’ ชงรัฐบาล กำหนด24 สิงหาเป็นวันกระท่อมไทย, แนวหน้า, 20 เมษายน 2565, https://www.naewna.com/politic/648512
ปลดล็อกพืชกระท่อม พ้นยาเสพติดประเภท 5 ให้เหมาะสมวิถีชาวบ้าน, กรุงเทพธุรกิจ, 26 พฤษภาคม 2564, 20:39 น., https://www.bangkokbiznews.com/politics/940289
ยกเลิก "พืชกระท่อม" จากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5, ไทย PBS, 27 พฤษภาคม 2564, https://news.thaipbs.or.th/content/304688
ปลดล็อกกระท่อม' ทำความเข้าใจกฎหมายยาเสพติดฉบับล่าสุด หลังกระท่อมพ้นยาเสพติดประเภท 5 โดย Sutthipath Kanittakul, The MATTER, 2 มิถุนายน 2564, https://thematter.co/social/politics/quickbite-kratom-law-2-june/144869
ปลดล็อกพืชกระท่อม ยาขยันพื้นบ้าน ปลูกกิน-ซื้อ-ขาย เสรี ไม่ผิดกฎหมาย, ไทยรัฐออนไลน์, 27 สิงหาคม 2564, 14:57 น., https://www.thairath.co.th/scoop/infographic/2178618
อีกมุมหนึ่งของ 'พืชกระท่อม' ปลดล็อกแล้ว แต่ยังมีกฎหมายคุมการใช้ในทางที่ผิด, workpointtoday, 2 กุมภาพันธ์ 2565,
https://workpointtoday.com/one-kratom/
‘เทพไท’ ชงรัฐบาล กำหนด24 สิงหาเป็นวันกระท่อมไทย, แนวหน้า, 20 เมษายน 2565,
https://www.naewna.com/politic/648512
กฎหมายค้างท่อดู ประชุมสภา: จับตากฎหมายค้างท่อ อย่างน้อย 40 ฉบับ, โดย iLaw, 25 พฤษภาคม 2565, https://ilaw.or.th/node/6148
เจ้าหน้าที่หน่วยกองร้อยป้องกันชายแดนที่ 1 คุมเข้มบริเวณรั้วชายแดนที่กั้นกลางระหว่างไทยและมาเลเซีย, ThaiPBS ศูนย์ข่าวภาคใต้, 11 มิถุนายน 2565, https://www.facebook.com/SouthernThaiPBS/posts/5396773477040225
เตือนภัย! มิจฉาชีพหลอกเกษตรกรลงทะเบียนปลูก 'กระท่อม' ได้เงินอุดหนุน 3.5-5 พันบาท, สยามรัฐออนไลน์, 12 มิถุนายน 2565,
https://siamrath.co.th/n/356076
ไม่มีความเห็น