๑,๒๗๖ ประเมินคุณภาพรอบที่ ๔


ผมกลับบ้านอย่างเหนื่อยอ่อน ถามตัวเองว่าคิดผิดหรือเปล่า ที่เข้าสู่การประเมินรอบ ๔ ระยะที่ ๒ แต่พอคิดถึงวัตถุประสงค์แรกที่ตั้งไว้ว่า..ต้องการเกษียณอายุราชการอย่างสมบูรณ์ และตอบลูกหลานได้อย่างทะนงองอาจว่า...เป็นผอ.ร.ร.ที่ผ่าน สมศ.รอบ ๔ แล้ว

         ในทุกรอบ ๕ ปี คณะกรรมการของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) จะต้องมาประเมินโรงเรียน แต่ติดเรื่องโควิดทำให้การประเมินล่วงเลยมาถึงปีนี้ ซึ่งเป็นการประเมินรอบที่ ๔

          รูปแบบการประเมินแบ่งเป็น ๒ ระยะ ในระยะที่ ๑ สมศ.จะดูรายงานการประเมินตนเองของโรงเรียน (SAR) ของปี ๒๕๖๑ จากนั้นจะส่งผลให้โรงเรียนทราบ หากทราบผลแล้ว โรงเรียนมีสิทธิที่จะไม่ขอรับการประเมินในระยะที่ ๒ ก็ได้ ถือว่าการประเมินสิ้นสุดลงแล้ว

          ปลายเดือนเมษายน ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ผมทราบผลการประเมินระยะที่ ๑ ว่าได้ระดับดี พอปรึกษาคณะครูเป็นที่เรียบร้อย  ผมก็ประสานคณะกรรมการทันทีว่า ไม่ขอไปต่อแล้ว เนื่องจากไม่มีเวลาจัดเตรียมเอกสารฯ

           กรรมการท่านหนึ่งไม่เห็นด้วย โดยบอกว่าการประเมินระยะที่ ๒ ไม่เน้นเอกสาร แต่จะดูเชิงประจักษ์ ผอ.ไม่ต้องกังวล จึงเป็นที่มาว่าทำไมวันนี้ จึงมีการประเมินรอบ ๔ ระยะที่ ๒ ที่โรงเรียนบ้านหนองผือ

          โดยมีเงื่อนไขว่า โรงเรียนจะต้องรับการประเมินทางไกล โดยการจัดประชุมแบบเรียลไทม์ผ่านลิ้งของกูเกิล โรงเรียนต้องเตรียมครูฝ่ายปฐมวัย ๒ คน ครูประถมฯ ๒ คน ตัวแทนนักเรียน ๔ คน ผู้ปกครอง ๔ คน และตัวแทนคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑ คน

          การสัมภาษณ์เริ่มต้นที่เวลา ๐๙.๐๐ น. สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่มีอะไรขัดข้อง กรรมการและผู้ถูกสัมภาษณ์ทุกฝ่ายเสียงดังฟังชัด ผู้ปกครองที่ผมเชิญมาแบบที่ไม่ได้ซักซ้อมออกอาการตื่นเต้น เพราะไม่เคยพูดกับจอทีวีแบบนี้

          สิ่งที่ผมเป็นห่วงก็คือครู เนื่องจากครูทุกคนไม่มีประสบการณ์การประเมินในรอบ ที่ ๒ – ๓ ที่สำคัญก็คือ สมศ.ใช้รายงานของโรงเรียนในปี ๒๕๖๑ แต่ครูที่ถูกสัมภาษณ์ มิได้อยู่ในปีนั้น ครูส่วนใหญ่เริ่มปฏิบัติงานในปี ๒๕๖๒ – ๒๕๖๓ และเริ่มพัฒนางานประกันคุณภาพอย่างเป็นระบบที่สุดในปี ๒๕๖๔ นี่เอง

          เท่านั้นยังไม่พอ...ครูยังออกอาการอ่อนล้า อันเนื่องมาจากเพิ่งเปิดเรียนได้ ๓ วัน ครูบางท่านเพิ่งทำผลงานทางวิชาการมากกว่า ๑๐ เล่ม แล้วนำส่งเขตฯ เพื่อให้เขตฯมาประเมิน คศ.๒ (ครูชำนาญการ)

          ครูวิชาการยังไม่หายเหนื่อยจากการทำรายงานSAR ปีการศึกษา ๒๕๖๔  จำนวน ๒ เล่ม เพื่อรายงานเขตพื้นที่ฯ แต่วันนี้ก็ยังต้องมานั่งให้สมศ.สัมภาษณ์อีก ผมเห็นแล้วรู้สึกสงสารจับใจ

          แต่ไม่อยากแก้ตัว พอผมถูกสัมภาษณ์บ้าง ผมก็พูดไปตามความเป็นจริง เพราะโรงเรียนขนาดเล็ก ครูไม่ครบชั้น ศักยภาพของครูคือปัญหาใหญ่ จึงบอกคณะกรรมการไปว่า รายงานในมือท่าน ผมเขียนเอง และยังต้องสอนหนังสือ ตลอดจนนิเทศติดตาม ตลอดจนทำงานในเชิงบูรณาการในทุกเรื่อง เพื่อให้ครูอยู่ในห้องเรียนมากที่สุด มิใช่เอาเวลาไปทำแต่เอกสารเท่านั้น

          ผมสังเกตทีท่าของกรรมการ ดูจะไม่เชื่อในคำพูดของผม เพราะหลักฐานอ้างอิงในมือมีไม่เพียงพอ หรือไม่ก็อาจคิดว่า...ทำไม ผอ.ต้องลงมาทำเอง และจริงหรือที่ทำอะไรได้มากมายขนาดนี้

          สุดท้าย..ก็ถึงเวลาเยี่ยมชมอาคารสถานที่และแหล่งเรียนรู้ เป็นเวลา ๑ ชั่วโมง ที่ผมพาทัวร์ทุกที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่อยู่ในรายงานของปี ๒๕๖๑ และที่สำคัญผมจะบอกด้วยว่า..อาคารและแหล่งเรียนรู้ได้มาอย่างไร เกิดประโยชน์อย่างไร ผมชี้ให้เห็นความแตกต่างของอดีตและปัจจุบัน ที่นำโรงเรียนไปสู่คุณภาพแบบมั่นคงและยั่งยืน

          ท้ายที่สุด..คณะกรรมการดูจะมีความมั่นใจในการทำงานของโรงเรียนขนาดเล็ก ก่อนปิดการประชุมฯ กรรมการขอดูรางวัลพระราชทานของผม ขอดูรางวัลOBEC AWARDS และรางวัลโรงเรียนขนาดเล็กที่มีวิธีปฏิบัติที่ดี ๓ ปีซ้อน

          วันนี้ ผมกลับบ้านอย่างเหนื่อยอ่อน ถามตัวเองว่าคิดผิดหรือเปล่า ที่เข้าสู่การประเมินรอบ ๔ ระยะที่ ๒  แต่พอคิดถึงวัตถุประสงค์แรกที่ตั้งไว้ว่า..ต้องการเกษียณอายุราชการอย่างสมบูรณ์ และตอบลูกหลานได้อย่างทะนงองอาจว่า...เป็นผอ.ร.ร.ที่ผ่าน สมศ.รอบ ๔ แล้ว..และไม่ใส่ใจด้วยว่าผลการประเมินจะออกมาเช่นไร.

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๐  พฤษภาคม  ๒๕๖๕

หมายเลขบันทึก: 702725เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2022 22:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2022 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียกว่า ประเมินตลอดชีวิต ;)…

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท