วิธีเรียนเพื่อบรรลุผลมหัศจรรย์


 

หนังสือ Ultralearning : Accellerate Your Career, Master Hard Tasks and Outsmart the Competition (2019)  เขียนโดย Scott H. Young   แนะนำวิธีเรียนที่บรรลุผลเร็วและลึก ได้อย่างไม่น่าเชื่อ    เขาเรียกคนที่มีสมรรถนะเรียนรู้แบบนี้ว่า ultralearner   โดยเสนอว่า คนทุกคนเป็น ultralearner ได้  

Ultralearner เป็นผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเอง   ให้สามารถเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งได้สำเร็จในเวลาสั้น โดยมีการเรียนรู้อย่างมีกลยุทธ (strategic) และเอาจริงเอาจัง (aggressive)   หรืออย่างมุ่งมั่น   

ย้ำนะครับ ultralearner ไม่มุ่งให้คนอื่นมาจัดการการเรียนรู้ของตนเอง    แต่มุ่งจัดระบบเรียนรู้ของตนเอง  ด้วยตนเอง    ultralearner จึงต้องเป็นคนที่มีพื้นฐานสมรรถนะกำกับตนเองได้ (self-regulation)    อย่างน้อยๆ ก็กำกับให้ไม่ตกเป็นเหยื่อของแรงดึงดูดของสารพัดสิ่งเย้ายวน   รวมทั้งรู้จักหาตัวช่วยมาทำให้บรรลุเป้าหมายได้ 

เครื่องมือแรกคือ เรียนรู้วิธีเรียน (learn how to learn)   ที่เรียกในภาษาวิชาการว่า metalearning    โดยฝึกมองภาพใหญ่ของสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ ด้วย metalearning map   ที่แยกเรื่องที่จะเรียนออกเป็น ๓ ส่วนคือ  (๑) หลักการ (concepts) ซึ่งต้องเรียนโดยทำความเข้าใจ (๒) ความจริง (facts) ที่จะต้องจำ  และ (๓) วิธีการ (procedures) ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องฝึก หรือลงมือทำ   เมื่อแยกหรือแจกแจงออกเป็น ๓ ส่วนเช่นนี้ เราก็จะเข้าใจว่าจะเรียนส่วนไหนอย่างไร    หาตัวช่วยแบบไหน   เช่นหากเรื่องที่จะเรียนมีส่วนที่ต้องใช้ความจำมาก  เราอาจหา digital App มาช่วยให้เราเล่นเกมทบทวนความจำ   

เครื่องมือที่ ๒   ทำ Roadmap ของโครงการ ultralearning นั้นๆ   สำหรับดำเนินการตามแผนและยุทธศาสตร์ 

เครื่องมือที่ ๓   หาวิธีช่วยให้ใจจดจ่อกับโครงการ ultralearning นั้น    ไม่ถูกเรื่องอื่นมารบกวนจิตใจ หรือมาดึงดูดความสนใจ    โดย (๑) ใช้ Pomodoro Technique   (๒) ปิดเครื่องมือสื่อสารทั้งหมดในช่วงเวลานั้น   (๓) ใช้วิธีเรียนสลับเป็นช่วงๆ สลับกับกิจกรรมอื่น (interleaving) ไม่เรียนตะลุยรวดเดียว   (๔) เรียนตามความแจ่มใสของสมอง    ช่วงที่สมองแจ่มใสเหมาะสำหรับฝึกสิ่งที่ต้องทำซ้ำๆ เช่นซ้อมดนตรี  ช่วงที่สมองล้าเหมาะสำหรับการคิดแหวกแนวหรือเชื่อมความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการฝึกความสร้างสรรค์   ช่วงสมองแจ่มใสเหมาะกับกิจกรรมที่ไม่ซับซ้อน    ช่วงสมองล้าเหมาะกับกิจกรรมที่ซับซ้อน  

เครื่องมือที่ ๔   หาวิธีเรียนสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้สู่ทักษะระดับเชื่อมโยง (transfer) โดยเร็ว   โดย  (๑) ฝังตัวในสถานการณ์จริง (immersive learning) เช่นไปเรียนภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศฝรั่งเศส  (๒)  เรียนในสถานการณ์จำลอง (simulation) เช่นนักบินเริ่มเรียนจากห้อง flight simulator 

ท่านที่ต้องการเรียนรู้เรื่อง การเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง ในระดับลึก อ่านได้จากหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง 

เครื่องมือที่ ๕   การฝึกอย่างเคี่ยวกรำ (drilling)    เพื่อให้มีทักษะระดับดีเลิศ  เช่นกรณีนักกีฬาที่ต้องการเป็นแชมเปี้ยน    แต่ไม่ควรฝึกแบบเคี่ยวกรำทันที    ควรฝึกตามปกติก่อน เพื่อหาจุดอ่อนที่จะต้องฝึกอย่างเคี่ยวกรำเพื่อแก้ไขจุดอ่อนเป็นจุดๆ    ที่เรียกว่า direct-then-drill approach    

งานบางอย่างมีขั้นตอนที่ถือได้ว่าเป็นจุดคอขวด เช่นต้องการฝึกเป็นนักบัญชี แต่ไม่มีทักษะโปรแกรม Excel   จะต้องฝึก Excel อย่างจริงจังจนใช้งานได้ดีก่อน    

การฝึกอย่างเคี่ยวกรำ มีวิธีการเฉพาะด้าน  เช่นในด้านภาษาต้องฝึกจำคำศัพท์ การออกเสียง  สะกดคำ เป็นต้น    งานด้านสร้างสรรค์ ควรฝึกด้วยการลอกเลียน เช่นฝึกวาดรูปโดยลอกรูปของศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดัง 

เครื่องมือที่ ๖   ใช้วิธีทบทวนความจำ (recall) เพื่อช่วยการเรียน   มีผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัย Purdue บอกว่าวิธีทบทวนความจำ (เมื่ออ่านจบไปบทหนึ่ง ปิดหนังสือแล้วนึกทบทวนว่ามีสาระสำคัญอะไรบ้าง   หรือเขียนลงกระดาษ)    ดีกว่าวิธีอ่านทวน (review) โดยอ่านทวนทั้งหมด หรือขีดเส้นใต้แล้วอ่านทวนส่วนที่ขีดเส้นใต้   

วิธีทบทวนความจำรูปแบบหนึ่งทำโดยอ่านไปตั้งคำถามไป    แล้วกลับมาตอบคำถามเมื่ออ่านจบ 

เครื่องมือที่ ๗   สร้างการป้อนกลับ (feedback) คุณภาพสูง    เพื่อหาจุดอ่อนที่จะต้องแก้ไข    โดยใช้การป้อนกลับ ๓ รูปแบบคือ  (๑) การป้อนกลับเพื่อแก้จุดอ่อนเฉพาะจุด (corrective feedback)   (๒) การป้อนกลับเพื่อบอกข้อมูล (informational feedback) จุดอ่อนกว้างๆ    และ (๓) การป้อนกลับเพื่อบอกระดับผลงาน (outcome feedback)     โดยให้ความสำคัญตามลำดับ ๑, ๒, ๓   

จะให้ฝึกได้ผลดียิ่งขึ้น ต้องตั้งเป้าให้ยากมากจนเราทำไม่ได้ตามนั้น   เพื่อให้ได้รับการป้อนกลับจากความล้มเหลวนั้น    เรียกว่า fail for feedback   

และต้องไม่ลืมใช้พลังของการป้อนกลับเพื่อบอกว่าวิธีเรียนที่เราใช้ ให้ผลดีแค่ไหน  เขาเรียกการป้อนกลับแบบนี้ว่า meta-feedback   ซึ่งทำได้ง่ายๆ โดยจับเวลาว่าเรียนรู้ได้เร็วแค่ไหน   การป้อนกลับนี้มีประโยชน์ช่วยให้เราปรับปรุงหรือเปลี่ยนวิธีเรียนรู้ 

ย้ำนะครับว่า ผู้เรียนต้องจัดการให้ตนได้รับการป้อนกลับเหล่านี้   

เครื่องมือที่ ๘  ระบบช่วยความจำ    เขาแนะนำ Space Repetition System   ซึ่งมีวิดีทัศน์สั้นๆ แนะนำหลักการและวิธีใช้ที่ (๑)  และมี App เพื่อช่วยหยิบยกประเด็นขึ้นมาทบทวน หรือใช้งาน  บ่อยมากน้อยตามระดับความสำคัญของประเด็น    และในบางประเด็นอาจทบทวนซ้ำๆ จนเข้าสู่สภาพ overlearning   คือไม่มีวันลืม   

เครื่องมือที่ ๙   ปัญญาญาณ (intuition)   การเรียนรู้ในระดับนี้ เกิดจากการดื่มด่ำในหลักการ และปฏิบัติการ อย่างเข้มข้น และยาวนาน    เป็นเส้นทางที่ไม่มีทางลัด   

เครื่องมือที่ ๑๐   ทดลอง หรือฝึกฝน อย่างมีกลยุทธ (strategic experimentation)   ซึ่งผมตีความว่า เป็นการฝึกปฏิบัติโดยใช้วงจรเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Kolb’s Experiential Learning Cycle)      

ผู้เขียนให้ข้อสรุปย่อหนังสือไว้ที่ (๒)             

   

 

  

วิจารณ์ พานิช

๑๑ เม.ย. ๖๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 702485เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2022 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2022 16:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท