ศิษย์เก่านักกิจกรรม (ุ9) อาณัติ เหลื่อมศรี (ศิษย์เก่านักกิจกรรม กับ ทรานสคริปกิจกรรมคนแรกของ มมส)


อาณัติ เหลื่อมศรี ยังคงใช้ชีวิตในเส้นทางนักกิจกรรมอย่างน่าสนใจ เขายังคงขับเคลื่อนกิจกรรม “จิตอาสา” ในแบบที่เขาถนัดอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาทิเช่นการเดินทางกลับไปเยี่ยมยามถามข่าวชุมชนที่เคยออกค่ายอาสาพัฒนาในสมัยที่เป็นนิสิต – เป็นเสมือนการเดินทางกลับสู่ความทรงจำที่มีชีวิตของเขาเอง หรือการขันอาสาสาเป็นเสมือนทูตแห่งความทรงจำของนิสิตชาวค่ายที่กลับไปบอกรักและโอบกอด “พ่อฮัก-แม่ฮัก” และชุมชนด้วยความรักอีกครั้ง

 


ผมมองว่าระยะเวลา 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย การออกค่ายอาสาพัฒนา หรือออกไปทำกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชนและสังคมอย่างเป็นรูปธรรมไม่น้อยกว่า 10 ครั้งนับเป็นเรื่องยากและท้าทายการเรียนรู้นอกหลักสูตรอยู่ไม่ใช่ย่อย เพราะเฉลี่ยแล้วต้อง “ไปค่าย” ปีละไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ขณะที่ในแต่ละปีการศึกษามีห้วงการปิดภาคเรียนให้ออกค่ายได้เต็มที่ก็ภาคเรียนละ 1 ครั้งอย่างเป็นทางการ

 

แต่สำหรับ “อาณัติ เหลื่อมศรี” หรือที่ผมเรียกติดปากแบบคุ้นเคยเป็นการส่วนตัวว่า “ต๋อง” กลับเป็นอีกคนที่ผมค้นพบว่าเขาเป็นเด็กหนุ่มที่ใช้ชีวิตในเส้นทางสายกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นความต่อเนื่องในลักษณะที่ไม่หวือหวา ไม่โลดโผน ไม่ทะเยอทะยาน ไม่ชิงดีชิงเด่น หรือแม้แต่การไม่ฝักใฝ่ขั้วการเมืองใดๆ ในมหาวิทยาลัย สามารถเข้าออกได้ทุกพรรคทุกกลุ่มนิสิต 

 



และที่สำคัญคือ เขาเป็นหนึ่งในนิสิตจำนวนหนึ่งในถนนสายกิจกรรมที่หลงรักการแบกเป้ความฝันไปสู่ค่ายอาสาพัฒนา หรือลงแรงไปกับกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมเชิงประจักษ์นอกสถานที่ไม่น้อยกว่า 15 ครั้ง -

 

มิหนำซ้ำยังเป็น “นิสิตคนแรกที่ได้รับใบระเบียนกิจกรรม” จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือที่เรียกกันว่า “ทรานสคริปกิจกรรม”  ซึ่งได้รับคู่กับเพื่อนรักอีกคน คือ “สัญญา ผาลี”

 


ต๋อง –อาณัติ เหลื่อมศรี เป็นชาวมุกดาหารโดยกำนิด เข้ามาเป็นพลเมืองของ ม.มหาสารคาม ครั้งแรกเมื่อปี 2547 ในสาขาสื่อนฤมิต  คณะวิทยาการสาสนเทศ มีรหัสประจำตัวการเป็นนิสิต คือ  47011220465 และสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2551 ซึ่งเมื่อครั้งที่เป็นนิสิตเคยได้รับทุนการศึกษาอันเป็นเกียรติประวัติที่สำคัญๆ เช่น ทุนสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

 

บนเส้นทางสายนักกิจกรรม “ต๋อง” มีร่องรอยการเดินทางที่เด่นชัด โดยยึดโยงอยู่กับองค์กรสำคัญๆ 2-3 องค์กร นั่นคือ ชมรมนักวิทยุสมัครเล่น ชมรมซอท์ฟบอล และชมรมอาสาพัฒนา นั่นจึงสะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่ใช่นักกิจกรรมที่ติดกับดักอยู่เพียงองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือหัวหกก้นขวิดอยู่กับกิจกรรมด้านใดด้านหนึ่ง แต่เปิดโลกทัศน์สู่การเรียนรู้วิถีกิจกรรมนอกหลักสูตรครอบคลุมโครงข่าย 3 ด้านขั้นต่ำ คือ วิชาการ กีฬา บำเพ็ญประโยชน์

 



กรณีด้านวิชาการ ตัวตนของเขาย่ำเดินอยู่ในวิถีของนักวิทยุสมัครเล่น ซึ่งมิใช่การ “เล่นวิทยุมือถือ” ตามความชื่นชอบส่วนบุคคล ทว่าใช้วิทยุมือถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาทักษะการสื่อสารของตนเอง ควบคู่ไปกับการหนุนเสริมกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรนิสิตและมหาวิทยาลัยอย่างไม่อิดออด เช่นเดียวการเป็นสต๊าฟเชียร์ของมหาวิทยาลัยในห้วงปี 2548-2550 

ในส่วนของกิจกรรมด้านกีฬา ภาพที่ผมรับรู้และฝังจำอย่างแม่นมั่นก็คือการเป็น “นักซอท์ฟบอล” ของมหาวิทยาลัยและเคยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยมากถึง 3 ครั้ง นั่นคือ ครั้งที่ 33 ครั้งที่ 34 และครั้งที่ 35

 

 

และถ้าผมจำไม่ผิด “ต๋อง” น่าจะเป็นหนึ่งในแกนนำชมรมอาสาพัฒนาในยุคหนึ่งที่ช่วยกันขับเคลื่อนให้ชมรมอาสาพัฒนาเดินทางไกลถึงขั้นได้รับคัดเลือกเป็นองค์กรดีเด่น ในวันเยาวชนแห่งชาติ (2548)  ครั้งนั้นผมได้รับเกียรติจากทางชมรมฯ ให้เขียนคำนิยมการันตีผลงาน พร้อมทั้งพาสมาชิกชมรมเดินทางไกลไปเมืองกรุงเพื่อเข้ารับโล่พระราชทานฯ และห้วงการเดินทางนั้นตรงกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกหน้าของสังคมการเมืองไทยนั่นเอง

 




นอกจากนั้นเจ้าตัวยังเคยรวบรวมเพื่อนพ้องน้องพี่ชาวอาสาพัฒนามาช่วยผมขับเคลื่อนกิจกรรมลดอุบัติเหตุบนท้องถนนในเทศกาลสำคัญๆ อย่างไม่ย่อท้อ ทั้งที่เป็นปีใหม่ สงกรานต์ จนกิจกรรมดังกล่าวได้รับการยกย่องและเชิดชูทั้งในระดับจังหวัด และประเทศมาแล้ว –

 

อีกหนึ่งภาพจำที่ผมรับรับและฝังจำเกี่ยวกับเจ้าตัว นั่นคือ การเป็นนิสิตที่มีสัมมาคารวะ มีน้ำใจทั้งต่อเจ้าหน้าที่และนิสิต หลายครั้งคราได้ยินข่าวว่าลงหมู่บ้านไปช่วย “น้ายาม” เกี่ยวข้าว นวดข้าว ขนข้าว ก็บ่อย

 


ในมุมมองของผม ปัจจุบัน ต๋อง –อาณัติ เหลื่อมศรี ยังคงใช้ชีวิตในเส้นทางนักกิจกรรมอย่างน่าสนใจ เขายังคงขับเคลื่อนกิจกรรม “จิตอาสา” ในแบบที่เขาถนัดอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาทิเช่นการเดินทางกลับไปเยี่ยมยามถามข่าวชุมชนที่เคยออกค่ายอาสาพัฒนาในสมัยที่เป็นนิสิต –

เป็นเสมือนการเดินทางกลับสู่ความทรงจำที่มีชีวิตของเขาเอง หรือการขันอาสาสาเป็นเสมือนทูตแห่งความทรงจำของนิสิตชาวค่ายที่กลับไปบอกรักและโอบกอด “พ่อฮัก-แม่ฮัก” และชุมชนด้วยความรักอีกครั้ง

 

กิจกรรมที่ว่านั้น เจ้าตัวตั้งชื่อกิจกรรมนี้ว่า “ตามรอยอาสา” ประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆ คือการรวบรวมสิ่งของในมิติต่างๆ ไปส่งมอบให้กับชุมชนและโรงเรียนที่เคยไปออกค่ายในสมัยที่เป็นนิสิต

 


ประเด็นนี้ ผมมองว่า ควรค่าต่อการกล่าวถึงและหยิบจับมาเป็น “บทเรียน” หรือ “กรณีศึกษา” มากเลยทีเดียว หากสามารถนำมาถอดบทเรียน หรือสื่อสารเรื่องราวร่วมกันระหว่าง “ศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบัน” น่าจะเกิดเป็นพลังแห่งการเรียนรู้ในมติต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
 

 

หรือกระทั่งล่าสุดในปีนี้ (2564) ปีที่จังหวัดชัยภูมิเผชิญกับภาวะน้ำท่วมอย่างแสนสาหัส “ต๋อง” ก็ขยับออกมาขับเคลื่อนงานจิตอาสาในพื้นที่เหล่านั้นอย่างชัดแจ้ง  

ผมเชื่อว่าการขับเคลื่อนที่ว่านั้น เป็นมากกว่าหน้าที่ หรือวิชาชีพที่เขามี หากแต่ส่วนหนึ่งล้วนเกิดจากความเป็น “นักกิจกรรม” ที่ถูกบ่มเพาะมาจาก “รั้วมหาวิทยาลัย” อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะผมเชื่อว่าในตัวตนของเขามีเลือดนักกิจกรรมไหลเวียนอยู่อย่างข้นเข้ม

 




ปัจจุบัน ต๋อง –อาณัติ เหลื่อมศรี  รับข้าราชการครู วิทยาลัยสารพัดช่างชัยภูมิ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รวมถึงการทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวสำนึก “รักษ์บ้านเกิด” ของตนเองผ่านภาพถ่ายที่มีชีวิตและแฝงฝังความเป็นไปของโลกและชีวิตเป็นระยะๆ อย่างน่าสนใจ 

ซึ่งผมเข้าใจว่าภาพที่ถูกปล่อยออกมาทักทายผู้คนนั้นคือผลพวงของความรู้และทักษะที่เจ้าตัวได้เก็บเกี่ยวมาจากมหาวิทยาลัยและฝึกฝนด้วยตนเองบนโลกความเป็นจริงของการใช้ชีวิต

 



…….

เรื่อง :  พนัส ปรีวาสนา
ภาพ : อาณัติ เหลื่อมศรี / พนัส ปรีวาสนา

หมายเลขบันทึก: 698853เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2022 00:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2022 00:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

งดงามในการทำกิจกรรม ชอบมากๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท