ศิษย์เก่านักกิจกรรม (ุ7) สุทิบ เหล่าอุด : อีกหนึ่งผู้นำนิสิตในแบบฉบับบันเทิงเริงปัญญา


ผมยังยืนยันว่า “นายกสิทธิ์” เป็นนายกองค์การนิสิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแบบ “อีสานๆ-ลูกทุ่งๆ”  มีบุคลิกที่เข้าคนง่าย ติดดิน ร่าเริงแจ่มใส ร้องหมอลำเก่ง (แต่ไม่เต้นหน้าเวที) บางครั้งเหมือนคนพูดน้อย บ่อยครั้งพูดเยอะ แต่ก็เป็นไปในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” และที่สำคัญคือค่อนข้างเป็นคนสมถะ ไม่ฟุ่มเฟือย

ในบรรดานายกองค์การนิสิต (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) ที่มีอารมณ์ขัน สรวลเสเฮฮา ออกแนวหมอลำๆ หรือลูกทุ่งในแบบอีสานเต็มร้อย ผมมองว่าหนึ่งในนั้น คือ “นายกสิทธิ์” (สุทิบ เหล่าอุด) 

 

สุทิบ เหล่าอุด ชื่อเล่น “สิทธิ์” เป็นศิษย์เก่ารุ่นเสือดาว 6 เข้าเรียน “มมส.” ปีการศึกษา 2536 สาขาฟิสิกส์ คณะศึกษาศาสตร์ จบการศึกษาปี 2540 เกรดเฉลี่ย 2.85 


นายกสิทธิ์ – พื้นเพเป็นคนมัญจาคีรี (ขอนแก่น) เป็นคนอารมณ์ขัน รักเพื่อนพ้อง  ใช้ชีวิตสมถะ-เรียบง่าย มีความเป็นอีสานอยู่ในสายเลือดอย่างข้นเข้ม เป็น “คอลูกทุ่ง” ขนานแท้  สมัยที่เป็นนิสิต บ่อยครั้งที่เจ้าตัวกำลังพูดด้วย “ภาษาไทยกลาง” อย่างเป็นทางการอยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนโหมดผุด “ภาษาอีสาน” แทรกขึ้นมาอย่างหน้าตาเฉย 

ครับ - ดูไม่ออกเลยว่า อาการที่ว่านั้นเจ้าตัวเจตนา หรือไม่เจตนากันแน่  แต่ที่แน่ๆ หลายต่อหลายคนฟังถึงขั้นกลั้นหัวเราะไม่ได้ ส่วนคนที่หัวเราะหนักเข้าๆ ก็ถึงขั้นเกือบๆ จะหงายท้องลงตรงกลางวงโสเหล่เลยทีเดียว !

 

 


นายกสิทธิ์ เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาวดินเมื่อปีการศึกษา 2539 ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งมีกิจกรรมสำคัญๆ เช่น การจัดคอนเสิร์ต “หอบเสื่อมาเผื่อน้อง โครงการ 2” โดยเชิญศิลปิน “โน้ต-อุดม แต้พานิช” และ “แท่ง-ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง” มาเดี่ยวไมโครโฟนในแบบ “จับเสือมือเปล่า” เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2540  กิจกรรมครั้งนั้นได้กำไร “แสนกว่าบาท” 

 

ผลพวงของกำไรจากคอนเสิร์ตถูกนำไปสู่กิจกรรมนอกหลักสูตรสำคัญๆ  หลายกิจกรรม เช่น  ผ้าป่าอาหารสัตว์ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว (ชัยภูมิ) กิจกรรมนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในยุคนั้น เพราะฉีกออกมาจากกิจกรรม “ผ้าป่าหนังสือ” 

ผ้าป่าอาหารสัตว์ ไม่ใช่แค่ส่งมอบทุนและอาหารสัตว์เท่านั้น แต่เป็นกระบวนการที่ช่วยให้นิสิตมีโอกาสได้เรียนรู้ระบบนิเวศของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ควบคู่ไปกับการเสวนากิจกรรมในแบบ “โสเหล่” (เว้านัวหัวม่วน) ระหว่างนิสิตกับนิสิต นิสิตกับอาจารย์ที่ปรึกษา และนิสิตกับรุ่นพี่ที่เป็นศิษย์เก่า

 

 

เช่นเดียวกับการนำงบประมาณดังกล่าวต่อยอดไปสู่โครงการ “สาธารณสุขสู่ชนบท” ที่เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในยุคนั้น เพราะช่วงดังกล่าว “มมส.” ยังไม่มีกิจกรรมค่ายในลักษณะ “วิทยาศาสตร์สุขภาพ” อย่างเป็นรูปธรรม  ค่ายนี้จึงบูรณาการระหว่าง “ค่ายสร้าง” และ “ค่ายเรียนรู้ชุมชน” ผสมผสานกับการให้บริการในเรื่องระบบสุขภาพไปในตัว เป็นต้นว่า  เรื่องโรคเอดส์ ยาเสพติด การดูแลสุขภาพ และที่สำคัญคือการร่วมกับโรงพยาบาลประจำจังหวัดออกหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการตรวจสุขภาพแก่ชุมชน

 

หรือแม้กระทั่งการมีบทบาทในการร่วมบุกเบิกโครงการ “ต้านลมหนาว” ที่เน้นการส่งมอบเครื่องอุปโภค-บริโภคให้กับนักเรียนและชาวบ้านในเขตพื้นที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ก่อนจะยกระดับเป็นโครงการ “ต้านลมหนาวสานปัญญา” ที่นอกจากการมอบ “เสื้อผ้า-ของใช้” แล้วก็เน้นบูรณาการกิจกรรมทางการศึกษาเข้าไปด้วย อาทิเช่น มอบอุปกรณ์การศึกษา แนะแนวการศึกษา ซ่อมแซมอาคารเรียน

ปีการศึกษา 2540 สุทิบ เหล่าอุด ได้รับความไว้วางใจจากมวลนิสิตให้ดำรงตำแหน่งนายกองค์การนิสิต – 

 

 

จะว่าไปแล้ว คณะกรรมการองค์การนิสิตยุคนี้มีความน่าสนใจหลายประเด็น  เป็นต้นว่า รวมขุนพลนักกิจกรรมจากคณะต่างๆ มาทำงานร่วมกันอย่างน่าทึ่ง  เป็นต้นว่า ขุนพลนักกิจกรรมจากคณะวิทยาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะเทคโนโลยี  คลับคล้ายการสลายขั้วการเมืองในหมู่ผู้นำนิสิตลงในระดับหนึ่งเพื่อเปิดใจมาสร้างระบบ (วางระบบ) กิจกรรมนอกหลักสูตรร่วมกัน 

 

องค์การนิสิตชุดนี้ ผลักดันให้มีการกระจายงบประมาณลงสู่คณะและชมรมอย่างเป็นรูปธรรม  สร้างระบบงบกลาง 10% บนฐานคิด “นิสิตเพื่อนิสิต” ที่ทุกชมรมทุกคณะ หรือแม้แต่กลุ่มอิสระก็สามารถมาขอใช้งบนี้ได้ (ไม่ใช่งบความเสี่ยง ปัจจุบันคืองบพัฒนานิสิต)  นอกจากนั้นยังผลักดันให้เกิดระบบการ “ต่อทะเบียนชมรม” และผลักดันให้เกิด “ชมรมสังกัดคณะ” อย่างจริงจัง กลายเป็นรากฐานมาถึงทุกวันนี้

 


ในทำนองเดียวกันก็ปัดฝุ่นเวที “ผู้บริหารพบนิสิต” ในแบบ “พ่อ-ลูกพูดคุยกัน”- 

ผู้บริหารพบนิสิตในยุคนั้น  เป็นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยเหตุและผล  มีการ “ถอดคำสนทนา”  หรือ “ปากคำ” จากเวทีประชุมออกมาจัดพิมพ์เป็นเอกสารข่าวแล้วเผยแพร่ต่อมวลนิสิต – 

อีกทั้งยังมีการฟื้นฟูโครงการ “ส่งเทียนส่องทาง” อีกครั้ง กล่าวคือจัดกิจกรรม “ส่งพี่” ร่วมกันในนามมหาวิทยาลัย ณ โภชนาคาร โดยไม่แบ่งแยกความเป็นคณะ 

ในส่วนแผนงานอื่นๆ ที่ผมมองว่าน่าศึกษาและควรค่าต่อการจดจำก็น่าจะหลีกไม่พ้นโครงการ “ก้าวแรกก้าวใหม่” ที่องค์การนิสิตจัดขึ้นเพื่อพบปะกับนิสิตใหม่ (น้องใหม่) เป็นเสมือนเวทีการปฐมนิเทศนิสิตใหม่แบบฉบับของกิจกรรมนิสิตที่ไม่ผูกยึดไว้กับการปฐมนิเทศนิสิตใหม่ของมหาวิทยาลัยฯ  ซึ่ง “ก้าวแรกก้าวใหม่”  ไม่ใช่แค่องค์การนิสิตพบน้องเท่านั้น แต่ยังเป็นรากฐานของพี่สต๊าฟเชียร์ได้พบน้องใหม่ไปในตัวด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นการปฐมนิเทศกิจกรรมประชุมเชียร์ก็ไม่ผิด

 


 

นอกจากนั้นก็มีการริเริ่มโครงการ “ต้นไม้สายใยรัก” (ต้นไม้สายรหัส) ขึ้นรองรับกิจกรรมประชุมเชียร์ โดยนำนิสิตใหม่ร่วมปลูกต้นคูน (ราชพฤกษ์) ร่วมกับพี่รหัสของตัวเอง  ผูกโยงไปสู่การให้พี่กับน้องร่วมดูแลต้นไม้ที่ว่านั้นร่วมกัน 

หรือแม้แต่การมอบนโยบายและงบประมาณให้กับชมรมฟุตบอล เพื่อจัดการแข่งขันฟุตบอล 7 คนภายใต้ชื่อโครงการ “ฟุตบอลฉำฉาคัพ” ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นครั้งแรกจากการริเริ่มขององค์การนิสิตปีการศึกษา 2537  จากนั้นก็แผ่วเบาลง เลือนหายไปบ้างตามยุคสมัย ก่อนจะฟื้นกลับมาอีกครั้งในปีดังกล่าว ก่อนจะถ่ายโอนเบ็ดเสร็จไปเป็นแผนงานชมรมฟุตบอล –

 

และที่น่าจดจำอีกกิจกรรมหนึ่งก็คือการจัด “ติวเตอร์” ให้กับนิสิตใหม่อย่างจริงจัง โดยใช้ห้องประชุมกองกิจการนิสิตและสำนักงานองค์การนิสิตเป็นฐานที่มั่นในการ “ติวน้อง” นิสิตที่เข้าร่วมมีทั้งนิสิตทั่วไปและนิสิตในสังกัดโควตากีฬาและศิลปวัฒนธรรม ซึ่งที่เรียกเป็นทางการว่า “โครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านกีฬาและศิลปวัฒนธรรม”

 

 

โดยส่วนตัวผมยืนยันว่าองค์การนิสิตภายใต้การขับเคลื่อนของ “นายสิทธิ์” เป็นยุคที่เริ่มวางระบบของกิจกรรมที่ชัดเจน ไม่เพียงจัดกิจกรรมในประเพณีนิยมเท่านั้น แต่ยังขับเคลื่อนกิจกรรมด้านการเมืองและสังคมคู่กันไป  พร้อมๆ กับการพยายามปรับปรุงแก้ไขแนวปฏิบัติที่สอดรับกับยุคสมัย อาสาเป็นกระบอกเสียงและสะพานเชื่อมนิสิตกับผู้บริหารผ่านกลยุทธที่หลากหลายรูปรส

 

องค์การนิสิตชุดนี้ เป็นเสมือนการรวมขุนพลจากหลายคณะเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน – เป็นการรวมขุนพลที่เรียกว่าขุนพลโดยแท้ เพราะแต่ละคนเป็น “นักกิจกรรม” ที่มี “วุฒิภาวะ” เป็นนักกิจกรรมที่กล้าพูด กล้าทำ หรือแม้แต่กล้าชนผ่านตรรกะและศิลปะที่หลากมิติ เป็นองค์การนิสิตที่ทำงานสอดผสานกับหน่วยงานของมหาวิทยาลัยได้ค่อนข้างดี แต่ก็มีจุดยืนที่ชัดเจนในการ “ยืนข้างนิสิต”

 


และที่ผมชื่นชอบมากๆ ก็คือการขึ้นป้ายรับน้องแบบสร้างสรรค์ จำได้ว่าครั้งนั้นองค์การนิสิตวาดภาพน้องใหม่ในแต่ละคณะให้อยู่ในป้ายเดียวกัน ภาพวาดแต่ละภาพเกิดจากการสังเคราะห์อัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละคณะ 

หรือแม้แต่การเป็นองค์การที่วางระบบให้เกิดชมรมส่งเสริมสุขภาพ (ผมจำชื่อไม่ได้) แต่เป็นชมรมที่ตั้งขึ้นมารองรับกิจกรรมด้านสุขภาพที่ต่อยอดมาจากโครงการค่ายสาธารณสุขสู่ชนบท  ซึ่งมุ่งเน้นให้นิสิตจากคณะพยาบาลศาสตร์ได้รวมกลุ่มทำกิจกรรมเพื่อสังคมในด้านนี้โดยเฉพาะ โดยมีองค์การนิสิตเป็นพี่เลี้ยงอยู่ข้างๆ  

ชมรมดังกล่าวไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาทำงานแต่เฉพาะกับองค์การนิสิตเท่านั้น  แต่ยังเกี่ยวโยงกับชมรม หรือกิจกรรมเชิงนโยบายอื่นๆ นั่นคือ กิจกรรมเรื่องโรคเอดส์และยาเสพติด โดยทำงานร่วมกับกองกิจการนิสิต ก่อนจะก่อเกิดเป็นชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน และอื่นๆ ตามมาในระยะหลัง และท้ายที่สุดชมรมดังกล่าวก็โยกย้ายไปปักหมุดอยู่ที่คณะพยาบาลศาสตร์

 

 

ถึงตรงนี้ – ผมยังยืนยันว่า “นายกสิทธิ์” เป็นนายกองค์การนิสิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแบบ “อีสานๆ-ลูกทุ่งๆ”  มีบุคลิกที่เข้าคนง่าย ติดดิน ร่าเริงแจ่มใส ร้องหมอลำเก่ง (แต่ไม่เต้นหน้าเวที) บางครั้งเหมือนคนพูดน้อย บ่อยครั้งพูดเยอะ แต่ก็เป็นไปในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา”  และที่สำคัญคือค่อนข้างเป็นคนสมถะ ไม่ฟุ่มเฟือย 

 

ในช่วงที่เป็นนิสิต “นายกสิทธิ์” เคยได้รับทุนการศึกษาที่เกี่ยวกับการเรียนและกิจกรรมจากธนาคารกรุงเทพ จำนวน 4,000 บาทและด้วยความที่เจ้าตัวเป็นเด็กเรียนดีประพฤติดีจึงได้ทุนการศึกษาต่อเนื่องจากบริษัทเงินทุนหลักจีเอฟ ธนาคารกรุงเทพ ปีการศึกษาละ 20,000 บาท – เป็นทุนต่อเนื่องจากมัธยมศึกษามายังมหาวิทยาลัย 

ปี 2541 สุทิบ เหล่าอุด  เป็นครูอัตราจ้างที่โรงเรียนโพนเพ็ก (มัญจาคีรี)  ถัดมาปี 2543 บรรจุเข้ารับราชการครูที่บ้านบุวิทยาสรรค์ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์  ต่อเมื่อปี 2548 จึงย้ายมาที่โรงเรียนสุวรรณคูหาพิทยา สรรค์ ตำบลสุวรรณคูหา อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู จนถึงปัจจุบัน

 

 

ปัจจุบัน สุทิบ  เหล่าอุด  รับราชการครู คศ.3 พ่วงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มกิจการนักเรียน เรียกได้ว่าจบไปเป็นครูแล้วก็ยังคงว่ายวนอยู่ในเส้นทางของกิจกรรมอยู่วันยังค่ำ  เพียงแต่ผันตัวเองไปเป็น “นักปั้น” หรือ .โค้ช” ที่ทำหน้าที่ปั้น “นักเรียนกิจกรรม” เท่านั้นเอง  

รวมถึงการเป็น “ชาวสวน” ปลูกมะนาว ปลูกกล้วย ฯลฯ อย่างเป็นล่ำเป็นสัน 

ครับ- ทั้งปวงนั้นเป็นเพียงกรณีศึกษาผ่านความทรงจำที่ผมพอจะปะติดปะต่อขึ้นได้  ผมเชื่อว่าสำหรับเจ้าตัวแล้วยังมีอีกหลายเรื่องราวที่ชวนศึกษาเรียนรู้  หรือแม้แต่มีอดีตผู้นำนิสิตอีกจำนวนมากที่ควรค่าต่อการกล่าวถึงในแบบฉบับ “บอกเล่าเก้าสิบ” 

 

 

หมายเลขบันทึก: 698850เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2022 00:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2022 00:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท