ศิษย์เก่านักกิจกรรม (ุ8) ภานุวัฒน์  โพธิวัฒน์ : จาก “ผู้นำนิสิต” สู่ “ครูนอกระบบ” บนสายวิชาชีพที่ตนรัก


รวบรวมทุนจากศิษย์เก่ามามอบเป็นทุนการศึกษาให้กับนิสิตรุ่นน้อง ต่อมาขยายผลเพิ่มเติมเป็นค่ายอาสาพัฒนาตามโรงเรียนที่ขาดแคลน  เน้นกิจกรรมที่เรียบง่ายบนฐานวิชาชีพสารสนเทศ หรือบรรณารักษ์  ภายใต้ชื่อโครงการ “มอบไออุ่นจากอุ่นไอรักนักกิจกรรม” ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ เช่น มอบอุปกรณ์การศึกษา ซ่อมแซมห้องสมุด –อาคารเรียน มอบทุนการศึกษา  เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน

 

 

“จงเติบโตจากความผิดพลาด  จงฉลาดจากความผิดหวัง”

วาทกรรมข้างต้นปักหมุดเด่นหราอยู่หน้าเฟซบุ๊กของ “นายกต้อม”  หรือ “ภานุวัฒน์  โพธิวัฒน์ "

เหตุที่ผมเรียกเจ้าตัวเป็นการส่วนตัวว่า “นายกต้อม” เพราะปีการศึกษา 2556 ต้อม-ภาณุวัฒน์ โพธิวัฒน์ เคยดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นั่นเอง

นายกต้อม พื้นเพเป็นคนอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ  เป็นศิษย์เก่ารุ่น “เสือดาว 10” เข้าศึกษาที่ “มมส.” เมื่อปีการศึกษา 2554 สาขาสารสนเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ และจบการศึกษาเมื่อปีการศึกษา 2557  เกรดเฉลี่ย 3.51 (เกียรตินิยมอันดับ 2)

 



หลังจบการศึกษาจากรั้ว “เหลือง-เทา” นายกต้อม มีจังหวะชีวิตแห่งการเรียนรู้และเติบโตอย่างน่าชื่นชม เพราะนอกจากการสัตย์ซื่อต่อวิชาชีพ อันหมายถึงมุ่งมั่นที่จะประกอบอาชีพในสาขาที่เล่าเรียนมาแล้วยังประสบความสำเร็จในอาชีพอย่างเป็นขั้นเป็นตอน กล่าวคือเริ่มต้นเป็น “บรรณารักษ์” ที่ กศน.อำเภอชื่นชม (มหาสารคาม)  จากนั้นบรรจุเข้าเป็นพนักงานราชการในสังกัด กศน.อำเภอดอนมดแดง (อุบลราชธานี) 

 

ปี 2560 บรรจุรับราชการในตำแหน่งบรรณารักษ์ปฏิบัติการที่ กศน.อำเภอวัดเพลง  (ราชบุรี)  กระทั่งปี 2563 เปลี่ยนตำแหน่งจาก “บรรณารักษ์ปฏิบัติการ”  มาเป็น “นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ”  สำนักงาน กศน.จังหวัดราชบุรีและปัจจุบันดำรงตำแหน่ง “หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และการพัฒนา” และ “หัวหน้าตรวจสอบภายใน” สำนักงาน กศน.จังหวัดราชบุรี

 



ด้วยความที่ทำงานในสายการศึกษานอกระบบ หรือการศึกษาตามอัธยาศัยกระมัง  เจ้าตัวจึงมักพูด หรือนิยามตัวเองในทำนองว่า “ครูนอกระบบ”  รวมถึงช่วงระยะเวลาหนึ่งเจ้าตัวก็เคยมีข้อเขียนที่ใช้หัวเรื่องว่า “ความรู้นอกตำรา”  ด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งสองวาทกรรมต่างสัมพันธ์กับหน้าที่การงานอย่างชัดเจน  

และในวิถีครูนอกระบบที่ว่านี้ “นายกต้อม” ก็เคยได้รับรางวัล “บรรณารักษ์ดีเด่น ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” มาแล้วเมื่อปี 2559 


ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ “ต้อม- ภาณุวัฒน์” ยังคงเป็นนิสิต ในช่วงแรกๆ ที่ผมพบเจอเจ้าตัว สิ่งที่ผมสัมผัสได้ก็คือเป็นคนเหมือนจะพูดน้อย ออกแนวสุขุมๆ มีสัมมาคารวะ แววตาและพฤติกรรมโดยทั่วไปเต็มไปด้วยความกระหายต่อการเรียนรู้ 

 



เจอกันครั้งแรกๆ อันหมายถึงได้ใกล้ชิดในวิถีของการงาน ถ้าจำไม่ผิดครั้งนั้นเป็นการลงพื้นที่เนื่องในโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของสาขาสารสนเทศศาสตร์ที่ชุมชนหนองบัว (อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม) เข้าใจว่าเจ้าตัวเป็นหนึ่งในแกนนำนิสิตที่ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมการบริการวิชาการแก่สังคม (เรียนรู้คู่บริการ) ร่วมกับคณาจารย์ในสาขา 


ครั้งนั้นผมสะดุดความเป็น “ต้อม-ภาณุวัฒน์” คือ เด็กหนุ่มมาดนิ่มนิ่ง สุขุม วางตัวดี ตั้งใจฟัง ตั้งใจจับประเด็น ตั้งใจจดบันทึก หรือแม้แต่การช่วยอาจารย์ประสานงานโน่นนั่นนี่อย่างกระฉับกระเฉง –

 

 

ถัดจากนั้นไม่นาน เจ้าตัวก็เติบโตมาเป็นนายกสโมสรนิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศ  และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ผมและเจ้าตัวเริ่มมีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในวิถีของกิจกรรมนอกหลักสูตร ถึงจะไม่มากมายและบ่อยครั้งนัก แต่สัมผัสได้ว่า เจ้าตัวเป็นเด็กหนุ่ม หรือผู้นำองค์กรนิสิตที่น่าสนใจอีกคนหนึ่งเลยทีเดียว


รวมถึงคลับคล้ายว่า เจ้าตัว เคยใช้วาทกรรม “ใจนำพา ศรัทธานำทาง” ของผมไปนิยามการเรียนรู้ของตัวเองที่ Gotoknow.org  ยังผลให้ผมแอบยิ้มน้อยยิ้มใหญ่อย่างเงียบๆ อยู่หลายเดือน

 


จะว่าไปแล้ว เส้นทางสายกิจกรรมของเจ้าต้อมก็มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสียทั้งหมด  เพราะจำได้ว่า ปีการศึกษา 2555  เจ้าตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นองค์การนิสิตในนาม “พรรคมอน้ำชี” แต่แพ้เลือกตั้ง บังเอิญปีเดียวกันนั้น สโมสรนิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศไม่มีทีมลงสมัครเป็นคณะกรรมการบริหารสโมสรฯ เลยแม้แต่ทีมเดียว เพื่อมิให้กิจกรรมของคณะชะงักลง เจ้าตัวและเพื่อนๆ จึงขันอาสารวมกลุ่มไปทำงานดังกล่าว 

ครั้งนั้น ต้อม ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในตำแหน่ง “อุปนายก” จากนั้นก็ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตในปีถัดมา 

 


ในทำนองเดียวกัน ถ้าจำไม่ผิด นายกต้อมและเพื่อนๆ เคยได้ขับเคลื่อน “กองทุนนักกิจกรรมจิตอาสา” ขึ้นในสาขา เป็นการรวบรวมทุนจากศิษย์เก่ามามอบเป็นทุนการศึกษาให้กับนิสิตรุ่นน้อง ต่อมาขยายผลเพิ่มเติมเป็นค่ายอาสาพัฒนาตามโรงเรียนที่ขาดแคลน  เน้นกิจกรรมที่เรียบง่ายบนฐานวิชาชีพสารสนเทศ หรือบรรณารักษ์  ภายใต้ชื่อโครงการ “มอบไออุ่นจากอุ่นไอรักนักกิจกรรม” ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ เช่น มอบอุปกรณ์การศึกษา ซ่อมแซมห้องสมุด –อาคารเรียน มอบทุนการศึกษา  เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน

 

 


กระทั่งล่าสุดนี้ นายกต้อม ภานุวัฒน์ โพธิวัฒน์ ได้รับการเชิดชูเกียรติในรางวัล “การปฏิบัติงาน กศน.ดีเด่น ประเภทบุคลากรทางการศึกษา ระดับกลุ่มสำนักงาน กศน. จังหวัดราชบุรี” เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565  โดย สำนักงาน กศน.จังหวัดกลุ่มท่าจีนถิ่นแม่กลอง 

 

ขอแสดงความยินดีจากใจมา ณ โอกาสนี้ นะครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 698851เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2022 00:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2022 00:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นายกต้อม จากประวัติที่เขียน ถือเป็นคนที่ยอดเยี่ยมมากค่ะ

สวัสดีครับ พี่แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

ในวันที่ผมตัดสินใจที่จะเขียนเรื่องเล่าเชิงชีวประวัติของศิษย์เก่าที่เป็นอดีตผู้นำนิสิต หรือที่เคย “ทำกิจกรรม” ในมหาวิทยาลัย

ผมไม่ลังเลยครับที่จะเขียนถึง “นายกต้อม”

อันที่จริงปี 2555-2556 ระยะเวลา 2 ปีนั้น เจ้าตัวและทีมงานมีกิจกรรมหลายอย่างที่ผมไม่ได้เขียนถึง เช่น การปฏิรูปการรับน้องคณะในแบบการ “ละ ละ เลิกการว๊าก” หรือแม้แต่การพยายามทำกิจกรรมเชิงเครือข่ายวิชาชีพกับมหาวิทยาลัยต่างๆ

รวมถึง การเปิดพื้นที่ให้ศิษย์เก่าได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมของคณะ -

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท