จิตอาสา : ไม่ใช่เรื่องง่าย (แต่พวกเขาต้องลงมือทำด้วยตนเอง)


เป็นความท้าทายบนฐานคิดการ “สอนงาน สร้างทีม” ที่พวกเขาต้องเปิดใจเรียนรู้ที่จะคิดและลงมือทำร่วมกัน และกล้าหาญที่จะ “แก้ปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกันอย่างเป็นทีม”  ซึ่งผมไม่จำเป็นต้องย้ำว่าทั้งปวงนั้นคืออีกหนึ่งหัวใจของการเรียนรู้ในกิจกรรมนอกหลักสูตร หรือแม้แต่การเรียนรู้เรื่องทักษะทางสังคม Soft skills ดีๆ นั่นเอง

 

 

จากบันทึกก่อนหน้านี้  https://www.gotoknow.org/posts/697441 (จิตอาสา : ไม่ใช่เรื่องง่าย (แต่ผมก็ยังไม่จำนน-ยอมแพ้)  
 

ผมยังยืนยันว่า ผมปล่อยให้เจ้าหน้าที่และนิสิตทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่  ผมรักษาระยะห่างเป็นจังหวะๆ ไม่เหลือบ่ากว่าแรงจะไม่เข้าไปก้าวก่าย  แต่เมื่อเจ้าหน้าที่และนิสิตเข้ามาปรึกษา  ผมก็ให้ความร่วมมือทั้งในมิติ “คำแนะนำ” และ “การลงมือทำ” หรือ “พาทำ” 


มีบางประเด็นที่ผมจำต้องยกสายประสานงานชุมชน หรือแม้แต่ยกสายถึงศิษย์เก่า ทั้งในฐานะวิทยากรและเครือข่ายการทำงาน เพราะตระหนักว่าประเด็นที่ต้องประสานนั้นมีความซับซ้อน หรือมีรายละเอียดยิบย่อยมากเกินกำลังกว่าจะปล่อยปละละเลยให้เจ้าหน้าที่และนิสิตประสานด้วยตนเอง ครั้นประสานเสร็จก็ส่งต่องานกลับไปยังเจ้าหน้าที่และนิสิตอีกรอบ –

พอทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง ผมก็ถอยกลับออกมา ปล่อยให้ทุกคนทำงานร่วมกันอีกครั้ง  นับตั้งแต่การปรับเปลี่ยนรูปแบบ  การกำหนดวันเวลาในการลงพื้นที่ การประสานงานพื้นที่ การจัดซื้อจัดหาสิ่งของไปส่งมอบให้กับชุมชน การเก็บข้อมูลชุมชน การตระเตรียมพาหนะเดินทาง ฯลฯ

 

 

รวมถึงการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ “บอกเล่า” หรือ “สอนงาน” แก่นิสิตด้วยตนเอง โดยไม่มาผูกยึดกระบวนการหรือแนวคิด-ความรู้ใดๆ จากผม

ผมเชื่อว่ากระบวนการเช่นนั้น ไม่เพียงเปิดพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่และนิสิตได้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นทีม มีความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น แต่ยังหมายถึงการทำงานบนฐานคิดอื่นๆ ไปในตัว เช่น การมีส่วนร่วม การเรียนรู้แบบ “ผู้เรียนและชุมชนเป็นศูนย์กลาง” เป็นการทำงานเชิงรุก (Active learning)  การทำงานแบบ “เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ” การทำงานแบบ “เรียนรู้คู่บริการ” ฯลฯ

หรือแม้แต่การเฝ้าติดตามอย่างเงียบๆ ว่าทั้งเจ้าหน้าที่และนิสิต ได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากเอกสาร หรือแหล่งข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่ เพราะผมเชื่อในหลักคิดของผมว่า “ไม่มีที่ใดปราศจากการเรียนรู้ (เว้นเสียแต่เราจะไม่เปิดใจเรียนรู้)” หรือกระทั่ง “ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่าและตำนาน”

 

 

ด้วยเหตุนี้ทั้งนิสิตและเจ้าหน้าที่จึงร่วมกันทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไป มีการนัดหมายมาช่วยกันคัดแยกเสื้อผ้าส่งมอบไปยังชุมชน มีการนัดหมายส่งมอบเสื้อผ้า สื่อการสอน ตุ๊กตา ตลอดจนเครื่องอุปโภคทั่วไปผ่านศิษย์เก่า ครั้นนิสิตแกนนำของศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคมประสบปัญหาเรื่อง Covid-19 ไม่สะดวกที่จะเข้ามาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยฯ ก็ปรับแผนให้เจ้าหน้าที่และนิสิตฝึกงานช่วยเป็นผู้แทนส่งมอบให้กับศิษย์เก่าแทน
 

นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็มอบหมายให้นิสิตทำการคัดแยกหนังสืออ่านนอกเวลาด้วยตนเอง  เป็นการคัดแยกภายใต้หมวดหมู่อันเป็นเนื้อหาการเรียนรู้คู่ไปกับตรวจสอบสภาพความสมบูรณ์ของหนังสือ การวิเคราะห์ว่าหนังสือเหล่านี้เหมาะที่จะส่งมอบไปยังโรงเรียนอะไร เหมาะกับนักเรียนช่วงชั้นการเรียนใดบ้าง

รวมถึงการหารือที่จะจัดซื้อเพิ่มเติม ทั้งที่เป็นหนังสือ และอุปกรณ์การเรียน –



 

ประเด็นเหล่านี้ ผมมองว่า คือการสร้างการเรียนรู้ง่ายๆ บนข้อจำกัดของอะไรๆ หลายๆ อย่าง เน้นให้นิสิตได้ลงมือทำด้วยตนเอง เน้นให้นิสิตบริหารเวลาร่วมกัน ฯลฯ

ขณะที่ผมก็ยังคงทำหน้าที่เฝ้ามองเป็นระยะๆ ว่า นิสิตและเจ้าหน้าที่ช่วยกันวางแผนการลงพื้นที่อย่างไร ประสานชุมชนอย่างไร  จัดหาพาหนะลงชุมชนอย่างไร มีการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นชุมชนหรือไม่  ตลอดจนประเด็นอื่นๆ เป็นต้นว่า การจัดเตรียมสิ่งของ การนัดหมายเวลา การมอบหมายหน้าที่ของแต่ละคน และที่สำคัญคือ “การเก็บข้อมูลชุมชน” เพื่อนำข้อมูลมา “วิเคราะห์-จัดทำแผน” ในการจัดกิจกรรมต่อเนื่องในชุมชนนั้นๆ

 

 

เท่าที่สังเกตและรับรู้จากนิสิตและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทุกอย่างเป็นไปอย่าง “เรียบง่าย” กล่าวคือ พวกเขาลงไปยังชุมชนแบบไม่มีพิธีรีตอง ไม่ใช่ไปในแบบ “เจ้าขุนมูลนาย”  ทุกกิจกรรมเป็นไปในครรลอง “ง่ายงาม-กระชับ” 

เท่าที่สังเกตและรับรู้จากนิสิตและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยความระมัดระวังเรื่องการแพร่ระบาดของ Covid 19 เน้นการสังเกตการณ์ด้วยตนเอง เน้นการพูดคุยกึ่งสัมภาษณ์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือเรียกง่ายๆ คือเน้นความเป็นกันเอง ไม่ใช่เน้นพิธีการประหนึ่ง “ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง”

หรือแม้แต่การพึงระมัดระวังในประเด็นการพูดคุยเชิงข้อมูล หรือที่เรียกว่า “พัฒนาโจทย์” อันเป็นการสำรวจความคาดหวังของชุมชน แต่มิใช่การไป “ให้ความหวัง” หรือ “รับปาก” ว่าจะทำโน่นนี่ให้กับชุมขน  แต่ย้ำเน้นว่าไปสำรวจ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าจะสามารถขับเคลื่อนต่อเนื่องในประเด็นอะไรได้บ้าง

และที่สำคัญ คือ “ไปมา-ลาไหว้”

ใช่ครับ- ทั้งปวงนั้น สะท้อนให้เห็นว่านิสิตและเจ้าหน้าที่ตระหนักแก่ใจว่าพวกเขาคือ “นักเรียนรู้” มิใช่ “นักสังคมสงเคราะห์”  ซึ่งพวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะลงมือทำด้วยตนเอง 

จะว่าไปแล้ว การลงพื้นที่เนื่องในโครงการ “เครือข่ายจิตอาสาเพื่อสังคม” ระหว่างวันที่ 15-16 มกราคม 2556 ไม่ใช่เรื่องง่าย (ซึ่งผมพูดถึงแล้วในบันทึกก่อนหน้านี้)  เพราะแกนนำทั้งหมด “มือใหม่” กันจริงๆ – นี่คือครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่กับนิสิตเพิ่งจะได้ทำงานร่วมกัน จึงไม่แปลกที่อะไรๆ จะขลุกขลักบ้าง  แต่มันเป็น “ความท้าทาย” ที่พวกเขาจะละทิ้งไม่ได้โดยเด็ดขาด 

ใช่ครับ – เป็นความท้าทายบนฐานคิดการ “สอนงาน สร้างทีม” ที่พวกเขาต้องเปิดใจเรียนรู้ที่จะคิดและลงมือทำร่วมกัน และกล้าหาญที่จะ “แก้ปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกันอย่างเป็นทีม”  ซึ่งผมไม่จำเป็นต้องย้ำว่าทั้งปวงนั้นคืออีกหนึ่งหัวใจของการเรียนรู้ในกิจกรรมนอกหลักสูตร หรือแม้แต่การเรียนรู้เรื่องทักษะทางสังคม Soft skills ดีๆ นั่นเอง

จวบจนวินาทีที่ผมกำลังนั่งเขียนเรื่องอยู่นี้ ผมก็ยังไม่ได้ซักถามทั้งเจ้าหน้าที่และนิสิตที่เกี่ยวข้องหรอกว่า 

  • ทำอะไรไปบ้างแล้ว 
  • เจอปัญหาอะไร แก้ปัญหากันอย่างไร 
  • งานบรรลุเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน 
  • ได้เรียนรู้อะไรบ้าง 
  • มีความสุขไหม 
  • เข้าใจตัวเองเพิ่มขึ้นไหม เข้าใจเพื่อนเพิ่มขึ้นไหม  เข้าใจองค์กรเพิ่มขึ้นไหม มีความเป็นทีมมากขึ้นบ้างไหม 
  • จะไปต่ออย่างไร / จะมีแผนการจัดกิจกรรมต่อยอดอย่างไร 
  • ฯลฯ

ถ้าคืบหน้า ผมจะมาบอกเล่าเก้าสิบอีกรอบ นะครับ

 

 

………………………

เขียน : พฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 

ภาพ : พนัส ปรีวาสนา / รุ่งโรจน์ แฉล้มไธสง / ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม

 

 

หมายเลขบันทึก: 697571เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2022 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2022 09:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

จิตอาสา…จะรวมถึงจิตที่เหนือสำนึก และจิตใต้สำนึกรวมกัน จึงออกมาเป็นจิตอาสาที่ดีได้ค่ะ เป็นกำลังใจให้นะคะ

เป็นเช่นนั้นแลครับ คุณแผ่นดิน ;)…

เป็นเรื่องจริงๆครับมาให้กำลังใจ

สวัสดีครับ อ.บุษยมา

เห็นด้วยครับกับวาทกรรม “เหนือสำนึก-และจิตใต้สำนึก” ซึ่งไม่ง่ายเลยครับ แต่ก็ยังไม่ท้อ ครับ ลองดูอีกสักปี ถ้าไม่ไหว ก็ปล่อยมือตามกาลเวลา ครับ

สวัสดีครับ Wasawat Deemarn

….

ผมยังไม่จำนน และจำยอมครับ 555

ครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

จวบจนวันนี้ ผมก็ยังเชื่อมั่นในการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ และการสอนงานสร้างทีม ซึ่งต้องอาศัยแนวคิดการมีส่วนร่วม หรือการเป็นเจ้าของ

แต่ทุกวันนี้ โควิดมาเยือน กระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนขนานใหญ่เลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท