เลี้ยงลูกอย่างไรในยุค COVID-19 : การเรียนรู้ของเด็กและครอบครัวในศตวรรษที่ 21


26 ม.ค.65 ที่ผ่านมา มีโอกาสเข้าฟังเวทีเสวนา “นวัตกรรมสื่อยุคใหม่ สร้างโอกาสการเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว ยุคศตวรรษที่ 21” จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กสทช. หัวข้อน่าสนใจครับ และมีผู้ร่วมเสวนาที่ดึงดูดด้วย คือ คุณเปิ้ล นาคร มากับภรรยา , คุณโอ๊ค คฑา มหากายี , คุณหมอโมทย์ศักดิ์ แสงทอง มี ดร.สรวงมนต์ สิทธิสมาน เป็นพิธีกร (ใครเป็นใครดูชื่อตามโปสเตอร์นะครับ)

 

 

งานนี้มีบรรดาพ่อแม่ร่วมเวทีกว่า 100 คน เป็นเวทีออนไลน์ครับ เพื่อนในวงการเอ็นจีโอด้านเด็กและสตรีท่านหนึ่งแนะนำให้ผมสมัครเข้าชม ผมก็ไม่รีรอด้วยเห็นว่าหัวข้อน่าสนใจ ระหว่างชมก็จดโน๊ตไปด้วย พอชมเสร็จก็คิดว่ามีประโยชน์ ให้แง่คิดหลายอย่าง ก็เลยคิดว่านำมาถ่ายทอดลง Blog เผื่อทบทวน และแชร์ต่อผู้อื่นบ้างน่าจะดี เลยเป็นที่มาของบันทึกนี้ครับ

ดร.สรวงมนต์ ให้ภาพบริบทสังคมปัจจจุบันว่า โลกเปลี่ยนเร็ว มีสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นมา โดยเฉพาะ COVID-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ให้สังคม วัฒนธรรม การศึกษา การทำงาน สื่อ การเรียนรู้ ฯลฯ ที่แวดล้อมเด็กและครอบครัวเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นมาก หลายอย่างก็เป็นโอกาสที่ดี แต่หลายอย่างก็น่าเป็นห่วง เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงภายใต้ช่องว่างและความเหลื่อมล้ำมากมายที่ประเทศเรามีอยู่ การเลี้ยงดูลูก โดยเฉพาะในเรื่องการให้การศึกษา เป็นแบบไฮบริดมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ผสมทั้ง On site และ Online แน่นอนว่ามีผลกระทบหลายอย่าง ก็เลยชวนครอบครัวที่เป็นตัวอย่างในการปรับตัวได้ดีมาเล่าประสบการณ์นี้ฟัง

คุณเปิ้ล นาคร ศิลาชัย กับภรรยา  ครอบครัวนี้มีลูก 4 คนแน่ะ ก็บ่นๆอยู่เรื่องเรียนออนไลน์ ก็ต้องจ้างครูพิเศษมาเสริมที่บ้าน มาช่วยดูเวลาเรียนออนไลน์ด้วย ซึ่งก็ไม่ง่ายซะทีเดียวเพราะบ้านเป็นที่เล่นที่พักของลูกมาตลอด จู่ๆจะปรับเป็นห้องเรียน เด็กเล็กเห็นพ่อแม่พี่น้อง สภาพแวดล้อมชวนเล่นอยู่ ก็เรียนยากนะ แต่เด็กโตนี่ โอเค พอไปได้ ในบ้านหนึ่งหลัง เวลาออนไลน์ก็ต้องแยกกันเรียน ไมงั้นก็จะป่วนกัน ทั้งนี้คุณเปิ้ลก็ให้แง่คิดเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยกีฬาต่างๆ โดยเฉพาะ เจ็ทสกีที่คุณพ่อคร่ำหวอดมานาน กลายเป็น Sport Theraphy ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ มาสร้างเป็นพื้นฐาน

 

เรื่องกีฬานี่ให้อะไรมากกว่าที่คิดนะ เช่น ทักษะในการควบคุมตนเอง การจัดการทางอารมณ์ ความมีน้ำใจ  ทักษะทางสังคม ฯลฯ อันนี้ตรงกับใจเราที่สอนไอคิโดลูกๆมาแต่น้อย นอกจากนี้ ครอบครัวก็พยายามเสริมให้ลูกๆได้สัมผัสกับธรรมชาติ เพราะเด็กๆเดี๋ยวนี้ขาดโอกาสในการเรียนรู้กับสื่อธรรมชาติ อยู่กับเทคโนโลยีมากไปหน่อย เราก็แอบดีใจว่า ดาราก็คิดเหมือนกันทำเหมือนกันเรา และ กสทช. ก็เอามาเป็นแบบอย่าง อันนี้ก็เหมือนเรา Proof ตัวเองไปพร้อมกัน

..........................................................................

ด้าน หมอโมทย์ศักดิ์  แสงทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและบ้านเรียน (Home School) มองว่า COVID-19 ทำให้เกิดการศึกษาทางเลือก ไม่ว่า ทางไกล ออนไลน์ บ้านเรียน หรือ ไปเรียนต่างประเทศ ขยายตัวมากขึ้น เด็ก ผู้ปกครอง ก็ปรับตัวเลือกการศึกษารวมถึงสื่อต่างๆที่เข้ามาเสริม แต่พ่อแม่เองก็ต้องปรับตัวเข้าหาลูกและเข้าหาโลกด้วย อย่างตนเองที่บ้านก็จะใช้บอร์ดเกมเล่นกับลูก ทำให้เข้าใจความคิด ความรู้สึก มุมมองด้านต่างๆของลูก ช่วยออกแบบการเรียนของลูกในช่องทางต่างๆได้อย่างมีส่วนร่วมและเหมาะสม

อืม อันนี้ เราก็ว่าดี ใช้ดิจิตัลเกม เป็นสะพานคุยกับลูก ก็เป็นอะไรที่ทันสมัย

 

ถัดมาอีกคนคือคุณโอ๊ต คทา มหากายี คนนี้ก็ทำบ้านเรียน เป็นนักกิจกรรมทางสังคมด้วย เป็นคนที่จัดการศึกษาธรรมชาติโดยใช้ศิลปะ ร่วมกับ Digital Science คุณโอ๊ตให้มุมมองสอดรับกับที่ ดร.สรวงมนต์ ว่าไว้ว่า ยิ่งโลกหมุนเร็ว ใจพ่อแม่ก็หมุนเร็วตาม เขามองว่าทั้งหลายทั้งปวงในกรเรียนรู้ของลูกได้รับอิทธิพลจากที่บ้านมาก อย่าง COVID-19 หรือเหตุการณ์พลิกผันต่างๆ พ่อแม่มีท่าทีอย่างไร มีทัศนคติใจเรื่องนี้อย่างไร ลูกๆก็ซึมซับ เลียนแบบไว้โดยที่พ่อแม่มักไม่รู้

การเรียนรู้ของเด็กไม่ใช่แค่โรงเรียน อันนี้เรารู้กันมานานแล้ว แต่หมายรวมถึงที่บ้าน 
ในยุคที่เด็กๆต้องเรียนที่บ้านมากขึ้น จะเป็นไฮบริดหรือ Online เป็นเดือนๆ ก็ตามแต่ บรรยากาศในบ้าน ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ การแสดงออกของพ่อแม่ที่บ้าน ยิ่งมีความหมายต่อการเรียนรู้ การซึมซับและเลียนแบบของเด็กๆ ตรงนี้ เราต้องตระหนักให้มาก เพราะจะเป็นโอกาสก็ได้ หรือจะเป็นอุปสรรคก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการอย่างไร

 

..........................................................................

ดร.สรวงมนต์ ผู้ดำเนินรายการ นอกจากจะช่วยสรุปประเด็นแล้วยังช่วยเชื่อมโยงเรื่องเล่าของวิทยากรแต่ละท่านกับโครงร้างและระบบสังคมไว้ได้อย่างน่าสนใจหลายเรื่องครับ 
- เราพ่อแม่ ผู้ใหญ่ ต้องกลับมาที่การรู้ตัวเองด้วย ว่าโลกหมุนเร็วขึ้น หมายถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆฉับไวขึ้นมาก ใจเรา พ่อแม่ ผู้ใหญ่ ก็หมุนเร็วตาม ตรงนี้ต้องเท่าทันตัวเอง และปรับตัวปรับใจ ไม่ใช่จะให้คนอื่นปรับตามเราไปหมด อันนี้ก็เป็นไปไม่ได้

-ในขณะที่โลกหมุนเร็วขึ้นนี้ ความเหลื่อมล้ำของผู้คนก็มากขึ้นตาม ในส่วนของเด็กต่างเผชิญความเครียดไม่น้อยกว่าผู้ใหญ่ เป็นความเครียดสะสมที่เราอาจจะมองไม่เห็น เพราะการเรียนออนไลน์ไม่ได้มีสังคมเพื่อนฝูงอย่างแต่ก่อน ครั้นจะเจอกันก็ต้องใส่หน้ากาก สร้างความอึดอัดและส่งผลทางจิตวิทยา เป็นชีวิตช่วงที่รู้สึกหล่นหาย เด็กประถมอาจจะยัไม่เท่าไร เพราะยังผูกติดกับพ่อแม่อยู่มาก แต่ถ้าเป็นวัยรุ่น ม.ปลาย หรือ เฟรชชี่ ปี 1 มหาวิทยาลัยนี่ พวกเขาจะเสียโอกาสในการเรียนรู้หลายเรื่องในช่วงนี้มาก ไม่รวมถึง การที่ต้องเรียนออนไลน์มากเกินไป โดยไม่มีความพร้อม แต่ผลการเรียนรู้กลับถดถอย ที่ส่งผลร่วมกันไปต่อตัวเด็กอีก

ในส่วนของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ช่วงนี้ก็ต้องปรับตัวมาก บทบาทต่างๆถาโถมเข้ามา ส่วนใหญ่ปริมาณงานมากขึ้น แต่คุณภาพ Drop ลง นี่ก็น่าเป็นห่วงเหมือนกัน

ถามว่า แล้วจะไปต่อกันยังไง ตรงนี้ ดร.สรวงมนต์ สรุปไว้ว่า เราพ่อแม่ ผู้ปกครองต้องเลิกมองว่า คำตอบของการศึกษาอยู่ที่การสอนในโรงเรียนมากมายอย่างแต่ก่อน  แต่ต้องนำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเด็ก ครู ผู้ปกครอง แบบไฮบริด ออกแบบพื้นที่เรียนรู้ เช่น มี Room Lab ที่บ้าน และอย่าไปเพ่งผลลัพธ์ แต่ให้เน้นที่กระบวนการ และดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก (การเปลี่ยนแปลงแบบองค์รวมด้วยนะ---อันนี้ ผมคิดต่อ)


อย่าเอาพ่อแม่เป็นตัวตั้ง แต่ให้ดูความสุข ความชอบ ความถนัดของลูก อันนี้เป็นหลักใหญ่

 

พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องหัดสร้างสีสัน สร้างแรงกระตุ้นในการเรียนรู้ให้กับลูก โดยพิจารณาถึงเนื้อหาสาระ รูปแบบกิจกรรม ความเหมาะสมกับพัฒนาการของลูก

ในส่วนตัวพ่อแม่ ถือเป็น Key Person ที่กลับมามีบทบาทในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับลูกมากขึ้น ถ้ารู้ตัวอย่างนี้แล้ว พ่อแม่เองก็ต้องปรับสุขภาพจิต การแสดงออกทางอารมณ์ ไม่มุ่งดุด่า ควบคุมลงโทษอย่างแต่ก่อน (พูดง่ายๆคือเรียนรู้ที่จะใช้วินัยเชิงบวก---อันนี้ผมสรุปในหัว) คุณแม่จูน ภรรยาคุณเปิ้ล นาคร แม้จะได้พูดน้อย แต่ก็พูดในสิ่งที่ท้าทาย และสำคัญยิ่ง ที่เราต้องกลับมาจัดการตัวเอง

ซึ่งไม่เกินความสามารถ หากคนที่เราสละชีวิตให้ได้คือลูก

หมายเลขบันทึก: 697236เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2022 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2022 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีเลยค่ะ คุณยายก็กังวลแทนหลานอยู่พอดีว่า ยุคนี้เด็กจะเรียนรู้ยังไง

จะดีกว่าแต่ก่อนหรือจะขาดโอกาสที่ควรจะเป็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท