วิพากษ์การรับฟังความคิดเห็นร่างประมวลกฎหมาย อปท. พ.ศ.2565 ฉบับ สถ.


วิพากษ์การรับฟังความคิดเห็นร่างประมวลกฎหมาย อปท. พ.ศ.2565 ฉบับ สถ.

27 มกราคม 2565

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ได้เผยแพร่คำถามรวม 4 ข้อ ให้คนท้องถิ่น ได้แสดงความคิดเห็น จนถึงวันที่ 20 มีนาคม 2565
คือ การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยคำถามปลายปิด แต่มีช่องปลายเปิดให้ผู้ตอบได้แสดงความคิดเห็นได้ ดังนี้

(1) เห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้เปลี่ยนแปลงฐานะของ อบต. เป็นเทศบาลทั้งหมด
(2) เห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกหน้าที่ “ต้องทำ” กับ “อาจทำ” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้เทศบาลสามารถดำเนินการได้ตามศักยภาพของตนเอง และ อบจ. ทำได้ หากเป็นโครงการขนาดใหญ่เกินศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก หรือเป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับหลาย อปท. หรือเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก แต่หากไม่ทำจะทำให้ได้รับความเสียหาย
(3) เห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดระบบการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(4) เห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ในการให้คำแนะนำและวินิจฉัยให้เป็นไปตามร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

และมีการสรุปประเด็นสาระสำคัญของร่างประมวลกฎหมาย อปท.เป็นภาพ graphic ไว้ รวม 14 ประเด็น

ความเห็นจาก facebook รวบรวมเมื่อ 22 มกราคม 2565

(1) ลุ้นว่าเมื่อใดจะแก้ไขคณะกรรมการของท้องถิ่น รวมคณะกรรมการบริหารงานบุคคลต่างๆให้เป็นคน อปท.จริงๆ เหมือนครู ดึที่คำถามปลายปิด แต่ยังมีช่องเพิ่มเติมให้แสดงความเห็น
(2) ทำแค่นี้ไม่เกิดผลอันใดดอก​ ต้องยุบส่วนภูมิภาคให้จังหวัดเป็นท้องถิ่น​ โดยการนำร่องจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน​ น่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า​ ยุบรวมท้องถื่นให้มีขนาดใหญขึ้น​ มิใช่เปลี่ยนแปลงฐานะ อบต.​ มีค่าเท่าเดิมเพราะขนาดของท้องถิ่นเล็กเกินไปเต็มไปหมด​ ไม่เอื้อต่อการพัฒนาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนไม่ได้​ ต้องมีขนาดใหญ่และมีหน่วยงานภายในที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาครบวงจร​ ปัจจุบันคนภายในจังหวัดน่าจะมีศักยภาพเพียงพอแล้ว​ มิได้เหมือน 50​ ปีที่แล้ว​ เขาสามารถบริหารงานภายในจังหวัดเขาได้​ อย่าหวงอำนาจและผลประโยชน์กันนักเลย​ กระจายมาให้ท้องถิ่นน่าจะตอบโจทก์การพัฒนามากกว่า​ สงวนไว้แต่อำนาจความมั่นคงระดับชาติก็พอ​ ต้องสังคายนาแบ่งอำนาจส่วนกลางกับท้องถิ่นกันยกใหญ่​ ส่วนภูมิภาคไม่ต้องพูดถึงแล้ว​ นำร่องไปภาคละจังหวัดก่อนเพื่อเปลี่ยนแนวคิดธรรมเนียมเดิมๆของประชาชน​ แล้ว​ 4​ ปีค่อยเพิ่มอีกภาคละจังหวัด​ ต้องเริ่มต้นทำและปล่อยให้มันวิวัฒนาการไป (อยู่ใกล้ย่อมรู้ปัญหาและตอบสนองได้เร็วและตรงจุดกว่าอยู่ไกล ว่าไหม)​
(3) แค่ต้องการมีกำนันผู้ใหญ่​บ้าน​ในเขตเทศบาล​ แล้วเพิ่มอำนาจส่วนภูมิภาค​ในกำกับดูแล และมีส่วนกลางมาควบคุมและกำหนดรูปแบบระเบียบ​อีกที
(4) อ่านดูร่างนี้คน อปท.ไม่ได้ประโยชน์มากนัก แต่คนที่ได้ประโยชน์จากร่างนี้คือ คนของกรมการปกครอง เต็มๆ เอาฉบับที่ คน อปท.จริงๆ ร่างเถอะ ร่างนี้ทิ้งเลย ส่วนกลางคุม อปท.เยอะไป

(5) ห่วงอำนาจแต่กระจายงานๆ เกือบทุกกระทรวง ทุกกรม อปท.ดำเนินการและรายงาน ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค คอยรับรายงาน
(6) กฎหมายราชการส่วนท้องถิ่น ต้องให้คนท้องถิ่นเขียนเอง แต่ให้กรม "ฉุดรั้งการปกครองท้องถิ่น" ไม่ใช่กรมส่งเสริมฯ เขียนเอง ออกกฎหมายมากดหัวคนท้องถิ่นอีกตามเคย คนท้องถิ่นต้องสู้เหมือนครู
(7) สั่งแต่งาน เงินไม่ให้ บุคลากรไม่มา พอ อปท.ทำเสร็จ เอาหน้า
(8) ดีตรงที่เขายังรวบรวมให้เป็นเล่ม ไม่ให้กระจัดกระจาย ส่วนเนื้อหาเมื่อให้กรมส่งเสริมฯ ซึ่งแยกตัวออกมาจากกรมการปกครองย่อมต้องเพิ่มอำนาจให้ผู้ว่านายอำเภอซึ่งกำกับดูแล  มีคำถามว่า ทำไมไม่ให้คนท้องถิ่นร่างเอง ทำไมต้องให้กรมส่งเสริมฯ ร่าง ซึ่งอ่อนด้อยในเรื่องระเบียบกฎหมายร่าง เพราะข้าราชการกรมส่งเสริมฯโอนมาจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองถนัดงานอย่างอื่น แค่งานแจ้งเกิดแจ้งตายแจ้งย้ายที่อยู่
(9) ขอสนับสนุนให้ อปท. มีอิสระการบริหารตามหลักการกระจายอำนาจที่แท้จริง แต่ตามร่างนี้ อปท.เป็นตำบลสาขาสอง โดยรวม คือ ประเคน ขุนนาง
ส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ รวมศูนย์ ดังเดิม แบ่งชนชั้นกันชัดเจน
(10) ทำแบบสอบถามให้คนอปท.แสดงความคิดเห็นเลย จะได้รู้จักพลังของคนท้องถิ่นบ้าง ทุกสมาพันธ์ ทุกสมาคม ทุกชมรม ต้องร่วมผลักดัน

(11) สรุปสาระร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(11.1) ยกฐานะ อบต. เป็น เทศบาลทั้งหมด
(11.2) ปรับปรุงจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่น
(11.3) การห้ามแต่งตั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในเขตเทศบาล 
(11.4) เปลี่ยนชื่อพนักงานส่วนท้องถิ่น เป็น “ข้าราชการส่วนท้องถิ่น”
(12) ร่างมา 7-8 ปี เมื่อปี 2559 ให้ควบรวม อปท. (อบต.เล็ก) ก็ตกไปนานแล้ว ตอนนี้อำนาจกำนันผู้ใหญ่บ้านเพิ่มมากขึ้น อยู่ในตำแหน่งยาวขึ้น ร่างนี้จะมาเร่งตอนท้ายได้ไง

(13) สปช.ก็รับฟังความเห็นมาแล้ว สปท.ก็รับฟังความเห็นมาแล้ว วุฒิสภา ก็รับฟังความเห็นมาแล้ว
สถ.ก็รับฟังความเห็นมาแล้วหลายรอบ
= สรุป ก็แค่ กระบวนการ ยื้อและถ่วงเวลา "อย่างไรเสียก็ ถ่วง จนเสนอไม่ทันสภา ชุดนี้อยู่แล้ว"
(14) ดูบทวิเคราะห์และความเห็นต่อร่างประมวลกฎหมาย อปท. ฉบับผ่านความเห็นชอบ สำนักงาน คกก.กฤษฎีกา และ ครม.โดย ผศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ มธ. พิมพ์โดยสถาบันพระปกเกล้า, 2554

ความเห็นของ บรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการท้องถิ่น (21 มกราคม 2565)
สรุปร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่น ที่ กรมส่งเสริมฯ รับฟังความเห็นไม่มีมาตราใดที่ดีกว่าเดิม บางมาตราก็แย่กว่าเดิม
(1)เพียงแค่นำ กฎหมายจัดตั้งที่มีอยู่แล้วมาเย็บรวมเล่ม ไม่ได้มีบทบัญญัติส่งเสริมหรือสร้างความเข้มแข็งให้ อปท.ไม่มีบทบัญญัติส่งเสริมการกระจายอำนาจที่ควรมีเพิ่มเติมขึ้นมาแต่อย่างใด
(2)บทบัญญัติที่ มท.อยากจะให้มี และน่าจะเป็นเหตุผลในการทำร่างกฎหมายนี้ทั้งฉบับ คือ ไม่ให้ยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
(3)ส่อเจตนาที่จะเพิ่มอำนาจกำกับดูแล ให้ผู้ว่านายอำเภอมากกว่าเดิม
(4)เอาเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ที่ทหารแก่ คสช.กับพวกรุ่นเคาะฝาโลงไม่กี่คนคิดขึ้น  มายัดให้ท้องถิ่น ตลอดทั้ง กำหนดให้ อปท.จัดบริการสาธารณะให้สอดคล้องกับ แผนพัฒนาจังหวัด แผนกลุ่มจังหวัด ซึ่งขัดต่อหลักการปกครองท้องถิ่นอย่างชัดเจน เพราะหลักการปกครองท้องถิ่น แผนและโครงการที่ อปท.ดำเนินการต้องคิดโดยประชาชนในพื้นที่ แต่กลับไปเอาแผนที่ข้าราชการ ก.พ.นั่งคิดในห้องแอร์มาบอกให้ อปท.นำไปคำนึงให้สอดคล้อง ซึ่งก็คือนำไปใช้
(5)นอกจากเหตุร้อยแปดพันเก้าที่จะสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นพ้นตำแหน่งแล้ว ในร่างกฎหมายฉบับนี้ยังเพิ่มเหตุที่สั่งได้อีกมาก 
(6)อำนาจหน้าที่ของ อปท.ยังเขียนว่า "ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย" คือเขียนกฎหมายให้มีฐานะต่ำกว่า พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ดังนั้น ถ้า ส่วนภูมิภาคมาทำงานซ้อนกับ อปท.ฝ่าย อปท.จะกลายเป็นฝ่ายไม่มีอำนาจทันที
(7)บทบัญญัติเรื่องอำนาจในการใช้จ่ายงบประมาณ มีความคลุมเครือ ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ และยังคงรวมศูนย์อำนาจในการกำหนดเรื่องที่ อปท.จ่ายไว้ที่ มท.ซึ่งขัดต่อหลักความเป็นอิสระทางด้านการเงินการคลังของท้องถิ่น
(8)ตั้งกองทุนส่งเสริมกิจการ อปท.ตัดงบ อปท.ไปเป็นกองทุน แต่กำหนดให้ ปลัด มท.นั่งประธานกองทุน และข้าราชการ ก.พ.เกือบทั้งหมดนั่งบริหาร ให้ได้รับเบี้ยประชุมที่ มท.กำหนดเอง
(9)บทบัญญัติที่ว่าด้วยกำกับดูแลยาวกว่าเดิม เพิ่มเติมคือ นำกฎหมายที่แก้โดย สนช.เมื่อปี 2562 มาบรรจุไว้ ซึ่งให้อำนาจผู้กำกับสั่งแขวนผู้บริหารท้องถิ่น/สมาชิกสภาท้องถิ่นได้ อันเป็นอำนาจเช่นเดียวกับ ม.44 ของ คสช.
ให้ข้าราชการ ก.พ.ที่เป็นฝ่ายประจำที่มาจากการแต่งตั้ง มามีบทบาทอำนาจเหนือ ตัวแทนที่ประชาชนเลือกตั้ง ในลักษณะที่เป็นอำนาจบังคับบัญชา
(10)เขียนเปิดช่อง ให้ มท.ไปออกกฎกระทรวง ออกระเบียบ เพิ่มอำนาจกำกับดูแลไว้ในอนุบัญญัติอีกมากมาย
ดังนั้น ผมขอเชิญชวน สมาคม และสมาพันธ์  อปท.ทุกสมาคม ทุกสมาพันธ์ ร่วมกันดำเนินการใน 2 เรื่อง ดังนี้
(1)นัดประชุมร่วมกัน เพื่อจัดทำเป็นข้อสรุป ความเห็นและข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับร่างประมวลฯ นี้ แยกรายประเด็นพร้อมเหตุผลที่ อปท.ไม่ยอมรับ ตลอดทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุง ทำเป็นหนังสือลงนามร่วมกันเสนอ มท. โดยอาจเชิญนักวิชาการด้านการปกครองท้องถิ่นมาช่วยดูด้วยก็ได้
(2)ร่วมกันยกร่าง ร่างประมวล ฉบับของท้องถิ่น โดยกำหนดเรื่อง สำคัญไว้ในร่างกฎหมาย คือ "สภาหรือคณะกรรมการท้องถิ่นแห่งชาติ" ที่มีฐานะ เทียบกระทรวง ออกจากการกำกับของ มท.  และให้ข้าราชการในสำนักงาน สภา/คณะกรรม มีฐานะเป็นข้าราชการท้องถิ่นทั้งหมด
รวมทั้งเขียนบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในลักษณะเปิดกว้างเพียงเฉพาะเรื่องที่ อปท.ทำไม่ได้ เช่น ด้านการป้องกันประเทศ ด้านความมั่นคงหรือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ด้านศาลยุติธรรมและด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ...ฯลฯ... เป็นต้น 
เมื่อช่วยกันยกร่างเสร็จแล้ว ร่วมทำหนังสือลงชื่อ ยื่นต่อ ครม.ยื่นต่อ กมธ.การกระจายอำนาจฯ และยื่นต่อพรรคการเมืองทุกพรรคโดยไม่เลือกว่าจะเป็นซีกรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เพื่อใช้ช่วยผลักดันเป็นกฎหมายต่อไป

ข้อสังเกต
คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของ มท.คณะที่ 2 การประชุมครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับร่าง ประมวลกฎหมาย อปท.และร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลฯ โดยให้ สถ.รับไปพิจารณาดำเนินการ ผ่านไปแล้ว 3 ปี ผลไม่มีคืบหน้า

ต่อขัอสังเกตร่างประมวลกฎหมาย อปท. (23 มกราคม 2565)
(1) ไส้ในร่างกฎหมายของ มท. กับเจตนารมณ์ มักเขียนขัดแย้งกัน ระเบียบฯ หลายฉบับก็ทำแบบเดียวกัน
(2) ร่างฉบับนี้ หากผ่านก็เท่ากับการกระจายอำนาจย้อนหลังไปหลายทศวรรษ ถอยหลังปี 2540 ไปอีกมาก
(3) ระวังตกหลุมพราง สถ. และ มท.
(4) กี่ครั้งแล้วที่ทำไม่ไปไหนหาก มท.และ สถ.จริงใจในการกระจายอำนาจ ป่านนี้ร่างกฎหมายนี้เสร็จไปตั้งนานแล้ว
(5) ลองพลิกหาจุดเด่นของร่างนี้ดูสักหน่อย ดูแล้วยังไม่พบจุดเด่นที่จะให้ท้องถิ่นมีพัฒนาการ เป็นเพียงการรวบรวม พรบ.อปท.มาไว้ด้วยกันเท่านั้น
(6) ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน แค่ทุกวันนี้ ก็เอือมระอาเรื่องสั่งการ/ขอความร่วมมือ จากทุกหน่วยงาน จากทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่มีหน้าที่แต่แทบไม่อยากทำอะไรแล้ว รอรับแต่การรายงานผลปฎิบัติงานขององค์กรปกครองท้องถิ่น ไปเป็นผลงานตนเอง บางครั้งก็สั่งมาแบบมั่วๆ เพราะไม่เข้าใจบริบทหรือกฎหมายท้องถิ่น คนท้องถิ่น อย่ามัวเป็นปลายตายลอยตามน้ำต้องตื่นรู้ ต้องรู้เท่าทัน ต้องสามารถอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช้นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น บ่อยให้เขาออกกฎ/ระเบียบ มาปู้ยี่ปู้ยำตามอำเภอใจ สุดท้ายได้แต่ทำตามปริบๆ แล้วมาโอดครวญทีหลังเมื่อมันสายไปเสียแล้ว  สมาคมข้าราชการท้องถิ่นจังหวัดน่านที่ผมทำหน้าที่นายกสมาคมอยู่ พร้อมร่วมกับทุกองค์กรที่จะเข้ามาช่วยกันแก่ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ให้เข้าที่เข้าทาง สมกับเจตนารมณ์การกระจายอำนาจอย่างแท้จริง และวิงวอนให้สมาคม/สมาพันธ์ ทั้งในภาคการเมืองท้องถิ่น และส่วนของพนักงานท้องถิ่นทั่วประเทศ ผนึกกำลังความคิด ร่วมระดมความเห็นแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ออกมาอย่างเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยแท้จริง @วัชรชัย ไชยมาศ 22 มกราคม 2565 ต.สกาด
(7) พื้นที่/ประชากร/งบประมาณซ้ำซ้อน จะยุบภูมิภาคไปเลย ก็ยุบไป หรือจะยุบท้องถิ่น ให้ไปประชามติกับชาวบ้านเลย
(8) คำถามของ สถ.ที่ถามมา ไม่เห็นมีบัญญัติไว้ในมาตราใดเลย แล้วจะสอบถามมาเพื่ออะไรกัน คำว่าบูรณา คือ การสั่งการทั้งสิ้น
(9) คนท้องถิ่นต้องตื่นตัว เพราะแค่ทุกวันนี้ โอนงานมาแทบทุกกระทรวง ทบวง กรม แต่โอนแต่งาน ไม่มีงบให้ ไม่มีคนให้ เสร็จแล้วรอรับรายงาน ยิ่งกฎหมายฉบับนี้ออกมาโดยไม่มีคนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการแก้ไขให้เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง คนท้องถิ่นก็เป็นเพียงแค่เบ๊ ของส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ไปชั่วลูกชั่วหลาน แล้วเมื่อไหร่ประเทศไทยเราจะเจริญก้าวหน้าไปได้ @สมาคม ปลัด อปท.

 

อ้างอิง

อ้างอิงจากเฟซบุ๊ก บรรณ แก้วฉ่ำ, 21 มกราคม 2565

หนังสือ ที่ มท 0804.5/ว 103 ลงวันที่ 14 มกราคม 2565 เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.  … และประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2022/1/26794_1_1642586616071.pdf?time=1643250529474 

การแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.  … และประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, 
https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSdb-MmVRNa8DTTgY_9JQvKIaLxQDQHDRfU6LCOboKTb5tuqyQ/viewform 

ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.  …, 4 กุมภาพันธ์ 2562, การแสดงความเห็น, 
http://www.dla.go.th/pub/survey256005.jsp 
และ ร่าง พ.ร.บ.และประมวลกฎหมาย อปท., 
http://www.dla.go.th/pub/256005_1.pdf 

บทวิเคราะห์และความเห็นต่อร่างประมวลกฎหมาย อปท. ฉบับผ่านความเห็นชอบ สำนักงาน คกก.กฤษฎีกา และ ครม.โดย ผศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ มธ. พิมพ์โดยสถาบันพระปกเกล้า, 2554, 
https://kpi.ac.th/media_kpiacth/pdf/M10_172.pdf

หนังสือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด่วนที่สุด ที่  สผ(สปท) 0014/ 5333 ลงวันที่ 7 กันายน 2559, เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, รายงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการปกครองท้องถิ่น เรื่อง โครงสร้างและอำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป และ ร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.  … และประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ร่างประมวลกฎหมาย อปท. เมื่อ 7 สิงหาคม 2559, https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/usergroup_disaster/4-4.pdf  

ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญด้านการปกครองท้องถิ่น (ตอนที่ 1), โดยทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, 19 พฤศจิกายน 2557, http://www.gotoknow.org/posts/635957

ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญด้านการปกครองท้องถิ่น (ตอนที่ 2) ว่าด้วยประเด็นปัญหาที่ละเลยมิได้กล่าวถึงไว้ในรายงานการวิจัยใดๆ, โดยทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, 26 พฤศจิกายน 2557, https://www.gotoknow.org/posts/581239 

ความสับสนของข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดย ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม 2559 ปีที่ 66 ฉบับที่ 22920 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น, ในเวบโกทูโนวดอทโออาร์จี, 28 มกราคม 2559, https://www.gotoknow.org/posts/600051 

หมายเลขบันทึก: 696846เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2022 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2022 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท