เรียนรู้เรื่องความรู้สึกของอาจารย์ต่อการเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ


ผมมองว่า "อาการ" เหล่านี้ เกิดจากการขาด communication

          วันที่ ๒๐ ธ.ค. ๔๙   ผมเข้าร่วมประชุมสภาคณาจารย์สมัยวิสามัญของมหาวิทยาลัยมหิดล   เพื่อรับทราบข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ    และร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ......   ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ ๓๐ คน   ส่วนใหญ่เป็นกรรมการสภาคณาจารย์

          ในช่วงเวลา ๓ ชั่วโมงเศษ   ผมได้เรียนรู้เรื่องความรู้สึกและความกังวลของอาจารย์กลุ่มนี้   ซึ่งส่วนหนึ่งได้รวบรวมข้อวิตกกังวลมาจากอาจารย์อีกจำนวนหนึ่ง   ผมพอจะสรุปได้ดังนี้

                    ๑. อาจารย์จำนวนหนึ่งไม่เข้าใจคุณค่าที่แท้จริงของการออกนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัย   และไม่เข้าใจคุณค่าที่แท้จริงของ "มหาวิทยาลัยวิจัย"
                    ๒. คนจำนวนหนึ่งเอาสิวฝ้า ๒-๓ จุด   มาเป็นข้อตำหนิความงดงามทั้งใบหน้า   คือไม่มองความงามของภาพรวม   แต่เฝ้ากังวลอยู่กับตำหนิจุดเล็กๆ เพียงไม่กี่จุด
                    ๓. ยังมีความไม่ไว้วางใจ  ไม่เชื่อใจ   ต่อผู้บริหาร  จากอาจารย์จำนวนหนึ่ง
                    ๔. ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง  ต่อภารกิจของสภามหาวิทยาลัย   เข้าใจผิดว่าสภามหาวิทยาลัยเป็น  "ผู้บริหารสูงสุด"   ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงสภามหาวิทยาลัยเป็น governing body   ไม่ใช่   management  

          ผมมองว่า   "อาการ"   เหล่านี้   เกิดจากการขาด communication    ซึ่งหมายถึง  ๒-way communication  ใช้ภาษาสุนทรียสนทนา (dialogue)

วิจารณ์   พานิช
๒๐ ธ.ค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 69653เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2006 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอคิดด้วยคนนะครับ ผมฟังเหตุผลในด้านของผู้ที่เห็นด้วยกับการออกนอกระบบแล้ว  ผมสังเคราะห์ได้ว่า สิ่งที่เป็นสาเหตุที่มหาวิทยาลัยควรออกนอกระบบ  น่าจะเป็นเรื่องของ "การบริหารจัดการของระบบราชการ"  ที่มีความเทอะทะ ไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่มีคุณภาพ หรืออะไรในทำนองนี้ใช่มั้ยครับ

 ถ้าด้วยเหตุผลข้างต้น ผมว่าเราควรแก้ปัญหาให้ตรงจุด ก็คือการเปลี่ยนเอา "ความเป็นระบบราชการออกไปจากมหาวิทยาลัย"  อาทิเช่น ลดขั้นตอนการบริหาร สายงานบังคับบัญชา วัฒนธรรมองค์กร ระบบวัดประเมินคุณภาพ  ถึงจะตอบได้ตรงปัญหา  ถ้าอย่างนี้ผมเห็นด้วยนะครับ

แต่การเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ตามที่คนในแวดวงการศึกษาบางส่วนพยายามผลักดัน  มันเป็นเหมือนการแก้ปัญหาที่ไม่ค่อยตรงกับเหตุ  และมันอาจจะเกิดปัญหาตามมาอีกเยอะ  ผมคิดว่าปัญหาเรื่องการขึ้นค่าหน่วยกิตเนี่ยเป็นปัญหาที่ยังไม่ใช่ปัญหาแท้  เป็นแต่เพียงแรงกระเพื่อมของปัญหาจริงเท่านั้น 

ปัญหาจริงของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับความผิดชอบต่อรัฐหรือสังคมจะค่อยหมดไป  ใครจะคิดว่าเศรษฐกิจ หรือ การเมือง เป็นกระดูกสันหลังของสังคม  ก็คิดไป  ผมไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้น  การศึกษาต่างหากที่ควรจะเป็นกระดูกสันหลังของรัฐหรือของสังคม  ถ้าการศึกษาไม่เป็นไปในแนวทางอุดมการณ์ที่กำหนดโดยรัฐหรือสังคมแล้ว  อะไรที่จะเข้ามาแทนแนวทางนี้ ผมว่าไม่วายที่จะเป็นแนวทางอุดมการณ์แบบทุนนิยมเสรี กลไกราคาจะเข้ามาทำหน้าที่แทน 

 ผมเป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญา  ผมเชื่อว่าวิชาของผมไม่สามารถอยู่ได้โดยการกำหนดของอุปสงค์อุปทาน  วิชาในแบบของผมต้องการการสนับสนุนจากรัฐที่มองเห็นในคุณค่าของวิชา ที่จะสามารถรับผิดชอบต่อสังคมในด้านใดด้านหนึ่ง  แล้วก็ข้อเท็จจริงเลยนะครับ ภาควิชาปรัชญาเนี่ย โดนขู่มาหลายรอบแล้วว่า ถ้ารับนักศึกษาเอกปรัชญาได้ไม่ถึงตามโควต้า  ก็จะมีการยุบภาควิชา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท