ชีวิตที่พอเพียง ๔๑๒๗. ความฉลาดในสมอง  ร่างกาย  และในสิ่งแวดล้อม  โยงสู่การศึกษา 


 

หนังสือ The Biological Mind : How Brain, Body, and Environment Collaborate to Make Us Who We Are (2018) เขียนโดย Allan Jasanoff  ศาสตราจารย์ด้าน Biological Engineering, Brain and Cognitive Sciences แห่ง MIT   บอกว่าตัวตนของเรากำกับโดยสมอง ร่างกาย และสภาพแวดล้อม   ตัวตนหรือความคิดของเราเกิดจาก ๓ ปัจจัยนี้    ไม่ได้มาจากสมองเท่านั้น    ตรงกันกับสาระหลักในหนังสือ The Extended Mind ที่เขียนบันทึกไปแล้วเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๕ (๑) 

เป็นหนังสือที่มีเป้าหมายปลดปล่อยผู้คนจากพันธนาการของความเข้าใจผิดที่ดำเนินมาสองร้อยปี    ว่าสมองเป็นศูนย์กลางของการควบคุมร่างกาย    ตัวตนจิตใจของแต่ละคนอยู่ในสมอง    ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบแยกส่วน และควบคุมสั่งการ    แต่ผลการวิจัยศึกษารายละเอียดการทำงานของสมอง   และงานวิจัยด้านอื่นๆ เช่น จุลชีพในลำไส้   ค่อยๆ ชี้ให้เห็นว่า ตัวตนของคนเราเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมอง ร่างกาย  และสภาพแวดล้อมของเรา    ทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสภาพแวดล้อมทางสังคม   

จุลชีพในลำไส้ (gut microbiome) มีผลต่อจิตใจและสุขภาพกายของคนเรา    เช่นเดียวกันกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ  และทางสังคม   ความเป็นตัวตน หรือการพัฒนาตัวตนของมนุษย์ มีความซับซ้อนกว่าที่เราคิด    ผมเคยเขียนเรื่องจุลชีพในลำไส้กับอารมณ์คนไว้ที่ (๒)

ข้อสะท้อนคิดนี้   นำสู่เรื่อง “จักรวาลนฤมิต” (metaverse) ในมิติที่ลึก   ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมที่มีส่วนเปลี่ยนแปลงตัวตนของมนุษย์แต่ละคน   และเปลี่ยนแปลงสังคมมนุษย์อย่างที่เราไม่คาดคิด    เป็นเรื่องที่คนรุ่นต่อไปจะต้องรับมือ    และหาทางใช้ให้เกิดผลเชิงบวก    หาทางลดผลเชิงลบ   

นำสู่เรื่องการศึกษา     ที่จะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่    ในเรื่องการสร้างพลเมืองในอนาคต     ต้องไม่หลงคิดว่า โรงเรียนเป็นสถานที่หล่อหลอมเด็กได้ตามความคาดหวังตามที่กำหนดในหลักสูตร    แต่ระบบการศึกษาต้องดูแลสภาพแวดล้อมของตัวเด็กด้วย    ไม่หลงจัดการเฉพาะเรื่องหลักสูตร   

หลักสูตรมีความสำคัญอย่างแน่นอน    แต่ไม่ใช่ปัจจัยตัดสินปัจจัยเดียว ว่าเด็กและเยาวชนของเราจะหล่อหลอมหรือพัฒนาได้ตามเป้าหมายที่กำหนด    ยังมีปัจจัยปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน และนอกโรงเรียนอีกด้วย   

รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่บ้าน  และในชุมชนโดยรอบ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก   จึงเกิดคำถามต่อผู้รับผิดชอบระบบการศึกษาว่า    เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่ ในการดูแลปัจจัยภายนอกโรงเรียนเหล่านี้   

ทำให้ผมนึกถึงคำว่า social determinants of education   เลียนมาจาก social determinants of health    ซึ่งเมื่อค้นด้วยกูเกิ้ล  ก็พบเอกสาร A Social Determinants of Education Framework (2017) เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโท  เสนอต่อมหาวิทยาลัย โคโลราโด    

Chamberlain University เสนอ Social Determinants of Learning ของนักศึกษาพยาบาล (๒)    เป็นการมองเฉพาะที่กลุ่มนักศึกษาพยาบาล ว่าประกอบด้วย ๕ ปัจจัยคือ สุขภาพกาย, สุขภาพใจและสังคม, สภาพแวดล้อมทางสังคมและชุมชน, ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ, และแรงจูงใจในตน    

จะเห็นว่า ในสหรัฐอเมริกา มุมมองหรือกระบวนทัศน์ด้านการศึกษา ที่มองอย่างครบถ้วนอย่างเป็นระบบ ยังล้าหลังมาก   ต่างจากวงการสุขภาพ ที่มองปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพกว้างมาก    รวมทั้งนิยามสุขภาพกว้างออกไปเป็น well-being  ไม่ใช่แค่ health   ทำให้ระบบสุขภาพมีการพัฒนาก้าวหน้า   จากการมีมุมมองที่เชื่อมโยง    แต่วงการศึกษายังมีมมุมมองที่แคบ   

ผมพยายามค้นว่า UNESCO ได้ศึกษาเรื่อง social determinants of education ไว้อย่างไรบ้าง    หาไม่พบ   ลองค้นด้านธนาคารโลกบ้าง  ก็ไม่พบเช่นกัน    แสดงว่า วงการศึกษาในโลกยังไม่เห็นประเด็นเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง

แต่มีอย่างน้อยก็ประเทศฟินแลนด์ ที่เข้าใจดี และถือปฏิบัติมาเป็นเวลา ๓๐ ปี   ดังที่ผมบันทึกไว้ที่ (๓)     

ผมมีความเห็นว่า ข้อมูลจากหนังสือ The Biological Mind : How Brain, Body, and Environment Collaborate to Make Us Who We Are (2018) บอกเราว่า    ระบบการศึกษาไทยต้องทำงานจัดการหรือขับเคลื่อน social determinants of learning ให้แก่เด็กและเยวชน   โดยทำงานร่วมกับ sector อื่นๆ ในสังคม   ในการสร้างกระบวนทัศน์ที่ถูกต้องในสังคม ว่าด้วยการศึกษาหรือการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน    เน้นที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อเด็ก 

วิจารณ์ พานิช

๒ ม.ค. ๖๕ 

  

  

หมายเลขบันทึก: 695719เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2022 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2022 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

”..UNESCO ได้ศึกษาเรื่อง social determinants of education ไว้อย่างไรบ้าง หาไม่พบ..” – there may be differences in terminologies at different times/trends. I think there are UN/UNESCO reports for ‘enabling environment’ for education, even recommendation as to how to create such environment. I also think socio-economic factors in education have been discussed, researched and reported without using the term ‘social determinants’.

Perhaps Google have not linked the terminologies, yet.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท