ชีวิตที่พอเพียง ๔๑๒๒. ความฉลาดไร้ขีดจำกัด


ข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลที่ร่างกายเรารับรู้นั้น  เพียงส่วนเดียวเท่านั้นที่เข้าสู่ระบบรับรู้ของสมองส่วนจิตสำนึก (conscious mimd)  มีมากกว่าที่เข้าสู่ระบบประสาทที่เราไม่รู้ตัว (จิตไร้สำนึก)  ที่เขาเรียกว่า embodied cognition คือไม่ใช่แค่ผ่านสมองเท่านั้น  ยังผ่านส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย 

       

หนังสือ The Extended Mind : The Power of Thinking outside the Brain เขียนโดย Annie Murphy Paul  บอกว่าความฉลาดของคนเราไม่ได้มีที่มาจากสมอง หรือจากภายในตัวเราเองเท่านั้น    ยังมาจากสภาพแวดล้อม และจากปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย   

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มความฉลาดให้เราได้มาก     

ที่จริงความฉลาด หรือความสามารถภายในตัวเรา ก็สามารถพัฒนายกระดับขึ้นได้อย่างมหัศจรรย์ ผ่านการฝึกฝนเคี่ยวกรำ   ดังแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Human : The World Within   

หนังสือ The Extended Mind : The Power of Thinking outside the Brain  เสนอหลักการ embodied cognition ที่บอกว่า ข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลที่ร่างกายเรารับรู้นั้น   เพียงส่วนเดียวเท่านั้นที่เข้าสู่ระบบรับรู้ของสมองส่วนจิตสำนึก (conscious mimd)    มีมากกว่าที่เข้าสู่ระบบประสาทที่เราไม่รู้ตัว (จิตไร้สำนึก)    ที่เขาเรียกว่า embodied cognition คือไม่ใช่แค่ผ่านสมองเท่านั้น    ยังผ่านส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย   

เขาจึงแนะนำให้ฝึกใช้ความฉลาด หรือการรับรู้ของทั้งร่างกาย    ไม่ใช่แค่ใช้ความฉลาด หรือการรับรู้ ของสมองเท่านั้น    โดยฝึก “สร้างความตระหนักรู้ทั่วร่าง” (mindfulness body scan)   เพื่อฝึกการรับรู้ข้อมูลที่ไม่ผ่าน conscious mind (subconscious information)    สำหรับเอาไปใช้งาน    การรับรู้ทั้งหมด ทั้งที่ผ่านจิตสำนึก และไม่ผ่าน เรียกว่า interoception

การฝึกสร้างความตระหนักรู้ทั่วร่าง (mindfulness body scan) ทำโดยเพ่งจิตที่ลมหายใจเข้าออก   แล้วเพ่งลมหายใจไปที่ปลายเท้าด้านหนึ่ง แล้วเคลื่อนขึ้นมาทีละน้อยที่ด้านนั้นของร่างกายจนถึงศีรษะ    แล้วสลับข้าง จากศีรษะลงไปถึงปลายเท้า    ฝึกทำบ่อยๆ 

ความฉลาดของมนุษย์เพิ่มขึ้นขณะเคลื่อนไหว   อธิบายว่าเป็นคุณสมบัติที่ได้มาจากวิวัฒนาการไกลโพ้นที่มนุษย์ดึกดำบรรพ์ต้องเคลื่อนไหวเพื่ออยู่รอด    จึงต้องพัฒนาความฉลาดขณะเคลื่อนไหวใส่ตัว    และเรารับมรดกมา แต่มนุษย์สมัยใหม่ไม่รู้จักวิธีใช้   

ที่จริงเราใช้แบบไม่รู้ตัว และไม่รู้กลไกของมัน    คือใช้ท่าทางประกอบการพูด ที่เขาเรียกว่า gestural foreshadowing   โดยที่ท่าทางแสดงออกมาก่อนคำพูดจะเปล่งออกมา    ผมเคยฟังการบรรยายของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลท่านหนึ่งที่มีความสามารถในการใช้ความฉลาดส่วนนี้สูงยิ่ง    มือของท่านจะเคลื่อนไหวไปมาก่อนคำพูดจะออกมา    คนฟังเวียนศีรษะมาก   เพราะความเคลื่อนไหวนั้นไม่บอกอะไรคนฟังเลย    แต่มันเป็นกลไกทางระบบประสาทที่ช่วยให้ท่านคิดเก่ง     ผมเคยเขียนบันทึกเรื่องการเคลื่อนไหวช่วยการเรียนรู้ไว้ที่ (๑) 

ภูมิประเทศ หรือสภาพแวดล้อม ที่เป็นธรรมชาติ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการใช้ความฉลาดองค์รวม                          

ในทางตรงกันข้าม การสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้เราอยู่กับเรื่องที่เราต้องการสร้างสรรค์ได้อย่างต่อเนื่อง ก็ช่วยให้เราใช้ความฉลาดได้อย่างมีพลัง   

เครื่องมือช่วยการคิดอย่างหนึ่งคือ   แปลงแนวความคิดไปเป็นสิ่งของ เช่น เป็นภาพ หรือแผนผัง    แล้วจึงอธิบายสิ่งของนั้นเป็นเรื่องราวหรือข้อเขียน

วิธีใช้ความฉลาดอย่างง่ายและเป็นรูปธรรมที่สุดคือ ใช้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม   การเรียนแบบลงมือทำเป็นทีม ตามด้วยการสะท้อนคิดร่วมกัน เป็นตัวอย่างที่เราคุ้นเคย    ซึ่งก็คือการใช้ความฉลาดรวมหมู่นั่นเอง          

วิจารณ์ พานิช

๒๙ พ.ย. ๖๔ 

  

หมายเลขบันทึก: 695313เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2022 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มกราคม 2022 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท