KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 234. Public Journalism กับ KM


        วันที่ ๑๘ พย. ๔๙ ถือเป็นวันดียิ่งของผม     ที่ได้เรียนรู้คำว่า Public Journalism จาก ผศ. ดร. เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์  นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ผู้เทใจให้แก่การสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน     โดยทำงานส่งเสริมวิทยุชุมชนมานาน     ตอนนี้ความคิดแตกหน่อและตกผลึกไปสู่เรื่อง Public Journalism

        ผม "ปิ๊งแว้บ" ทันทีว่านี่แหละ สิ่งที่ผมรอคอยมานาน     สิ่งที่จะมาเป็นสะพานเชื่อม KM ท้องถิ่น หรือ KM ชุมชน     ให้เป็น KM ประเทศไทย

        KM ชุมชน มีกิจกรรม ลปรร. กันในชุมชนแคบๆ      หรือทำได้อย่างมากก็ภายในจังหวัด โดยทำเป็นเครือข่าย ที่ต้องมีระบบ "คุณเอื้อ"  "คุณประสาน"  "คุณอำนวย"     อย่างที่คุณสุรเดช ใช้มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร ทำเครือข่ายเกษตรปลอดสารพิษที่พิจิตร     คุณหมอสมพงษ์ ยูงทอง ทำเครือข่ายโรงเรียนชาวนา ที่นครสวรรค์ โดยใช้นครสวรรค์ ฟอรั่มเป็นกลไกขับเคลื่อน      แต่พอจะ ลปรร. ออกไปนอกจังหวัด ก็ต้องอาศัยกิจกรรม ลปรร. แบบ F2F ซึ่งต้องเดินทางไกล  มีค่าใช้จ่ายสูง และเสียเวลามาก

        ผมคิดหาเครื่องมือสำหรับใช้ในการ ลปรร. วงกว้างโดยไม่จำเป็นต้อง F2F รูปแบบที่เหมาะต่อชาวบ้านที่ไม่คุ้นกับการใช้ อินเทอร์เน็ต ก็ยังหาไม่พบ     ยกเว้นการใช้โทรศัพท์ ซึ่งใช้กันอยู่แล้ว (แต่ก็สื่อความรู้ฝังลึกได้ยาก)     มาพบเครื่องมีอ Public Journalism ก็วันนี้เอง

        ดร. เอื้อจิต บอกว่า ทุกคนเป็นผู้ผลิตสื่อ  ทุกคนเป็นผู้สื่อสาร      ใช้สื่อ วีซีดี น่าจะเหมาะที่สุด เพราะเครื่องดูวีซีดีเดี๋ยวนี้ราคาถูกเพียงพันกว่าบาทเท่านั้น     และแผ่น วิซีดี ก็ก๊อปปี้ง่าย และราคาถูก     สามารถสื่อสารได้ชัดเจน     ผู้รับสารก็เข้าใจได้ง่าย     นอกจากนั้นก็อาจใช้สื่ออื่นๆ ช่วยเสริม เช่นจดหมายข่าว  และอื่นๆ     โดยที่น่าจะมีศูนย์แลกเปลี่ยนสื่ออยู่ทุกจังหวัด คล้ายๆ ห้องสมุดสาธารณะ     อาจทดลองใช้ที่พัฒนาสังคมจังหวัดก็ได้ 

        พอดีเมื่อวันที่ ๑๑ พย. ได้รับวีซีดี ๒ ชุดจากคุณสุรเดช ที่ทางพิจิตรผลิตกันเอง     ถือเป็น home-made VCD    คุณภาพใช้ได้ทีเดียว     ผมจึงมองเห็นลู่ทางที่ สคส. จะร่วมมือกับ ดร. เอื้อจิต ในการขับเคลื่อน Public Journalism สำหรับเป็นเครื่องมือ ลปรร. ความรู้ปฏิบัติของ "คุณกิจ" ในชุมชน ออกไปทั่วประเทศไทย

        ผมกลับมาบ้าน ก็ใช้ Google ค้นใน อินเทอร์เน็ตทันที     ได้ผลออกมา 52.1 ล้าน hit ในเวลา 0.23 วินาที   วิกิพีเดีย บอกว่า คำนี้บางทีก็ใช้ว่า Civic Journalism หรือ Citizen Journalism หรือ Participatory Journalism     คือสื่อสารมวลชนภาคประชาชนนั่นเอง      หมายความว่าภาคประชาชนผลิตสื่อกันเอง และบริโภคสื่อที่ผลิตและแลกเปลี่ยนกันเอง

       ผมมองว่าชาวบ้านผลิตความรู้ปฏิบัติหรือความรู้ฝังลึกจากประสบการณ์ตรงกันอยู่แล้ว     ยิ่งรวมตัวกัน ลปรร. ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ (ก็ทำ KM นั่นแหละ) ยิ่งมีความรู้ฝังลึกมาก (ในภาษานักสื่อสารมวลชนว่า ชาวบ้านมีสารอยู่แล้ว)     สื่อ วีซีดี นี่แหละ ที่จะช่วยการ ลปรร. ความรู้ฝังลึกออกไปในวงกว้าง      ถ้าได้ฝึกทีมจัดทำสื่อในชุมชน      และสร้างช่องทางแลกเปลี่ยนสื่อเพื่อการเรียนรู้ ด้านการทำมาหากิน เพื่อชีวิตที่พอเพียง     ประเทศไทยก็จะเป็นสังคมอุดมปัญญาได้ไม่ยาก

       อา!   ชาวบ้านรวมตัวกันจัดการความรู้ เพื่อชีวิตที่พอเพียง     และร่วมกันสร้างสื่อ เพื่อสื่อสารความรู้เผื่อแผ่แก่เพื่อนร่วมชาติ     และเป็นช่องทางสร้างเครือข่าย ลปรร. ทางไกลโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง     ก็จะเกิดเครือข่าย KM เพื่อชีวิตที่พอเพียงทั่วประเทศไทย

       ผมเรียกว่า ช่องทาง ลปรร. แบบ nF2F (non - F2F)   หรือแบบ V2V คือ VCD to VCD

        หมายเหตุ    บันทึกนี้ผมเขียนก่อนจะรู้จัก YouTube และ RootTube นะครับ

วิจารณ์ พานิช
๑๘ พย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 69409เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2006 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมเคยเห็นงานวิจัยประมาณการใช้ CD ในการเรียนการสอนทางไกล ของ ดร. ถนอมพร (มช.) ครับตั้งแต่ปี 40 ได้ครับ ตื่นเต้นที่มีหลายคนเห็นประโยชน์เหมือนกันครับ

ปัจจุบัน DVD เองก็ราคาต่อหน่วยไม่สูงมากครับ และมีลูกเล่นให้ปรับใช้ได้มาก เรียกว่าพบจะทำเนื้อหาได้แบบทั้ง linear และ non-linearได้เลยครับ

ผมว่าแค่คิดก็น่าสนุกแล้วครับ

เห็นหัวข้อแล้วก็เลยอยากแวะมา ลปรร ด้วยเฉย ๆ ค่ะว่า  ประมาณต้นทศวรรษที่ ๙๐ สมัยเรียนป.โทที่อเมริกาก็มีวิชาชื่อ Public Diplomacy แล้วล่ะค่ะ

 

ตอนนั้นรัฐที่อยู่เป็นแถบนิวอิงแลนด์  เริ่มมีการใช้อินเทอร์เน็ทกันแล้ว แต่เป็นระดับ Dos เท่านั้น (น่ากลัวไหมคะ) และโดยมากยังเป็นบริษัทให้บริการออนไลน์แยกกันอยู่ต่างหาก เช่น คอมพิวเสิร์ฟ  พรอดดิจี้ และอเมริกัน ออนไลน์

 

แต่วิชาที่เรียน ไม่ได้เน้นไปที่การใช้สื่อ  หรือ การใช้เนท โดยตรงหรอกค่ะ แต่พูดถึงการสื่อสาร การสร้างความเข้าใจอันดี  สร้างสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศในระดับประชาชนถึงประชาชนโดยรวมมากกว่า

 

อาจารย์ที่สอนก็มักจะเชิญมาจากเจ้าหน้าที่ของ USIS ที่พ่วงไปกับกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ  ที่มาสอนร่วมกับ Ambassador in Residence ที่มหาวิทยาลัย

 

เขามีการพูดถึงอิทธิพลของสื่อในเชิง pop culture และผู้ผลิตสื่อเอง ที่ทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ดีกว่าผู้นำประเทศอีกค่ะ 

 

เช่น ผู้สร้างหนังของฮอลลีวู้ด ทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรีกลาย ๆ เวลาไปติดต่อรัฐบาลต่าง ๆ ในการขอถ่ายทำในประเทศนั้น ๆ   เพราะมีการขนเงินไปลงทุนเยอะด้วย  ตอนนั้นเคสตัวอย่างมาจากเรื่องจริงที่ท่านทูตเคยเห็นที่มอสโคว์ค่ะ

 

เมื่อคืนวานก็ได้มีโอกาสอ่านเรื่องการสื่อสารกันระหว่างลูกชายของอดีตทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชาวอังกฤษ กับหลานชายของทหารชาวญี่ปุ่น  ซึ่งทั้งพ่อและลุงนั้นเสียชีวิตแล้วทั้งคู่  สันนิษฐานว่านายทหารอังกฤษอาจเป็นคนลั่นไกสังหารทหารญี่ปุ่นในสมรภูมิที่พม่า  ในช่วงยกพลเข้าปะทะกัน

 

แต่จากการสื่อสารผ่านองค์กรภาคเอกชน ระหว่างประชาชน ถึงประชาชน  โดยผ่านเนทนี่ล่ะค่ะ  หนุ่มใหญ่ชาวอังกฤษจึงได้มีโอกาสคืนธงชาติญี่ปุ่น  ที่นายทหารหนุ่มน้อยคนนั้นพันร่างเอาไว้ เหมือนเป็นเครื่องรางของขลังตอนออกรบน่ะค่ะ  มีลายเซ็นคนทั้งหมู่บ้านและครอบครัวอยู่ด้วย   พ่อเขา ชาวอังกฤษคงจะเก็บกลับมา

 

ตอนนี้ทั้งสองคนเป็นเพื่อนกันไปแล้ว  กลายเป็นทำหน้าที่ผูกมิตรกันทางการทูตระหว่างสองประเทศในภาคประชาชน  เป็น Public Diplomacy via Public Journalism อย่างหนึ่ง  เพราะเรื่องราวของเขาตอนตามหาครอบครัวเจ้าของธง  หลังจากเวลาผ่านไปห้าสิบกว่าปีนี้  ก็ผ่านสื่อมวลชนระดับประชาชนในเนทนี้เสียเยอะล่ะค่ะ

ที่แวะมา ลปรร ตรงนี้ด้วยก็เพียงเพราะอยากแสดงความเห็นว่า   การร่วมมือกันระหว่างภาคประชาชนนั้น  มีมานานแล้ว  และเข้มแข็งเสียด้วย   เพียงแต่ตอนนี้มีเครื่องไม้เครื่องมือให้ทำได้สะดวกขึ้นแค่นั้นเอง   ใครรู้จักขวนขวายหยิบจับมาใช้ได้มาก  เลือกใช้ได้เป็น  ก็คงจะเป็นประโยชน์กับผู้นั้นไปตามกำลังกายใจที่ใส่ลงไปนั่นเอง

สวัสดีค่ะ,

ณัชร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท