ชีวิตที่พอเพียง ๔๑๐๕. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๑๙) ใช้พลังผู้ก่อการ


 

ช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๖๔  กสศ. อยู่ระหว่างปรับแผนยุทธศาสตร์ ๓ ปีที่สอง (๒๕๖๕ - ๒๕๖๗)    หลายๆ การประชุมและกิจกรรมช่วยให้ผมคิดยุทธศาสตร์นี้ออก    ในลักษณะของจินตนาการ       

คำว่าผู้ก่อการ มาจากภาษาอังกฤษว่า agency   มีความหมายว่า เป็นผู้ที่มีนิสัยริเริ่มกระทำการ ไม่เฉื่อยชา    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นผู้ร่วมดำเนินการเพื่อส่วนรวม    วงการศึกษาในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะองค์การ โออีซีดี เน้นประเด็นนี้มาก    ดังตัวอย่าง OECD Learning Compass 2030    ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายสุดท้ายของการศึกษาคือ “สุขภาวะ” (well-being) ของบุคคล และของสังคม   

มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับศักยภาพที่สูงมาก   แต่เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้รับการกระตุ้นศักยภาพเหล่านั้นอย่างเพียงพอ    หรือบางคนโชคร้าย ได้รับการกระตุ้นด้านตรงข้าม คือด้านชั่ว   ก็เติบโตขึ้นเป็นผู้ทำร้ายสังคม    เป็นหน้าที่ของระบบการศึกษาที่จะต้องดำเนินการกระตุ้นศักยภาพด้านดีเหล่านี้   และความเป็นผู้ก่อการเพื่อสร้างสรรค์สู่ประโยชน์ส่วนรวม เป็นศักยภาพสำคัญ   

ผมเติบโตมาในสังคมชนบท  ที่สภาพแวดล้อมเป็นชาวบ้าน   มีเพื่อนที่เรียนหนังสือชั้นประถมมาด้วยกัน    และหลายคนเป็นเด็กฉลาด  หรือมีพรสวรรค์บางด้าน ดีกว่าผมมาก    แต่เขาไม่มีโอกาสได้รับการกระตุ้นจากทางบ้าน    และเมื่อเรียนจบการศึกษาภาคบังคับในสมัยนั้น คือ ป. ๔  เขาก็ไม่ได้เรียนต่อ   ชีวิตของเขาเป็นชีวิตที่ไร้เป้าหมาย    ไม่ได้รับการกระตุ้นให้มีการพัฒนามิติด้าน agency   จึงเป็นชีวิตที่ล่องลอย  และรอคอยความช่วยเหลือจากทางการ   ศักยภาพของเขาจางหายไปตามอายุและความเคยชินต่อวัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบไม่มีเป้าหมายพัฒนาบ้านเมืองหรือชุมชนของตน    เพราะไม่มีความคิดว่า ตนสามารถมีส่วนกระทำการเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของตน และของหมู่บ้านหรือชุมชนได้   

การพัฒนามิติของความเป็นผู้ก่อการ น่าจะเริ่มต้นจาก การมีเป้าหมายในชีวิต    เพื่อการมีชีวิตที่มีความหมาย (meaningful life)    เป็นเข็มทิศนำทางชีวิต    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายการมีชีวิตที่ทำประโยชน์หรือเป็นผู้ให้ มากกว่ามุ่งกอบโกยเข้าตน    ผมมีความเห็นว่า การศึกษาสามารถสร้างอุดมการณ์ในชีวิตของเด็กๆ ได้   และคนในวงการศึกษาต้องมุ่งมั่นหาวิธีการหล่อหลอมอุดมการณ์ดังกล่าว            

เท่ากับการศึกษาต้องสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจให้แก่เด็ก ที่ได้เป็นคนริเริ่มกระทำการ ในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือต่อชุมชนโดยรอบโรงเรียน    เริ่มจากเรื่องเล็กๆ ที่เด็กทำได้    ทำแล้วเกิดความภูมิใจ  เกิดการหล่อหลอมคุณค่าในใจ   

ย้อนกลับมาเชื่อมโยงกับเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการของ กสศ. ที่มุ่งช่วยเหลือ “นักเรียนยากจนพิเศษ” ร้อยละ ๑๕ ล่างสุดของประชากร    ผมขอเสนอว่า ควรมุ่งใช้ยุทธศาสตร์ “ช่วยให้ช่วยตัวเอง” ได้ดีขึ้น   หาทางป้องกันท่าทีงอมืองอเท้ารอความช่วยเหลือ    โดยการเสาะหาครอบครัว และเด็ก ที่เมื่อได้รับความช่วยเหลือ นำเอาความช่วยเหลือนั้นไปช่วยตัวเองต่อ   

ใช้หลักการ ค้นหา “การดำเนินการที่เป็นเลิศ” (best practice) ของเด็กและครอบครัว ยากจนพิเศษ ที่นำเอาความช่วยเหลือไปช่วยเหลือตัวเองต่อ    นอกจากมีผลแก้ปัญหาแล้ว ยังมีผลสร้างสรรค์ คือสร้างคุณสมบัติ “ความเป็นผู้ก่อการ” (agency)   ให้นักเรียนยากจนพิเศษสร้าง “ความเป็นนักเรียนผู้ก่อการ” (agentic student) ขึ้นในตน    และจะเติบโตไปเป็น “พลเมืองผู้ก่อการ” (agentic citizen) ในอนาคต    กสศ. นำตัวอย่างเหล่านี้ออกสื่อสารสังคม เพื่อสร้างกระแส “ช่วยตนเอง”  เพื่อ “สร้างนิสัย” ให้แก่นักเรียน    ที่เป็นนิสัยมุ่งกระทำการ เพื่อช่วยเหลือตนเอง และเพื่อผู้อื่น 

กสศ. ต้องสร้าง “best practice finding platform” ขององค์กรขึ้นมาทำหน้าที่ค้นหา   แล้วรวบรวมข้อมูลหลักฐานเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นของแท้ ไม่ใช่แค่ราคาคุย    และมีข้อมูลอธิบายวิธีการสู่ความสำเร็จ    รวมทั้งสังเคราะห์คุณค่าของความสำเร็จนั้นต่อนักเรียน  ต่อครู โรงเรียน ชุมชน  และประเทศไทย    สำหรับเตรียมออกสื่อสารสังคม และเสนอแนะเชิงนโยบาย   เพื่อการขยายผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ    เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา   

กสศ. ควรสื่อสารการช่วยตัวเองของนักเรียนยากจน   ในสัดส่วนร้อยละ ๖๐ ของการสื่อสารสังคมทั้งหมดของ กสศ.  ซึ่งหมายความว่า สื่อสารการช่วยเหลือจาก กสศ. เพียงร้อยละ ๔๐ เป็นอย่างมาก    มาตรการนี้ จะสร้างกระแสการพัฒนาสังคมไทย ให้เป็น “สังคมผู้ก่อการ” (agentic society)    มากกว่าเป็น “สังคมรอรับความช่วยเหลือ”    ในที่นี้เราเน้นสังคมผู้ก่อการเพื่อยกระดับความเสมอภาคทางการศึกษา   

เท่ากับ กสศ. ดำเนินการเพื่อปลดปล่อยพลังของครอบครัวยากจนพิเศษเอง    ออกมากระทำการเพื่อแก้ปัญหาของตนเอง    ได้ผลทั้งผลระยะสั้นในการแก้ปัญหา  และได้ผลระยะยาวในการสร้างพลเมืองผู้ก่อการ สร้างวัฒนธรรมผู้ก่อการ ขึ้นทดแทนวัฒนธรรมรอรับความช่วยเหลือ

แน่นอนว่า มาตรการเช่นนี้ต้องทำต่อเนื่องในเวลานาน จึงจะเริ่มเห็นผล    เป็นมาตรการในลักษณะ “หนามยอกเอาหนามบ่ง”   เชื่อในศักยภาพของความเป็นมนุษย์   มุ่งทำงานหนุนการปลดปล่อยศักยภาพนั้นออกมา     

นี่คือ ยุทธศาสตร์ใหม่ที่ผมเสนอต่อ กสศ.    คือ “ยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งในความอ่อนแอ”   เข้าไปหนุนให้ผู้อ่อนแอส่วนน้อยที่รู้จักช่วยเหลือตัวเอง    ให้ทำหน้าที่ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (change agent) ให้แก่ผู้อ่อนแอ   ให้ตระหนักว่าตนเองมีความเข้มแข็งซ่อนอยู่ภายใน    ต้องกล้านำออกมากระทำการ    โดย กสศ. สร้างกระบวนการต่างๆ เพื่อเกื้อหนุนให้ผู้อ่อนแอเหล่านั้นลุกขึ้นมากระทำการ     

ผมจินตนาการว่า แนวทางนี้จะนำสู่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของคนยากจน    และเปลี่ยนวัฒนธรรมของคนยากจน    สู่วัฒนธรรมของผู้ช่วยเหลือตนเอง    สร้างสรรค์วัฒนธรรมไทย ในส่วนที่เป็น “วัฒนธรรมกระทำการ” (agentic culture)      

ที่ผ่านมา กสศ. เน้นมาตรการด้านการเงิน ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา   ข้อเสนอในบันทึกนี้เน้นมาตรการทางสังคมและวัฒนธรรม    เน้นใช้พลังภายในที่ซ่อนเร้นของครอบครัวยากจน กลุ่มคนยากจน     ให้ออกมากระทำการ    หวังผลสองต่อ คือสร้างพลังความมั่นใจในตนเองที่จะเป็นผู้ก่อการ    ผลชั้นที่สองคือ สร้างสังคมที่ผู้คนมุ่งเป็น “ผู้ก่อการ” เพื่อประโยชน์ส่วนรวม               

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ต.ค. ๖๔ 

 

  

หมายเลขบันทึก: 693801เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2021 19:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2021 19:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I think a popular social idealism (in the West) is a “goer” as in common encouragement “have a go” (and see where it takes you). In Thailand we hear more discouragement “เดี๋ยวล่มจม”, “ไม่มี(เงิน)ทุน”,…all kinds of risk. Thais have learned (or trained) not to believe in their own ability (but to trust in external support). This may be also a result of long years in isolated and protected education systems. Perhaps we should be exposed to the real world earlier and more.

Cut shorter the mandatory education (to the 3 R’s) and let the real world teach.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท