วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙)  ๑๒๔. ตัวอย่างวิธีจัดระบบเพื่อทำงานวิจัยที่มีศักยภาพสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ของอาจารย์มหาวิทยาลัย 


 

บทความสัมภาษณ์เรื่อง From lipids to lipid nanoparticles to mRNA vaccine ลงใน วารสาร Nature Reviews Materials สะกิดใจผมอย่างจัง  ว่าระบบส่งเสริมให้อาจารย์มหาวิทยาลัยทำงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงด้านการประยุกต์ใช้ ของไทยเรายังล้าหลังมาก   

โปรดสังเกตว่า ศาสตราจารย์ Pieter Cullis แห่งมหาวิทยาลัย British Columbia, Canada  หนึ่งในผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี พ.ศ. ๒๕๖๔    จากผลงานวิจัยสร้างความรู้ใหม่เรื่อง lipid nanoparticle (ที่นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA   และวัคซีนโควิด ๑๙ เป็นหนึ่งในนั้น) (๑)   มีวิธีคิดสร้างความต่อเนื่องของการทำงานวิจัยในประเด็นที่มีศักยภาพสูงในการต่อยอดสู่ตลาด แตกต่างจากที่พวกเราในประเทศไทยคิด  โดยที่ความคิดแหวกแนวนี้เกิดขึ้นเมื่อ ๔๐ ปีมาแล้ว    ตอนนี้เห็นชัดว่า เป็นวิธีคิดที่ถูกต้อง

ท่านบอกว่า งานวิจัยพื้นฐานเพื่อการค้นพบใหม่ ที่ขอบฟ้าใหม่ คือเรื่อง lipid polymorphism    มีศักยภาพสูงมากในการพัฒนายา    แต่ต้องทำงานยาวนานและใช้ทุนมาก  การหวังพึ่งเฉพาะทุนวิจัยตามปกติจะสำเร็จได้ยาก    ท่านจึงตั้งบริษัท เพื่อระดมทุนจากตลาดทุน เพื่อทำงานวิจัย    และเป็นเครื่องมือผูกพันทีมงานที่เข้มแข็งไว้ด้วยกันต่อเนื่องยาวนาน   ทีมงานที่มีความสามารถสูงของท่าน ๔ คน จึงทำงานร่วมกันมานานกว่า ๔๐ ปี จนถึงปัจจุบัน   

ท่านทำงานวิจัยทั้งในมหาวิทยาลัยด้วย และที่บริษัท start-up ด้วย ไปพร้อมๆ กัน    ซึ่งหมายความว่า ระบบนิเวศทางสังคมและวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัยต้องเอื้อ    ผมสงสัยว่า สภาพการทำงานแบบนี้ ในมหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบันทำได้แค่ไหน    เพราะผมพบว่า ในมหาวิทยาลัยไทย อาจารย์คนไหนทำงานแตกต่างจากวัฒนธรรมเดิมๆ มักถูกตั้งข้อรังเกียจ   คนที่ไปตั้งบริษัทมักถูกมองว่า เอาผลงานในมหาวิทยาลัยไปสร้างความมั่งคั่งส่วนตัว   ไม่ได้มองภาพใหญ่ว่าเขากำลังทำงานใหญ่ให้แก่บ้านเมือง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูง       ผู้บริหารระบบอุดมศึกษาจะมีวิธีปรับกระบวนทัศน์นี้อย่างไร      

ในประเทศไทย   ยังไม่มีกลไกเชื่อมโยงนักวิจัยที่ทำงานวิจัยในประเด็นที่มีโอกาสสูงในการต่อยอดสู่ตลาด  เชื่อมสู่ตลาดทุนที่ยอมรับความเสี่ยงสูง (venture capital) แต่หากสำเร็จผลตอบแทนสูงมากด้วย   นี่คือประเด็นสำคัญที่ต้องมีการพัฒนาขึ้นในระบบ อววน. ของไทย   

หากอ่านประวัติของ Pieter Cullis ที่ (๑) จะพบว่า ท่านมีส่วนร่วมก่อตั้งบริษัทจำนวนมาก   ทำให้ผมตีความว่าในประเทศตะวันตก   การที่ศาสตราจารย์ระดับ star ทำงานทั้งในสถาบันวิชาการ และในสถาบันธุรกิจ เป็นเรื่องปกติ   เป็นเรื่องที่ประเทศชาติต้องการ   คำถามคือจะมีวิธีขับเคลื่อน ระบบ อววน. ไทยไปสู่สภาพนั้น หรือคล้ายคลึงกัน ได้อย่างไร                  

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ต.ค. ๖๔                                                                                                        

 

                                                                                                                                                              

 



ความเห็น (1)

I have heard that USA have laws and a culture that protect business starters (more than investors) and give chances to start (other) ventures again and again. [(I was told that even) Mr Donald Trump had been bankrupted twice.] Where in Thailand, business failures are punished harshly (in other words investors are protected more that business starters). This is probably a reason for more and greater enterprises (entrepreneurs) in USA than in Thailand.

So it seems that we need ‘business environment’ that supports ‘honest attempt’ to start-up and expertise in (Thailand/local) business analysis.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท