ชีวิตที่พอเพียง 4077. ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา


 

หนังสือเล่มเล็ก ชุดธรรมะใกล้มือ เรื่อง ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ท่านพุทธทาสบรรยายที่ศิริราช เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๐๔    สรุปประโยคเดียวได้ว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” 

ไม่ยึดมั่นว่าเป็น “ตัวกู ของกู” 

ผมใคร่ครวญต่อว่า เรื่องตัวตนนี้อยู่ที่ความพอดี   หรืออยู่ที่พัฒนาการด้านจิตใจที่ซับซ้อนตามธรรมชาติของมนุษย์    ที่ตอนอยู่ในวัยเยาว์ต้องพัฒนาตัวตนขึ้นมา ที่ศาสตราจารย์ Chickering เสนอว่า  เด็กต้องพัฒนาอัตลักษณ์ขึ้นมาตามลำดับ ๗ ประการ คือ (๑) พัฒนาสมรรถนะต่างๆ  (๒) ความสามารถในการจัดการอารมณ์  (๓) พัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง  (๔) พัฒนาอัตลักษณ์  (๕) ปลดปล่อยอิสระแก่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  (๖) พัฒนาเป้าหมายในชีวิต  (๗) พัฒนาความมั่นคงในศรัทธาต่อความดีงาม   

ผมคิดว่า คนเราจะละตัวตนได้ต้องมีตัวตนก่อน   คนที่ตัวตนไม่มั่นคง จะพัฒนาด้านอื่นๆ ได้ไม่ดี หรือไม่ก้าวหน้าในระดับสูงหรือระดับลึกและเชื่อมโยง    แต่ตัวตนนั้นต้องเป็นตัวตนที่มั่นใจในตนเอง  และเคารพผู้อื่น    ความมั่นใจในตนเอง (self-confidence) ต้องคู่กับความอ่อนน้อมถ่อมตน (humility)   

เท่ากับคนเราต้องพัฒนาคุณสมบัติ และสมรรถนะที่เป็นคู่ตรงกันข้ามขึ้นอย่างสมดุล   โดยคู่สำคัญในที่นี้คือ มั่นคงในตัวตนขงตนเอง และเคารพตัวตนของผู้อื่น    และ มั่นคงในตัวตน กับ ลดละตัวตน 

ที่จริง “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” เรียนได้ตั้งแต่เด็กนะครับ    ผ่านการศึกษาในระบบ    ที่ครูค่อยๆ ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ว่าความรู้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้   ขึ้นกับเทศะ และกาละ    ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่ถูกต้องเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว บัดนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าผิด มีความรู้ใหม่ขึ้นมาแทนที่   ยิ่งความรู้ด้านสังคมศาสตร์ยิ่งเป็นสมมติ    เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น    เช่นความรู้ด้านสิทธิของประชาชน    ค่ายเสรีนิยมนิยามว่า เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด   แต่ค่ายสังคมนิยม โดยเฉพาะจีน บอกว่าเป็นสิ่งที่สังคมหยิบยื่นให้แก่บุคคล   อ่านได้ที่หนังสือ  ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน 

โรงเรียนไทยจำนวนหนึ่ง ให้นักเรียน (และครู) ได้ฝึก จิตศึกษา หรือ จิตตปัญญาศึกษา ทุกวัน    ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้านในหรือด้านจิตใจ    ช่วยพัฒนาความรู้เท่าทันจิตใจของตนเอง    ช่วยให้จิตใจมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น    ผมคิดว่า นักเรียนที่ได้ผ่านกระบวนการนี้    เมื่อเติบโตขึ้น มีโอกาสสูงที่จะเข้าใจคุณค่าของความไม่ยึดมั่นถือมั่น ต่อชีวิตที่ดีของตน   และต่อสังคม   

การเรียนรู้ในปัจจุบัน ต้องเน้น reflective learning   คือจากการใคร่ครวญสะท้อนคิด หาความหมายของประสบการณ์หรือผัสสะของตนเอง    โรงเรียนและครูที่จัดการเรียนรู้แบบ “เรียนรู้เชิงรุก” (active learning) เท่ากับได้วางรากฐานต่อการเรียนรู้สู่การลดละ “ตัวกู ของกู”    เพราะการลดละ  “ตัวกู ของกู” ต้องทำผ่านการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)     

เพื่อให้พลเมืองไทยทั้งมวล มีความเชื่อและพฤติกรรม “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” เราต้องช่วยกันปูพื้นฐานสมรรถนะของเด็กและเยาวชนไทย    ตามแนวทางข้างต้น    ไม่ใช่รอจนเป็นผู้ใหญ่จึงศึกษาธรรมะ   

เราต้องช่วยกันปูพื้นฐานให้คนไทยรุ่นต่อไปทุกคนเข้าถึง  “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”   เพื่อชีวิตที่มีความสุข  และทำประโยชน์แก่สังคมได้ดียิ่งขึ้น    ชีวิตที่ สงบเย็นและเป็นประโยชน์         

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ก.ย. ๖๔

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 693022เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2021 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ตุลาคม 2021 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

This “…ที่จริง “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” เรียนได้ตั้งแต่เด็กนะครับ ผ่านการศึกษาในระบบ…” , I think, means learning “to ask questions, to analyze and synthesize (available) facts using reasoning tools (information processing/statistics/logics,…) and imagination, to review and to apply the learning to solve (real world) problems, primary school and higher.

This can be a core ‘education’ if we can find enough ‘teachers’ for it.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท