ข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นร้องไม่ได้เลื่อนขั้นเงินเดือนจะแก้ไขได้อย่างไร


ข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นร้องไม่ได้เลื่อนขั้นเงินเดือนจะแก้ไขได้อย่างไร

18 ตุลาคม 2564

เป็นกรณีตัวอย่างศึกษาเริ่มตั้งแต่กระบวนการพิจารณา  "การประเมินผลการปฏิบัติราชการ" ก่อนการออกคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน ไม่ว่าผลการประเมินเลื่อนขั้นผ่าน หรือไม่ผ่านก็ตาม และไม่ว่าสาเหตุที่ทำให้ไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้น จะเกิดจากสาเหตุใดๆ ทั้งมีสาเหตุส่วนตัวกับนายกฯ เช่น เป็นคู่กรณีกัน นายก มีอคติ ไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรม มีพฤติการณ์กลั่นแกล้ง ฯลฯ เป็นต้น แม้ว่าจะไม่เคยขาด ลา มาสาย เช่นนี้จะสามารถร้องเรียนได้อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทาง 

 

กรณีไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนมีได้ 3 กรณีคือ

(1) ขาดราชการ เช่น ขาดเพียงครึ่งวันก็จะไม่ได้ขั้น (2) ลา มาสาย เกินจำนวนครั้ง จำนวนวัน "ตามประกาศ" ที่หน่วยงานได้กำหนดไว้แล้ว เช่น มาสาย ลากิจ ลาป่วยรวมกัน ไม่เกิน 8-15 ครั้ง รวม 23 วัน เป็นต้น (3) ถูกลงโทษทางวินัยไม่ต่ำกว่าตัดเงินเดือน เรียกว่า “ไม่ขาดคุณสมบัติเลื่อนขั้นเงินเดือน”

และต้องมีคะแนนผลการประเมินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ที่เรียกว่า “ผลการประเมินตก”

 

ดู ตัวอย่าง “การลุแก่อำนาจ” ของนายก อปท. 

(1) กรณีเลื่อนขั้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช้ระบบเปิด มีผลคะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ไม่เคยถูกลงโทษสูงกว่าภาคทัณฑ์ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.481/2555 

(2) กรณีเลื่อนขั้นโดยเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.171/2554 

(3) กรณีเลื่อนขั้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่แจ้งผลการประเมิน คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.243/2559 

(4) กรณีไม่ดำเนินการตามระบบเปิด คดีพิพาทเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 103/2551 กรณีการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการ จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการในระบบเปิดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2540 โดยผู้บังคับบัญชาชั้นต้นที่เป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติงานต้องแจ้งการประเมินและผลการประเมินให้ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ถูกประเมินทราบเป็นรายบุคคลทุกครั้งที่มีการประเมิน เพื่อเปิดโอกาสข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชาที่ถูกประเมินได้ชี้แจง หรือให้ความเห็นหรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการประเมินผลก่อนที่จะมีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน

(5) กรณีนายก อบต.ไม่แจ้งผลประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ทราบ และไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงให้ความเห็นหรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการประเมินก่อนมีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน ไม่มีประกาศรายชื่อผู้อยู่ในข่ายได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนในระดับดีเด่นในที่เปิดเผยให้ทราบโดยทั่วไป ไม่นำเรื่องการมาทำงานและผลการปฏิบัติงานมาพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน และไม่แจงเวียนหรือปิดประกาศคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ทราบ กล่าวคือ เป็นการพิจารณาที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในระบบเปิด แต่พิจารณาเลือนขั้นเงินเดือนให้เพียงครึ่งขั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แล้วพิจารณาประเมินเลือนขั้นเงินเดือนให้ใหม่เฉพาะราย ตามหลักเกณฑ์ขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อบ.246/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อบ.67/2560 วันที่ 9 ตุลาคม 2560

 

การอุทธรณ์คำสั่งการเลื่อนขั้นเงินเดือน

การอุทธรณ์คำสั่งฯ ไม่ต้องก็ได้ หรือหากจะลองอุทธรณ์คำสั่งฯ ดูก็ได้ เพราะหาก นายก อปท. รับคำอุทธรณ์ และนายก ยืนคำสั่งเลื่อนขั้น นายก ต้องส่งคำอุทธรณ์นั้นส่ง ก. จังหวัด ถือเป็น “คำร้องทุกข์” ตามแนวทางที่ ก. กลางได้ซักซ้อมฯ เนื่องจาก เข้าเงื่อนไขการร้องทุกข์ เหตุความคับข้องใจ หรือ เหตุ ผบ.ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายฯ ตาม ประกาศ ก. จังหวัดที่บังคับให้ใช้สิทธิร้องทุกข์ต่อประธาน ก. จังหวัดได้ ภายใน 30 วัน

 

คำถามกรณีตัวอย่าง เช่น มีคะแนนผลการประเมินการปฏิบัติราชการได้ร้อยละ 80 แต่ไม่รับการพิจารณาเลื่อนขั้น จะต้องทำอย่างไร

หากคุณสมบัติเลื่อนขั้นครบ ประเมินได้ 80% ต้องได้ขั้น จะแป๊กขั้น ไม่ได้

หัวใจต้องดูว่าคณะกรรมการ 2 ชุด คือ (1) คณะกรรมการกลั่นกรองผลการประเมินฯ ได้สรุปให้ความเห็นว่าอย่างไร (2) คณะกรรมการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนสรุปให้ความเห็นว่าอย่างไร และ นายก อปท.มีความเห็นแย้ง คณะกรรมการพิจารณาเลื่อนขั้นฯ หรือไม่ อย่างไร 

เมื่อรับทราบคำสั่งไม่เลื่อนขั้นเงินเดือน หรือ ไม่พอใจคำสั่ง เช่น เห็นว่าคำสั่งไม่ถูกต้อง เพราะตนเอง (เรียก “คู่กรณี”) ไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนขั้นพิเศษ เป็นต้น อย่างน้อย “คู่กรณี” ต้องดำเนินการดังนี้

(1) ให้ขอเอกสารรายงานการประชุม ของคณะกรรมการทั้งสองชุดโดยด่วน

(2) ลองไปไล่เรียงหาจุดที่ผู้บังคับบัญชาอ้างเหตุผลที่ไม่เลื่อนขั้นให้ เพราะเหตุใด

(3) มีการประกาศผลคะแนนการประเมินตามระบบเปิด ตามแนวทางที่ ก.พ.วางระเบียบปฏิบัติไว้หรือไม่ หากมีได้ดำเนินการปิดประกาศตั้งแต่เมื่อใด

(4) คู่กรณีได้รับทราบคะแนนผลการประเมินเมื่อใด

(5) มีประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้หรือไม่ อย่างไร ประกาศจะกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ไว้

(6) มีพฤติการณ์พิเศษอื่นใดประกอบโดยมีพยานหลักฐาน อาทิเช่น มีพฤติการณ์กลั่นแกล้ง มีอคติ มีเหตุโกรธเคืองกัน เป็นคู่กรณีกัน ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นไปตามขั้นตอนฯ ของระเบียบกฎหมาย ไม่ทำตามขั้นตอนการประเมิน ไม่มีประกาศคะแนนตามระบบเปิด (ไม่มีระบบเปิด) แก้ไขปลอมแปลงเอกสารเลื่อนขั้นฯ ปลอมเอกสารต่างๆ ทำเอกสารเท็จ ปลอมรายงานการประชุม คณะกรรมการไม่มีการประชุม ฯลฯ เป็นต้น 

 

มีประเด็นคำถามที่น่าสนใจว่า คณะกรรมการกลั่นกรองการประเมินฯ ใช้หมึกขาวลบแก้ไขคะแนนจากดีเด่นมาเป็นดีมาก จากปรับปรุงมาเป็นพอใช้ มีแนวศาลปกครองเรื่องแก้ไขคะแนนไว้อย่างไรบ้าง

(1) แนวทางศาลปกครอง คือ คณะกรรมการกลั่นกรองการประเมินฯ ห้ามแก้ไขคะแนน แต่ทำความเห็นแย้ง ปรับลดคะแนนตามเกณฑ์ มฐ.หากเปรียบเทียบกับคนทั้งองค์กร เพราะ การให้คะแนนประเมิน อาจมาจาก "ผู้ประเมินหลายๆ คน" ที่มีอคติ พื้นฐาน ข้อมูล แตกต่างกันไป 

(2) คณะกรรมการกลั่นกรองการประเมินฯ  ไม่ควรใช้น้ำยาลบหมึกลบคะแนนเดิมออก แต่ควรให้ความเห็นในการเปลี่ยนแปลง และคะแนนใหม่ ในรายงานการประชุม คณะกรรมการฯ และในแบบประเมินในส่วนของ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ซึ่งจะลงนามโดย ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองฯ

(3) เพราะว่า หากลบคะแนนการประเมิน ก็จะไม่ทราบว่า ผู้บังคับบัญชาผู้ประเมินให้คะแนนมาเท่าใด ทำให้ผู้มีอำนาจฯ วิเคราะห์คะแนนยิ่งสับสน และ ทำให้ตัวผู้ถูกประเมินสับสนเช่นกัน

 

แนวทางการประเมินและการกลั่นกรองการประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือนของผู้ประเมินและคณะกรรมการกลั่นกรองการประเมินฯ

ถ้าศึกษาแบบพิมพ์การประเมินผลปฏิบัติงาน จะทราบว่า 

 

1. มีช่องประเมินคะแนนระหว่างผู้ปฎิบัติกับ ผู้บังคับบัญชาตามข้อตกลงและมีเกณฑ์คะแนนชัดเจนว่าผลงานเท่าใดจะได้คะแนนเท่าใด 

2. ช่องประเมินสมรรถนะ ใช้ตารางประเมินประกอบในแต่ละช่องคะแนนสามารถตรวจสอบ 

3. หลักฐานแสดงผลงานและหลักฐานผลประเมินสมรรถนะ  

4. ผู้ถูกประเมินจะประเมินตนเองให้คะแนนตนเองก่อน 

5. ผู้บังคับบัญชาประเมินตามผลงาน และ แจ้งผู้รับการประเมินทราบผลคะแนน หากไม่ลงชื่อรับทราบให้มีพยานในการแจ้ง 

6. ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปพิจารณาให้ความเห็น 

7. คณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณา 

8. หัวหน้าหน่วยงานให้ความเห็นคะแนน(สุดท้าย) 

แต่ละขั้นตอนเป็นการทำแบบไปข้างหน้าในแบบประเมิน กรณีเปลี่ยนแปลงคะแนนก็จะมีความเห็นประกอบ ไม่มีการใช้ลบน้ำยาหมึกลบคะแนนของ ผู้ประเมินในแต่ละขั้นตอน 

9. ประกาศผลการประเมินให้ทราบ 

10. ส่งผลคะแนนให้ คณะกรรมการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน

(CR : ป.ชัยชาญ รัตนะนาวงษ์)

 

กรณี ผู้บังคับบัญชาประเมินด้วยความอคติ เอนเอียง มุ่งให้เฉพาะพวกพ้องตัวเอง คู่กรณีจะนำคดีไปสู่ศาลอาญาคดีทุจริตได้อย่างไรบ้าง

 

กรณีนายกหรือ เป็น ผู้บังคับบัญชาผู้ประเมิน ไม่ว่าจะเป็นรายบุคคล หรือเป็น “คณะกรรมการในการพิจารณาทางปกครอง” เป็นผู้มีส่วนได้ ที่ถือว่าเป็น “คู่กรณี” ที่มีบทยกเว้น ตามมาตรา 13 และมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เช่น ในที่ประชุมของคณะกรรมการฯ คู่กรณีต้องรู้ตัวเองและต้องแจ้งประธานทราบเพื่อขอออกจากที่ประชุมไป ยกเว้นประธานวินิจฉัยแล้ว เช่น อนุญาตให้อยู่ประชุมได้ แต่จะออกเสียงลงมติไม่ได้ เพราะ “ผู้นั้นต้องหยุดการพิจารณาทางปกครอง” ตามมาตรา 16 (1)

หากผู้นั้นเห็นเองว่าตนมีกรณีต้องห้ามตามมาตรา 13 ดังกล่าว ให้ผู้นั้นหยุดการพิจารณาเรื่องไว้ก่อนและแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งหรือประธานกรรมการทราบ แล้วแต่กรณี

 

ข้อสังเกต/ข้อแนะนำ

 

ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง คณะกรรมการฯ ไม่ควรแต่งตั้งคณะกรรมการในลักษณะเช่นนี้ (ไม่ควรแต่งตั้ง) ยกเว้นในกรณีจำเป็นจริงๆ ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 18 บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา 13 ถึงมาตรา 16 ไม่ให้นำมาใช้บังคับกับกรณีที่มี ความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้ล่าช้าไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะหรือสิทธิของบุคคลจะเสียหายโดยไม่มีทางแก้ไขได้ หรือไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนผู้นั้นได้”

 

คดีเลื่อนขั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมิชอบด้วยกฎหมาย

แนวศาลอาญาทุจริตกรณีทุจริตการเลื่อนขั้นเงินเดือนฯ

หากครบองค์ประกอบความผิด เป็นความผิดสำเร็จแล้ว  ปอ.มาตรา 157 มีอายุความ 15 ปี ส่วนใหญ่จะรับสารภาพ เพื่อไม่ต้องถูกจำคุกจริงๆ แล้วรอลงอาญา แต่หากผู้ถูกกล่าวหา/จำเลยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.ผถ.) เมื่อศาล อท.พิพากษาคดีถึงที่สุดว่าผิด แม้จะรอลงอาญา ก็จะขาดคุณสมบัติ/มีลักษณะต้องห้ามฯ (ตลอดชีพ)ตามมาตรา 50(10) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562

 

สรุปความการดำเนินคดีบริหารงานบุคคล (เลื่อนขั้นฯ) รวบรัดอย่างย่อ

(1) กรณีไปศาลปกครองขั้นตอนค่อนข้างยาวมาก ต้องร้องทุกข์ก่อน ส่วนใหญ่จะไปหยุดที่การพิจารณาร้องทุกข์ ว่า "ไม่มีมูล ยกคำร้องทุกข์ หรือ ให้แก้ไขเยียวยา" โดยมติที่ประชุม ก. จังหวัด

(2) กรณีนี้เป็นคดี “ป.ป.ช.” ต้องไปฟ้องศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ (คดี อท.) กระทำได้ 2 ทาง คือ (2.1) ร้อง ป.ป.ช.ขอให้ไต่สวน (2.2) ไปยื่นฟ้องศาล อท.ภาคเอง แต่ควรมีพยานหลักฐานที่หนักแน่พอสมควร เพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิด อย่างน้อยตาม ปอ.มาตรา 157 เช่น มีพฤติการณ์กลั่นแกล้งฯ ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ "โดยมิชอบ" และหรือ "โดยทุจริต"

 

 

อ้างอิง

 

ตัวอย่างคดีการบริหารงานบุคคล กรณีไม่เลื่อนขั้นเงินเดือน ที่มีพฤติการณ์พิเศษอื่นใด ดู 

ถามผลประเมินได้80%แต่ไม่ได้ขั้นเกิดจากสาเหตุส่วนตัวกับนายกฯ ไม่เคยขาด ลา มาสายเลย แบบนี้เราสามารถร้องเรียนได้ไหม, อ้างจากเฟซบุ๊ก, 23 กันยายน 2564, https://www.facebook.com/groups/adminlawconsult/posts/4111831475613270/   

 

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อบ.246/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อบ.67/2560 วันที่ 9 ตุลาคม 2560, https://www.admincourt.go.th/admincourt/upload/admcase/Document/judgement/PDF/2558/03012-580246-1F-601116-0000609747.pdf

 

ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนขั้นเงินเดือนของ กรณี ทม.สุพรรณบุรี, http://www.suphancity.go.th/pragad/ITA/62/O27%202ประกาศหลักเกณฑ์เวลาปฏิบัติราชการ%20จำนวนวันลา%20มาสาย%2062.pdf 

& กรณีของ ทต.บ้านดอน, https://www.bandon.go.th/images/abt/pdf/467.pdf 

& กรณีของ กทม. ปี 2559, http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER3/DRAWER084/GENERAL/DATA0000/00000258.PDF

 

กฎหมาย

พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
https://www.ocsc.go.th/sites/default/files/attachment/law/act_law2551.pdf 

พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/052/1.PDF 

พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562, https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_dl_link.php?nid=5863 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท