อะไรคืออะไร: เรามีพระไว้ทำไม?


ต้นเรื่องของคำถาม “เรามีพระไว้ทำไม” มีที่มาจากการเข้าไปเสพเรื่องราวกรณี การถอดถอนเจ้าคณะจังหวัดและกรณี พม.สองรูปที่กำลังเป็นที่สนใจของผู้สนใจ

ก่อนนั้นเคยเชื่อต่อๆกันจากคำพูดของคนวัฒนธรรมเดียวกันว่า "เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ" แต่เมื่อขยับตัวออกไปไกลและถามตัวเองว่า ข้อความนั้นมีความจริงเพียงใด โดยคิดถึง “พุทธแสดงทัศนะอะไรไว้” จะพบว่า ข้อความนั้นไม่ครอบคลุมข้อความที่สอง เพราะสถานการณ์ที่ปรากฏทั้งในเรื่องการเมืองและวิถีการดำรงชีวิตมันทาบลงกันไม่หมด ช่วงหลังจึงมักย้อนถามคนที่พูดว่า “เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ” ว่า “แน่ใจหรือ” เพื่อนมุสลิมคนหนึ่งพูดถึงประเด็นพุทธศาสนา ผมตอบว่า "ผมไม่แน่ใจว่าพุทธศาสนาคือศาสนา และศาสนาพุทธในประเทศไทยคือพุทธศาสนา" มีบางข้อความแย้งในตัวผมเอง “เออนะ เรานี่คิดมากจนเพี้ยนไปแล้ว” 

จากคำถามที่เกิดในสมอง “เรามีพระไว้ทำไม” ภาพที่ปรากฏในชีวิตประจำวันคือ การที่ชาวพุทธกราบไหว้พระผู้มีลักษณะทางกายภาพไม่ต่างจากผู้กราบ เพียงแต่การใส่เสื้อผ้าที่ต่างกัน และความเชื่อเรื่องจิตใจที่งามกว่า บางภาพสร้างความปลื้มใจให้กับผมไม่น้อย/รู้สึกดี เช่น ภาพเด็กน้อยรอคอยพระที่เดินมารับอาหารบิณฑบาต ภาพคุณยายแก่ๆ ถือดอกไม้กำหนึ่งและปิ่นโตเดินออกจากบ้านไปวัด 

มามานั่งคิดว่า “เรามีพระไว้ทำไม” ถ้าย้อนไปในพุทธกาล หากข้อเขียนที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไม่ใช่เรื่องแต่งขึ้นเอง แต่เป็นการบันทึกสิ่งที่ปรากฏในช่วงเวลานั้นจริง อาจจะมีการบอกกล่าวกันมาเกินร้อยปีก่อนบันทึกแต่เรื่องเล่าเหล่านั้นมีปรากฏการณ์จริงรองรับ ในเรื่องเล่านั้นจะพบว่า กลุ่มผู้จำใจฟังข้อค้นพบของพระพุทธเจ้าชุดแรกคือ เหล่านักบวชในศาสนาพราหมณ์ ๕ คน และคนที่ได้เป็นภิกษุรูปแรกคือ พราหมณ์ชื่อโกณฑัญญะ

เมื่อมีผู้เข้าใจธรรมเป็นอย่างดีจำนวนหนึ่งแล้ว จึงมีการส่งคนเหล่านี้ไปเผยแผ่สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ข้อความที่มักถูกอ้างคือ (ขออนุญาตถอดความ/ผู้ต้องการภาษาแบบตรงขอให้ค้นได้จากคัมภีร์หลักทางศาสนา) “…ผู้เห็นความน่าหวาดหวั่นในการเกิดตายทุกท่าน ท่านทั้งหลายจงเดินทางไปสู่ที่ที่ควรไป เพื่อการเอื้อเฟื้อและความสุขของผู้คน เพื่อคอยดูแลสังคม เพื่อประโยชน์ การช่วยเหลือ และความสุขแก่เหล่าเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย เดินทางไปคนเดียวนะ อย่าเดินทางไปสองคน จงแสดงความรู้ ที่งามตั้งแต่อารัมภบท ส่วนเนื้อหา และสรุปจบ  ประกอบด้วยเนื้อหาและวิธีการ/คำ/ข้อความที่มีความเหมาะเจาะลงตัวที่สุด จงบอกกล่าว สิ่งที่ดีงามที่สุด มีสิ่งมีชีวิตที่พร้อมจะเข้าถึงองค์ความรู้นี้อยู่ หากไม่ได้เรียนรู้เขาอาจหมดโอกาสที่จะเข้าถึงองค์ความรู้นี้ได้ แม้ฉันเองก็จะเดินทางไปตำบลอุรุเวลาเพื่อแสดงองค์ความรู้นี้เหมือนกัน” (สํ.สคาถวคฺโค ๒๕/๔๒๘)

*ดูอนุกรมศัพท์ท้ายข้อเขียน/อย่าเชื่อจนกว่าจะได้ตรวจสอบแล้วด้วยตนเอง

ถ้าถอดภาพพระภิกษุแบบง่ายจากชุดข้อความนี้ พระภิกษุจะเป็นเพียงเครื่องมือเชื่อมโยงระหว่างผู้เรียนกับองค์ความรู้ และองค์ความรู้ที่กล่าวนี้ พระภิกษุเข้าถึงแล้ว/เข้าใจแล้ว และถ้า “การแสดงความรู้” ในข้อความ “จงแสดงความรู้ที่งาม…” เป็นตัวบังคับ “การเอื้อเฟื้อ ความสุข ประโยชน์ การช่วยเหลือ” นั่นแสดงว่า พระภิกษุคือผู้มีหน้าที่สื่อสาร และการสื่อสารนั้นมีข้อเสนอว่า ควรมีพร้อมทั้งสาระและข้อความที่มีที่ไปที่มาที่ส่งเสริมกันและกัน ส่งผลให้เกิดความงามตั้งแต่เริ่มต้น ระหว่างทาง และตอนท้าย (ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ / หัวปลา ตัวปลา และหางปลา) คำถามที่ตามมาคือ “สาระและข้อความแบบใด” ชุดของคำที่มักอ้างถึงคือ “ ตถาคตรู้ว่า ถ้อยคำใดจริง แน่นอน มีประโยชน์ คนชอบใจ ปลื้มใจ ตถาคตรู้ช่วงเวลาที่จะการพูดและทำเนื้อหาให้ชัดเจน” (ม.ม. ๑๓/๙๔) แต่นี่คือตถาคต/พระพุทธเจ้า ผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยสติและความรู้สึกตัว (สัมปชัญญะ) เหล่าพระภิกษุจึงพยายามเลียนแบบพระพุทธเจ้าคือ ข้อความบ่งชี้ความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นต้น มีความแน่นอน แต่เลือกมาเฉพาะจำนวนหนึ่งของใบไม้ในกำมือที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ คนฟังโอเค พอใจ และต้องเลือกช่วงเวลาที่เหมาะเจาะด้วย ในการนำเสนอต้องหาคำ ภาษา ข้อความที่สื่อสารกันรู้เรื่องกับกลุ่มเป้าหมาย 

หากพิจารณาผ่านเนื้อหาชุดนี้ ดูเหมือน พระไม่ได้มีไว้เพื่อนั่งให้ใครกราบไหว้แน่ๆ ผมไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการกราบไหว้ เพราะหากพิจารณาผ่านมงคลชีวิต ๓๘ ข้อ จะคือ การบูชาคนที่ควรแก่การบูชา ใน ๒ แบบๆ ใดแบบหนึ่งคือ มอบสิ่งของตอบแทนให้ และ ปฏิบัติตาม และพระไม่ได้มีไว้ประกอบพิธีกรรม เช่น ถ้าทำความดีต้องมีพระมาให้พร ถ้าแต่งงานต้องมีพระมาเจริญพุทธมนต์ ถ้าจะเผาศพต้องมีพระมาสวด ฯลฯ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ กรณีที่ใจของคนๆนั้นเวิ้งว้าง ต้องการที่เกาะเกี่ยวหัวใจ พระจะคือหลักในการเกาะเกี่ยวหัวใจที่เวิ้งว้างของบางคน ไม่แตกต่างจากการหาสิ่งเกาะเกี่ยวใจแบบอื่น แต่หากพิจารณาผ่านข้อความ “ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย" ล่ะ ดูเหมือน “พระภิกษุจะไม่ใช่ที่เกาะเกี่ยวหัวใจที่เวิ้งว้าง” 

เท่าที่ใคร่ครวญธรรมมานี้ ได้ข้อสรุปว่า ผมเพี้ยน

*อนุกรมศัพท์

คำแปลถอดความ ศัพท์ คำแปลตามคัมภีร์
ผู้เห็นความน่าหวาดหวั่นในการเกิดตายทุกท่าน ภิกษุ ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏ/ผู้ขอ
ที่ที่ควรไป จาริกํ จาริก
เพื่อการเอื้อเฟื้อและความสุขของผู้ชน พหุชนหิตาย..สุขาย เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข
เพื่อคอยดูแลสังคม โลกานุกมฺปาย เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก
เพื่อประโยชน์ อตฺถาย เพื่อประโยชน์
การช่วยเหลือ หิตาย เพื่อเกื้อกูล
เดินทางไปคนเดียว เอเกน ผู้เดียว
องค์ความรู้ ธมฺมํ ธรรม
งามตั้งแต่อารัมภบท อาทิกลฺยาณํ งามในเบื้องต้น
 (งามใน) ส่วนเนื้อหา มชฺเฌกลฺยาณํ งามในท่ามกลาง
สรุปจบ ปริโยสานกลฺยาณํ งามในที่สุด
ประกอบด้วยเนื้อหา สาตฺถํ (ส+อตฺถ) ประกอบด้วยอรรถ
ข้อความ/วิธีการ/คำ/อักษรศาสตร์ สพยญฺชนํ พร้อมด้วยพยัญชนะ
ที่มีความเหมาะจงลงตัวที่สุด เกวลปริปุณฺณํ บริบูรณ์สิ้นเชิง
จงบอกกล่าว ปกาเสถ ประกาศ
สิ่งที่ดีงาม พฺรหฺมจริยํ พรหมจรรย์/การประพฤติที่ประเสริฐ
ที่สุด ปริสุทฺธํ บริสุทธิ์
จริง ภูตํ จริง
แน่นอน ตจฺฉํ แท้จริง
มีประโยชน์ อตฺถสญฺหิตํ ประกอบพร้อมด้วยประโยชน์
พอใจ ปิยา เป็นที่รัก
ปลื้มใจ มนาปา ชอบใจ
รู้ช่วงเวลา กาลญฺญู (กาล+ญู) รู้กาล
ทำเนื้อหาให้ชัดเจน พฺยากรณาย (วิ+กรณ) พยากรณ์ (พิเศษ+ทำ)

 หมายเหตุ ข้อเขียนนี้เป็นการเขียนสด ยังไม่มีการตรวจรายละเอียด โปรดใช้วิจารณญาณ

หมายเลขบันทึก: 692807เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2021 10:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2021 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท