โคแก่กินหญ้าอ่อน


โคแก่กินหญ้าอ่อน

วัว หรือ โค เป็นสัตว์มีกีบเท้าที่เป็นสัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ชนิดสามัญที่สุด เป็นสมาชิกที่โดดเด่นในวงศ์ Bovinae เป็นชนิดที่แพร่หลายที่สุดในสกุล Bos และถูกจำแนกเป็นกลุ่มอย่างกว้างขวางที่สุดว่า Bos primigeius วัวถูกเลี้ยงเป็นปศุสัตว์เพื่อเอาเนื้อ นม หรือผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ และเป็นสัตว์ลากเทียม ผลิตภัณฑ์อื่นจากวัวมีหนังและมูลเพื่อใช้เป็นปุ๋ยคอกหรือเชื้อเพลิง ในบางประเทศ เช่น อินเดีย วัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ จากบรรพบุรุษวัวที่เป็นสัตว์เลี้ยงเพียง 80 ตัว ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีเมื่อราว 10,500 ปีก่อน มีการประเมินว่าปัจจุบันมีวัว 1,300 ล้านตัวทั่วโลก (2552)

อาหารที่เราใช้เลี้ยงวัว ได้แก่ 
อาหารหยาบซึ่งได้มาจาก หญ้าสด ฟางข้าว พืชตระกูลถั่ว ต้นข้าวโพด เป็นต้น

อาหารข้นซึ่งได้จากอาหารที่มีความเข้มข้นและมีโปรตีนสูง มีใยต่ำ สัตว์กินเข้าไปแล้วย่อยได้ง่าย เช่น รำ ปลายข้าว ข้าวโพดบด อาหารข้นสำเร็จรูปตามท้องตลาด หัวอาหารเป็นต้น

ในแต่ละวันวัวกินหญ้าเป็นจำนวนมาก เพื่อให้มีหญ้าเพียงพอสำหรับการเลี้ยงวัว จึงมีการปลูกหญ้าเพื่อเลี้ยงวัวโดยเฉพาะ หญ้าที่วัวชื่นชอบและนิยมปลูกมากมีดังนี้

หญ้าเนเปียร์ (Pennisetum purpureum) มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศในแอฟริกา ปัจจุบันพบแพร่กระจายทั่วโลกในแถบประเทศอบอุ่น ส่วนประเทศไทยได้นำหญ้าเนเปียร์จากประเทศมาเลเซียเข้ามาปลูกเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2472 โดย นายอาร์ พี โจนส์ และในช่วงปีพ.ศ.2504-2507 ประเทศไทยได้นำเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศมาปลูกอย่างต่อเนื่อง เช่น กรมปศุสัตว์นำเข้าพันธุ์ลูกผสมจากประเทศอินเดียเข้ามาปลูก

หญ้าเนเปียร์เป็นหญ้าที่มีลำต้นขนาดใหญ่ ลำต้นแตกเป็นกอหรือแตกต้นใหม่ได้ หญ้าเนเปียร์ไม่ชอบน้ำขัง ต้องเลือกปลูกบริเวณที่ดอน หรือทำร่องระบายน้ำไว้ด้วย

หญ้าแพงโกล่า เป็นหญ้าที่มีอายุหลายปี ต้นกึ่งตั้งกึ่งเลื้อย ลำต้นเล็ก ไม่มีขน ใบเล็กเรียวยาว ใบดกอ่อนนุ่ม ทนน้ำท่วมขัง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง เหมาะสำหรับปลูกในเขตชลประทาน เป็นหญ้าที่เหมาะจะใช้เป็นอาหารของวัว ควาย ม้า แพะ แกะ กระต่าย

หญ้ารูซี่ หรือ หญ้าคองโก (Ruzi Grass)  จัดเป็นหญ้าพื้นเมืองของแอฟริกาที่ไทยนำเข้ามาปลูกสำหรับเป็นพืชเลี้ยงโค กระบือ โดยนิยมปลูกมากในภาคอีสานและภาคเหนือ เนื่องจากปลูกง่าย โตเร็ว และให้ผลผลิตต่อไร่สูง รวมถึงมีคุณค่าทางด้านอาหารสัตว์สูงด้วยเช่นกัน

สำนวน "โคแก่กินหญ้าอ่อน" หมายถึง ชายแก่ที่ชอบผู้หญิงรุ่นสาว หรือ ชายแก่ที่มีภรรยาสาว สำนวนนี้บางทีใช้ว่า " วัวแก่กินหญ้าอ่อน"

ที่มาของสำนวน “โคแก่กินหญ้าอ่อน” 

“หญ้าอ่อน” ในสำนวนนี้หมายถึงผู้หญิงที่มีอายุน้อย สาวรุ่น ส่วน “โคแก่” หมายถึง ผู้ชายที่มีอายุมาก สำนวนนี้เปรียบเทียบถึงวัวที่อายุมากและมักเลือกกินเฉพาะหญ้าอ่อนๆ จึงเกิดเป็นสำนวน “โคแก่กินหญ้าอ่อน"

 มีคำอธิบายเป็นโคลงสุภาษิตประจำภาพในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อธิบายความหมายว่า

โคเฒ่าเขาหักเหี้ยน  หายคม
พานพบหญ้าอ่อนงม  ง่านเคี้ยว
ชายแก่พบสาวสม  สบจิต เขานา
ฟูมเฟะรสมันเขี้ยว  ใฝ่ฝั้นเฝือเหลือ 

ในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ชูชก เมื่อนางอมิตตดาถูกยกให้แก่เฒ่าชูชก  มีเนื้อความดังนี้

"...วันนั้นชูชกเฒ่าชรา ตํ ทิสฺวา เมื่อเห็นรูปเจ้าอมิตตดายุพเยาว์แรกรุ่นสุนทรเด็กดรุณี แน่งน้อยหน้านวลฉวีวรรณเพริดพริ้งพราย ชะชวยฉาดเฉิดฉายโฉมเฉลา ดังว่าพฤฒิโคเค้าเฒ่าชราจร ครั้นแลว่าเห็นเหยื่อหญ้าอ่อนออกโอชโอษฐ์อ้า ละลนละลานแลบเลียชิวหาหูหางระเหิดหัน เฒ่าก็มีจิตเกษมสันต์โสมนัสยวนยิ่ง..."

ในวรรณคดีอีกเรื่องหนึ่งที่ตัวละครมีพฤติกรรม "โคแก่กินหญ้าอ่อน" คือ ท้าวสันนุราช ในบทละครนอกเรื่อง คาวี

เมื่อนั้น
ท้าวสันนุราชเป็นใหญ่
ตั้งแต่ได้จันท์สุดายาใจ
มาไว้ในที่มณเฑียรทอง
สุดแสนรักใคร่ใหลหลง
นางไม่ปลงประดิพัทธ์ให้ขัดข้อง
พระครวญคร่ำดำริห์ตริตรอง
ไฉนหนอนวลละอองจะเอ็นดู
ทำเสน่ห์เล่ห์กลหลายสิ่ง
นางยิ่งด่าว่าน่าอดสู
สิ้นตำรับตำราวิชาครู
เพราะกายกูแก่เกินขนาดไป
จะจำหามุนีฤๅษีสิทธิ์
ที่เรืองฤทธิ์ชุบรูปเราเสียใหม่
ให้หนุ่มน้อยโสภายาใจ
เห็นจะได้เชยชมสมคิด

ท้าวสันนุราชผู้ชราพยามทำทุกทาง ทั้งใช้ของขลัง ทำเสน่ห์เล่ห์กล เพื่อพิชิตใจนางจันท์สุดา แต่นางก็ไม่มีทีท่าจะไยดี ในที่สุดท้าวสันนุราชจึงสั่งให้ทหาร
"...จงตีฆ้องร้องป่าวไปทั่วทิศ
หาผู้รู้วิทยาคุณ
จะให้ชุบรูปกูแก่ชรา
เป็นหนุ่มน้อยโสภาพึ่งแรกรุ่น
ถ้าสมคิดกัลยาการุญ
จะแทนคุณแบ่งเมืองให้กึ่งหนึ่ง..."

แทนที่ท้าวสันนุราชจะได้ชุบตัวให้หนุ่มขึ้น กลับถูกหลวิชัยที่ปลอมตัวมาทำอุบายจนต้องตายในกองเพลิง

ถ้าในสมัยนั้นมีการศัลยกรรมความงาม ท้าวสันนุราชคงจะได้กลับเป็นหนุ่มสมใจและชนะใจนางผมหอมจันท์สุดาได้ ไม่ต้องตายอย่างน่าอเน็จอนาถเช่นนี้

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

 

 

หมายเลขบันทึก: 692763เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2021 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท