คนมาล่า กินลูกหว้าแก่


คนมาล่า กินลูกหว้าแก่

ต้นหว้า หรือ "ชมพุการุกขา" นับว่าเป็นต้นไม้ในพุทธศาสนา ในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี วรรณคดีพุทธศาสนา มีบทพรรณนาโวหารอันไพเราะอย่างยิ่งพรรณนาถึงต้นหว้า ดังนี้

 " เมื่อสมเด็จ พระยอดมิ่งเยาวมาลย์มัทรี กราบทูลพระราชสามีสักเท่าใดเท่าใด ท้าวเธอจะได้ปราศรัยก็ไม่มี พระนางก็ยิ่งหมองศรีโศกกำสรดสะอึกสะอื้น ถวายบังคมคืนออดมาเที่ยวตามหาพระลูกรักทุกหนแห่ง กระจ่างแจ้งด้วยแสงพระจันทร ส่องสว่างพื้นอัมพรประเทศวิถี นางเสด็จจรลีมาหยุดยืนในภาคพื้นปริมณฑลใต้ต้นหว้า จึงตรัสว่า อิเม เต ชมฺพุการุกฺขา ควรจะสงสารเอ่ยด้วยต้นหว้าใหญ่ใกล้พระอาราม งามด้วยกิ่งก้านประกวดกัน ใบชอุ่มประชุมช่อเป็นฉัตรชั้นดังฉัตรทอง แสงพระจันทร์ดั้นส่องต้องน้ำค้างที่ขังใบไหลลงหยดย้อย เสมือนหนึ่งน้ำพลอยพร้อยอยู่พรายๆ ต้องกับแสงกรวดทรายที่ใต้ต้นอร่ามวามวาววนดูเป็นแวว งามดั่งบุคคลเอาแก้วมาระแนงแกล้งปรายโปรย โรยรอบปริมณฑลก็เหมือนกัน งามดั่งเอาไม้ปาริกชาติในเมืองสวรรค์มาปลูกไว้ ลูกรักเจ้าแม่เอ่ย เจ้าเคยมาอาศัยได้นั่งนอน ประทับร้อนสำราญร่มรื่นรื่นสำรวลเล่นเย็นสบาย พระพายรำเพยพัดมาฉิวเฉื่อย เรไรระรี่เรื่อยร้องอยู่หริ่งๆ โอ้ลูกรักทั้งชายหญิงไปอยู่ไหนไม่เห็นเลย...

จากพุทธประวัติตอนตามเสด็จพระราชบิดาในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุ 8 ปี ได้เสด็จไปพร้อมกับพระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดา เจ้าชายประทับที่ใต้ร่มไม้หว้าที่บรรดาพี่เลี้ยงบริวารได้จัดถวาย เพราะเห็นว่าภายใต้ร่มหว้านี้ร่มเย็นและปลอดภัย ขณะที่เจ้าชายประทับนั่งขัดสมาธิอยู่เพียงลำพังภายใต้ร่มไม้หว้านั้น ทรงเกิดความวิเวกขึ้น ทรงกำหนดลมหายใจเข้า ออก เป็นอารมณ์ และทรงบรรลุปฐมฌาน แม้เวลาบ่ายคล้อยแล้วแต่เงาไม้หว้ายังคงอยู่ที่เดิมดุจเวลาเที่ยงวัน ผู้คนต่างเห็นเป็นอัศจรรย์ ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบและทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็เกิดอัศจรรย์ในพระทัย และเกิดความเลื่อมใสก้มลงกราบพระโอรส เพื่อบูชาคุณธรรมทางบุญฤทธิ์ปาฏิหาริย์

ครั้งที่สองคือ ตอนพระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์ปราบทิฐิมานะชฎิลชื่ออุรุเวลกัสสปะ มีข้อความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงต้นหว้าไว้ดังนี้

ครั้นเมื่อถึงเวลาฉัน อุรุเวลกัสสปะได้ไปทูลพระพุทธเจ้าว่า “ถึงเวลาแล้วมหาสมณะ ภัตตาหารเสร็จแล้ว” ลำดับนั้นพระพุทธเจ้าทรงถือเอาโอกาสนั้นที่จะแสดงปาฏิหาริย์ จึงตรัสกับอุรุเวลกัสสปะว่า "ดูกร กัสสปะ ท่านไปก่อนเถิด เราจักตามไป" พระผู้มีพระภาคทรงส่งชฏิลอุรุเวลกัสสปะไปแล้ว เสด็จไปยังต้นหว้าประจำชมพูทวีป ทรงเก็บผลหว้าประจำชมพูทวีปนั้น แล้วเสด็จกลับมาประทับในโรงบูชาเพลิงก่อนอุรุเวลกัสสปะ อุรุเวลกัสสปะเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับในโรงบูชาเพลิงก่อนก็รู้สึกแปลกใจ จึงทูลถามพระพุทธเจ้าว่า "ข้าแต่มหาสมณะ ท่านมาทางไหน ข้าพเจ้ามาก่อนท่าน แต่ท่านมานั่งในโรงบูชาเพลิงก่อนข้าพเจ้า"

ลำดับนั้นพระพุทธเจ้าตรัสแก่อุรุเวลกัสสปะว่า " ดูกร กัสสปะ เราส่งท่านไปแล้ว ได้เก็บผลหว้าจากต้นหว้าประจำชมพูทวีป แล้วจึงมานั่งในโรงบูชาเพลิงก่อน ดูกร กัสสปะ ผลหว้านี้แลสมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น รส ถ้าท่านต้องการ เชิญบริโภคเถิด" อุรุเวลกัสสปะตอบว่า "อย่าเลย มหาสมณะ ท่านเก็บผลไม้นี้มา ท่านนั่นแหละจงฉันผลหว้านี้เถิด" อุรุเวลกัสสปะคิดว่า " พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุถาพมากแท้ เพราะส่งเรามาก่อนแล้วยังเก็บผลหว้าจากต้นหว้าประจำชมพูทวีป แล้วมานั่งในโรงเพลิงก่อน แต่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ เหมือนอย่างเราแน่" 
อุรุเวลกัสสปะก็ยังหลงคิดว่าตนเองเป็นพระอรหันต์อยู่ดี จนกระทั่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมชื่อ " อาทิตตปริยายสูตร" ซึ่งมีใจความว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เป็นของร้อน คือร้อนด้วยไฟคือราคะ โทสะ และโมหะ เป็นต้น เมื่อจบพระธรรมเทศนา จึงบรรลุเป็นพระอรหันต์

นอกจากนี้ต้นหว้ายังเกี่ยวพันกับเรื่องราวของภิกษุณีเอตทัคคะในทางตรัสรู้ฉับพลัน คือพระภัททากุณฑลเกสา ตามประวัติกล่าวว่า พระมหาสาวิการูปนี้เดิมเป็นธิดาของเศรษฐีในราชคฤห์ และเป็นภรรยาโจรร้ายซึ่งเป็นนักโทษประหาร ภายหลังโจรคิดฆ่านางเพื่อหวังทรัพย์สมบัติ แต่นางใช้ปัญญากำจัดโจรร้ายได้ และได้บวชเป็นปริพาชิกาในสำนักของนักบวชนอกศาสนา นางได้เรียนวิชาโต้วาทีจนสำเร็จ ปริพาชกผู้เป็นอาจารย์จึงมอบกิ่งหว้าให้และบอกให้นางไปแสวงหาความรู้เพิ่มเติมยังที่อื่นๆ โดยหากมีใครตอบคำถามของนางได้ก็ให้นางเป็นศิษย์ของผู้นั้น นางจึงถือกิ่งหว้าเที่ยวท้าหาผู้มีวาทะ โดยปักกิ่งหว้าบนกองทรายแล้วประกาศว่า ถ้าผู้ใดสามารถที่จะโต้วาทะกับเราได้ก็จงเหยียบกิ่งหว้านี้ จึงมีผู้คนเรียกนางว่า " ชัมพุปริพาชิกา" ในที่สุดนางก็ได้พบกับพระสารีบุตร ได้ถามปัญหาแก่กันจนนางเกิดความเลื่อมใสในพุทธศาสนา ต่อมาได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์จึงบรรลุเป็นพระอรหันต์

ต้นหว้า เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย บังคลาเทศ เนปาล ปากีสถาน มีการกระจายพันธุ์ไปตามประเทศอื่นๆ ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปตามป่าดิบชื้น และภูเขา ส่วนในพื้นที่ปกติมีการนำมาปลูกบ้างเพราะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดเพชรบุรี

ลูกหว้า (Jambolan) เป็นผลไม้ที่ออกผลเพียงปีละครั้งเดียว ลูกหว้ามี 2 สายพันธุ์ คือพันธุ์พื้นเมืองหรือลูกหว้านา กับ ลูกหว้าโหล หรือ ลูกหว้ายักษ์ ซึ่งมีลักษณะใบและผลใหญ่ ลูกหว้าที่สุกจัดจะรสชาติเปรี้ยวอมหวานฝาดเล็กน้อย แต่ถ้าจิ้มเกลือจะอร่อยมาก นอกจากนั้นลูกหว้าสุกสีม่วงดำยังสามารถนำมาใช้ทำไวน์ได้ และน้ำจากผลหว้าเป็น 1 ใน 8 น้ำปานะที่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตแก่พระภิกษุด้วย

สรรพคุณของหว้า 

เปลือกและใบ ใช้ทำยาอม ยากวาดคอแก้ปากเปื่อย ลิ้นและคอเป็นเม็ด

ใบและเมล็ดหว้า ใช้แก้บิด มูกเลือด ท้องเสีย โดยนำใบและเมล็ดหว้ามาต้มกับน้ำ 

น้ำที่ได้จากการต้มใบและเมล็ดใช้ในการชะล้างแผลเน่าเปื่อย หรือ นำใบและเมล็ดมาตำแล้วใช้ทาแก้โรคผิวหนัง 

เมล็ดหว้าเมื่อนำมาต้มแล้วบดใช้รับประทาน มีสรรพคุณใช้แก้เบาหวาน แก้บิด แก้ท้องร่วง 

ส่วนยอดอ่อนของหว้าสามารถใช้รับประทานเป็นผักสด

สำนวน "คนมาล่า กินลูกหว้าแก่" สำนวนนี้มาจากสำนวนของภาคใต้ว่า "คนมาหล้า กินลูกหว้าแก่" หมายถึง คนทำงานล่าช้าย่อมเสียเปรียบผู้อื่น

ที่มาของสำนวน " คนมาล่า กินลูกหว้าแก่" มีที่มาจากลูกหว้าเมื่อสุกจะมีสีม่วงคล้ำ มีรสเปรี้ยวอมหวานเจือฝาดนิดหน่อย เป็นอาหารที่นกชื่นชอบมาก เมื่อถึงฤดูกาลที่ลูกหว้าสุกนกกาจะบินมากินลูกหว้าแต่เช้า ดังเช่นในเพลงที่ร้องว่า " ...กาเหว่าไม่มา ลูกหว้าไสว กาเหว่าบินมา ลูกหว้าร่วงหมด..." นกจะพากันมาชุมนุมจิกกินลูกหว้าอยู่บนต้นเต็มไปหมด ส่วนนกที่มาช้าหรือมาทีหลังก็จะอดกินลูกหว้า คงเหลือแต่ลูกหว้าแก่(เก่า) ซึ่งหมายถึงลูกหว้าที่สุกงอม ร่วงหล่นอยู่โคนต้น มีลักษณะเนื้อเละใกล้เน่า 

สำนวนนี้ใช้เปรียบเปรยกับคนที่ทำอะไรช้ากว่าผู้อื่น ทำให้เสียเปรียบหรือพลาดโอกาสดีๆ เช่น มาโรงเรียนสาย มาทำงานสาย เริ่มกิจการภายหลังผู้อื่น สำนวนนี้จึงใช้เตือนใจว่า จะทำอะไรก็รีบทำก่อนที่โอกาสดีๆจะผ่านไป โดยไม่หวนกลับมาอีก เช่นเดียวกับนกที่พลาดการลิ้มรสลูกหว้าในวันนี้ ต้องรอไปจนถึงปีหน้า ซึ่งก็น่าเสียดาย  

…กาเหว่าไม่มา ลูกหว้าไสว 

กาเหว่าบินมา ลูกหว้าร่วงหมด

กาเหว่าต้องอด สลดหัวใจ…

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 692748เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2021 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 11:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท