ปากหวานก้นเปรี้ยว


ปากหวานก้นเปรี้ยว

ผลไม้แต่ละชนิดมีน้ำตาลและกรดเป็นส่วนประกอบ น้ำตาลในผลไม้เปลี่ยนมาจากแป้งผลไม้ที่ยิ่งแก่จัดก็ยิ่งมีปริมาณของแป้งมาก แต่พอสุกแป้งเหล่านี้ก็จะแปรสภาพเป็นน้ำตาล ส่วนกรดในผลไม้นั้นเมื่อผลไม้ยิ่งแก่กรดส่วนหนึ่งก็จะแปรสภาพเป็นน้ำตาลเช่นกัน และอีกส่วนหนึ่งก็จะทำปฏิกิริยากับสารที่เป็นด่างในผลไม้ ลดความเป็นกรดลง ด้วยเหตุนี้ผลไม้ที่แก่จัดจนถึงสุกจึงมีกรดน้อยลง และมีน้ำตาลเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผลไม้สุกหวานกว่าเมื่อยังดิบ โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ติดกับขั้วจะมีความหวานมากกว่าส่วนที่อยู่ปลายของผล

คนสมัยก่อนมีวิธีการหลากหลายในการบ่มผลไม้ให้สุกหลังจากที่เก็บผลไม้มาจากต้น เช่น ชาวอียิปต์โบราณเฉือนผลมะเดื่อให้เป็นแผล  ชาวจีนเก็บลูกแพร์ไว้ในห้องพร้อมทั้งจุดธูปเอาไว้ด้วย ภายหลังมีงานวิจัยพบว่า การทำให้ผลไม้มีแผลและเพิ่มอุณหภูมิให้กับผลไม้ เป็นการกระตุ้นให้ผลไม้สร้างสารเคมีที่เรียกว่า เอทิลีน (Ethylene,C2H4) ออกมา การที่ผลไม้สร้างเอทิลีนก็เพื่อตอบสนองความเครียดที่เกิดจากบาดแผลและความร้อน เพราะเอทิลีนมีสถานะเป็นแก๊สซึ่งจะแพร่กระจายได้ง่ายจากเซลล์สู่เซลล์ จึงเป็นเสมือนสัญญาณที่ถูกส่งไปยังเมล็ดเพื่อให้เมล็ดงอกใบและเปลี่ยนสีเพื่อความอยู่รอดของสายพันธุ์

อย่างไรก็ตามแม้ว่าผลไม้จะไม่ผ่านการบ่มหรือกระตุ้นโดยมนุษย์ แต่การสุกของผักผลไม้นอกต้นนั้นถือเป็นกระบวนการทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ เพราะเมื่อเราเด็ดผักผลไม้ออกมาจากต้นแล้ว ผักผลไม้เหล่านั้นก็จะยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง ดังนั้นภายในผลจึงยังมีกระบวนการหายใจและการคายน้ำตามปกติ ซึ่งกระบวนการหายใจนี้ทำให้เกิดพลังงานความร้อน และการให้ความร้อนด้วยการจุดธูปในห้องบ่มผลไม้ของชาวจีน ก็เป็นการเร่งให้ผักผลไม้มีการหายใจมากขึ้น เกิดพลังงานความร้อนภายในผักผลไม้มากขึ้น จึงตามมาด้วยการที่ผักผลไม้สร้างเอทิลีนมากขึ้น และทำให้ผักผลไม้สุกเร็วนั่นเอง

ดังนั้นหากเราต้องการให้ผลไม้สุกเร็วขึ้นก็จะต้องเร่งอัตราการหายใจเพื่อเพิ่มให้มีการสร้างเอทิลีนมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เราจะใช้วิธีการนำผักผลไม้ไปบ่มในที่ที่มีอุณหภูมิค่อนข้างสูงและปิดมิดชิด เพื่อเร่งอัตราการหายใจ และในทางกลับกันหากเราต้องการให้ผลไม้สุกช้าก็สามารถนำไปแช่ในตู้เย็นเพื่อลดอัตราการหายใจและการสร้างเอทิลีน

สำนวน "ปากหวานก้นเปรี้ยว" หมายถึง พูดจาอ่อนหวานแต่ไม่จริงใจ อ้างอิงจาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2554 โดย สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

ที่มาของสำนวนปากหวานก้นเปรี้ยวนั้น เมื่อก่อนสำนวนนี้มักจะใช้ว่า หัวหวานก้นเปรี้ยว ซึ่งหมายถึงผลไม้เป็นหลัก โดยผลไม้เมื่อแก่และสุกนั้นบริเวณหัวของมันจะมีความหวานมากกว่าส่วนปลายหรือก้นของผลไม้ แต่ได้มีการเปลี่ยนจากคำว่า หัว มาใช้คำว่า ปาก แทน จึงเกิดเป็นสำนวนไทยที่กล่าวว่า ปากหวานก้นเปรี้ยว นั่นเอง

ข้อคิดจากสำนวนปากหวานก้นเปรี้ยว  คือ คนที่มักพูดจาดี อ่อนหวาน ฟังแล้วเคลิบเคลิ้ม แต่หาความจริงใจไม่ได้เลย คนแบบนี้เป็นคนที่คบไม่ได้ และไม่ควรเข้าไปข้องเกี่ยวด้วย ดังนั้นคนที่ถูกเปรียบเปรยว่าเป็นคนที่ ปากหวานก้นเปรี้ยวนั้นมักถูกมองในแง่ลบมาก เพราะว่าเป็นคนที่มีนิสัยในการพูดและการกระทำที่สวนทางกัน หรือปากกับใจไม่ตรงกัน พูดอย่างทำอย่าง คนแบบนี้จึงไม่น่าคบหาอย่างยิ่ง เพราะไม่มีความจริงใจกับใครเลย คบหาไปก็อาจจะทำให้เดือดร้อนได้

ดังเช่นที่สุนทรภู่ได้กล่าวไว้ในนิราศพระบาทว่า

เจ้าของตาลรสหวานขึ้นปีนต้น
ระวังตนตีนมือระมัดมั่น
เหมือนคบคนคำหวานรำคาญครัน
ถ้าพลั้งพลันเจ็บอกเหมือนตกตาล

การคบหากับคนปากหวานก้นเปรี้ยวจะต้องคอยระมัดระวังตัวอยู่เสมอ หรือ ต้องคอยแยกแยะระหว่างคำพูดที่จริงใจกับคำพูดที่เยินยอด้วยคำหวาน แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังชื่นชอบที่จะได้ยินได้ฟังคำพูดหวานๆ เพราะไม่มีความหวานใดจะสร้างความพึงพอใจให้กับคนเราได้เท่ากับคำพูดหวานหูเพียงไม่กี่คำ

อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก 
แต่ลมปากหวานหูมิรู้หาย
(สุนทรภู่.เพลงยาวถวายโอวาท)

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
 

หมายเลขบันทึก: 692598เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2021 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท