สมาธิศึกษา : กิเลส


การทดลองฝึกการอบรมจิตด้วยตนเองในสองวันนี้ มีบางอย่างเกี่ยวกับกิเลส ๒ ตัวที่อยากบันทึกเอาไว้

ณ ขนำกลางป่ากล้วย

สองวันนี้ยังคงใช้วิธี (๑) การเดิน (๒) การนั่ง มีความรู้สึกว่า ไม่มีความคืบหน้าในการทำให้จิตสงบยิ่งขึ้น แต่มีความเข้าใจอะไรบางอย่างจากการใคร่ครวญกิเลส

วันเสาร์ ทั้งการเดินและการนั่งถูกครอบงำด้วยความโกรธ ความโกรธจำนวนหนึ่งต้องการให้รับรู้ถึงความเป็นตัวตนที่ไม่ใช่ให้ใครมาเหยียบย่ำหรือกระทำแต่ฝ่ายเดียว มีความคิดและวางแผนในการกระทำตอบ จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสามที่รุนแรงขึ้น และพร้อมที่จะรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ทั้งที่ยังไม่รู้ถึงความรู้สึกหลังกระทำแล้ว หากจำเป็น มีความยินดีในการสละชีวิตเพื่อตัวตน พอกันทีกับการยอมมาตลอด ผลของกิเลสคือความโกรธครอบงำ ทั้งการเดินและการนั่งหาความสงบไม่ได้ บางช่วงรับรู้ได้ถึงความเกร็งของมือ ช่วงเย็นวันเสาร์เริ่มผ่อนคลายจากการทำงานต่างๆให้เหงื่อออกและผ่อนคลายยิ่งขึ้นเมื่อความรู้สึกจดจ่ออยู่กับการค่อยๆทาสีลงบนดอกไม้ของระแนงที่ทำจากไม้ ช่วงค่ำ จิตใจเบาลงและมีการใคร่ครวญถึงไฟ ๓ กองคือ ไฟคือความกำหนัด ในที่นี้เชื่อมไปที่ความต้องการทางเพศ ไฟคือความโกรธ และไฟคือความลุ่มหลง มีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า ทำไม? จึงเรียกกิเลส ๓ ตัวนี้ว่าไฟ พบว่า จากความโกรธครอบงำจิตใจ ส่งผลเป็นความรุ่มร้อน ในความหมายว่า ไม่สงบ และถ้ายิ่งใส่ความโกรธเพิ่มลงไป ไฟคือความโกรธจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น มือสั่น สมองตื้อ 

มีคำถามเกิดขึ้นว่า แท้จริง โมหะ ที่แปลว่า ความลุ่มหลงคืออะไรกันแน่ สิ่งนี้น่าจะคือความไม่รู้ (อวิชชา) แต่ยังจับไม่ได้ ไม่เหมือนกับความโกรธและความกำหนัด ดูเหมือนว่า ความโกรธ เมื่อได้จัดการตามที่โกรธแล้วน่าจะเกิด ความสะใจ หรือ ความโกรธเบาลง แต่จะมีผลกระทบอื่นๆตามมา ส่วนความกำหนัด เมื่อได้จัดการตามที่กำหนัดแล้ว ความกำหนัดก็เบาลง และผลที่ตามมาก็เป็นโทษเช่นกัน เช่น ร่างกายอ่อนเพลีย

เช้าวันอาทิตย์คือวันนี้ การฝึกจิตด้วยการเดิน และการนั่งดีขึ้นกว่าเมื่อวาน การเดินยังคงครุกรุ่นด้วยความโกรธ แต่เบากว่าเมื่อวาน ส่วนการนั่งมีความสงบเข้ามาประปราย การใคร่ครวญ ยังคงเป็นเรื่องเดิม คือ โมหะคืออะไรกันแน่ และ ดูเหมือนความโกรธและความกำหนัดจะมีขนาดเท่ากัน ทั้งสองอย่าง เราสามารถหยุดมันได้ ถ้าเราต้องการจะหยุด การหยุดได้เรียกว่า ชนะกิเลส และดับไฟคือความโกรธและความกำหนัดลงได้ อย่างไรก็ตาม เช้านี้ทั้งสองอย่างยังคงจรเข้ามาหลอกล่อให้เราจัดการหรือใส่ไฟตลอดเวลา

ทั้งสองวัน พบการใคร่ครวญในการให้ไฟพอจะมอดลงได้บ้างดังนี้

ความโกรธ  พิจารณาถึงการกระทำของตนเอง และความต้องการจะเดินในสายใด ระหว่าง (๑) การมีตัวตน ปุถุชน กิเลสชนกิเลส กำลังกายและปัญญาแห่งการทำลายล้างห้ำหันกัน ผลของมันคือ ไม่มีความสุข เพราะจะคิดหาวิธีในการทำลายกันแบบไม่จบ (๒) ปล่อยตัว ใครอยากได้อะไรก็ให้ไป และถามเขาว่า พอไหม ถ้าไม่พอก็จะให้มากกว่านั้นจากจิตที่คิดจะให้จริงๆด้วยความกรุณา ทำจิตใจให้อยู่ตรงข้ามกับความโกรธ ไม่ลงไปเกลือกกลั้วกับพื้นที่กิเลส เส้นทางของเหล่าอริยชน 

ความกำหนัด แม้จะมีความสงสัยว่า ทำไมนักบวชปฏิเสธธรรมชาติของการเป็นสิ่งมีชีวิต และสังคมก็เห็นว่า การที่นักบวชปฏิเสธธรรมชาติของการเป็นสิ่งมีชีวิตเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว แต่ข้อสงสัยนั้นขอผ่านไป ที่รับรู้ในตนคือ ความกำหนดจะเกิดขึ้นเป็นระยะ มีข้อสังเกตว่า อย่าใส่ไฟให้เพิ่มขึ้น เช่น อย่าคิดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความกำหนัดเพิ่มขึ้น แม้จะมีความคิดว่า เราควรคิดถึงสิ่งนั้นให้มาก เพื่อให้มันเพิ่มกำลังมากขึ้น และดูว่าเราจะทำกับมันได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม การไม่ใส่เชื้อไฟลงไป ทำให้ไฟที่ครุกรุ่นมอดลงไปได้

หมายเลขบันทึก: 692596เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2021 06:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2021 06:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท