กินข้าวต้มกระโจมกลาง


กินข้าวต้มกระโจมกลาง

ข้าวต้มใส่โกจิเบอรี่

ข้าวต้มหอยนางรม

ข้าวต้มหมูเด้ง

ข้าวต้มกุ๊ย ยำไข่เค็ม ผัดเต้าหู้ถั่วงอก

ข้าวต้มเป็นอาหารที่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน โดยคนจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้นำเมนูนี้เข้ามาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีหลักฐานจากบันทึกของลาลูแบร์ ที่บันทึกถึงวิถีการกินของคนจีนในประเทศไทย ที่กินข้าวต้มขาวที่เราเรียกกันว่า "ข้าวต้มกุ๊ย" นั่นเอง

ข้าวต้มแบ่งออกเป็น 3 ชนิด มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรที่เขียนกรรมวิธีการทำข้าวต้มลงในหนังสือ " แม่ครัวหัวป่าก์" คือ

 1. ข้าวต้มขาว เป็นการต้มข้าวขาวเปล่าๆ ไม่มีรสชาติ มักรับประทานกับกับข้าวหลายๆอย่าง เช่น ไข่เค็ม ผัดผัก เป็นต้น
2. ข้าวต้มหมู มีวิธีการคล้ายๆข้าวต้มขาว แต่ข้าวต้มหมูจะนำข้าวไปผัดกับกระเทียมเจียว จากนั้นนำน้ำซุปมาผสมกับข้าวที่ผัดไว้ แล้วใช้เนื้อสัตว์โรยหน้าทำให้ข้าวต้มหมูมีรสชาติดีกว่า 
3. ข้าวต้มสามกษัตริย์ เป็นเมนูที่คิดค้นขึ้นโดยรัชกาลที่ 5 ระหว่างเสด็จประพาสต้นยังอ่าวแม่กลอง มีวิธีทำเหมือนข้าวต้มหมูแต่ไม่ใส่หมู ใส่ปลาทู ปลาหมึกและกุ้งแทน

ข้าวต้มกุ๊ย ผัดหัวไชโป๊วใส่ไข่ ผัดกะเพราเครื่องในไก่

ข้าวต้มกุ๊ย ไข่ตุ๋น ผัดถั่วงอกเห็ดหูหนูขาว

ข้าวต้มกุ๊ย ไข่ตุ๋น ผักคะน้าผัดน้ำมันหอย

ข้าวต้มกุ๊ย ผัดถั่วงอกเต้าหู้อ่อน ยำไข่เยี่ยวม้า

ในปัจจุบันข้าวต้มที่รับประทานกันจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ ข้าวต้มเปล่าๆรับประทานกับกับข้าวหลายๆอย่าง เรียกว่า ข้าวต้มกุ๊ย และอีกประเภทหนึ่งเป็นข้าวต้มที่ใส่เนื้อสัตว์ ต่างๆ เช่น หมู ไก่ ปลา ปลาหมึก กุ้ง เรียกว่าข้าวต้มเครื่อง  ซึ่งอาจจะระบุลงไปให้ชัดเจนเลยว่า ข้าวต้มหมู ข้าวต้มปลา ข้าวต้มกุ้ง ข้าวต้มทะเล หรือข้าวต้มรวมมิตรใส่เนื้อสัตว์หลายชนิด

ข้าวต้มปลาหมึก

ข้าวต้มกระดูกหมูเห็ดหอม

สมัยรัชกาลที่ 5 มีชาวจีนอพยพเข้ามาในเมืองไทยโดยทางเรือสำเภาเป็นจำนวนมาก ในระยะแรกๆที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยชาวจีนเหล่านี้ค่อนข้างยากจน ประกอบอาชีพรับจ้างใช้แรงงานซึ่งมีรายได้ไม่มากนัก เช่น เป็นกรรมกรแบกหาม รับจ้างลากรถ การก่อสร้างในสมัยนั้นใช้แรงงานจากชาวจีนทั้งสิ้น เช่น การก่อสร้างถนนราชดำเนิน ถนนเลียบคลองหลอด การขุดคลองรังสิต ผู้ใช้แรงงานชาวจีนเหล่านี้แต่เดิมเรียกว่า "กุ๊ย" ซึ่งมีความหมายว่า อันธพาล คนเลว คนชั้นต่ำ มีบางส่วนที่เจ้าของกงสีเลี้ยงดู มีข้าวให้กิน ซึ่งมักจะเป็นข้าวต้ม กับกับข้าวถูกๆง่ายๆ ส่วนใหญ่มีถั่วลิสงคั่วใส่เกลือ หนำเลี้ยบดองเค็มเป็นหลัก บางครั้งบางคราวจึงมีหมูสามชั้นต้ม ปลานึ่งซีอิ๊ว หัวไชโป๊วเค็ม จะได้กินอาหารดีๆกินเป็ดกินไก่ก็เฉพาะตอนตรุษจีนสารทจีนเท่านั้น

แรงงานชาวจีนมักรวมตัวกันสังสรรค์ตามร้านขายข้าวต้มหลังจากทำงานหนักตลอดทั้งวัน อาหารมื้อเย็นของพวกเขาจึงมักเป็นข้าวต้มกับกับข้าวง่ายๆ ซึ่งมีราคาไม่กี่สตางค์ในสมัยนั้น และมักจะมีการดื่มเหล้าจนเมามายขาดสติ ก่อเรื่องทะเลาะวิวาทกันบ่อยครั้ง จนกลายเป็นภาพคุ้นชินของคนในพื้นที่ อาหารที่ชาวจีนกินจึงถูกเรียกว่า "ข้าวต้มกุ๊ย"

แต่บางท่านเชื่อว่าที่มาของชื่อข้าวต้มกุ๊ยมาจาก "ข้าวต้มพุ๊ย"  พุ๊ย เป็นลักษณะของการเขี่ยข้าวในชามเข้าปากด้วยการใช้ตะเกียบ

ข้าวต้มหมูเด้ง ไข่ออนเซ็น

ข้าวต้มกระดูกหมูเห็ดหอม

ข้าวต้มหมูเด้ง

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาจีน ให้ข้อสังเกตว่า คำจีนที่มีความหมายว่า ข้าวต้ม มีอยู่ 3 คำ คือ


ม้วย เป็นคำแต้จิ๋ว หมายถึงข้าวต้มที่ต้มจนเปื่อยยุ่ย มีเซียะม้วย คือ ข้าวต้มเหลวมีน้ำมาก กับ กึกม้วย ข้าวต้มอืดแห้ง มีน้ำน้อย

ซีฟ่าน เป็นคำจีนกลาง เป็นชื่อที่ชาวจีนทั่วไปใช้เรียกข้าวต้มที่คล้ายเซียะม้วย ซึ่งบางครั้งมีข้าวน้อยมาก แต่มีน้ำมาก จนดูเป็นน้ำข้าวมากกว่าข้าวต้ม และบางครั้งอาจใช้ข้าวสวยมาต้มแปลงเป็นข้าวต้ม ซึ่งชาวจีนแต้จิ๋วจะไม่ต้มข้าวต้มแบบนี้

โจว เป็นคำจีนกลาง ในความเข้าใจของชาวจีนทั่วไป โจวคือข้าวต้มที่มีข้าวมากกว่าซีฟ่าน โดยไม่คำนึงว่าจะต้องต้มจนข้าวบานเปื่อยยุ่ยแค่ไหน ขอเพียงให้ข้าวนั้นมีน้ำแห้งเป็นข้าวสวย ก็ถือว่าเป็นโจวหมด
แต่สำหรับชาวกวางตุ้ง โจวหรือ จุก (สำเนียงกวางตุ้ง) คือข้าวที่ต้องต้มจนเมล็ดข้าวแตกสลาย มองไม่เห็นเป็นเม็ดข้าว ในระดับที่ข้าวกับน้ำละลายเป็นเนื้อเดียวกัน นี่จึงจะเป็นจุกขนานแท้

โจ๊กไข่เค็มปูอัด

โจ๊กหมู ไข่เยี่ยวม้า เบคอน

ข้าวต้มใส่โกจิเบอรี่

ข้าวต้มกุ๊ย  ยำผักกาดดอง ผัดพริกปลาหมึกและปูอัด

ชาวแต้จิ๋วเรียก จุกของชาวกวางตุ้งว่า "จ๊ก" และยอมรับลักษณะพิเศษของจ๊กว่าแตกต่างจากม้วยของพวกเขา ดังนั้น ในความเข้าใจของชาวแต้จิ๋ว จ๊กกับม้วย จึงเป็นสองสิ่งที่แยกจากกันโดยเด็ดขาด

เรายืมเสียงคำแต้จิ๋ว จ๊ก มาใช้เป็นโจ๊ก ทั้งยังเห็นพ้องกับชาวแต่จิ๋วว่า โจ๊กก็คือโจ๊ก โจ๊กไม่ใช่ข้าวต้ม(ม้วย) และข้าวต้มก็คือข้าวต้ม ข้าวต้มไม่ใช่โจ๊ก

ข้าวต้มกุ๊ย ปลาริวกิว ผัดคะน้า ปลาเค็ม หมูสับนึ่งไข่เค็ม 

ข้าวต้มกุ๊ย มะระผัดไข่ ขิงดองเต้าเจี้ยว พะโล้ปีกไก่

ข้าวต้มกุ๊ย ยำผักกาดดอง ไข่เจียวพริกโหระพา หมูสับนึ่งไข่เค็ม


จึงสรุปได้ว่า ชาวจีนเรียกอาหารประเภทข้าวต้มว่า "ม้วย" เจี๊ยะม้วย หมายถึงกินข้าวต้ม ส่วนข้าวต้มกุ๊ยนั้น เป็นคำที่คนไทยเรียกอาหารที่แรงงานชาวจีนนิยมกินเพราะมีราคาถูก หรืออาจจะเป็นคำที่เพี้ยนเสียงมาจากข้าวต้มพุ้ยก็ตามที แต่ข้าวต้มกุ๊ยที่ใช้เรียกในปัจจุบันนี้เป็นอาหารที่ทั้งคนไทยคนจีนนิยม และได้พัฒนายกชั้นเมนูถึงระดับอาหารภัตตาคารหรืออาหารโรงแรม

ข้าวต้มกุ๊ย หมูสับนึ่งปลาเค็ม ผัดผักบุ้ง

ข้าวต้มกุ๊ย ผัดผักบุ้ง ยำปลาสลิดทอด

ข้าวต้มกุ๊ย ยำไข่เค็ม ถั่วงอกผัดเต้าหู้อ่อน

ข้าวต้มกุ๊ย ยำเห็ดหูหนูขาว ปลาหมึกผัดไข่เค็ม

สำนวน "กินข้าวต้มกระโจมกลาง" หมายถึง ทำอะไรด้วยความใจร้อน ขาดความรอบคอบ มักเกิดผลเสีย

ที่มาของสำนวน  เป็นการเปรียบการกระทำที่เร่งรีบผลีผลามโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน ซึ่งมักทำให้เกิดผลเสียขึ้นแก่ตนเองได้ เหมือนกับการรีบจ้วงกินข้าวต้มร้อนๆ จากกลางชาม ข้าวต้มอาจลวกปากจนลิ้นพองได้ ควรตักจากขอบชามเพราะข้าวต้มส่วนนี้จะคลายความร้อนลงก่อนข้าวต้มส่วนตรงกลางชาม

กินข้าวต้มกระโจมกลาง เป็นสำนวนที่ใช้พูดเป็นข้อคิดสะกิดใจให้กระทำสิ่งใดๆ อย่างรอบคอบ ตามขั้นตอน อย่าเร่งรีบหรือผลีผลาม เช่น 
" ถ้าเธอจะซื้อที่ดินก็ต้องตรวจดูโฉนดให้ถูกต้อง อย่ากินข้าวต้มกระโจมกลาง รีบร้อนซื้อไปอาจจะถูกหลอกลวงได้"

ข้าวต้มกุ๊ย ยำเห็ดหูหนูขาว ปลาหมึกผัดไข่เค็ม

ข้าวต้มหอยนางรม

ข้าวต้มกุ๊ย ไข่ตุ๋นทรงเครื่อง ผักคะน้ผัดน้ำมันหอย

ข้าวต้มกุ๊ย มะระผัดไข่ ขิงดองเต้าเจี้ยว พะโล้ปีกไก่

บันทึกเพิ่มเติม

ขอบพระคุณข้อมูลจาก ผศ. ประทีป เล้ารัตนอารีย์ แห่ง มศว.ประสานมิตร ได้เล่าประสบการณ์ตรงของท่านให้ฟัง ซึ่งผู้เขียนเองแม้จะเกิดทัน แต่ก็ยังเด็กไม่รู้ความ จึงขออนุญาตนำมาลงเพิ่มเติมไว้เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านค่ะ 

ชามกระเบื้องลายจีนโบราณ

ชอบครับ แต่สำนวนกินข้าวต้มกระโจมกลาง เพิ่งเคยได้ยิน
แต่วิธีกินมันน่าจะจู่โจมกลางไหม
แต่การกินข้าวต้มนั้นใช้ตะเกียบ โดยยกชามข้ามต้มมาจ่อที่ปาก และซดน้ำข้าวต้มในขณะเดียวกันตะเกียบจะคุ้ยเนื้อข้าวเข้าปากด้วย ไม่ได้คืบหรือใช้ช้อนตักจากตรงกลางภาชนะ และภาชนะที่ใส่ข้าวต้มดั้งเดิมก่อน พศ.2500 จะเป็นชามตราไก่ ขนาดเล็ก ขนาดพอๆกับก๋วยเตี๋ยวเรือ อนุสาวรีย์ แต่พอจอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติแล้ว ไทยตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่เพราะเป็นคอมมิวนิสต์ สินค้าจากจีนถูกระงับห้ามนำมาขายในไทย ชามตราไก่ ลูกหนำเลี้ยบ ลูกสมอ ลูกพลับจีน เห็ดหอม เห็ดหูหนู ดอกไม้จีน หน่อไม้แห้ง เหล่านี้ถูกห้ามนำเข้าทั้งหมด จึงมีขบวนการลักลอบนำเข้ามาทางมาเลย์ ผ่านทางปีนัง สู่ปาดังเบซาร์ 

ชามตราไก่


เมื่อไม่มีชามตราไก่ก็เปลี่ยนเป็นถ้วยกระเบื้อง และเป็นถ้วยพลาสติก สีแดง บ้าง ชมพู บ้าง ฟ้าบ้าง ข้าวต้มหนึ่งถ้วยมีข้าวสี่ส่วนน้ำหกส่วน สมัยยังหนุ่มๆพานิสิตไปอีสาน ตอนกลางคืนรถจอดกินข้าวต้มที่สีคิ้ว มีนิสิตกินได้ถึงสิบสามถ้วย ตั้งถ้วยสูงเป็นหอคอย อวดกันเพราะครูเป็นคนจ่าย
แต่มันก็ไม่มากมายอะไรนัก ตอนนั้นถ้วยละหนึ่งบาท แต่ข้าวต้มที่สีคิ้วนั้นอร่อยมากแทบจะว่ากินข้าวต้มเปล่าๆได้เลยต่างกว่าข้าวต้มที่บ้านมาก. นอกจากจะใส่ใบเตยหอมแล้ว ยังผสมข้าวเหนียว และเติมเกลือด้วยนิดหน่อย ข้าวต้มจึงข้นอร่อยมาก
 

รถลากในสมัยโบราณ

ขอสนับสนุนข้อมูล แต่ก่อนในใจกลางกรุงเทพ จะมีร้านขายข้าวต้มทุกหัวมุมทางแยกเจ๊กลากรถ เมื่อลากรถไปได้ระยะหนึ่ง หมดแรง ก็หยุดพักหน้าร้านข้าวต้มสั่งข้าวต้มมาซดสองสามชาม กินต่างน้ำแล้วออกวิ่งลากรถต่อ จึงเป็นที่มาของคำว่า หมดแรงข้าวต้ม (จากรายการครอบจักรวาล ของ มรว.ถนัดศรี)
แต่มีสำนวนของคนแต้จิ๋วเกี่ยวกับข้าวต้มอีกคำ คือ ม้วยเซ็ก แปลตามตัวว่าข้าวต้มสุก แต่ความหมายของสำนวนจะเป็นไปในทางลบ อย่างเช่น เละเลย
หรือฉิบหายหมด

อีกสำนวนหนึ่ง ข้าราชการหนุ่มเพิ่งแต่งงานใหม่ๆ ตอนพักเที่ยง กลับไปกินข้าวที่บ้าน ด้วยความเป็นช่วงข้าวใหม่ปลามัน กินข้าวเสร็จก็ทำกิจต่อ แล้วรีบกลับไปที่ทำงาน เพื่อนๆเห็นเหงื่อชุ่มมา เลยแซวเอาว่าไปกินข้าวต้มกลางวันมา
แต่ไม่รู้ว่าหมดแรงข้าวต้มหรือเปล่า เอวังก็มีด้วยประการละฉะนี้
 

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 692461เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2021 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท