Communication Literacy, Executive Functions (EF) กับ ทีมปฏิบัติงานฐานสมรรถนะ


                                           EF กับเด็กอุดมศึกษา :  ทีมปฏิบัติงานฐานสมรรถนะ
                   Communication Literacy, Executive Functions (EF) กับ ทีมปฏิบัติงานฐานสมรรถนะ

       ดิฉันห่างหายไปจาก Gotoknow นานนับสิบปี แต่ยังคงคิดถึงเสมอมา ครั้งก่อนโน้น ดิฉันเขียนเรื่อง “การรู้เท่าทันการสื่อสาร”  Communication Literacy แบบสนุกสนานงุนงงอยู่คนเดียว จนกระทั่งได้เห็นคำว่า “การรู้เท่าทันการสื่อสาร” Communication Literacy ปรากฏในสื่อออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ  จนกระทั่งกลายเป็นวิชาขึ้นมาจริงๆ  แต่ก็ยังรู้สึกว่าต้องเพิ่มอะไรเข้าไปสักอย่าง แต่บอกไม่ถูกว่าอะไรที่ว่านั่นคืออะไร 

        จนกระทั่งมาถึงวันที่ได้คุยกับพี่วัลย์ ผศ.ดร.ลดาวัลย์ แก้วสีนวล พี่สาวที่รักยิ่ง พี่วัลย์พยายามทำความเข้าใจว่าดิฉันคิดอะไร อยากบอกอะไร และกำลังพยายามทำอะไร  และเห็นตรงกันว่า การรู้เท่าทันสาร Communication Literacy  คือเรื่องกว้างมาก เรื่องใหญ่มาก ในมุมมองนิเทศศาสตร์ นี่คือการสื่อสารของมนุษย์ ที่เป็นทักษะสำคัญจำเป็น และสิ่งที่ดิฉันพยายามฝึกลูก (คือนักศึกษา) คือการลงมือทำให้เห็นจริง ว่าการรู้เท่าทันการสื่อสาร สามารถออกแบบกระบวนการฝึกนักศึกษาระดับอุดมศึกษา “ให้เกิดทักษะนี้ได้จริงๆ” และในมุมมองของ"วิชา"ภาษาไทย นี่คือทักษะสำคัญที่เราครูอาจารย์ ต้องฝึกลูกศิษย์ของเรา ให้เกิดและมีทักษะนี้ให้จงได้ เพราะเขาต้องใช้รับมือกับโลกที่ผันผวน แปรปรวน ซับซ้อน กำกวม ไม่แน่นอน แบบ VUCA World ในยุค New Normal นี้ 
 
        ดิฉันสนุกสนานกับการฝึกทีมปฏิบัติงาน (Teamwork) แต่ยังคงมุ่งมั่นพัฒนา ฝึกนิสัย ฝึกจิตใจ ฝึกทักษะการทำงานและฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารไปพร้อมๆกัน และตอบตัวเองไม่ได้ว่ากำลังทำอะไร ดิฉันทำงานแบบ “งุนงงสงสัยมั่นใจมาก” ในทุกๆวัน และไม่เคยยอมแพ้เลย ไม่ว่าเด็กๆจะบ่นกันอุตลุตขนาดไหน แต่ดิฉันก็ยังคงฝึกทีมปฏิบัติงานต่อไปอย่างสนุกสนาน เหมือนแม่ที่รู้ว่า “ต้องฝึกให้ลูกหัดกินข้าวเองให้เป็น” ดิฉันมั่นใจเช่นนั้นโดยไม่มีฐานความรู้ทางวิชาการอันใดเลยสักนิดเดียว …มีแต่ความรู้สึกอันมุ่งมั่นแรงกล้า.. ว่าลูกต้องรอด เราต้องอดทนหนักมาก.. และฝึกเขาต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง..ฝึกจนลมหายใจสุดท้ายของเรากันเลยทีเดียว 

        ด้วยอุดมการณ์อันหรูหรานี้ ..ทำให้ดิฉันรู้สึกกลัว ในโลกอันหาความแน่นอนไม่ได้นี้ ดิฉันคงเสียใจมาก ถ้าไม่ได้เล่าให้ใครฟังเลย ดิฉันทำอะไรทั้งหมดที่ว่านี้ให้เป็นวิชาการไม่ได้ และถึงทำ ก็คงทำได้ไม่ดี ดิฉันจึงอยากเล่าเรื่องราวทั้งหมดที่ปล้ำตัวมาตลอดยี่สิบห้าปีนี้ด้วยถ้อยคำง่ายๆ 4 ข้อ ที่จริงไม่ต้องอ่านตั้งแต่ต้นก็ได้ ขออภัยท่านที่หลวมตัวอ่านเพลินมาจนถึงตรงนี้ ลูกศิษย์ดิฉันเคยบ่นว่ารู้งี้ค่อยตื่นมาเรียนวิชาจารย์ตอนท้ายคาบก็ได้ และลูกคงพูดถูกจริงๆ ^__^ 

      1. การรู้เท่าทันการสื่อสาร Communication Literacy เป็น Human Communication เป็นทักษะสำคัญจริงๆ และหลักสำคัญที่ปรับใช้ได้อย่างดีเยี่ยม คือหลักกาลามสูตร อย่าปลงใจเชื่อง่ายๆ นี่คือหลักการรู้เท่าทันฉบับคลาสสิกที่เห็นควรฝึกลูกหลานเราอย่างยิ่ง 
       2. การรู้เท่าทันการสื่อสาร Communication Literacy เป็นทักษะและสมรรถนะสำคัญจริงๆ และมีอยู่แล้วใน"วิชาภาษาไทย" กลุ่มสาระภาษาไทย หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งเรื่องการแยกข้อคิดเห็นออกจากข้อเท็จจริง การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ การสื่อสาร ข้อเขียน วรรณกรรม และสื่อต่างๆ ฯลฯ ดิฉันเชียร์คุณครูสุดชีวิต คือว่าดิฉันก็ทำไม่ค่อยเป็น แต่มั่นใจว่าคุณครูภาษาไทยจะคิดออกแบบชุดกระบวนการกิจกรรมเพื่อฝึกทักษะ"และสมรรถนะ"ชุดนี้ได้อย่างแน่นอน 
       3. แต่ยังไม่พอ… นอกจากต้องรู้การรู้เท่าทันการสื่อสาร มีCommunication Literacyแล้ว ลูกๆของเรายังต้องไปทำงานร่วมกับคนอื่น เราต้องฝึกนิสัย ฝึกจิตใจ ฝึกทักษะการทำงาน ไปพร้อมๆกันด้วย และนี่คือ “ทักษะสมอง EF" Executive Functions ที่คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ และผู้รู้อีกหลายท่านตั้งใจสื่อสารมายาวนาน พ่อแม่ฝึกเด็กน้อย อ่าน เล่น ทำงาน ต่อเนื่องตั้งแต่เล็กจนโต ครูเด็กโตมาตั้งใจฝึกต่อ ให้ทำงานที่ซับซ้อนขึ้น แต่ต้องไม่ทิ้ง"การฝึกนิสัย ฝึกจิตใจ"อันเป็นกุศลด้วย เพื่อให้เป็นคนเต็มคน 
       4. และการฝึกคนให้เป็นคนเต็มคน พัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ สร้างโอกาสและออกแบบกระบวนการ ให้มนุษย์ได้พัฒนาตนเป็น “นัก……” นักอะไรสักอย่างที่เขาจะได้เติบโตขึ้น จาก “ใครสักใคร แปลว่าใครก็ไม่รู้” เป็น “ใครคนหนึ่ง" เป็น somebody อย่างมีความสุขบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียน แบบที่เขา “มีโอกาสเลือก” ที่จะเป็น 

       ดิฉันจึงภูมิใจนำเสนอภาพเก่าเล่าเรื่องจริง ที่ปล้ำตัวทำจริงมายาวนาน ล้มลุกคลุกคลานและยังไม่เป็นวิชาการอะไรเลยจนนิดเดียว แต่เล่าไว้เผื่อเป็นกำลังใจแก่คุณครูที่เคย งง เหมือนดิฉัน ท่านจะได้สบายใจว่า คนที่ งง กว่าท่านยังมี แต่ก็ยังปล้ำตัวสู้ทำล้มลุกคลุกคลานมาจนใกล้เกษียณ หากท่านมุ่งมั่นตั้งใจเอาจริงทำเพื่อเด็กจริงๆ ขอให้ท่านสบายใจได้ว่าสุดท้ายแล้ว.. สิ่งที่ท่านพูด คิด เขียน และทำ จะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน  และนั่นคือตัวตนของท่าน 
      การได้รู้ว่าเราเป็นใคร เรากำลังทำอะไร ก็โปรดสบายใจเถิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี้ …หาได้สูญเปล่าไม่  
                และการได้รู้ว่าเราจะได้มุ่งมั่นทำสิ่งใดต่อไป จนกว่าจะถึงลมหายใจสุดท้ายของเรา..  
                                                      …คือความสุขของคนแก่อย่างแท้จริง… ^____^ 

                                                                                                                                    สุขุมาล จันทวี 
                                                                                                                                    17/09/64 10:27 น. 
 

หมายเลขบันทึก: 692454เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2021 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2021 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะพี่แก้ว กว่าจะได้เข้ามาตอบก็ผ่านไปเป็นปี ขออภัยด้วยค่ะ แอมแปร์เขียนแนวปฏิบัติ การฝึกทีมปฏิบัติงาน เป็นตารางแบบยังรู้สึกว่ามันติดกรอบยังไงก็ไม่รู้อะค่ะ เอาไว้นึกออกก็จะปรับใหม่อีกที กำลังนึกขำๆว่ากว่าจะเข้าใจว่าตัวเองพยายามทำอะไรก็เกือบเกษียณ “ความไม่รู้” นี้น่าเอ็นดูแท้ค่ะ ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตกันจริงๆ ขอบพระคุณด้วยความคิดถึงนะคะพี่แก้ว ^___^

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท