Three-Track Mind (TTM) กับ โรคซึมเศร้า


Three-Track Mind (TTM) กับ โรคซึมเศร้า

ก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้ากันก่อน ในปัจจุบันเชื่อว่าหลายคนคงได้ยินคำว่า “โรคซึมเศร้า” กันมาแล้ว เพราะเป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และยิ่งสถานการณ์ในปัจจุบันก็ยิ่งส่งผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจของใครหลายคน ก่อให้เกิดความเครียดและความกดดัน ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ 

Three-Track Mind (TTM) คือการให้เหตุผลทางคลินิกของนักกิจกรรมบำบัด วิธีการดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างไร? Three-Track Mind จะช่วยให้นักกิจกรรมบำบัดคิดแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบที่เรียกว่า "Systemic thinking" โดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่า “ทำไม” (Interactive Reasoning : Why) เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจคนไข้ ทราบความต้องการของคนไข้จากการตอบคำถามเหล่านั้น (Conditional Reasoning : Because of) และจึงเริ่มกระบวนการคิดออกแบบที่เรียกว่า "Design Thinking" นำไปสู่แนวทางขั้นตอนในการรักษา (Procedural Reasoning : How to)

ทำไมผู้คนถึงป่วยเป็นโรคซึมเศร้า?

          โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย แต่ที่คนส่วนใหญ่รู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าก็มักจะนึกถึงเพียงอาการหรือสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไป จึงคิดว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดหวัง หรือการได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ และจะสามารถรักษาหรือแก้ไขได้ด้วยการให้กำลังใจ ซึ่งในความจริงแล้ว โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เพราะนอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังอาจจะต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย

ทำไมจึงต้องให้ความสำคัญกับโรคซึมเศร้า?

        โรคซึมเศร้าเป็นหนึ่งในประเด็นสุขภาพที่สำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทั้งเพศชายและเพศหญิง ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ไปจนถึงวัยชรา และหากไม่ได้รับการแก้ไขจะมีผลกระทบรุนแรง ทำงานหรือเรียนหนังสือไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิในการทำงานต่าง ๆ  และผลกระทบที่ร้ายแรงคือ อาจจะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมตัองให้ความสำคัญกับโรคซึมเศร้า

      ‘เราจะรู้ว่าเรามีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างไร’ และ ‘อะไรคือทางออกและวิธีป้องกัน?’

       สิ่งแรกที่จะต้องทำคือการประเมินตัวเองว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ โดยวิธีการง่าย ๆ คือ การทำแบบประเมินของกรมสุขภาพจิต โดยตอบคำถาม 9 ข้อเท่านั้น หากพบว่าตัวเองเป็นหรือมีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้า กรมสุขภาพจิตได้เสนอแนะวิธีการแก้ไขและรักษาไว้ 2 ระดับคือ

1) ระดับบุคคล

  • ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เช่น กินยาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดอาการซึมเศร้า และหากขจัดสาเหตุได้ก็จะช่วยให้หายขาดจากโรคได้
  • ควรสังเกตอาการตัวเอง และให้กำลังใจตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
  • ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็น เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ถูกทำลาย ระบบร่างกายแปรปรวนและในที่สุดอาจจะทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้
  • การออกกำลังกายก็สามารถช่วยได้ โดยควรออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์

2) ระดับครอบครัวและบุคคลรอบข้าง

  • ความสัมพันธ์และการสื่อสารเชิงบวกของคนในครอบครัว ในโรงเรียน หรือที่ทำงาน ถือเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด ที่สำคัญการยอมรับและการเป็นผู้ฟังที่ดีก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ที่กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้คนรอบข้างจะต้องคิดบวกอยู่เสมอ ไม่ใช่จับผิดอยู่ตลอดเวลา ให้คำชื่นชมทุกครั้งในสิ่งที่ดี ๆ หรือแม้แต่ความสำเร็จเพียงเล็กน้อย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาสะสมความภูมิใจในตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
  • หากมีคนมาขอคำปรึกษา ควรรับฟังสิ่งที่เขาพูดอย่างตั้งใจ มีผลการศึกษายืนยันว่า การที่มีผู้ฟังปัญหาอย่างตั้งใจจะช่วยลดการฆ่าตัวตายสำเร็จได้ถึง 50%
  • หากิจกรรมที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิต หรือกิจกรรมที่ทุกคนในครอบครัวสามารถทำได้ร่วมกัน

และอีกสิ่งที่สำคัญคือ "การปฐมพยาบาลทางจิตใจด้วย 3 ส."

1.สอดส่องมองหา ผู้มีภาวะซึมเศร้า มีประวัติฆ่าตัวตาย เผยความรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่

2.ใส่ใจรับฟัง คนรอบข้างที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย อย่ามองข้ามปัญหาของเขา

3.ส่งต่อเชื่อมโยง ให้ผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตดูแลรักษาผู้ที่มีอาการรุนแรง

 

ประโยคต้อง”ห้าม”สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ขอบคุณรูปภาพจาก : นักกิจกรรมบำบัด คณะกายภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล

ทำไมถึงห้ามพูดประโยคเหล่านี้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า?

        แม้ว่าเราจะพูดประโยคดังกล่าวด้วยความหวังดี แต่ประโยคเหล่านี้สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแล้ว ไม่ได้เป็นประโยคที่ให้กำลังใจหรือทำให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น โดยประโยคเหล่านี้อาจจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไร้ความสามารถ และเป็นภาระได้ ประโยคเหล่านี้แม้จะพูดออกมาด้วยเจตดี แต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจตีความหมายที่แตกต่างออกไป ทำให้ไม่ได้รับกำลังใจหรือมองเห็นทางออกของปัญหาที่เผชิญอยู่ได้ ยกตัวอย่าง ได้แก่

สู้ ๆ นะ - เป็นคำที่ได้ยินกันบ่อย ๆ และคนมักจะพูดบ่อยครั้งเมื่อต้องการให้กำลังใจ ในทางจิตวิทยาเรียกว่า ignorance เป็นการปล่อยให้ผู้ป่วยสู้ด้วยตัวเองตามลำพัง เป็นประโยคที่ไม่ได้บอกหรือช่วยอะไรกับผู้ป่วยเลย อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเราต้องการตัดประโยคหรือตอบไปตามมารยาท 

แค่นี้เอง - เนื่องจากความลำบากและความรู้สึกของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน การบอกผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่า”แค่นี้เอง” ทำให้ผู้ป่วยเกิดการคิดเปรียบเทียบ จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองไร้ความสามารถในการแก้ปัญหา เพราะสำหรับเขาแล้วไม่สามารถหาทางแก้ไขได้โดยง่าย 

อย่าคิดมาก - เป็นอีกหนึ่งประโยคที่มักจะได้ยิน ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก่อนว่าเป็นภาวะที่จิตใจอ่อนไหวได้ง่าย ความรู้สึกเครียดและกดดัน เมื่อได้ยินประโยคข้างต้นจะยิ่งทำให้รู้สึกกดดันมากขึ้น เพราะผู้ป่วยไม่สามารถหยุดตัวเองไม่ให้คิดมากได้ ทั้งยังเป็นการทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงอาการที่เป็นปัญหาของโรค อาจทำให้เหมือนถูกซ้ำเติม

ดังนั้น เราจึงไม่ควรพูดประโยคเหล่านี้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แล้วเราควรจะพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างไร? เราควรที่จะเรียนรู้วิธีการที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีค่า มีกำลังใจในชีวิตมากขึ้นด้วยการให้กำลังใจผู้ป่วย การเป็นผู้ฟังที่ดีก็ตะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายขึ้น และผู้ใกล้ชิดสามารถที่จะสื่อสารกับผู้ป่วยด้วย ประโยคเหล่านี้

ขอบคุณรูปภาพจาก : นักกิจกรรมบำบัด คณะกายภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล

        สุดท้ายนี้ หากเริ่มรู้สึกว่าชีวิตของตนเองขาดความสมดุล มีความเครียดสูง การพบจิตแพทย์ก็เหมือนกับการตรวจสุขภาพใจให้เราเข้าใจสภาพจิตใจของตนเองในขณะนั้น  แพทย์จะแนะนำวิธีป้องกันและปรับสภาพจิตใจให้ดีขึ้นด้วยการปรับวิธีคิดหรือรักษาด้วยการใช้ยา เพราะปัญหาทางด้านจิตใจหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนั้น ไม่ใช่มีสาเหตุจากโรคซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว การพบจิตแพทย์จะช่วยให้เราได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

 

อ้างอิง : 

https://www.bbc.com/thai/features-50922434

https://www.phyathai.com/article_detail/2876/th/โรคซึมเศร้า_โรคฮิตหรือแค่คิดไปเอง

https://www.sanook.com/health/721/

https://www.sompo.co.th/en/home/sompo-article/Sompo-blog-article-listing/area-body/Know%20more%20about%20Sompo/blog%20content%2016.html

https://minimore.com/b/a72Wy/14

คำสำคัญ (Tags): #Three-track Mind#ttm
หมายเลขบันทึก: 692222เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2021 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กันยายน 2021 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท