บ้านนอกขอกนา หรือ บ้านนอกคอกนา


บ้านนอกขอกนา หรือ บ้านนอกคอกนา

ในมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์จุลพน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีเนื้อเรื่องย่อกล่าวถึงชูชกเดินทางไปเขาวงกต ได้พบกับพรานเจตบุตร ชูชกใช้กลอุบายหลอกว่าเป็นราชทูตของพระเจ้ากรุงสัญชัย พร้อมทั้งชูกลักพริกกลักขิงเสบียงกรังที่นางอมิตตดาจัดหาให้ว่าเป็นพระราชสาส์นของพระเจ้าสัญชัย พรานเจตบุตรหลงเชื่อจึงชี้บอกทางให้เดินทางไปจนถึงอาศรมบทของพระอัจจุตฤๅษี

ขณะที่ชูชกถูกฝูงหมาของพรานเจตบุตรไล่ขึ้นไปอยู่บนคาคบไม้ และพยามเกลี้ยกล่อมจนเห็นว่าพรานเจตบุตรลังเลไม่ลั่นหน้าไม้แน่แล้ว จึงร้องสำทับไปว่า " เฮ้ยๆ อ้ายชาวป่าหน้าบ้านนอก กูจะบอกคดี..." 
ข้อความนี้สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของชาวเมืองที่มีต่อชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลเป็นอย่างดี และเป็นหลักฐานยืนยันว่าสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีการใช้คำว่า "บ้านนอก" ในความหมายว่า เขตแดนที่อยู่นอกเมืองหลวง, เขตที่อยู่นอกตัวเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำไร่ไถนา เลี้ยงสัตว์ อาจใช้คำคล้องจอง 4 พยางค์ว่า "บ้านนอกขอกนา" หรือ " บ้านนอกคอกนา" ก็ได้

ในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอน พระพิจิตรต่อว่าพระไวยที่หลงเสน่ห์นางสร้อยฟ้าและทุบตีนางศรีมาลา ความว่า

แต่แรกเริ่มเดิมนั้นได้สัญญา
ว่าลูกข้ามันไม่สู้รู้อะไร
ด้วยเป็นชาวบ้านนอกคอกนา
กิริยาพาทีหาดีไม่

ในนิราศพระประธมของสุนทรภู่ กล่าวถึงการเดินทางมาถึงบ้านโพเตี้ย มีศาลเจ้าที่คนทรงชักจูงให้ชาวบ้านลุ่มหลงเพราะอยู่ห่างไกลเจ้านายว่า
แต่บ้านนอกขอกนาอยู่ป่าเขา
ไม่มีเจ้านายจึงต้องพึ่งผี

ในบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ตอน พระสังข์เลียบเมืองเมื่อเสด็จเข้ามาใกล้ท้าวยศวิมลและนางจันท์เทวี ซึ่งปลอมตัวเป็นชาวบ้าน " ลืมตัวกลัวเกรงภูวไนย  ลุกยืนขึ้นได้ตั้งใจดู" พวกเกณฑ์ตกใจรีบกรูเข้ามาเงื้อง่าหวายหมายจะเฆี่ยนตี พระสังข์จึงห้ามว่า
ช่างเถิดเสนาอย่าวุ่นวาย
ตายายชาวบ้านนอกขอกนา

นอกจากนี้ยังมีปรากฏในประกาศรัชกาลที่ 4 ดังนี้
" อนึ่งผู้หญิงบ้านนอกขอกนา เป็นลูกเลกไพร่หลวงสมทาสขุนนาง ในหลวงไม่เอาเป็นเมียดอก"

จะเห็นได้ว่าในสมัยโบราณ มีการใช้ทั้ง "บ้านนอกคอกนา" และ "บ้านนอกขอกนา" ในความหมายที่เหมือนกัน

สำนวน บ้านนอกขอกนา,บ้านนอกคอกนา หมายถึง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบนอกของตัวเมือง, ไม่ใช่ชาวกรุงหรือชาวเมือง 
ขอก เป็นภาษาถิ่นเหนือหมายถึง เขต แดน ริม ขอบ เจ้านายหรือชนชั้นสูงในเมืองหลวงมักเรียกชาวบ้านสามัญชนที่อยู่ห่างไกลความเจริญว่าพวก "บ้านนอกขอกนา" หรือ บางทีก็ใช้ว่า " บ้านนอกคอกนา"

ตัวอย่าง
ถึงทองกวาวจะเป็นคนบ้านนอกขอกนา แต่กิริยามารยาทก็ใช้ได้

ขวัญเรียมเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรักของหนุ่มสาวบ้านนอกคอกนาแห่งทุ่งบางกะปิ

สถานที่ : ปลายฤดูหนาวที่ Bibury หมู่บ้านในชนบทที่สวยที่สุดในประเทศอังกฤษ

หมายเลขบันทึก: 692219เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2021 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท