หอมกลิ่นกระดังงาลนไฟ




คนไทยโบราณมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า "กระดังงา" นั้นชื่อพ้องกับคำว่า "ดัง" มีความหมายที่ดี เป็นต้นไม้ที่มีชื่อเป็น สิริมงคล การปลูกต้นกระดังงาเอาไว้ภายในบริเวณบ้านจะช่วยให้คนในบ้านมีชื่อเสียงโด่งดังไปไกลและมีลาภยศสรรเสริญ เป็นที่รู้จักนับหน้าถือตาของคนทั่วไป และยังมีความเชื่ออีกว่าเสียงที่ดังก้องไปจนถึงสวรรค์ชั้นฟ้าจะได้ยินไปถึงเทพบุตรเทพธิดา กระดังงายังเสริมมงคลในทางเสน่ห์ คือ จะเสริมให้มีเสน่ห์ เป็นที่รักใคร่ของคนทั้งหลาย และมีชีวิตที่งดงามหอมหวนเหมือนกลิ่นกระดังงาตลอดไป
กระดังงาในประเทศไทยมี 3 สายพันธุ์ ดังนี้




กระดังงาไทย หรือ กระดังงาต้น
ชื่อไม้ต้นชนิด Cananga odorata Hook.f.et thomson ในวงศ์ Annonaceae
เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15-20 เมตร เรือนยอดทรงพุ่มแน่น แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นตั้งตรง เปลือกต้นสีเทาเกลี้ยง ใบดกหนาทึบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวอ่อนเรียงสลับกันในลักษณะห้อยลง ใบอ่อนมีขนทั้ง2 ด้าน ส่วนใบแก่มีขนมากตามเส้นแขนงใบ




ดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ออกตามกิ่งเหนือรอยแผลใบ ช่อหนึ่งมี 3-6 ดอก กลีบดอกบิดเป็นเกลียว 6 กลีบ กลีบดอกห้อยลง กลีบดอกแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ โคนกลีบดอกจะซ้อนทะแยงอยู่ใต้รังไข่ เมื่อบานมีสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอมเย็นในช่วงเวลาเย็นถึงค่ำ เวลาจะเก็บดอกต้องใช้ไม้ทำตะขอเกี่ยวดอกลงมา
การนำไปใช้ประโยชน์ นำดอกไปลอยน้ำทำเป็นน้ำกระสายยา นำไปคั้นกะทิหรือทำน้ำเชื่อมปรุงขนมต่างๆ ใบรักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน แก้คัน ขับปัสสาวะ เปลือกต้นและเนื้อไม้มีรสฝาดเฝื่อน ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย ใช้รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน




กระดังงาสงขลา
เป็นกระดังงาชนิดหนึ่งมีถิ่นกำเนิดที่สงขลา ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cananga fruitcosa มีชื่อสามัญอื่นคือ Dwarf Yiang-Ylang ลักษณะเป็นไม้พุ่มสูง 1-3 เมตร ใบเดี่ยวรูปรีกว้าง 6-8 เซนติเมตร สีเขียวอมเหลือง ดอกสีเหลืองอมเขียว ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเรียวยาว บิดเป็นเกลียวเรียงกันหลายชั้น ปลายกลีบโค้งงอ ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆในเวลาเช้าและเย็น ออกดอกเกือบตลอดปี นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้และใบใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ดอกปรุงเป็นยาหอม สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยแก้วิงเวียน บำรุงหัวใจ ทำบุหงา อบร่ำ ทำน้ำหอม




กระดังงาจีน
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Artabotryshexapetalus (L.f.)Bhandari ชื่อวงศ์ Annonaceae ลักษณะเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยพาดซุ้มหรือค้าง ผิวของกิ่งก้านค่อนข้างเรียบ ยอดอ่อนมีขน ใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่าและมีขนปรัปรายตามเส้นกลางใบ ดอกออกตรงข้ามกับใบ ดอกใหญ่มี1-5 ดอก ออกตามส่วนโค้งของก้านช่อดอก ดอกมีสีเขียวอ่อนเมื่อแก่สีเหลือง จะส่งกลิ่นหอมในเวลาเย็นจนถึงหัวค่ำ แล้วกลิ่นก็จะจางลง




กระดังงาจีนเป็นไม้นำเข้าจากต่างประเทศมีลักษณะคล้ายกับการเวกไม้พื้นเมืองของไทย จนทำให้เกิดความสับสนระหว่างกระดังงาจีนกับการเวก ทั้งต้น ใบ ดอก มีลักษณะคล้ายกันมาก มีความต่างที่สังเกตได้คือ กระดังงาจีนออกดอกดกกว่า กลิ่นหอมแรงกว่า กลีบดอกหนากว่า สีเหลืองเข้มกว่าและกลีบบานจะลู่ลง ขนาดของดอกกระดังงาจีนใหญ่กว่าการเวก ทำให้กระดังงาจีนได้รับความนิยมมากกว่า เวลาไปซื้อต้นการเวกจากร้านขายต้นไม้จึงมักจะได้ต้นกระดังงาจีนมาปลูกในชื่อของการเวก ซึ่งในปัจจุบันเป็นไม้หายาก จะพบได้บ้างตามต่างจังหวัด




เมื่อหลายปีก่อนในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครรณรงค์ปลูกไม้เลื้อยชนิดหนึ่งตามเกาะกลางถนน และป้ายรถประจำทาง ช่วงเวลาเย็นถึงค่ำดอกสีเหลืองนวลๆจะส่งกลิ่นหอมฟุ้ง โดยทางกรุงเทพมหานครบอกว่าเป็นต้นการเวก แต่ที่จริงแล้วคือกระดังงาจีนที่เข้ามาใช้ชื่อว่าการเวกนั่นเอง





กระดังงาลนไฟ
ปกติดอกกระดังงาก็มีกลิ่นหอมมากอยู่แล้ว แต่เมื่อนำไปลนไฟจะทำให้กลิ่นหอมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะดอกกระดังงามีน้ำมันหอมระเหยเรียกว่า "Ylang Ylang oil" เมื่อนำดอกที่มีสีเหลืองแก่มาลนไฟจะหอมมาก โดยลนที่กระเปาะ แล้วเลยไปลนตรงกลีบด้วยพอให้กลีบช้ำๆ ลนเสร็จแล้วใช้นิ้วบีบที่กระเปาะให้แตกออกเป็นกลีบๆ แล้วนำกลีบไปลอยในน้ำเพื่อทำเป็นน้ำลอยดอกไม้สด หรืออบควันเทียนร่วมกับดอกไม้กลิ่นหอมชนิดต่างๆก็ได้





สำนวน "กระดังงาลนไฟ"
ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง หญิงที่เคยแต่งงานหรือผ่านผู้ชายมาแล้ว ย่อมรู้จักชั้นเชิงทางปรนนิบัติและเอาอกเอาใจผู้ชายได้ดีกว่าหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน
ที่มาของสำนวน
ดอกกระดังงานั้นปกติเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมอยู่แล้ว เมื่อนำไปลนไฟจะทำให้กลิ่นหอมยิ่งขึ้นกว่าเดิม ในสมัยโบราณนิยมนำไปอบขนมหรืออบผ้าเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม เปรียบได้กับหญิงที่เคยแต่งงานมาก่อนย่อมมีเสน่ห์ในด้านต่างๆ ทั้งงานบ้านงานเรือน ประสบการณ์ชั้นเชิงในเรื่องผู้ชายมากกว่าผู้หญิงโสดที่ยังไม่เคยผ่านการมีครอบครัวมาก่อน ผู้หญิงที่มีลักษณะเหมือนกระดังงาลนไฟจึงมักเป็นที่หมายปองของชายทั้งหลาย




สำนวนกระดังงาลนไฟ มักใช้ในเชิงตำหนิติเตียน หญิงหม้ายให้ระมัดระวังเรื่องกริยามารยาท และการแสดงออกในเรื่องผู้ชายให้เหมาะสม
ดอกเอ๋ยดอกกระดังงา
กลิ่นอบอวลยวนวิญญาน์พาสุขสันต์
ใช้อบน้ำอบผ้าสารพัน
ปรุงสุคันธ์ประเทืองกลิ่นประทิ่นไกล
อันบุหงากระดังงาพากลิ่นหวน
หอมยียวนชื่นวิญญาน์จะหาไหน
ควรจัดว่ากระดังงามาลาไทย
เป็นดอกไม้ดีเลิศประเสริฐเอย
(ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม)






ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต