เรียนรู้ที่จะกอด เรียนรู้ที่จะรักไปกับ TTM


จากการเรียนรายวิชาPTOT229 ดิฉันได้ฝึกคิดวิเคราะห์แบบ3ทหารเสือ TTM(Tree Track Mind)จึงได้นำความรู้ความเข้าใจที่ได้ในหัวข้อนี้มาคิดวิเคราะห์ข้อมูลดังต่อไปนี้ ขอเชิญผู้อ่านทุกท่านมาร่วมคิดวิเคราะห์ไปด้วยกันนะคะ 

ซึ่งในบล็อกนี้ดิฉันจะขอวิเคราะห์ด้วยการหาคำตอบของคำถาม 3 คำถามที่ได้จากภาพดังกล่าว นั่นคือ ทำไมถึงควรกอดลูก นอกจากการกอดแล้วยังทำอะไรได้อีก และทำไมถึงต้องแสดงออกถึงความรัก ก่อนตอบคำถามดังกล่าว ดิฉันจะขอหยิบยกทฤษฎีด้านพัฒนาการของมาสโลว(MASLOW’S THEORY)ที่กล่าวไว้ว่ามนุษย์เรามีความต้องการ 5 ขั้นหากชั้นล่างไม่เต็มก็จะพัฒนาในด้านต่อไปไม่ได้ 

  • โดยความต้องการขั้นแรกคือความต้องการพื้นฐานของร่างกายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรืออยู่รอด อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อากาศ น้ำดื่ม และการพักผ่อน 
  • ความต้องการขั้นที่สองคือความมั่นคงความปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความมั่นคงในชีวิตและหน้าที่การงาน 
  • ความต้องการขั้นที่สามคือต้องการเป็นที่รักของผู้อื่น ต้องการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่น ต้องการได้รับความรักและคำชมจากผู้อื่น 
  • ความต้องการขั้นที่สี่ ความต้องการที่จะมองว่าตนเองมีคุณค่าสูงเป็นบุคคลที่น่าเคารพยกย่องจากทั้งตนเองและผู้อื่น มีความภาคภูมิใจในตนเอง
  • ความต้องการขั้นสุดท้ายคือ ต้องการที่จะรู้จักเข้าใจตนเองตามสภาพที่แท้จริงเพื่อพัฒนาชีวิตของตนเองให้สมบูรณ์


 

จากความต้องการ 5 ขั้นที่กล่าวมานี้ท่านผู้อ่านคิดว่าคำตอบของคำถามที่ดิฉันได้ตั้งไว้อยู่ในขั้นไหนคะ ลองค่อยๆคิดค่อยๆเชื่อมโยงดูนะคะ แต่สำหรับคำตอบของดิฉันคือการกอดคือความต้องการขั้นที่สองและเป็นบันไดแห่งการก้าวไปสู่ขั้นต่อไปได้อย่างดี หากย้อนกลับไปดูความต้องการขั้นที่สองคือความมั่นคงความปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การสวมกอดจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กมีความรู้สึกปลอดภัย โดยการกอดนั้นทำได้ในหลายสถานการณ์กอดเพื่อชื่นชมเวลาลูกทำสิ่งที่ดี กอดเพื่อให้ความสบายใจเวลาที่ลูกเศร้า กอดเพื่อสงบสติอารมณ์เวลาลูกโกรธ และอีกกอดนึงที่สำคัญคือการกอดตัวเอง จะยิ่งดีหากพ่อแม่สอนให้ลูกรู้จักการกอดตัวเอง เพื่อจะสามารถให้ความรู้สึกปลอดภัยแก่ตัวเองได้ เพราะในสถานการณ์ที่แย่คนที่อยู่กับเราเสมอคือตัวเราเอง ทุกๆ่ท่านก็สามารถฝึกกอดตัวเองได้โดยใช้ท่า “Butterfly Hug” โดยการยกแขนสองข้างไขว้กัน มือซ้ายวางบ่าขวา มือขวาวางบ่าซ้าย หายใจเข้าออกช้าๆ เคาะหัวไหล่สองข้างเบาๆเหมือนผีเสื้อกระพือปีก นึกถึงสิ่งดีๆทำเรื่อยๆจนจิตใจสงบ 

นั่นนำไปสู่คำตอบของคำถามที่สองว่านอกจากกอดแล้วยังทำอะไรได้อีก การทำให้รู้สึกปลอดภัย นอกจากการกอดแล้วยังมีหลายอย่างที่พ่อแม่สามารถปฏิบัติกับลูกได้ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวชมในสิ่งที่ลูกทำตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปถึงเรื่องใหญ่เพื่อให้ลูกเกิดความภูมิใจ และรู้สึกปลอดภัยเมื่อทำแล้วจะเรียนรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ อีกสิ่งคือการขอโทษเมื่อตนเองทำผิด จากประสบการณ์ของคนเป็นลูกหลายๆคนรวมถึงตัวผู้เขียนเองมักจะมีประสบการณ์เดียวกัน คือ เมื่อพ่อแม่ทำผิดจะไม่ขอโทษลูกแต่จะทำเหมือนสิ่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้น เช่น เรียกลูกมากินข้าวแทนการขอโทษ ซึ่งพ่อแม่อาจจะไม่รู้ตัวว่าเมื่อทำแบบนี้ก็ทำให้เด็กเสียความรู้สึกและรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับตัวเองได้ ดังนั้นการขอโทษจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ และอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสินปัญหานั้นว่าเล็กหรือใหญ่ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการให้ความปลอดภัยด้านร่างกายและจิตใจแก่ลูกนอกจากการกอด 

และคำถามสุดท้ายทำไมถึงต้องแสดงออกถึงความรักในทุกความสัมพันธ์มีวิธีแสดงความรักที่หลากหลายแต่ก็ต้องมั่นใจว่าการแสดงออกของเรานั้นชัดเจนพอที่จะให้อีกฝ่ายรู้สึกได้ไม่เช่นนั้นอาจจะเป็นone-way comunication มากกว่าการแสดงความรักเพราะในทฤษฎีของมาสโลว์ความต้องการขั้นที่สามของมนุษย์คือต้องการเป็นที่รักของผู้อื่น เมื่อได้รับความรักจากผู้อื่นแล้วก็จะส่งผลให้มีความภาคภูมิใจในตนเอง และเรียนรู้ที่จะรักตัวเองได้


 

หมายเลขบันทึก: 692197เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2021 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2021 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท