‘ไหว้’ เพรียวเส้นสาย ร่ายเริงระบำ


 

[“ดินเมืองแต่ชั่วด้ำ

ดินดำแต่ชั่วลาง”

คงความไทสืบด้ำ

น้ำข้าวส่งไหว้แถน]

(ชลธิรา สัตยาวัฒนา, พ.ศ. 2561) 

 

สังคมชาวไทลุ่มเจ้าพระยาใช้คำว่า ‘ไหว้’ กันอย่างกว้างขวางทั่วไป เป็นการแสดงออกด้วยท่าทาง เพื่อสื่อถึงความนับถือยำเยง บนนัยยะต่างๆ เช่น ไหว้ผู้คน ไหว้ครู ไหว้ผี ไหว้เจ้า ไหว้พระ จนถึงไหว้วาน ซึ่งควรเป็นคำพูดสำคัญ (key word) คำหนึ่งในแวดวงภาษาศาสตร์และมานุษยวิทยา

พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้คำนิยามไว้เพียงสั้นๆ ว่า [ก. ทำความเคารพโดยยกมือขึ้นประนม, ถ้าเป็นผู้น้อยไหว้ผู้ใหญ่หรือผู้ทรงศีลต้องก้มศีรษะลงแต่พองาม.]

หากกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้เขียนบทความน่าสนใจเรื่อง “การไหว้ มารยาทไทยที่ควรสืบทอด” ไม่ระบุปีที่ลง คัดถ้อยความมาส่วนหนึ่งดังนี้   

[“ไปลา-มาไหว้” มารยาทไทยที่เป็นวัฒนธรรมการทักทาย เวลาพบปะกันหรือลาจากกัน "การไหว้” เป็นการแสดงถึงความมีสัมมาคารวะ และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน นอกเหนือจากการกล่าวคำว่า "สวัสดี” ศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต ได้เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ว่า คนไทยเป็นคนที่มีอุปนิสัยอ่อนน้อม มีสัมมาคารวะ การไหว้เป็นการแสดงความมีสัมมาคารวะอย่างหนึ่ง และเป็นธรรมเนียมการทักทายและแสดงความเคารพ เมื่อจะไปโรงเรียนและเมื่อกลับจากโรงเรียนมาถึงบ้านลูกจะไหว้พ่อแม่ถ้ามีผู้ปกครองก็ไหว้ผู้ปกครอง เมื่อไปถึงโรงเรียนและเมื่อกลับจากโรงเรียนเด็กจะไหว้ครู การไหว้ทำให้ผู้ใหญ่รักและเอ็นดู คนที่พบเห็นก็ชื่นชม ในภาษาไทยมีคำกล่าวถึงผู้ที่มีสัมมาคารวะและได้รับการอบรมมรรยาทให้รู้จักไหว้ว่า รู้จัก "ไปลามาไหว้” หมายความว่า เมื่อมาถึงก็ ไหว้ เมื่อจะไปก็ลา

วัฒนธรรมในเรื่องของการไหว้นั้น มีความเป็นมาอย่างไร ไม่มีหลักฐานที่ระบุไว้แน่ชัด นายพะนอม แก้วกำเนิด อดีตเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ได้ให้ความเห็นว่า การไหว้นั้นเกิดจากธรรมชาติของมนุษย์ที่จะแสดงความรัก ความเคารพต่อกัน เนื่องจากมนุษย์มีสมอง มีพัฒนาการที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จึงมีความคิดว่าทำอย่างไรจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะกินอาหารอย่างไรจึงจะดีต่อสุขภาพ แต่งตัวอย่างไรจึงจะเหมาะสม ที่อยู่อาศัยทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย รวมไปถึงเมื่อเจอกันจะทักทาย จะแสดงความรักต่อกันอย่างไรดี โดยธรรมชาติแล้วการสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวกัน เป็นภาษาท่าทางที่แสดงออกถึงความรักที่มีต่อกัน สัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขหรือแมวมักจะแสดงความรักกับเจ้าของด้วยการเข้ามาสัมผัสคลอเคลียด้วย มนุษย์ก็เช่นกันที่มีการแสดงความรักต่อกันด้วยการโอบกอด หลายประเทศทางยุโรปใช้การสัมผัสมือเมื่อพบกัน บางประเทศใช้แก้มสัมผัสกัน ใช้หน้าผากสัมผัสกัน หรือใช้จมูกสัมผัสกันก็มี แต่ทางแถบเอเชียนั้นการสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวผู้อื่นนั้นถือว่าไม่สุภาพนัก คนทางแถบเอเชียจึงใช้การสัมผัสตัวเองเป็นการแสดงการทักทายหรือทำความเคารพ เช่นชาวจีนใช้มือทั้งสองข้างสัมผัสกันเพื่อแสดงการคารวะ อินเดียใช้ฝ่ามือทั้งสองประนมประกบกันเหมือนดอกบัวตูม เพื่อแสดงความเคารพและบูชา ของไทยเราน่าจะรับวัฒนธรรมนี้มาจากอินเดีย นำมาปรับปรนให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคนไทยจึงเกิดเป็นวัฒนธรรมการไหว้ที่แบ่งเป็นระดับต่างๆ ขึ้นมา โดยใช้มือกับใบหน้าเป็นตัวแบ่งระดับ]

ความน่าสนใจอยู่ตรงถ้อยคำของศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา นาคสกุล ที่ชี้นัยยะว่า ‘ไหว้’ คือการแสดงออกถึงการทักทาย การให้ความเคารพนับถืออย่างผู้มีอารยะ และต่อเนื่องยังถ้อยคำของ พะนอม แก้วกำเนิด โดยเฉพาะการแสดงความรักต่อสิ่งอื่นผู้อื่นด้วย ‘ท่วงท่าภาษากาย’ ที่อาจเขียนในคำภาษาอังกฤษว่า ‘to pay respect’ และ ‘to love’ ตามลำดับ อันเป็นนัยยะเชิงซ้อนสอดประสานที่ทรงพลังยิ่งในความเห็นของผู้เขียน แม้ดูเหมือนว่าสถานะของ ‘to pay respect’ จะอยู่เหนือกว่า ‘to love’ ก็ตาม 

เมื่อสืบค้นวัฒนธรรม ‘ไหว้’ ของชาวไทลุ่มเจ้าพระยา พบการเรียกใช้มาแต่ครั้งโบราณย้อนขึ้นไปถึงยุคสุโขไท เช่นในจารึกพ่อขุนรามคำแหง พ.ศ. 1835 เขียนว่า ‘ไห๋ว’ กล่าวถึงการไหว้ผีของเมืองสุโขไท เพื่อให้คุ้มครองอยู่ดีอยู่เย็น คัดคำปริวรรต ด้านที่ 3 บรรทัดที่ 8 และ 9 จากฐานข้อมูลจารึก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ดังนี้  

[๘.   สุโขทัยนี้แล้ไหว้ดีพลีถูกเมืองนี้เที่ยงเมือง

๙.  นี้ดีผิไหว้บ่ดีพลีบ่ถูกผีในเขาอั้น(๑๐)บ่คุ้มบ]

หรือในจารึกวัดศรีชุม อายุพุทธศตวรรษที่ 19-20 เขียนว่า ‘ไหว’ กล่าวถึงการกราบไหว้พระศรีศรัทธาราชจุฬามุนี คัดคำปริวรรต ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 71 ดังนี้

 [๗๑. ไหว้คันทพัดเบญจางค(๔๓) นอนพกชัง(๔๔) 

ตีนพระศรีศรัทธาราชจุฬามุนีคนทั้งหลายไหว้คั-]

ในลิลิตโองการแช่งน้ำอันเก่าแก่ของกรุงศรีอยุธยาฯ แม้ว่าอาจมีการคัดลอกตกหล่นกันมาหลายรุ่น ก็พบร่องรอยเรียกใช้คำว่า ‘ไหว้’ ในรูปของ ‘หว้าย’ กล่าวถึงการกราบไหว้ให้สัตย์สาบานต่อเทพยดา ดังคัดโคลงร่ายท่อนหนึ่งจากห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ ความว่า

[๏ ผู้ใดเภทจงคด        พาจกจากซึ่งหน้า

ถือขันสรดใบพลูตานเสียด       หว้ายชั้นฟ้าคู่แมน ฯ] 

เมื่อขยายการสืบค้นให้กว้างขวางออกไป แม้ในรายการคำศัพท์พื้นฐานไท-ไต (Tai) ของรองศาสตราจารย์ ดร.พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009 ไม่ได้บรรจุศัพท์นี้ไว้ ทั้งในความหมายว่า ‘to pay respect’ และ ‘to love’ หรือในความหมายใกล้ชิด 

แต่อย่างน้อยพบว่าชาวไท Dehong ซึ่งอยู่ในสาแหรกตะวันตกเฉียงใต้ เช่นเดียวกับไทลุ่มเจ้าพระยา ผู้อาศัยอยู่ทางขอบตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน เขตชายแดนประเทศจีนกับประเทศพม่า มีการใช้ด้วยรูปและความหมายใกล้เคียง คัดจาก A dictionary of Dehong, Southwest China รวบรวมโดย Luo Yongxian ค.ศ. 1999 มาว่า 

[ /wai6/, To make a gesture of salutation, to greet with one's palms clasped.] 

โดย /wai6/ น่าจะออกเสียงคล้าย /วั่ย/ หมายถึง เคารพด้วยท่าทาง หรือทักทายด้วยการจับไม้จับมือ

นอกจากนั้นอย่างน่าสนใจ ยังไปสอดคล้องต้องตรงกับคำเรียก ‘love’ การสำแดงรักของพวกข้า/ขร้า (Kra) หนึ่งในสาแหรกเก่าแก่ของภาษาไท-กะได ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร.วีระ โอสถาภิรัตน์ ได้สืบสร้างคำเก่าดั้งเดิม (Proto-Kra) ไว้ว่า *(h)ŋwai A/B (ค.ศ. 2000) ออกเสียงทำนอง /งวัย/ 

รวมถึงคำเรียก ‘praise’ การยอยกของพวกหลี/ไหล (Hlai) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาแหรกของไท-กะได โดย Dr. Peter Norquest ได้สืบสร้างคำดั้งเดิม (Proto-Hlai) ไว้ว่า *hwəj (ค.ศ. 2007) น่าจะออกเสียงคล้าย /เฮวย/     

สังเกตว่า ภาษารักของพวกข้า/ขร้าฟังดูมีชีวิตชีวาดิบสด กว่าภาษายอยกนับถือของพวกหลี/ไหลและไทลุ่มเจ้าพระยา และเป็นไปได้ที่ ‘ไหว้’ อาจเป็นคำไท-กะไดแท้ๆ บนท่วงทำนองความหมายของ ‘to pay respect’, ‘to love’ รอดยัง ‘to greet’, ‘to salute’ และ ‘to praise’ ซึ่งล้วนวนเวียนอยู่ในเบ้าเดียวกัน ที่แสดงออกผ่าน ‘ท่วงท่าภาษากาย’ ในลีลาต่างๆ  

และสังเกตต่อว่าท่วงท่าภาษากายเหล่านี้ ไม่ได้จำกัดวงแค่การกราบไหว้ของพวกไทลุ่มเจ้าพระยา หรือการกอดรัด จับไม้จับมือ ชูช่อของสาแหรกใดๆ หากถือกำเนิดขึ้นมาก่อนเนิ่นนาน ถือเป็นหนึ่งใน ‘ภาษาสากล’ ของบรรดาฝูงคน ผู้เสกสรรปั้นแต่งอารยธรรมทั่วทั้งโลก ต่างใช้ร่วมกันมาแต่ครั้งบรรพกาล 

ซึ่งผู้เขียนขอตีความแบบส่วนตัวว่า เป็นภาษาสากลที่ดำเนินไปบนวิถีดั้งเดิมแห่งการ “เพรียวเส้นสาย ร่ายเริงระบำ” (dancing) ผู้เป็นมารดาแห่งการเต้นทั้งปวงบนโลกใบนี้ ทั้งการเต้นเพื่อบูชา เต้นเพื่อรัก เต้นเพื่อเฉลิมฉลอง และเต้นเพื่อสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย อย่างสอดประสานกับธรรมชาติของสรรพชีวิต เช่น การเต้นแร้งเต้นกาในการเลือกเฟ้นคู่ การกอดรัดฟัดเหวี่ยงของงูเงี้ยว การโอนเอนงอกขึ้นของเชื้อหน่ออ่อน หรือการเลื้อยล้ายของเถาพืชไปบนต้นไม้ เป็นต้น 

แล้วให้นึกถึงชุดคำของไทลุ่มเจ้าพระยาที่มีความคล้ายคลึงกัน ได้แก่คำว่า ‘ไกว’, ‘ไขว่’, ‘ไขว้’, ‘ไว’, ‘ว่าย’, ‘ไสว’, ‘ไหว’, ‘หว้าย’ กินความถึงคำว่า ‘หวาย’ และ ‘ควย’

คำว่า ‘ไกว’ (to wave): 

เป็นคำเรียกอาการแกว่งตัวไปมา เช่น ไกวเปล แกว่งไกว ไกวแขน ชาวไทดำเรียกใช้เหมือนๆ กันว่า ‘kway’ (Chamberlain ค.ศ. 1992) มีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า [[ไกฺว] ก. ทำสิ่งที่ห้อยอยู่ให้แกว่งไปมา.]   

คำว่า ‘ไขว่’ (to cross, back and forth): 

มีคำจำกัดความว่า [(๑) [ไขฺว่] ก. สาน, ทำให้ก่ายกัน, เช่น ไขว่ชะลอม, ไขว่สาแหรก. (๒) [ไขฺว่] ว. อาการที่เคลื่อนไหวไปมาอย่างสับสน เช่น เดินไขว่ โบกมือไขว่. (๓) [ไขฺว่] น. ลักษณนามเรียกแผ่นกระดาษที่รองรับแผ่นทองคำเปลวสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ จำนวน ๒๐ แผ่น ว่า ๑ ไขว่.] 

คำว่า ‘ไขว้’ (to cross):

ใช้คล้ายๆ กับ ‘ไขว่’ ในลักษณะการถักสานสลับข้ามกันไปมา มีคำจำกัดความว่า [(๑) [ไขฺว้] ก. ขัด เช่น ไขว้เฉลว สานไขว้, สับกัน เช่น ส่งของไขว้ คือ เอาของคนหนึ่งไปส่งให้อีกคนหนึ่ง, ก่ายสับกัน เช่น ไขว้ขา (๒) ก. กิริยาที่เตะตะกร้อโดยงอขาไปข้างหน้า และบิดเท้าไปทางด้านข้าง เรียกว่า ไขว้หน้า ถ้างอขาไปข้างหลังและบิดเท้าไปทางด้านข้าง เรียกว่า ไขว้หลัง (๓)  (ปาก) ก. เอาของไปจำนำ, ไขว้เขว ก็ว่า (๔) ก. ยืมเงินของคนหนึ่งไปให้อีกคนหนึ่ง.]

คำว่า ‘ไว’ (to move fast):

เป็นการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว มีคำจำกัดความว่า [(๑) ว. ลักษณะที่เคลื่อนไหว หรือสามารถคิด หรือกระทำสิ่งใดได้คล่องแคล่วรวดเร็วหรือฉับพลันทันที เช่น เด็กคนนั้นเดินไว วิ่งไว ๆ เข้า เดี๋ยวไปไม่ทัน. (๒) ก. เคลื่อนไหว คิด หรือกระทำสิ่งใดได้คล่องแคล่วรวดเร็วหรือฉับพลันทันที เช่น ไวเข้ารถจะออกแล้ว.]

พวกจ้วง Nong (ไท-ไต สาแหรกกลาง) แถบตะวันออกเฉียงใต้ของยูนนาน ติดต่อกับเวียดนาม ใช้แบบคำควบกล้ำว่า kvaiq /kʰʷaːi¹¹/ รวดเร็ว (fast; quickly, Nong Zhuang - Chinese - English Dictionary ค.ศ. 2019) 

พวกไท Dehong ใช้ว่า /wai2/ เร็วๆ (to be quick, (to do) quickly)

คำว่า ‘ว่าย’ (to swim):

เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคำหนึ่งในย่านไทลุ่มเจ้าพระยา โดยเฉพาะกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในผืนน้ำ มีคำจำกัดความว่า [ก. เคลื่อนไปโดยอาศัยกำลังแขน ขา ครีบ หรือ หาง แหวกไปในนํ้าหรือในอากาศ.]

พวกไท Dehong ใช้ /waai4/ พาย เช่น พายเรือ (to row (a boat), to paddle)

คำว่า ‘ไสว’ (profusely):

มีคำจำกัดความว่า [(๑) [สะไหฺว] ว. อาการที่ชูสะพรั่งอยู่ไหว ๆ เช่น ธงโบกสะบัดอยู่ไสว (๒) ว. ทั่วไป ในคำว่า สว่างไสว.]

คำว่า ‘ไหว’ (to shake): 

เป็นคำที่ใช้กันในไท-ไตบางกลุ่ม มีคำจำกัดความว่า [(๑) ก. สั่น, สะเทือน, กระดิก, เช่น ใบไม้ไหว. (๒) ว. สามารถทำได้ เช่น เดินไหว สู้ไหว กินไหว.] เช่น

ภาษาจ้วง Nong ใช้ vae /vai¹³/ สั่นไหว, ไม่มั่งคง (to shake, unstable) หรือในอีกคำใกล้เคียง vaej /vai²²/ ซวนเซ (to trip; to cause to stumble)

ภาษาไท Dehong ใช้ /wai1/ ก้าวช้าๆ, สั่นไหว, ไม่มั่งคง (to walk slowly, to shake, to be shaky, to be unsteady)

อาจารย์พิทยาวัฒน์ ได้สืบสร้างเสียงคำไท-ไตดั้งเดิมไว้ว่า *C̥.waj A /.วัย/ (ศัพท์หมายเลข 577) 

คำว่า ‘หว้าย’ (to cross):

คำนี้เป็นภาษาถิ่นอีสานและล้านนา เช่นใช้เรียก ผ้าสะหว้ายแล่ง ซึ่งเพจอีสาน108 ให้ความหมายว่า [ว่าย ข้าม ข้ามป่าดงพงไพร เรียก หว้าย อย่างว่า นางก็ผัดผาดถ้อยแปสั่งบัวทอง มึงเยียะไขคำเมืองกล่าวกลอนเถิงเถ้า บัดนี้บุญกองเจ้าขาชายใช้กล่าว ชวนลูกหว้ายป่าไม้ไปเฮ้าฮ่มผา (ฮุ่ง) หว้ายป่าคู้ไกลน้องไอ่คำ (ผาแดง) สายนามน้อยคนิงตรอมตามแม่ เฮาก็หว้ายหว่างไม้มานี้เพื่อใผ แม่เอย (สังข์).]

คำว่า ‘หวาย’ (rattan): 

แม้ว่า ‘หวาย’ อาจฟังแล้วไม่ค่อยเข้าพวก แต่ถ้ามองที่รูปร่างแบบเส้นสายยาวย้วย เลื้อยไต่ระโยงระยาง อาจพอเห็นภาพ เป็นคำที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในพวกไท-ไต เช่นคัดจากคำศัพท์พื้นฐานของอาจารย์พิทยาวัฒน์ ดังนี้

พวก Bao Yen, Cao Bang และ Shangsi เรียกเหมือนกันว่า wa:j A1

พวก Sapa, Lungchow, Yay และ Saek เรียกเหมือนกันว่า va:j A1

และมีการสืบสร้างคำไท-ไตดั้งเดิมแบบพยางค์ควบครึ่งว่า *C̥.wa:j A /.วาย/ (ศัพท์หมายเลข 198)

มีคำจำกัดความว่า [(๑) น. ชื่อเรียกปาล์มหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Palmae ขึ้นเป็นกอ ลำต้นยาวทอดเลื้อย ผิวเกลี้ยงเหนียว กาบและก้านใบมีหนาม เช่น หวายตะค้าทอง (Calamus caesiusBlume), หวายขม (C. viminalis Willd.) หัวใช้ทำยาได้, หวายนํ้า (Daemonorops angustifolia (Griff.) Mart.). (๒) น. ชื่อกล้วยไม้หลายชนิดในสกุล Dendrobium วงศ์ Orchidaceae เช่น หวายตะมอย.]

และสุดท้ายคำว่า ‘ควย’ (penis):

อวัยวะสำคัญสุดของการเกิดมาเป็นเหล่าตัวผู้ ถูกจับมาเข้าพวกเหตุด้วยรูปร่างของงวงช้างน้อย ที่โผล่ห้อยแกว่งไกวอยู่กลางหว่างขา มีคำจำกัดความว่า [น. อวัยวะสืบพันธุ์ของชายหรือสัตว์เพศผู้บางชนิด.] เป็นคำที่ใช้กันในหลายพวกของไท-ไต เช่น 

พวก Sapa เรียก xwaj A2, Bao Yen เรียก vɤj A2, Cao Bang เรียก wɤj A2 และ Shangsi เรียก waj A2 สืบสร้างเป็นคำไท-ไตดั้งเดิมว่า *ɣwaj A /ฅวัย/ (ศัพท์หมายเลข 46)    

ชุดคำคล้ายที่ได้กล่าวยกมาข้างต้น เป็นที่คล้อยว่าใช้กันด้วยรูป /-wai/ และสื่อความหมายในรูปของเส้นสายผู้เคลื่อนไหวกวัดแกว่งสลับไปมา พบได้ทั้งในภาษาของชาวไทลุ่มเจ้าพระยา และภาษาของชาวไท-ไตถิ่นอื่น เช่นแถบมณฑลยูนนาน กวางสีของประเทศจีน และแถบตอนเหนือของประเทศเวียดนาม เป็นชุดคำคล้ายที่สอดรับเข้ากับ ‘ไหว้’ เพรียวเส้นสายร่ายเริงระบำ ได้อย่างไม่เคอะเขิน 

ลำดับถัดไป จำเป็นต้องขยายการสืบสาวออกไปยังตระกูลภาษาอื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียง เพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่า ‘ไหว้’ มีสถานะเพียงพอต่อการเป็นคำไท-กะไดแท้หรือไม่

ตระกูลภาษาชิโน-ทิเบตัน (Sino-Tibetan):

‘to love’:

ภาษาจีนเก่า (Old Chinese) คือ /*[q]ˤə[p]-s/ (Baxter–Sagart) หรือ /*qɯːds/ (Zhengzhang) ซึ่งสังเกตว่า ทั้ง Baxter–Sagart ค.ศ. 2014 และ Zhengzhang ค.ศ. 2003 ไม่ได้สืบสร้างล้อไปกับเสียงจีนยุคกลางว่า /ʔʌiH/ (อ้างจาก 愛 wikitionary) และยังแตกต่างจากการสืบสร้างคำทิเบต-พม่าดั้งเดิม (Proto-Tibeto-Burman) ของพจนานุกรม STEDT (The Sino-Tibetan Etymological Dictionary and Thesaurus ค.ศ. 2016) ว่า *ŋ-(w)a:y ร่วมรัก, รัก, อย่างนุ่มนวล (to copulate; to love; to be gentle) โดย STEDT อ้างอิงมาจากการสืบสร้างของ Matisoff ค.ศ. 2003 หมายเลข 1160

ทั้งนี้ James A. Matisoff ได้ประเมินและสืบสร้างจากข้อมูลของชาวทิเบต-พม่าในแถบรัฐอัสสัม รัฐนาคา ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ต่อเนื่องยังรัฐคะฉิ่นของประเทศพม่า ซึ่งเป็นพื้นที่หุบเขาสูงที่มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน รวมถึงคนพูดภาษาไท-ไต และนอกจากคำว่า *ŋ-(w)a:y แล้ว ชาวทิเบต-พม่าในย่านนี้ใช้คำเรียก ‘love/copulate’ ที่แตกต่างกันเป็นจำนวนมาก  

‘to pay respect’: 

ภาษาจีนเก่าสืบสร้างว่า /*C.pˤro[t]-s/ (Baxter–Sagart) หรือ /*proːds/ (Zhengzhang) จากภาษาจีนยุคกลางว่า /pˠɛiH/ ส่วนภาษาทิเบต-พม่าไม่มีการสืบสร้างไว้

ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic): ‘to love; beloved, dear’ ของมอญ-เขมรดั้งเดิม (Proto-Mon-Khmer) ว่า *r[a]k (Shorto ค.ศ. 2006 ศัพท์หมายเลข 391) และ ‘to raise up, to exalt’ ว่า *reh (ศัพท์หมายเลข 2050)

ตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน (Hmong-Mien): คำเรียก ‘to love’ ของภาษาเมี่ยนดั้งเดิม (Proto-Mien) ว่า *ʔu̯ɔiC (Ratliff ค.ศ. 2010,ข้อมูลเรียบเรียงไว้โดยคุณ Andrew C. Hsiu)  

จากการสอบสาวคำเรียก ‘to love’ และ ‘to pay respect’ ผ่านสามตระกูลภาษาข้างเคียงดังข้างต้น มีเพียงคำสำแดงรัก *ŋ-(w)a:y ของชาวทิเบต-พม่าในแถบอัสสัม นาคา และคะฉิ่นเท่านั้น ที่พอนำมาเทียบเคียงได้ ซึ่งในความเห็นของผู้เขียน แม้ว่าจะดูเหมือนกับ ‘ไหว้’ ของไท-กะได หากมองถึงความแตกต่างถึงขัดแย้งกับคำจีนเก่า ความหลากหลายในการใช้คำ สอบยันกับชุดคำคล้ายของพวกไทย ไท-ไต อาจพอประเมินสถานะของ ‘ไหว้’ ได้ว่า ไม่น่าจะเป็นคำที่หยิบยืมสัมผัสรักจากคำทิเบต-พม่า ในทางกลับกันเป็นไปได้ว่า บางทีอาจไม่ใช่คำทิเบต-พม่าแท้ หากเป็นคำที่ผ่านขบวนการปะทะสังสรรค์หยิบยืมกันไปมา ท่ามกลางความหลากหลายของผู้คนมาแต่ครั้งโบราณ โดยเฉพาะกับชาวไท-ไต

อย่างไร ท้ายที่สุดแล้ว ‘ไหว้’ จำเป็นต้องผ่านการทดสอบ บนแนวคิดแห่ง ‘ออสโตร-ไท’ (Austro-Tai) จากชาวหมู่เกาะออสโตรนีเซียนให้ได้เสียก่อน จึงจะสามารถสำแดงรักของตัวเองได้อย่างมั่นใจ    

เมื่อเปิดค้นข้อมูลเพิ่มเติมจาก Austronesian Comparative Dictionary ค.ศ. 2010: revision 6/21/2020 พบว่าคำออสโตรนีเซียนหลายคำ คือวัตถุดิบชั้นเยี่ยมในการไขว่ถักทอวัฒนธรรม ‘ไหว้’ ดังนี้

คำสืบสร้างออสโตรนีเซียนดั้งเดิม (PAN): 

*kaway3 /กาวัย/ ถุงถักสานสำหรับผู้ชายสะพายหลัง (net bag used by men for carrying things on back)

*kawayan /กาวัยอัน/ ไม้ไผ่ (bamboo, Bambusa spp., probably Bambusa spinosa)

*laway /ลาวัย/ เส้นด้าย, เส้นป่าน (thread, yarn)

คำสืบสร้างมาลาโย-โพลีนีเซียนดั้งเดิม (PMP):

*away₁ /อาวัย/ กวักมือ (beckon with the hand)

*gaway₁ /กาวัย/ งวงหมึก (tentacles of octopus, squid, jellyfish, etc.)

*kaway₁ /กาวัย/ โบกไม้โบกมือ (wave the hand or arms; call by waving)

*kaway₂ /กาวัย/ งวงหมึก (tentacles of octopus, squid, jellyfish, etc.)

คำสืบสร้างมาลาโย-โพลีนีเซียน สาแหรกตะวันตกดั้งเดิม (PWMP):

*away₄ /อาวัย/ หวายชนิดหนึ่ง (rattan variety) 

*gaway₂ /กาวัย/ งานเฉลิมฉลอง (religious feast, festivity)           

และคำสืบสร้างฟิลิปปินส์ดั้งเดิม (PPh):

*saway /ซาวัย/ สะพรั่ง, ล้นเหลือ (in excess, overabundant; surplus)

*waywáy /วัยวัย/ ห้อยระโยงระยาง (dangle, hang down loosely)

คำที่สามารถสืบสร้างขึ้นไปถึงระดับออสโตรนีเซียนดั้งเดิม ชี้ชัดว่าเป็นคำที่มีการใช้อย่างแพร่หลายครอบคลุม ทั้งสาแหรกฟอร์โมซานบนเกาะไต้หวัน และสาแหรกมาลาโย-โพลีนีเซียนที่กระจายตัวตามหมู่เกาะต่างๆ นอกไต้หวัน ซึ่งทั้งสามคำ *kaway3 ถุงสะพายหลัง, *kawayan ไม้ไผ่ และ *laway ด้ายป่าน ล้วนเกี่ยวข้องกับเส้นสายจักสานถักทอ และคำมาลาโย-โพลีนีเซียนดั้งเดิม *away1, *gaway1 และ *kaway1,2 ล้วนหมายถึงการกวัดแกว่งไปมาของเส้นสายกิ่งก้าน เช่นเดียวกับ *away₄ เส้นหวาย และ *waywáy ห้อยระโยงระยาง ตลอดยังการปลิวไสวอย่างล้นเหลือของ *saway    

และอย่างยิ่งยวดกับคำว่า *gaway₂ /กาวัย/ ในความหมายว่างานเฉลิมฉลอง (religious feast, festivity) เป็นพิธีกรรมเฉลิมฉลองทางจิตวิญญาณ (ritual festival) ที่สำคัญสุดของชาวหมู่เกาะหลายแห่ง เช่นเผ่า Dayak ผู้อาศัยอยู่บนเรือนยาว (long house) แห่งเกาะบอร์เนียว มีประเพณีจัดงานเทศกาล ‘gawai’ ไหว้ผีฟ้าผีบรรพชนหลังฤดูเก็บเกี่ยว ปัจจุบันกำหนดในวันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี ลูกหลานเครือญาติจะพากันเดินทางกลับถิ่นฐานบ้านเรือนเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง มีการเตรียมงานล่วงหน้าเป็นวันๆ เรือนยาวเก่าแก่ถูกประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ต้นไม้แห่งชีวิต ‘ranyai’ (tree of life) ถูกตั้งขึ้นตรงกลางเรือน พร้อมข้าวปลาอาหารสารพัดอย่าง รวมถึงเหล้าพื้นบ้าน ‘tuak’ ที่ขาดไม่ได้

ในเย็นก่อนวัน ‘gawai’ มีพีธีไล่ผีชั่วร้ายกระหายอยากออกไปจากหมู่บ้าน เมื่อถึงวันงาน ‘gawai’ พิธีกรรมอย่างเป็นทางการเริ่มต้นนับจากการปูเสื่อสาด ‘tikai’ และเชื้อเชิญแขกผู้ใหญ่ให้ลงนั่ง ถึงยามเย็นย่ำก่อนตะวันลับฟ้า จึงทำการร้องรำทำเพลงร่ายอัญเชิญเหล่าผีฟ้าผีบรรพชนผีบ้านผีเรือน ให้ลงมารับเครื่องบวงสรวงบูชายังเรือนยาว พิธีกรรมดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดพัก เมื่อการบวงสรวงเซ่นไหว้ลุล่วง หัวหน้างานพิธีจะกล่าวบทสรรเสริญต่อผีฟ้าผีด้ำบรรพชนทั้งหลาย ทั้งร้องขอความคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุขและมีอายุยืนยาว พร้อมไก่รุ่นกระทงบูชายัญแกว่งไกวเหนือเครื่องบูชา เป็นอันเสร็จพิธีกรรม หลังจากนั้นบรรดาเหล่าลูกหลานเพื่อนบ้านทั้งหลาย จึงร่วมเฉลิมฉลองดื่มกินรื่นเริงระบำกันตลอดทั้งคืน (เรียบเรียงสรุปจากเรื่อง Gawai Dayak, นิตยสาร Borneo Talk ฉบับที่ 52 ค.ศ. 2019)               

ทั้งหลายทั้งปวงที่ได้เอ่ยอ้างมา ล้วนแสดงรูปนัยยะร่วมรากร่วมวัฒนธรรม ‘ไหว้’ ของไท-กะได อย่างชนิดผสมผสานเข้าจังหวะจนแทบกลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการแกว่งไกว ไขว้ถักทอ ส่ายโยกไหว เส้นหวาย งวงช้างน้อย ปลิวสะพรั่งไสว และพิธีกรรม ‘gawai’ เซ่นไหว้ผี ที่ควรรวมลงภายใต้รากคำพยางค์เดียว (monosyllabic root) ของออสโตร-ไท ว่า *way บนนามธรรมพื้นฐานร่วมกันว่า “เพรียวเส้นสาย ร่ายเริงระบำ” 

พิธีกรรม ‘gawai’ คือหลักฐานชั้นยอด ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมดึกดำบรรพ์แห่งเพรียวเส้นสายร่ายเริงระบำของผู้ (เป็น) คนพวกเดียวกัน ที่ตีคู่กับพิธีเสนบ้านเสนเมืองเสนผีฟ้าของชาวไท-ไต สืบสายถ่ายทอดกันลงมาจนถึงทุกวันนี้

ดังนั้น ถึงปลายบรรทัดนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่า ‘ไหว้’ ไม่น่าใช่คำยืมจากภาษาทิเบต-พม่า และยิ่งไม่น่าใช่ที่จะเป็นคำยืมจีนยุคกลางว่า /ʔʌiH/ ซึ่งคงไม่เป็นการเกินเลย ที่จะสำแดงรักด้วยความเต็มใจว่า ‘ไหว้’ และชุดคำคล้ายเหล่าพี่น้อง ควรเป็นคำไท-กะไดแท้ ร่วมรากร่วมเชื้อกับเหล่า ‘gawai’ คำออสโตรนีเซียน ผ่านรากคำพยางค์เดียว ‘ออสโตร-ไท’ *way มาแต่ครั้งบรรพกาล  

จึงขอเสนอเป็นข้อสังเกตเพื่อการถกเถียง และขอปิดการสืบสาวตำนาน ‘ไหว้’ ไว้ ณ ที่นี้

 

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

 

อ้างอิง

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์. การไหว้ มารยาทไทยที่ควรสืบทอด. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (www.culture.go.th)

ชลธิรา สัตยาวัฒนา. พ.ศ. 2561. ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไท สาวรกรากต้นตอ คนไท ชุมชนไท-ลาว และความเป็นไท/ไต/ไทย/สยาม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ชนนิยม.

ปรีชา พิณทอง. พ.ศ. 2564. ภาษาอีสาน “หว้าย”. อีสานร้อยแปด. (www.isan108.com)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จารึกพ่อขุนรามคำแหง. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จารึกวัดศรีชุม. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พ.ศ. 2554. พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา. (www.royin.go.th)

ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. ลิลิตโองการแช่งน้ำ. ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. (www.vajirayana.org) 

Blust, Robert A. and Trussel, Stephen. 2010: revision 2020. Austronesian Comparative Dictionary. (www.trussel2.com)

Borneo Talk. 2019. Gawai Dayak. Borneo Talk. vol52 Apr-Jun. (www.borneotalk.com/e-magazine/)  

Chamberlain, James R. 1992. The Black Tai Chronicle of Muang Mouay. Mon-Khmer Studies 21: 19-55. (www.academia.edu)

Luo, Yongxian. 1999. A dictionary of Dehong, Southwest China. 

Nong Zhuang - Chinese - English Dictionary. (www.webonary.org/zhuangwen)

Norquest, Peter K. 2007. A Phonological Reconstruction of Proto-Hlai. University of Arizona. (www.arizona.openrepository.com)

Ostapirat, Weera. 2000. Proto-Kra. Linguistics of the Tibeto-Burman Area 23 (1): 1-251. (www.sealang.net)

Pittayaporn, Pittayawat. 2009. The Phonology of Proto-Tai. Cornell University. (www.ecommons.cornell.edu)

Shorto, Harry. 2006. A Mon-Khmer Comparative Dictionary. Pacific Linguistics.

The Sino-Tibetan Etymological Dictionary and Thesaurus. 2016.(www.stedt.berkeley.edu)

คำสำคัญ (Tags): #ไหว้#ไกว#ไขว้
หมายเลขบันทึก: 692202เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2021 09:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2021 09:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท