คำว่าศีล ชาวพุทธคงคุ้นชินกับคำนี้มานาน บางคนเข้าใจในความหมายและและสำรวมระวังด้วยความตั้งใจ บางคนสักแต่ว่าได้ยิน และอาจไม่เข้าใจในความหมายที่ชัดเจน ศีลนั้นมีหลายระดับ มีลักษณะเป็นข้อห้ามเป็นหลักธรรมสำหรับการดำเนินชีวิต โดยมีเป้าหมายคือความเป็นอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ทั้งในระดับครอบครัวและสังคม ศีลเป็นหลักประกันในการดำเนินชีวิต ที่ไม่ต้อเสียเบี้ยประกัน แต่ได้ผลประโยชน์ตอบแทนชั่วชีวิต การปฏิบัติตามตามหลักศีล ย่อมเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคม ศีลมิใช่เป็นเพียงอาภรณ์ แต่เป็นองค์ประกอบที่สร้างเสริมให้คนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ความหมายและความสำคัญของศีล
เมื่อเราพูดถึงศีล คนทั่วไปก็จะเข้าใจว่าคือศีล ๕ อันที่จริงก็จะมี ศีล ๘ สำหรับอุบาสกอุบาสิกามารักษาในวันอุโบสถ ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร ศีล ๒๒๗ สำหรับพระภิกษุ คำว่าศีล มีท่านผู้รู้ได้ให้ความหมายไว้มากมายพอสังเคราะห์ได้ดังนี้
คำว่าศีล มาจากคำว่า ศิละ แปลว่าหินหรือศิลา ซึ่งมีความหนักแน่น มั่นคง ไม่คลอนแคลน ท่านผู้รู้จึงเปรียบศีลเป็นดั่งศิลาแท่งทึบ ที่มีความมั่นคงไม่แปรปรวน มีความเป็นปกติ คงที่แม้จะเอาไปไว้ที่ใด เป็นการเปรียบเทียบเชิงวัตถุเป็นรูปธรรม
ส่วนอีกนัยหนึ่งศีล คือหลักธรรมเป็นข้อปฏิบัติเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต เพื่อให้ถึงพร้อมด้วยกายวาจาใจ เป็นไปอย่างปกติสุข คือการงดเว้นจากอกุศลกรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นนามธรรม
คนเราเมื่อมีศีลเป็นเครื่องกำกับในการประกอบอาชีพ การหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการยึดหลักศีล๕ คือ การไม่ฆ่าสัตว์, ไม่ลักทรัพย์, ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ, ไม่เสพของมึนเมา ก็จะยังคุณประโยชน์เกิดขึ้นทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว และชุมชนเป็นเบื้องต้น และแก่สังคมประเทศชาติเป็นท่าสุดนี้คือความสำคัญของศีล โบราณาจารย์ท่านจึงกล่าวสรุปไว้ว่า ในบรรดาศีลทั้ง๕ นั้น ข้อที่ ๕ เป็นข้อที่อันตรายที่สุด เพราะเมื่อคนเสพของมึนเมาเข้าไปจำนวนมากจนทำให้ขาดสติ ไม่สามารถสามารถควบคุมตนเองได้ ก็สามารถทำลายชีวิต ทรัพย์สิน ผิดลูกผิดเมียของผู้อื่นได้ แม้จับได้ไล่ทัน ก็โกหก มดเท็จ ทำลายศีลทั้ง ๔ ข้อได้อย่างราบคาบ ดังนั้น การมีชีวิตอยู่ในสถานะอาชีพใด หากคำนึงถึงหลักธรรมที่ติดตามตัวดั่งเงา คือศีล๕ นี้ ก็จะทำให้ชีวิตของเราเป็นไปในสิ่งที่ดีงาม เบญจศีลมิใช่ข้อห้ามที่เคร่งครัด แต่มิใช่ข้อธรรมที่จะนำไปลองเล่น หากคนเราไร้ศีลแผ่นดินอาจเป็นไฟ คำกล่าวนี้มีมานานหากจะเปรียบเทียบสังคมไทยก็พอมองเห็นเป็นพยานที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ดั่งภาษิตที่ว่า อันสตรี ไร้ศีล ก็สิ้นสวย บุรุษด้วย ไร้ศีล ก็สิ้นศรี ภิกษุสงฆ์ ขาดศีล ก็สิ้นดี ประชาชี ไม่มีศีล ก็สิ้นงาม.
ไม่มีความเห็น