การศึกษาทำคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ การสอนคือการสร้างคนให้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็น มีลักษณะนิสัยจิตใจ ที่ดีงาม มีความพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อตนเองและสังคม มีความพร้อมที่จะประกอบการงานอาชีพได้ ช่วยให้คนเจริญงอกงาม ทั้งทางปัญญา จิตใจ ร่างกาย และสังคม สังคมจะเจริญก็ต้องเริ่มต้นพัฒนาที่คน โดยให้คนได้รับการศึกษาที่เป็นระบบ มีครูที่ดี มีสื่อการเรียนที่พร้อมใช้ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา ภายใต้ภาวการณ์ที่ไม่ปกติการเรียนในห้องเรียนจึงถูกปรับเปลี่ยนเป็นการเรียนแบบออนไลน์ ผลสัมฤทธิ์ที่ได้ อาจต้องมีการพัฒนาในระบบ ครูซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการจัดประสบการณ์ต้องมีเทคนิควิธีการสอนที่หลากหลายเพื่อนำมาใช้ให้เกิดผลต่อผู้เรียน ทั้งความรู้ คู่คุณธรรม การนำหลักพุทธธรรมมาบูรณาการในวิธีการสอน ในยุควิกฤตทางสังคม เพิ่มความมั่นคงแห่งจิตใจ เป้าหมายคือความสุขของสังคม
ภายใต้สถานการณ์ที่โรคระบาดกำลังคุกคามชีวิตและความเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน การเรียนการสอนที่ไม่เกิดขึ้นในห้องเรียน แต่เป็นการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นในระบบออนไลน์ มีเทคโนโลยีเป็นสื่อกลางที่ก่อให้เกิดความรวดเร็วและหลากหลาย การสอนสังคมศึกษาก็คือการจัดกินกรรมการเรียนการสอนในกลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๒๕๔๔ อันประกอบด้วย ๘ กลุ่มสาระ ได้แก่ ๑)ภาษาไทย ๒)ภาษาต่างประเทศ ๓)คณิตศาสตร์ ๔)วิทยาศาสตร์ ๕)สุขศึกษาและพลศึกษา ๖)ศิลปะ ๗)สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ๘)การงานอาชีพและเทคโนโลยี[1] กิจกรรมจากกลุ่มสาระเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในชั้นเรียนภายใต้สถานการณ์ของโควิด๑๙ เพราะกระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศให้ใช้การเรียนในระบบออนไลน์ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เป็นวิถีชีวิตปกติใหม่ในวงการเรียนการสอน รวมไปถึงการเรียนการสอนทุกระดับ
[1] สุพิมล ศรศักดา, พระพุทธศาสนากับการศึกษา, อุบลราชธานี : ภาสิทธิ์ออฟเซทการพิมพ์,๒๕๕๘, หน้า๑๐๐.
ไม่มีความเห็น