๑,๒๒๘ บทเรียน


  เมื่อผมกับครูและนักเรียนเข้าใจตรงกันแล้ว ต่อไปนี้ปัญหาน่าจะลดน้อยลง อย่างน้อยผู้ปกครองก็จะรู้วิธีเรียน ครูเข้าใจวิธีสอนและใช้เวลาอย่างคุ้มค่า ครูอาจคิดได้ว่า เด็ก ป.๖ ก็ควรเปิดยูทูปได้แล้ว แต่ผมมองว่าเรื่องโทรศัพท์..และอินเตอร์เน็ต ครูอย่าคาดหวังมากนัก การส่งคลิ๊ปการสอนไปให้น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

                ในเขตอำเภอ หมู่บ้านและชุมชนที่ผมอยู่สถานการณ์โควิด ยังควบคุมได้ แต่ระดับจังหวัดยังต้องเฝ้าระวังสูงสุด ดังนั้นจึงไม่พบข้อมูลว่ามีโรงเรียนใดเปิดเรียนในช่วงเวลาที่คับขันนี้

        ที่โรงเรียน...เมื่อไม่สามารถ ONSITE ผมจึงใช้เอกสาร ใบงานและแบบฝึกหัด ที่เรียกว่า ON HAND นั่นเอง โดยนักเรียนและผู้ปกครองจะรับงานในวันจันทร์-วันอังคาร ผ่านระบบการคัดกรองอย่างเข้มงวด ผมยังมองไม่เห็นวิธีการที่จะสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเท่านี้ ไม่แน่ใจว่าในทางวิชาการ สามารถทำอะไรได้อีกหรือไม่

        ผมได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองดีมาก และขอบคุณไปในไลน์กลุ่มแต่ละชั้น และบอกในกลุ่มไลน์ ป.๖ ด้วยว่า ผมมีความจำเป็นต้องสอนเสริมป.๖ ทุกวันพุธ ตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงเที่ยง เพราะเด็กมีไม่มากและส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนเล็กๆ ที่มีความเข้มงวดกวดขันในการเฝ้าระวังโควิด ทั้งเรื่องแมสและการรักษาระยะห่างทางสังคม

        ผมรู้สึกผิดในส่วนลึกของจิตใจ ที่นำพาลูกหลานเขาออกจากบ้าน..แต่ผมก็ระวังและรับผิดชอบอย่างเต็มที่ เพราะผมคิดว่า..ไม่มีหนทางที่จะเปิดเรียนได้โดยเร็ว นักเรียนทุกชั้นสำคัญเท่ากันหมด แต่ชั้นอื่นยังซ่อมเสริมได้ในปีต่อไป แต่ป.๖ จบแล้วจบเลย

        ถ้าเราไม่ให้เวลาเติมเต็ม เมื่อเขาไปต่อมัธยมจะขาดความเข้มแข็งทางวิชาการไปตลอดชีวิต ผมไม่เคยห่วงโอเน็ต เพราะมันไร้คุณค่า แต่ห่วงรากฐานด้านการอ่านการเขียนของนักเรียนป.๖ เป็นที่สุด เพราะมันจะเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ต่อไป

        วันนี้..สอนป.๖ ก็เหมือนได้นิเทศติดตามครูประจำชั้นไปด้วย ผมถามนักเรียนว่า เธอได้ใบงานอะไรไปบ้าง บอกครูมาทุกวิชาที่ได้รับ....เพียงแค่ ๓ วิชาผมก็รู้ปัญหาแล้ว อย่างคณิตศาสตร์เป็นแบบฝึกบวกลบคูณหารเศษส่วน ที่ครูยังไม่ได้สอนเลยแม้แต่น้อย ภาษาอังกฤษเขียนประโยคแนะนำตัว แต่หนังสือเรียนของทุกคนยังอยู่ใต้โต๊ะที่โรงเรียน

        ในส่วนของภาษาไทย..ให้ทำหมดทุกข้อในบฝ.ที่ ๒ ซึ่งไม่ใช่แล้ว เพราะบางเรื่องเด็กต้องการคำอธิบายและเครื่องมือเพื่อการสื่อสารเรียนรู้ เช่น การผันวรรณยุกต์ เป็นต้น

        ผมไม่อยากจะโทษใคร มันอยู่ที่การกำกับติดตามและนิเทศภายใน ตลอดจนไหวพริบและจิตสำนึกของครูประจำชั้น

        ผมโทรศัพท์หาครูประจำชั้น อธิบายต่อหน้านักเรียน ความว่า ครูให้ใบงานแล้ว ต้องบอกเด็กว่า..จะค้นคว้าได้ในแบบเรียนเล่มไหน..เรื่องไหน..หน้าไหน..จากนั้นครูก็ต้องส่งคลิ๊ปการสอนที่มีอยู่อย่างดาษดื่น เลือกเอาที่ดีที่สุด ตรงที่สุดและเหมาะสมกับบทเรียนและใบงานนั้นๆ และต้องส่งทันที มิใช่รอเวลาเนิ่นนาน...เด็กจะไปต่อไม่ได้ เมื่อเด็กเรียนรู้ไม่สะดวก มันจะเดือดร้อนถึง ผปค. ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นในเวลาเช่นนี้

        เมื่อผมกับครูและนักเรียนเข้าใจตรงกันแล้ว ต่อไปนี้ปัญหาน่าจะลดน้อยลง อย่างน้อยผู้ปกครองก็จะรู้วิธีเรียน ครูเข้าใจวิธีสอนและใช้เวลาอย่างคุ้มค่า ครูอาจคิดได้ว่า เด็ก ป.๖ ก็ควรเปิดยูทูปได้แล้ว แต่ผมมองว่าเรื่องโทรศัพท์..และอินเตอร์เน็ต ครูอย่าคาดหวังมากนัก การส่งคลิ๊ปการสอนไปให้น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

        ท้ายที่สุด..ผมนำนักเรียนไปที่แปลงนา เพื่อเรียนรู้คณิตศาสตร์เกี่ยวกับการหาพื้นที่ เรียนเกษตรเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวและสังคมศึกษาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง..ครับ

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๒๑ กรกฎาคม  ๒๕๖๔

        

 

 

 

 

 

 

 

        

        

         

หมายเลขบันทึก: 691603เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2021 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2021 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสงสารเด็กรุ่นโควิดจริงๆนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท