ชีวิตที่พอเพียง 3985. วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน


 

               หนังสือ The Science of Living : 219 Reasons to Rethink Your Daily Routine (2020) เขียนโดย Stuart Farrimond   เป็นหนังสืออ่านสบาย มีแผ่นภาพช่วยความเข้าใจตลอดเล่ม  ช่วยให้อ่านสบาย   

ทั้งเล่มเต็มไปด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับร่างกายและจิตใจเรา    เขียนตามเวลาในรอบหนึ่งวัน  ตั้งแต่เช้า บ่าย  เย็น  และกลางคืน   จึงน่าจะได้ชื่อว่า วิทยาศาสตร์เพื่อความสุขในชีวิตประจำวัน    เริ่มตั้งแต่วิธีตื่นนอน วิธีนอน    ความเชื่อมโยงระหว่างการนอนกับแสงแดดหรือแสงสว่าง  อุณหภูมิห้อง และวงจรสรีรวิทยาของร่างกาย   ดังนั้นการเข้านอนและตื่นเป็นเวลาช่วยให้มีการนอนหลับที่ดี 

เป็นหนังสือที่ช่วยให้เข้าใจร่างกายและจิตใจของมนุษย์     เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมแวดล้อมตัวมนุษย์    เช่นเรื่องการดื่มกาแฟ    หากเราต้องการดื่มกาแฟเพื่อปลุกตัวเองให้ตื่น เขาบอกว่าอย่าดื่มภายใน ๒ ชั่วโมงหลังตื่น   เพราะเท่ากับเสียเงินฟรี ไม่ได้ประโยชน์     เพราะช่วงนั้นฮอร์โมน คอร์ติซอล ในร่างกายกำลังหลั่ง และทำหน้าที่ปลุกความตื่นตัวของเราอยู่แล้ว    แต่หลัง ๒ ชั่วโมง คอร์ติซอล ลดระดับลง  ตอนนั้นแหละที่กาแฟจะช่วยออกฤทธิ์กระตุ้น    แต่ผมก็อดเถียงไม่ได้ว่า คนเราน่าจะดื่มกาแฟด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน 

เรื่องฮอร์โมนนี่มันมีอิทธิพลต่อชีวิตในรอบวันของคนเรามากจริงๆ    โดยเราไม่รู้ตัว   แต่ใครรู้จักใช้ธรรมชาติของช่วงเวลาที่ฮอร์โมนต่างชนิดหลั่ง  จะคล้ายได้ใช้ของฟรี    อย่างเรื่องการนอนหลับ ความรู้นี้เรียกว่านาฬิการ่างกาย (body clock)    กำหนดโดยฮอร์โมน ๒ ตัวคือ คอร์ติซอล (ทำให้ตื่นตัว) กับเมลาโทนิน (ทำให้ง่วง)    ในคนทั่วไปคอร์ติซอลหลั่งสูงสุดราวๆ ๖ โมงเช้า และสูงอยู่ราวๆ ๒ ชั่วโมงก็ค่อยๆ ลดลง   ต่ำสุดช่วงสามทุ่ม   ในขณะที่เมลาโทนินเริ่มหลั่งเพิ่มราวๆ สามทุ่ม สูงสุดราวๆ ตีสองตีสาม แล้วลดลงอย่างรวดเร็ว    ทำให้ช่วงเวลาที่คนเราตื่นตัวสูงสุดสองช่วง คือ แปดโมงเช้าถึงราวๆ บ่ายโมง กับช่วง ๖ โมงเย็นถึงสี่ทุ่ม    แต่คนที่เป็นจำพวกนกฮูก จะต่างออกไปนะครับ   ความรู้นี้ช่วยให้เราจัดเวลาทำงานได้   ว่าควรเอางานสำคัญมาทำในช่วงไหนของวัน   

เรื่องพึงระวังในชีวิตคือเรื่องการตื่นแบบสลึมสลือ ที่เรียกว่า sleep inertia   ซึ่งบางคนและในบางครั้งเกิดนานเป็นชั่วโมง   ความรู้ทางวิทยาศาสตร์บอกว่าในช่วงนั้นปฏิกริยาตอบสนองช้าลงถึง ๓๖๐ %  หากขับรถในช่วงนั้นโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงมาก,  ความสามารถในการประมวลข้อมูลลดลง ๗๐%,   ความสามารถในการตัดสินใจอย่างถูกต้องลดลง ๕๑%   

ในช่วงชีวิตของคนเรา  ต่างช่วงชีวิตมีช่วงเวลานอนต่างกัน    คนหนุ่มสาว (อายุราว ๒๐) ช่วงเวลานอนตามธรรมชาติคือราวๆ ตีหนึ่งไปถึงเก้าโมงเช้า   เราจึงเห็นนักศึกษาที่บังคับตัวเองไม่ได้นอนตื่นสายมาเข้าเรียนไม่ทันอยู่บ่อยๆ   

แค่เรื่องการแปรงฟันอย่างถูกต้องก็มีวิทยาศาสตร์อยู่มากมาย    ที่สำคัญคือเรื่องยาสีฟัน ที่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าต้องใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันฟันผุ   และเขาเตือนว่าให้ระวังยาสีฟันที่โฆษณาว่าช่วยให้ฟันขาว เพราะอาจเป็นตัวการทำให้เคลือบฟัน (enamel) สึก   

การเข้าสังคม ได้คุยกัยเพื่อนที่ถูกคอ ทำให้ฮอร์โมนโดปามีนหลั่งจากสมอง    ทำให้รู้สึกมีความสุขความพอใจ    และฮอร์โมน อ็อกซี่โทซินหลั่ง ช่วยให้เกิดความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด   ผลงานวิจัยบอกว่าการมีแวดวงสังคมกับเพื่อน และมีความใกล้ชิดในครอบครัว ช่วยให้สุขภาพดี ทั้งทางกายและทางจิต   การได้เอาใจใส่ดูแลและแสดงความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ช่วยความสมดุลทางอารมณ์    เรื่องนี้ผมประสบกับตนเอง    จากการได้ดูแลภรรยาที่เป็นโรคสมองเสื่อม ตามที่เล่าใน (๑)    มีคนมาแสดงความเห็นใจ บางคนก็ชื่นชมผม   แต่ผมพบว่าการได้ดูแลเธอกลับทำให้ผมมีความสุข    คงจะเพราะฮอร์โมนหลั่งนี่เอง         

ตอนบ่ายหลังอาหารเที่ยง เรามักหมดแรง และง่วงนอน    ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ    เพราะหลังอาหารเลือดไปเลี้ยงทางเดินอาหารมาก    ยิ่งกินมื้อหนักยิ่งง่วง    ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของอาการนี้คือ postprandial drowsiness     วิธีแก้ที่ดีคืองีบสัก ๒๐ นาที    

การนั่งนานๆ ทำลายสุขภาพ    หนังสือให้แผนผังบอกว่า นั่งนาน ๑๐ นาทีปอดขยายตัวน้อย  นั่งนาน ๑๐ ชั่วโมงต่อวันหลายๆ สัปดาห์ กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย    คนนั่งนานๆ เป็นนิสัยเบาหวานจะถามหา โรคหัวใจจะตามมา     เขามีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด   

เรื่องสุดท้ายที่ขอนำมาเล่าสั้นๆ คือ การตัดสินใจโดยใช้สัญชาตญาณ (gut instinct)    เขาบอกว่าควรใช้การตัดสินใจแบบนี้เฉพาะเรื่องที่ตนเองมีประสบการณ์สูงเท่านั้น    และอธิบายว่า ในสภาพเช่นนั้นสมองส่วน amygdala และ hippocampus จะร่วมกันสั่งสมความจำเชิงอารมณ์ไว้   และสามารถให้การตัดสินใจโดยไม่ผ่านเปลือกสมองส่วนหน้า     เขาให้แผนผังของการตัดสินใจ แสดงเงื่อนไขที่บอกว่าควรใช้การตัดสินใจแบบใช้ gut หรือ hunch   สรุปว่า ต้องมีข้อมูลครบถ้วนรอบด้านเพียงพอ  ไม่ใช่หลับหูหลับตาตัดสินใจ   

ที่นำมาเล่านี้ เป็นไม่กี่ประเด็น ตามในหนังสือซึ่งมีถึง ๒๑๙ ประเด็น

บันทึกนี้ และบันทึกที่จะลงใน blog ThaiKM ในวันศุกร์ทุกศุกร์ต่อจากนี้ไปอีกหลายเดือน    จะเป็นบันทึกจากการฝึกเขียนจาก critical reflection จากการอ่านหนังสือแบบอ่านเร็ว    ใช้เฉพาะหัวข้อ และ keywords ในหนังสือ เป็นตัวกระตุ้น   ไม่ได้อ่านสาระในหนังสือโดยละเอียด   เพราะมีหนังสือให้อ่านจำนวนมาก    

ขอขอบคุณ นพ. เนตร รามแก้ว ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้จากเยอรมนี  

วิจารณ์ พานิช

๒๙ เม.ย. ๖๔        

 

หมายเลขบันทึก: 691225เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2021 18:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2021 18:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท