อุดมศึกษาไทย ระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่ : โลกแห่งการเรียนรู้ร่วม กันอย่างเท่าเทียม โดย รศ. ประภาภัทร นิยม


 

 

“อุดมศึกษาไทย ระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่ : โลกแห่งการเรียนรู้ร่วม กันอย่างเท่าเทียม”

รองศาสตราจารย์ ประภาภัทร นิยม อธิการบดี สถาบันอาศรมศิลป์ [email protected] 

 

เมื่อปี 2015 มีหนังสือเกี่ยวกับอุดมศึกษาเล่มหนึ่ง เป็นที่กล่าวขานในสื่อดังๆที่น่าติดตามเช่น The New York Times Book Review, The Washington Post, Forbes, The Atlantic, The New York Journal of Books และอื่นๆอีกมาก ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะเพียงแค่ชื่อเรื่องก็ต้องหยุดมองแล้วรีบเปิดอ่านในทันที    หนังสือ เล่มนั้นคือ “The End of College : Creating the Future of Learning and the University of Everywhere”   เขียนโดย Kevin Carey ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการ The Education Policy Program at the New America Foundation    ผู้เขียนสามารถนำเอารายงานจากการวิจัยเชิงลึกเป็นเวลาหลายปีออกมาฉายให้เห็นภาพเสมือนจริง ที่น่าตื่นเต้นของอนาคตของการศึกษา โดยได้สะท้อนประเด็นย้อนแย้งและควรไตร่ตรองหลายประการ   ซึ่งแน่นอนว่าการมีอยูของสถาบันที่เรียกว่าอุดมศึกษา โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ย่อมผูกพันและเป็นเงื่อนไขต่อ การดำเนินนโยบายทางด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจอย่างแยกไม่ออก    โดยการลงทุนของรัฐต่างๆแต่ละแห่ง ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ ได้มีส่วนกำหนดทิศทางและความโดดเด่นเชี่ยวชาญของสถาบันให้ แตกต่างกัน    ในขณะเดียวกันก็ต้องชิงหรือแข่งขันสู่ความเป็นหนึ่งของมาตรฐานวิชาการขั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งใน ประเทศและในระดับสากล     แน่นอนว่ากระบวนการเหล่านี้ได้สร้างความงอกงามทางด้านความรู้  การวิจัย  การทดลอง และสร้าง/พัฒนานวัตกรรม  ตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆขึ้นอย่างมากมาย    ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องค่าเล่า เรียนและค่าใช้จ่ายต่อหัวของผู้เรียนที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นเหตุของความเหลื่อมล้ำทางสังคม และได้รับการขนานนามว่าหอคอยงาช้าง    

ผู้เขียนจึงได้เสนอประเด็นที่สำคัญคือการผสานบทบาทระหว่างอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียง ที่สุดของโลกกับผู้ประกอบการทางด้านเทคโนโลยีที่ทรงพลังสร้างการปฏิวัติอุดมศึกษา    ซึ่งจะทำให้การเรียน หลักสูตรต่างๆที่เคยเข้าถึงได้โดยกลุ่มคนชั้นสูงไม่กี่คนมาร่วมศตวรรษนั้น  ได้รับการปลดปล่อยไปสู่ผู้เรียนนับล้านทั่วโลก โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย    

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกชุดหนึ่งคือ “การอุดมศึกษาไทยในรอบศตวรรษ : จากโอกาสและความหวังในอดีต สู่วิกฤตคุณค่าปริญญาในยุคอุดมศึกษาประชานิยม” ปี 2559    ซึ่งเป็นหนังสือรายงานจากโครงการศึกษาพัฒนาการ ของระบบบริหารอุดมศึกษาไทยในรอบศตวรรษ ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันคลังสมองของชาติ  ร่วมกับ คณะอนุกรรมการวิจัยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หัวหน้าโครงการคือ ดร. อมรวิชช์ นาครทรรพ     ซึ่งได้ ฉายภาพของการศึกษาย้อนอดีตสู่ปัจจุบัน    ได้ชี้ประเด็นสำคัญไว้หลายประการ ดังเช่นที่ปรากฏในคำนิยมของ ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่กล่าวว่า  จากมุมมองประวัติศาสตร์  มหาวิทยาลัยควรมองเห็นโจทย์ใหม่ในอนาคตที่ต่างจาก อดีต    เช่น ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย   อุดมศึกษาที่ไม่ละเลยสังคม (Inclusive higher education) และไม่ทอดทิ้งคนวัยทำงาน  ทักษะการเรียนรู้และสมรรถนะในศตวรรษที่ ๒๑   การอยู่ร่วมกันและการแข่งขัน เป็นต้น    ทั้งนี้ เนื่องจากในอดีตการกำเนิดของอุดมศึกษาไทยก็มีความเกี่ยวข้องและเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสังคม การเมืองและการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด   เช่นที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงไว้ 6 ช่วงด้วยกัน   ได้แก่  ช่วงที่ 1 จุดกำเนิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกแผ่นดินในรัชกาลที่ 5  กระบวนการทำให้เป็นตะวันตกและ การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ในสังคมไทย     ช่วงที่ 2 คือความพยายามทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กับการสร้างความเท่าเทียมทางสังคมผ่านการศึกษา    ช่วงที่ 3 การเข้ามาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหลังสงครามโลก และการขยายตัวของระบบ การศึกษารองรับเศรษฐกิจไทย   ช่วงที่ 4 ความฮึกเหิมของกระแสประชาธิปไตย หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กับการเรียกร้องโอกาส ทางการศึกษาทุกระดับ    ช่วงที่ 5 การเติบโตของเศรษฐกิจฟองสบู่ในช่วง ทศวรรษ 2530 กับกระแสการพัฒนาการศึกษาเพื่อการ แข่งขันทุกระดับ    และสุดท้าย ช่วงที่ 6 กระแสโลกาภิวัตน์ หลังปี พ.ศ. 2540   

ความคิดแบบปัจเจกนิยมในสังคมไทย และกระบวนทัศน์ประชานิยมในการจัดการศึกษา ทั้ง 6 บริบทและความต้องการของสังคมในแต่ละช่วงล้วนมีผลกระทบสำคัญ    อันเป็นจุดเปลี่ยนของ เส้นทางพัฒนาการของอุดมศึกษาไทยทั้งสิ้น ในหนังสือเล่มนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาระบบบริหารอุดมศึกษาไทยไว้อย่างน่าสนใจมากเช่นกัน     เช่น การกล่าวถึงประเด็นที่ท้าทาย  เช่นกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม ถึงคุณภาพการอุดมศึกษา “คำสัญญาที่ว่างเปล่า” ใบปริญญาบัตรที่ลดค่าลงอย่างน่าใจหายในรอบไม่กี่ 10 ปี    กับ การที่ไทยมีสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญากว่า 200 แห่งและจำนวนนิสิตนักศึกษาทุกระดับรวม 1.4 ล้านคน 

ผู้เขียนกล่าวถึงประชาคมอุดมศึกษาที่ควรทบทวนบทบาทหน้าที่  และก้าวที่จะเดินต่อไป ในฐานะองค์กรที่ยังคงมีพันธกิจและหน้าที่สำคัญต่อสังคม  โดยเน้นให้ถอดบทเรียนทั้งข้อดี  แต่ที่สำคัญคือ ข้อผิดพลาดจากอดีต มาเป็นการจุดประกายการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานที่เป็นเชิงโครงสร้างการบริหาร จัดการ (hardware)   เช่น สถานภาพขององค์กร หรือของสถาบันที่มีองค์ประกอบกลไกการทำงาน และบทบาท ผู้นำ การส่งทอดภูมิปัญญา และจริยธรรม    ตลอดจนการพัฒนาระบบตรวจสอบด้านธรรมาภิบาลและการ เสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อความเป็นเลิศของสถาบันและการบริหารจัดการความเสี่ยงและความเปลี่ยนแปลง ต่างๆ ตามบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างมากมายและยากจะคาดการณ์ได้  

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแม่บทของระบบ การทำงาน ที่อาจพัฒนาไปเป็นวัฒนธรรมองค์กร   อย่างไรก็ดี แม้จะมีงานเขียนเชิงวิพากษ์การอุดมศึกษาทั้งระดับสากลและในประเทศไทยชัดเจนสักเพียงใด   และด้วยเจตนาที่จะมองอนาคต (ความอยู่รอด) ของอุดมศึกษา ในเชิงบวกอันจะมีคุณูปการต่อสังคมด้วยก็ตาม    ผู้เขียนบทความจึงอยากช่วยเปิดประเด็นที่อาจมีผลกระทบสูงต่อสังคมวงกว้างและอนาคตของลูกหลานเยาวชน ไทยในอนาคตอีก 2 ประการ  ที่ชี้ให้เห็นถึงการปฏิรูปกระบวนทัศน์ ทั้งในเรื่องการเรียนรู้ (ซึ่งกว้างและลึกกว่า การศึกษา)   และในเรื่องความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับสังคม ดังนี้ 

ประการที่ 1. 

“โลกแห่งการเรียนรู้ของคนยุคใหม่จะมีผลต่อการเปลี่ยน “ระบบการศึกษา” มาสู่ “ระบบนิเวศ การเรียนรู้” อย่างไร?”    ปัจจุบันโลกแห่งการเรียนรู้ไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่เป็นไปทั่วโลก กำลังเปลี่ยนไปมากทุกระดับ รวมทั้ง มหาวิทยาลัยด้วย    ในยุคนี้ (ทศวรรษที่สองของศตวรรษที่ 21) สังคมกำลังเผชิญความท้าทายอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว สัญญาณแรกที่ชัดเจนมากคือ จำนวนผู้เข้าเรียนระดับอุดมศึกษาลดลงอย่างน่าตกใจ  กับสัญญาณที่ 2 คือ สมรรถนะผู้ที่จบปริญญาไม่สามารถตอบโจทย์สมรรถนะการทำงาน ที่สังคมยุคปัจจุบันต้องการได้    เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิตอล เข้ามาแทนที่การทำงานด้วยสมองและสองมือของมนุษย์ อย่างรุดหน้าไม่หยุดยั้ง    เกิดประเภทงานใหม่ๆ ที่มีลักษณะแตกต่างและเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก    และสัญญาณที่ 3 คือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้อย่างไม่มีข้อจำกัด  เป็นเหตุหนึ่งที่ดึงดูดให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่โลกแห่งการเรียนรู้ที่ผู่ใหญ่ยากจะคาดเดาได้    ทั้งหมดนี้ได้ก่อให้เกิดกระแสความ ต้องการ การเรียนรู้ชุดใหม่ โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  ขณะเดียวกันก็เกิดกระแสการตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ อย่างเป็นอิสระนอกระบบอย่างหลากหลาย ไร้ขอบเขต  เข้าถึงง่าย ไม่ต้องจ่ายค่าเรียน ไม่ต้องรอลงทะเบียน ไม่ต้องแคร์ปริญญาบัตร  เรียนที่ไหนก็ได้  เรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีนได้เอง    คอร์สพิเศษต่างๆ อีกมากมาย ทั้งใน และต่างประเทศ ที่ช่วยเสริมสมรรถนะ ทักษะ และเข้าสู่การสร้างอาชีพด้วยตนเองได้ทันที    ทั้งมีแหล่งทุนที่สนับสนุน คนรุ่นใหม่ให้สร้าง Innovative Start-up กิจการของตัวเองพร้อมรองรับคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเหล่านี้อีกด้วย 

โลกการเรียนรู้ของคนยุคใหม่เป็นอย่างไร  หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าเด็กยุคใหม่ไม่สนใจ “ความรู้” แต่แท้ที่จริงแล้วเด็กไทยหรือ เยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมากได้สะท้อนให้เห็นถึงเจตจำนง และความสามารถในการ แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง จนสามารถนำไปใช้เพื่อสร้างสรรค์งานหรือนวัตกรรมที่น่าทึ่งต่างๆ อย่างชนิดที่ผู้ใหญ่ก็ตามไม่ทัน  และเราไม่ค่อยพบเห็นในยุคก่อนๆมา

ข้อน่าสังเกตก็คือ ชุดความรู้เหล่านั้นไม่ใช่ชุดที่อยู่ในบริบทของ โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือหลักสูตรมาตรฐานใดๆด้วยซ้ำ แต่เป็นชุดความรู้ที่มีความหมายต่อชีวิตและความ ต้องการของเขา ซึ่งเขาต้องอาศัย ความสามารถหรือสมรรถนะทางการเรียนรู้เป็นพิเศษ  ได้แก่   

     1) การ เข้าถึง “ชุด ความรู้” (knowledges) ที่มีความหมาย และมีความสำคัญมากกว่าเดิม  ในมิติของการเข้าใจอย่างลึกซึ้งและแจ่มแจ้ง แม่นยำจนกลายเป็นความรู้ของตนเอง   และสามารถประยุกต์ใช้ได้ ในสถานการณ์ต่างๆ 

      2) การพัฒนา “ชุด ทักษะ” (skills) เข้ามาอยู่ในสาระบบของการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการเข้าถึงแก่นความรู้ และกาฝึกฝนทักษะภายใน ตัวผู้เรียน เช่น ทักษะการคิดขั้นสูง และการแก้ปัญหา ทักษะการจัดการตนเองและเรื่องราวรอบตัว ทักษะการ ทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะความสร้างสรรค์นวัตกรรม ฯลฯ และ 

      3) การปลูกฝัง “เจตคติ” หรือทัศนคติเชิงบวก (attitude) และคุณค่า หลักของมนุษย์ (human core value) แน่นอนว่าการเรียนรู้ที่เขาแสวงหานั้นล้วนมีอิทธิพล เข้าถึงใจและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพภายในได้อีกด้วย 

ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการเปลี่ยนแปลง software ของการเรียนรู้ใหม่ ที่ก่อร่างสร้างคุณภาพใหม่  หรือ สมรรถนะอีกระดับหนึ่งขึ้นแล้ว ซึ่งไม่มีมาก่อนในระบบ การศึกษาเดิม และจะไม่ถอยกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป    อาจใช้คำศัพท์ทางวิชาการว่า “การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนผ่าน” (Transformative Learning, Merziro, 1997) หรืออาจจะใช้ศัพท์ทางวิชาการอีกชุดหนึ่ง เรียกสไตล์การ เรียนรู้เหล่านี้ว่า “การเรียนร้แบบองค์รวม” (Holistic Learning, John Miller,1988) ครบทั้ง 3 มิติคือ Head-Hand-Heart (K-S-A) ก็ได้   หมายความว่า ผู้ใหญ่ คนรุ่นเก่า บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาไม่ว่าระดับไหน ถึงคราวที่จะต้องทำความเข้าใจ “ระบบนิเวศน์การเรียนรู้ใหม่” ทั้งระบบที่เชื่อมโยงสมรรถนะการเรียนรู้ภายในของ มนุษย์ และสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้    ซึ่งพบว่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาถึงแม้ศาสตร์เกี่ยวกับการ เรียนรู้จะได้รับการพัฒนาไปมาก ทั้งในด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ และการทำงานของสมอง สุขภาวะทางปัญญา   ซึ่งเกี่ยวกับสติสัมปชัญญะ และความมั่นคงทางจิตใจ    ตลอดจนการศึกษาเพื่อการปลดปล่อย (Emancipatory) อัน คำนึงถึงปัจจัยหรือธรรมชาติการเรียนรู้ภายใน ที่สำคัญยิ่งของมนุษย์ หากแต่การพัฒนาศาสตร์แห่งการเรียนรู้ เหล่านี้และการนำไปใช้ก็ยังล้าหลังกว่าปัจจัยภายนอก ซึ่งได้แก่สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพสูงและรวดเร็ว ดังเช่น วิวัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงจาก analog age มาสู่ digital age ที่ ส่งผลกระทบให้เกิดการเสียสมดุลของระบบนิเวศน์การเรียนรู้ โดยที่ปัจจัยภายในและภายนอกไม่เกื้อหนุนอย่างสอดคล้องกัน    เพราะหากยิ่งการพัฒนาปัจจัยการเรียนรู้ภายนอกให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเท่าใด  ปัจจัยการเรียนรู้ภายในก็ยิ่งต้องพัฒนาให้เท่าทันตนเองในการนำการเรียนรู้นั้นๆไปสู่การพัฒนาตน พัฒนาสังคม มากขึ้นเท่านั้น    เพื่อมิให้ตกเป็นเพียงผู้รับข้อมูลที่ท่วมท้นอย่างไร้ทิศทาง    

หากเรามองเข้าไปในสถาบันการศึกษาต่างๆในปัจจุบัน เราจะเริ่มสังเกตเห็นผู้เรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา รวมทั้งอุดมศึกษา มีบุคลิกและพฤติกรรมการเรียนรู้ที่แตกต่าง จากคนรุ่นก่อนอย่างมาก    พวกเขาได้รับการเรียนรู้ หล่อหลอมตามธรรมชาติของสังคม    แม้ว่าขณะที่อยู่ในสถานะของ นักเรียน หรือ นักศึกษา เขาจะคล้อยตามแบบแผนการศึกษาเดิม   แต่เขาก็สะท้อนความแตกต่างของพฤติกรรมการเรียน ทั้งในด้านแรงจูงใจ เฉพาะตน เช่น จากเดิมที่เคยเรียนเพื่อมีความรู้ไปสอบให้ผ่านโดยยังไม่รู้ว่าจะนำไปใช้ทำอะไร หรือประกอบอาชีพ เพื่อการดำรงชีวิตแบบไหน กลับกลายเป็นว่ามีเป้าหมายเฉพาะหน้า    อยากจะทำงานเพื่อการบรรุผลบางอย่าง และ เริ่มแสวงหาความรู้ชุดที่นำไปใช้ตอบโจทย์นั้นๆได้ทันที     เริ่มค้นหาชุดความรู้ที่เหมาะกับความถนัดและทดลองใช้ เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญของตนเองขึ้นได้  จนอาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่เตรียมไว้ให้เด็กเรียนนั้นเป็นสิ่งที่ ไม่ได้อยู่ในโลกปัจจุบันของเด็กและเยาวชนเสียแล้ว ถึงแม้ว่าความรู้เหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ก็ตาม    และไม่ได้หมายความ ว่า ผู้เรียนยุคใหม่ไม่ต้องการความรู้   หากแต่ตรงกันข้าม  ผู้เรียนกลับพร้อมที่จะเป็นผู้เรียนแบบใฝ่รู้ (active learners)   ไม่ยอมเป็นผู้ถูกกระทำ หรือเป็นผู้ถูกสอน (passive learners)   ซึ่งยังไม่ทันเกิดกระบวนการเรียนรู้ของ ตนเองขึ้นด้วยซ้ำ    คือมีแต่ฝ่าย input   และแน่นอนว่ากระบวนการสอนความรู้แบบให้ด้านเดียวเป็นชิ้นความรู้ล้วนๆ ที่ผู้เรียนๆแลวก็ยังไม่รู้ว่า ความรู้นั้นเกี่ยวข้องกับความเป็นจริงรอบตัวอย่างไร จะนำไปใช้ทำอะไร ใช้อย่างไร    สถานการณ์เช่นนี้จึงกลับกลายเป็นเหตุผลักดันเด็กและเยาวชนที่ยังหาแรงจูงใจใฝ่รู้ของตนไม่เจอ เริ่มปฏิเสธและห่างเหินการเรียนในแบบแผนดังกล่าว  ไม่ว่าจะด้วยวิธีการที่เงียบเชียบหรือที่ชัดแจ้งก็ตาม   ทั้งนี้เพราะโลกการ เรียนรู้ของคนยุคใหม่ ไม่อาจตอบสนองเพียงเข้าถึงความรู้ ว่า “รู้อะไร?” (Knowledge) เท่านั้นก็พอ หากแต่ต้องการความเข้าใจอย่างรอบด้านและลึกซึ้ง เช่น “ใช้ทักษะ (Skills) อะไร ?” ในการสร้างและใช้ความรู้นั้น  และ ต้องรู้ว่า “รู้ไป ทำไม ? นำไปทำอะไรได้ ?” (Attitude) ครบทั้ง 3 เป้าหมายของการเรียนรู้ เพราะทั้ง 3 มิตินี้ทำให้ การเรียนรู้มีความหมายและมีคุณค่าต่อชีวิตจิตใจของเขาได้จริง

อาจกล่าวได้ว่า ระบบนิเวศของการเรียนรู้ยุคใหม่ กำลังจะมาแทนที่ระบบการศึกษายุคเดิมเสียแน่แล้ว    หาก บรรดาครูอาจารย์ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กและเยาวชนในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ ลองหันกลับไปสังเกตความ เป็นไปของสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนของท่าน และพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน นักศึกษาของเรา    ก็ แทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันได้ว่า พวกเขาดำเนินวิถีการเรียนรู้แบบ “ทวิภพ” ที่อยู่คาบเกี่ยวระหว่างระบบการศึกษาแบบแผนเดิมกับระบบนิเวศการเรียนรู้แบบเปิด    

แน่นอนว่าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยบางแห่ง ได้รับรู้ และมองเห็นว่านี่เป็นโอกาสแห่งการพัฒนาคุณภาพการเรียนที่มีประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มี สมรรถนะสูงกว่าเดิม จึงได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการเรียนรู้ตลอดจนหลักสูตรบางส่วน  หรือเพิ่มเติมแตกต่างจากหลักสูตรเดิม ไปบางส่วนมานานพอสมควร ไม่น้อยกว่า 2 ทศวรรษแล้ว    และแม้ว่าโครงสร้างการจัดการจะยังคงอยู่ในแบบแผนเดิมก็ตามที    เราก็ยังได้เห็นสถานศึกษาหรือสถาบันที่สร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆเกิดขึ้น โดยเฉพาะในระดับปฐมวัย และ การศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองจะมีความกระตือรือร้น และต้องการ แสวงหาการเรียนรู้ที่เหมาะแก่การเติบโตในยุคปัจจุบัน    รวมทั้งแรงกระตุ้นจากกระแสโลก ดังเช่น การทดสอบ PISA ของ OECD ที่ทดสอบเยาวชนอายุ 15 ที่จบการศึกษาระดับมัธยมต้น ที่ดำเนินโครงการต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา ประมาณเกือบ 10 ปี (2012-2019) ทำให้เกิดความตื่นตัวของระบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในประเทศไทย ที่ยังไม่อาจยกระดับคุณภาพผู้เรียนได้ทันมาตรฐานสากล     และในขณะนี้แนวทางและเป้าหมายการจัดการศึกษาที่ส่ง สัญญาณมาจาก OECD ก็ยังเน้นที่ ผลลัพธ์อันพึงประสงค์ของผู้เรียนเป็นหลัก (Desired Outcomes of Education) ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย    ให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการจัดการศึกษา กล่าวคือ การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ จากการอิงมาตรฐาน (Standard based Curriculum) ไปสู่การอิงสมรรถนะผู้เรียน (Competency based Curriculum) อยู่ในขณะนี้ 

สำหรับกระแสการเปลี่ยนแปลง ในประเด็นเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ใน ระดับอุดมศึกษาไทยนั้น อาจจะยังไม่เห็นการขับเคลื่อนในระดับนโยบายที่ชัดเจน    แต่บ้างสถาบันไดเริ่มดำเนินการ มาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย  ดังเช่น การเกิดหน่วยงานหรือสถาบันการเรียนรู้ ขึ้นภายใน เพื่อสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ และยกระดับสมรรถนะของคณาจารย์ให้สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง  หรือ สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกันขึ้น  ซึ่งเปรียบเสมือนการปรับปรุงระบบการพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัย ให้มี ความเข้าใจถึงประสิทธิภาพ การเรียนรู้จากภายใน และวิธีการออกแบบการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ลึกซึ้งขึ้น   

 อย่างไรก็ตามกระแสดังกล่าวยังไม่มีพลังอำนาจพอที่จะปรับมุมมองของการเรียนรู้ในอุดมศึกษาทั้งระบบ ให้เป็นการศึกษาที่อยู่ในระบบนิเวศเดียวกับสังคม   จึงเกิดภาวะย้อนแย้ง เหมือนการวิ่งอยู่บนลู่วิ่งไฟฟ้าสำหรับออก กำลังกาย   แม้จะก้าวไปข้างหน้า  แต่กลับวิ่งอยู่กับที่   เพราะลู่นั้นมิได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ หากวิ่งไปในทิศทางตรงกันข้าม กับเราด้วย    ในบางวาระเราจะได้ยินเสียงจากครูบาอาจารย์  ปราชญ์ ราชบัณฑิตสยาม เช่น ศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ ที่เขียนไว้ ในหนังสือชื่อ “อุดมศึกษา : ด้วยหวังให้บัณฑิตจิตดีงาม” (2559) ที่ กล่าวถึงอุดมคติของอุดมศึกษา โดยอ้างอิงโพธิมหาวิชชาลัย จาก พระราชนิพนธ์พระมหาชนก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช สมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งท่านอาจารยสุมนได้ยกข้อความเกี่ยวกับการแก้ปัญหาบ้านเมือง และปัญหา ของประชาชน เพื่อสังคมที่สับสนถูกครอบงำด้วยความโลภ ความโกรธ และความหลง    ผู้คนขลาดเขลาอยู่ในโมหภูมิ    สถาบันการศึกษาจึงมีหน้าที่หลัก 4 ประการ คือ 1. ช่วยคนให้พ้นจากความเขลาและหลงผิด 2. อบรมสั่งสอน ความรู้ที่เป็นวิทยาการทั้งในด้านเทคนิค (technical knowledge) และความรู้ทั่วไป (common knowledge) 3. สร้างสรรค์ความรู้ที่เป็นฐานที่เกิดแห่งปัญญา และ 4. แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์แท้ และฝึกฝนผู้เรียนให้พากเพียร ปฏิบัติจนบรรลุประโยชน์นั้น

ท่านสรุปว่าหลักการทั้งสี่นี้เป็นหลักอุดมคติการจัดการ ศึกษา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นฐานนำไปสู่บทบาท หน้าที่ของมหาวิทยาลัย    และให้ความเห็นว่ามหาวิทยาลัยไทยมุ่งพัฒนาบัณฑิต ให้มีความรู้เฉพาะวิชาชีพ ซึ่งน่าจะมี สัดส่วนสมดุล ระหว่างองค์ความรู้ที่เป็นสากลของศาสตร์สาขานั้น กับองค์ความรู้ที่เป็นรากเหง้าภูมิปัญญาของไทยเอง    นิสิต นักศึกษา ควรถูกปลุกเร้าให้แสวงหาความรู้ รู้วิธีสืบค้น ทดลอง ทบทวนความรู้ เพื่อประจักษ์แจ้ง ว่าตนยังไม่รู้อะไร และจะแสวงหาคำตอบได้อย่างไร เป็นต้น    ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการจัดสัดส่วนเพิ่ม ในด้านที่เป็นสมรรถนะภายในของผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้ได้สมดุลกับศาสตร์และความรู้ต่างๆที่เรียน    

แม้ในกระแสสากลก็มีเสียงสะท้อนในทำนองนี้เช่นเดียวกัน    ดังหนังสือชื่อ “ Philosophy, Rhetoric and The End of Knowledge : A New Beginning for Science and Technology Studies” by Steve Fuller, University of Warwick, UK.1993 จึงอาจถึงเวลาที่การอุดมศึกษาไทยจะต้องทำความเข้าใจและก้าวออกจากระบบความเชื่อเดิม มาสู่ระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่อย่างแน่นอน  ไม่ช้าก็เร็ว 

ประการที่2. 

นวัตกรรมองค์กรอุดมศึกษายุคใหม่ บทบาทของหุ้นส่วนการเรียนรู้ร่วมกับสังคมอย่างเท่า เทียมและเท่าทันโดยไม่ทิ้ง ใครไว้เบื้องหลัง”   จะส่งผลต่อการปรับระบบการบริหารจัดการอุดมศึกษาไทย หรือไม่?    ที่ผ่านมา ความสำเร็จในด้านความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยไทย มีอยู่แล้วอย่างไม่ต้องสงสัย    เพราะมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย หลายๆแห่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมาเป็นเวลาช้านาน   รวมทั้งการผลิตบัณฑิตซึ่งมี ความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาอาชีพต่างๆในอดีต ก็ได้สร้างกำลังบุคลากรที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมอย่างมีนัยยะสำคัญมา เป็นเวลาช้านานเช่นกัน    และแม้ปัจจุบันที่ความต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง    แต่มหาวิทยาลัยหลาย แห่งก็ได้มีการปรับตัว ปรับบทบาทในการผลิตบัณฑิตให้ตอบสนอง ความต้องการใหม่ๆได้ทันท่วงที  ไม่มากก็น้อย  ดังที่เห็นได้จากการ เปิดหลักสูตรใหม่ๆ ตลอดจนการร่วมทำงานวิจัยเพื่อตอบสนอง ความ ต้องการของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ภาคการผลิตและบริการที่ทันสมัยระดับสากล ดังเช่น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข  ด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร  ด้านเกษตรกรรม  รวมทั้งภาคราชการต่างๆ เป็นจำนวนมาก     

หากมองย้อน เวลากลับไป จะเห็นกระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ดำเนินมาหลายยุคสมัย ทั้งระบบปิดและระบบเปิด รวมทั้งกึ่ง ปิดกึ่งเปิด    มหาวิทยาลัยไทยไม่ได้หยุดนิ่ง หากแต่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อจะตอบโจทย์ความต้องการของสังคมมา อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญประเทศไทยมีจำนวนมหาวิทยาลัย /สถาบัน อุดมศึกษามากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ   ดู เหมือนว่าเป็นโอกาสดี เยี่ยมต่อการพัฒนาเยาวชนให้เป็นประชาชนที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง    

แต่ในขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากมุมมองอีกด้านหนึ่ง จะพบว่า ถึงจะมีมหาวิทยาลัยระดับอุดมศึกษา เป็นจำนวนมากเท่าใดก็ตาม ยังคงมีเยาวชนอีกเป็นจำนวนมากกว่า หรือเป็นส่วนใหญ่  ยังไม่อาจได้รับประโยชน์  หรือยังเข้าไม่ถึงการศึกษาระดับนี้   โดยที่สังคมคาดหวังว่าพวกเขาล้วนเป็นอนาคตของชาติ ที่ควรจะได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ยังคงมีความเหลื่อมล้ำอยู่ภายใต้ความมีอยู่และเป็นไปของมหาวิทยาลัย    ซึ่งถือ ว่ามีมาตรฐานการผลิตบัณฑิตที่ดีในระดับหนึ่งแล้ว    แต่อาจยังไม่ตอบโจทย์ความท้าทายการเปลี่ยนแปลงของระบบ นิเวศน์การเรียนรู้ใหม่ได้    ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ในปัจจุบันยังสะท้อนถึงช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วนมากขึ้นไปอีก   ที่ เราต่างมาถึงทางแยกที่ต้องตัดสินใจเลือกเดิน เพราะระบบนิเวศน์การเรียนรู้กำลังถูกท้าทายด้วยปฏิกิริยาเร่งที่ รุนแรง  เช่นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ซึ่งทำให้สังคมทั้งโลกต้องปรับวิถีการดำเนินชีวิตใหม่  เพื่อการดำรงอยู่ที่ยั่งยืน ปลอดภัย     แม้ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ด้วยความรอบรู้ทาง เทคโนโลยีการแพทย์และสาธารณสุขที่ก้าวหน้าให้ทันปัญหาเฉพาะหน้าก็ตาม    แต่ก็มีสัญญาณบ่งบอกว่า การดำเนินวิถีชีวิตอาจไม่สามารถกลับไปสู่แบบแผนดั้งเดิมได้อีกต่อไป    อาจกล่าวได้ว่า ถึงคราวที่ต้องออกแบบสังคมกันใหม่   และในกระแสของการเปลี่ยนผ่านสู่วิถีที่ยั่งยืนปลอดภัยนี้   ผู้คนในสังคมต้องการการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเท่าเทียม เท่าทัน ที่นอกเหนือไปจากการเรียนรู้ที่จำกัดในแบบแผนเดิม ทั้งเจตจำนง และเป้าหมาย และผลผลิต ในสถานการณ์แห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้    

หากมองเป็นโอกาสและความท้าทายที่อยู่ตรงหน้า  และเพื่อตอบโจทย์อนาคตอันใกล้ ของระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่  สถาบันอุดมศึกษาไทยจะสามารถปรับบทบาทให้มีความหมาย ต่อการขับเคลื่อนนวัตกรรม หรือ ออกแบบระบบนิเวศการเรียนรู้ ไปข้างหน้าได้หรือไม่    เป็นคำถามที่ชวนให้ใคร่ครวญและย้อนกลับมาสำรวจสถานะของอุดมศึกษาไทย ในปัจจุบันว่าอยู่ในฐานะองค์กรแห่งการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด  เช่น ในมิติของโครงสร้างซึ่งเดิมทีเคยยึดโยงกับพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาฉบับเดิม ซึ่งแสดง เจตจำนงไว้กับการผลิตบัณฑิตเป็นหลัก โดยต้องดำเนินตามกระบวนการที่แน่นอน ตั้งแต่ระบบการนำเข้าผู้เรียน  การนำเข้าผู้สอน การจัดแบบแผนการศึกษา หลักสูตรการสอน ที่เน้นการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลเป็นรายวิชา    ซึ่งมีการกำหนดกติกา วิธีการจัดการเรียนการสอน ด้วยการจำแนกประเภท การใช้เวลาเรียนระหว่าง ทฤษฎี การปฏิบัติและการฝึกงาน   รวมทั้งการศึกษาค้นคว้าไว้อย่างตายตัว จึงขาดโอกาสให้มีการจัดการเรียนแบบ บูรณาการกลุ่มวิชา หรือ บูรณาการข้ามศาสตร์ ขึ้นได้    แม้แต่การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง (individual study) ก็ยัง ถูกกำหนดเป็นรายวิชาเฉพาะ ทั้งๆที่การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองนั้น ควรจะเกิดขึ้นได้กับทุกรายวิชาและสอดคล้อง กับวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน   ทำให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งยังต้องจัดบทบาทของตนเพื่อสนอง ระเบียบปฏิบัติดังกล่าวอยู่อย่างเข้มข้น    ดังนั้น แม้ว่าขณะนี้ระดับนโยบายของประเทศได้เปลี่ยนแปลงทิศทางและบทบาทของการอุดมศึกษาไปแล้ว   ดังเช่นที่ปรับแยกการอุดมศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี 2562 และจัดตั้งเป็นกระทรวง อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขึ้นแทน โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์เป็นรัฐมนตรีว่าการคนแรก    อีกทั้งมีการปรับพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาฉบับล่าสุด เพื่อให้สะท้อนบทบาทใหม่  เป้าหมายใหม่ ของอุดมศึกษาไทย ซึ่งเป็นการบูรณาการพันธกิจทั้ง 3 เข้าด้วยกัน แบบ 3 เกลียวเชือก มิใช่แยกแต่ละพันธกิจออก ต่างคนต่างทำ  เพื่อให้ตอบโจทย์ การสร้างบุคลากรที่มีสมรรถนะครบทั้ง 3 มิติ   หรือสามารถทำงานร่วมกันได้ใน 3 มิติดังกล่าว     ให้เป็นกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้ทันท่วงที    นอกจากนี้ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ ยังได้เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อว่า “โลกเปลี่ยน คนปรับ”    เมื่อกล่าวถึง ห้วงวิกฤตสู่ห้วงโอกาส จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัส โควิด-19 ซึ่งมีบทที่ว่าด้วยเรื่องการเตรียม คนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในโลกหลังโควิด ท่านได้ชี้ประเด็นของโลกที่ไร้สมดุลย์ เริ่มต้นด้วย 7 ข้อบกพร่องในระบบการศึกษาไทย ประกอบด้วย 1) ยึดตัวผู้สอน มากกว่า ยึด ตัวผู้เรียน  2) เน้นการสอน มากกว่า การเปิดโอกาสให้เรียนรู้   3) ปรุงสำเร็จ มากกว่า เป็นเชื้อให้ไปคิดต่อ   4) เน้นลอกเรียน มากกว่า ความคิดสร้างสรรค์   5) เน้นท่องจำทฤษฎี มากกว่า ลงมือปฏิบัติ   6) เน้นการพึ่งพาคนอื่น มากกว่า การพึ่งพาตนเอง และ  7) เน้นการสร้างความเป็นตน มากกว่า การสร้างความเป็นคน    และกล่าวถึง 7 ภารกิจครูในโลกหลังโควิด ไว้อย่างน่าสนใจ นอกเหนือไปจากเรื่องจิตวิญญาณความ เป็นครูแล้ว ครูควรดำเนิน ภารกิจครูดังนี้  1) บูรณาการการใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการทำงาน   2) กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้แบบองค์รวม   3) เปลี่ยน “สังคมของพวกกู” เป็น “สังคมของพวกเรา”   4) พัฒนาโมเดลการเรียนรู้ในโลกหลังโควิด   5) เปิดโอกาส ให้เด็ก “กล้าลองถูกลองผิด” “เปิดรับความผิดพลาด” และ “ยอมรับความ ล้มเหลว”   6) ทำงานบนแพลตฟอร์ม การเรียนรู้ชุดใหม่  7) สร้างชีวิตที่สมดุล เพื่อเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์   โมเดลการเรียนรู้ในโลกหลังโควิด (โดยเฉพาะในข้อ 2 การกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้แบบองค์รวม  ซึ่งประกอบไปด้วย  1)การเรียนรู้อย่างมี “ความมุ่งมั่นและเป้าหมาย” (Purposeful Learning),  2) การเรียนรู้อย่าง “สร้างสรรค์” ( Creative Learning),  3) การเรียนรู้แบบมี “ส่วนร่วมและแบ่งปัน” (Collective Learning),  4) การเรียนรู้โดย “เน้นผลสัมฤทธิ์” (Result-based Learning)  เป็นต้น     และในช่วงท้ายยังได้เสนอโมเดลการขับเคลื่อนที่สมดุลในสังคมหลังโควิด ซึ่งมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ ความฉลาดรู้ของมนุษย์ (Human Wisdom)  ไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม (Social Well-being)  ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Economic Wealth)  และ ความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม (Environmental Wellness)    ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังชี้ ประเด็นของ “นวัตกรรมแบบเปิด” ซึ่งกำลังจะมาแทนที่นวัตกรรมแบบปิด ด้วย เหตุเพราะโลกปัจจุบันกำลังก้าว เข้าสู่ Open Source,  Open Innovation Economy ซึ่งต้องการกรอบแนวคิดของ Open Collaborative Platform หมายถึง คุณค่าที่สร้างขึ้นมาเพื่อคนๆ หนึ่ง ก็คือคุณค่าที่สร้างขึ้นมาสำหรับทุกคน เป็นสมบัติสาธารณะ   ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองที่เปิดกว้างและพลิกผัน    ตรงกันข้ามจากมุมมองเดิม ขณะเดียวกันก็สร้างการเปิดรับการเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างกว้างขวางยืดหยุ่นตลอดเวลา    ไม่มีผิดมีถูก 

หากสะท้อนมายังแนวทางการจัดการศึกษาในอุดมศึกษา จะมองเห็นโอกาสการเตรียมคนไทยยุคใหม่ที่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ภายใต้ระบบนิเวศการเรียนรู้ที่สมดุลเช่นกัน     หากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆในประเทศไทยจะตระหนักถึงอนาคตที่คาดเดาได้ยาก และมีความไว้เนื้อเชื่อใจในความเป็น มนุษย์ที่พัฒนาได้ของทั้งนิสิตนักศึกษา คณาจารย์ รวมทั้งผู้คนในชุมชนและสังคม  และเปิดรับการเป็นหุ้นส่วนแห่ง การเรียนรู้ร่วมกับผู้คนในทุกภาคส่วนอย่างไม่ทอดทิ้งกัน ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช เป็นผู้นำแนวคิดด้าน “การปฏิรูปการเรียนรู้” ที่ชัดเจนอีกผู้หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทักษะแห่งอนาคตใหม่  การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21 หรือการนำเสนอแนวคิดบทบาทครูผ่าน หนังสือเรื่องครูเพื่อศิษย์ และอื่นๆอีกหลายเล่ม อย่างต่อเนื่อง 

สำหรับข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการอุดมศึกษาที่สำคัญยิ่ง โดยพื้นฐานนั้นสอดคล้องกันกับข้อคิดเห็นของอีกหลายท่านดังกล่าวข้างต้นแล้วนั้น    แต่ที่จะนำมากล่าวถึงในที่นี้ และเป็นการเติมจิ๊กซอว์สำคัญที่ขาดหายไปซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพรวมที่สมบูรณ์ขึ้น ดังปรากฏในข้อเขียนของท่านใน 2 วาระ คือในหนังสือที่ท่านเขียนที่ ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม  ที่สหราชอาณาจักร (University Role : Public Engagement in UK) ซึ่งรวบรวมจากบันทึกในบล็อก GotoKnow ชุด “ เรียนรู้มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม ที่สหราชอาณาจักร” จากการร่วมประชุมและศึกษาดูงาน ระหว่างวันที่ 3- 9 ธันวาคม 2560 กับสถาบันคลังสมอง ของชาติ และหนังสืออีก 1 เล่ม ชื่อ ปาฐกถาเกียรติยศศาสตราจารย์ นายแพทย์กษาน จาติกวนิช ครั้งที่ 10 งาน ครบรอบ 50 ปี วันพระราชทานนาม 131 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต” (มิถุนายน 2562) ซึ่งเป็นการสานแนวคิดอย่างต่อเนื่อง และนำเสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า มหาวิทยาลัยแห่งอนาคตจะดำรงอยู่ได้ ต้องมีประโยชน์คุ้มค่า    ถ้ามหาวิทยาลัยไม่เปลี่ยนแปลงและให้ประโยชน์ไม่คุ้ม หลายแห่งก็คงต้องปิด     นั่นหมายความว่า Management platform ต้องเปลี่ยนเพื่อที่จะให้สนองความคาดหวังใหม่ของผู้เรียนและของสังคมนี้ได้     หัวใจสำคัญที่สุดคือต้องออกไปนอก Comfort zone และทำงานร่วมกับหุ้นส่วน    ซึ่งเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัย ควรทำอย่างจริงจัง และต่อเนื่องในการสร้างบุคลากรที่เข้มแข็งเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้แก่ประเทศไทยต่อไป    ในที่นี้ท่านได้อ้างอิงหนังสือ The End of College ของ Kevin Carey ในประเด็นที่ว่า The University of Everywhere ที่ชี้ให้เห็นสถานการณ์ทางเลือก จากมุมมองผู้เรียนว่า มีวิธีเรียนรู้วิธีอื่นดีกว่าเดิม     กล่าวคือ เรียน ที่ไหน เมื่อไร เร็วช้าแค่ไหน ก็ได้ / มีเพื่อนมาก จากทุกมุมโลก/ เรียน ฟรี / สอนโดยอาจารย์ที่เก่งที่สุด จาก มหาวิทยาลัยระดับโลก / มี ติวเตอร์ส่วนตัว คล้าย อ็อกซฟอร์ด และเคมบริดจ์ / รู้จักนักศึกษาเป็นรายคน แนะนำ เฉพาะตัว ซึ่งเป็นการเรียนที่ลงทุนถูกแต่ได้ผลมากกว่า  เป็นต้น    ท่านอาจารย์ได้เสนอบทบาทของมหาวิทยาลัยวว่า มี หน้าที่หลัก 4 อย่างซึ่งเคยพูดถึงกันมาแล้ว แต่อาจจะต้องตีความใหม่ ดังนี้ 1) สร้างคน 2) สร้างความรู้ 3) สร้าง บ้านเมือง 4) สร้างความดีงาม    ซึ่งก็คือการผลิตบัณฑิต วิจัย บริการวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม    แต่จะมองในมุมที่ขยายความและตีความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น   เช่น บทบาทรู้ร้อนรู้หนาวกับสังคม / จัดองค์กรตามสาขาวิชากับตามภารกิจประยุกต์ ใช้ความรู้ / ภารกิจวิชาการเชิงระบบ เช่น ระบบการศึกษา ระบบเกษตร ระบบ พลังงาน ระบบคมนาคม / จัดองค์กรและบริหารงานแบบตั้งรับกับแบบรุก / ทำบทบาทเดิมด้วยวิธีการที่ต่าง / มี การจัดการการเปลี่ยนแปลงอย่างได้ผล    ทั้งหมดนั้นมีรายละเอียดของมุมมองในแต่ละประเด็นที่น่าสนใจมาก ซึ่ง ล้วนเป็นไปเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ให้กับอุดมศึกษาที่มีความหมายต่อสังคมอย่างกว้างขวาง และเป็นเนื้อเดียวกัน   หมายความว่ามหาวิทยาลัยต้องเข้าไป “มีส่วนร่วม” (engage) กับหน่วยอื่นๆ  และระบบกลไกหลักต่างๆของสังคม เพื่อเสริมและพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น    การปรับเปลี่ยนบทบาทในลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นดังตัวอย่างที่ท่านยกมา คือมหาวิทยาลัย Arizona State ซึ่ง เปลี่ยนผ่าน (transform) ทั้งวิธีการและอุดมการณ์   จนกระทั่งยกระดับจากมหาวิทยาลัย no name มาเป็น top hundred ของโลก เพราะผู้นำ คืออธิการบดี Michael Crow ใช้หลัก “ไม่ได้เน้นเลือกคนเก่งมาเป็นนักศึกษา แต่ เน้นสร้างนักศึกษาเหล่านั้น ให้เป็นบัณฑิตที่เก่งและดี ให้เป็นคนมีคุณภาพ”   ในลักษณะเป็น “การสร้างพื้นที่ใหม่” (new platform) ของการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย    ท่านอธิบายว่า เป็นการพัฒนา Academic Platform ใน Real Sector ซึ่งมีทั้ง in campus platform และ in real sector platform มีการเพิ่มกิจกรรมหลักและ workload ของบุคลากรใน real sector มีการปรับสร้างสภาพแวดล้อมของการทำงาน และแรงจูงใจแบบใหม่ๆ  เช่น สร้าง Collaborating Center / Industry University Collaborating Center ในหลายๆ ประเทศทั้งอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย โดยเฉพาะเยอรมันนีกับญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมว่า Professor ในมหาวิทยาลัยต้องไปทำงานใน real sector เป็นต้น    นอกเหนือไปจากการสร้างการจัดการเชิง platform ใหม่ๆ แล้ว  ท่านยังได้เสนอวิชาการแนวใหม่ ที่เปลี่ยน จาก วิชาการแนว “Diffusion” ไปเป็น วิชาการแนว “Engagement” ซึ่งเป็นแนวโน้มของโลก    ทั้งนี้อาศัยการ “เปลี่ยนกระบวนทัศน์และวัฒนธรรมการทำงาน” (Mindset, Culture and Platform Change) ถึงแม้ว่าวิชาการ แนว Diffusion จะเคยใช้ได้ผลและเกิดประโยชน์มากมายต่อสังคมนับกว่า 100 ปีที่ผ่านมา  แต่บัดนี้เริ่มที่จะไม่ทัน กับอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลง     ดังนั้นแนวคิดของการเรียนที่ลงไปทำงานแบบร่วมมือกับ real sector เท่ากับ การได้ลงมือปฏิบัติในห้องทดลองจริง    ในกรณีนี้ท่านได้ยกเนื้อหาที่สรุปมาจากการไปดูงานกับสถาบันคลังสมองของชาติและได้เห็น University Public Engagement ระดับประเทศของสหราชอาณาจักร UK ซึ่งในสังคมไทยก็ได้เกิดกลุ่มขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยที่ชื่อว่า Engagement Thailand และมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 60 แห่งในเกือบ 200 มหาวิทยาลัยโดยมีหลักการของ Social Engagement ได้แก่ 1) ร่วมคิดร่วมทำแบบหุ้นส่วน  2) เกิดประโยชน์ร่วม แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  3) มีการใช้ความรู้ และเกิดการ เรียนรู้  4) เกิดผลกระทบต่อสังคมที่ประเมินได้    ทั้งนี้มีการ เปลี่ยนกระบวนทรรศน์ ที่สำคัญสองประการคือหนึ่ง จากแนวคิดการเป็นที่พึ่งและการช่วยเหลือสังคม มาสู่การเป็น หุ้นส่วนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  และกระบวนทัศน์ที่สอง จากแนวคิดวิชาการเพื่อวิชาการ มาสู่แนวคิดเป็นหุ้นส่วนวิชาการกับภาคชีวิตจริง   ดังนั้นมหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมจึงมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ 1) เปลี่ยนกระบวนทัศน์การทำงาน วิชาการ คือทำงานตามความรู้ความถนัดของตน (เอาความรู้เป็นหลัก) เปลี่ยนเป็นทำงานตามความต้องการหลัก ของประเทศไทย 4.0  (เอาความต้องการของ ประเทศเป็นหลัก)   2) เปลี่ยนแปลงพื้นที่ (platform) การทำงานวิชาการที่เคยอยู่ใน comfort zone ไปสู่ creativity zone   3) ปรับเปลี่ยนสู่โลกในศตวรรษที่ 21 โดยเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการดำรงอยู่/ เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ / เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงาน / และ เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดวงจรหรือระบบนิเวศการเรียนรู้ใน 4 มิติ คือ  “เรียนรู้ อย่างมีเป้าหมาย (purposeful learning) – การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ (generative learning) - การเรียนรู้เพื่อ ส่วนรวม (mindful learning) – การเรียนรู้เพื่อการนำไปปฏิบัติ(สู่การบรรลุผล) (result based learning)”   ซึ่ง ท่านได้โยงไปถึงแนวคิดของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เช่นกัน  4) เปลี่ยนจุดเน้นคือเน้นศาสตร์ ทฤษฎีเพียง 20% แต่ เน้นศาสตร์ปฏิบัติ 80% (Phronesis)    นอกจากนี้ ท่านได้เสนอแนวคิดและแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอีกหลายโมเดล ที่หากสถาบันใดนำไป วิเคราะห์ เปรียบเทียบกับบริบทของสถาบันนั้นๆ จะได้พบคำตอบที่สามารถนำไปสร้างแนวทางการพัฒนาปรับเปลี่ยน และตระหนักถึงสถานภาพความเป็นอุดมศึกษาแห่งอนาคตที่มิใช่เพิ่งมาถึงแต่ได้มาเยือนเราเป็น เวลานานพอควรแล้ว     เพียงแต่หลายคนอาจมองข้ามไป    

ดังนั้นด้วยเหตุผลและร่องรอยการเปลี่ยนแปลงของโลกและ สังคมไทยในปัจจุบัน พร้อมทั้งคำเตือน ข้อชี้แนะต่างๆดังที่ได้นำมาเสนอในที่นี้พอเป็นสังเขป คงเพียงพอที่จะช่วย เปิดทางสว่างให้กับชาวมหาวิทยาลัยได้ตัดสินใจ และก้าวเดินไปอย่างมั่นในใจในท่ามกลางสถานการณ์และผลลัพธ์ ที่มิอาจมีผู้ใดคาดเดาได้ 

บทเรียนเพื่อการเปลี่ยนแปลงของสถาบันอาศรมศิลป์

เมื่อถึงเวลาอุดมศึกษาต้องปรับตัว จากการทบทวนปัจจัยต่าง ๆ ทั้ง 2 ประเด็นข้างต้น รวมทั้งข้อเสนอของศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ได้แสดงให้เห็นทั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติ ซึ่งรวบรวมมาจากประสบการณ์ ทั้งต่างประเทศและเปรียบเทียบกับของไทย     ตลอดจนได้ให้หลักคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน แทบจะเรียกว่าเป็น “คู่มือ มหาวิทยาลัย (หุ้นส่วน) แห่งอนาคต” ก็ว่าได้    ดังนั้นสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งเป็นอุดมศึกษาเอกชนขนาดเล็กแห่งหนึ่ง และตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและเงียบเชียบนี้อาจจะหนักหน่วงกว่ามหาวิทยาลัยขนาดใหญ่  หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ เพราะได้เผชิญกับความเสี่ยงของการอยู่รอดอย่างเข้มข้น   ตั้งแต่จำนวนนักศึกษาที่น้อยอยู่แล้วก็แทบจะหายไปเลย   จึงจำเป็นต้องยอมรับความท้าทาย ด้วยเรื่องการปรับเปลี่ยน mindset และ competency ของบุคลากร ให้มีทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 และนำมาปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงาน ตั้งแต่การจัด innovative platform (in Campus & in Real Sector) เพื่อรองรับการบูรณาการภารกิจทั้ง 3 ด้าน คือ การสร้างงานบริการวิชาการ การวิจัย และการเรียนการสอนไว้ด้วยกันบนฐานงานจริงที่ผสานกับหุ้นส่วนในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน หรือภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ เป็นต้น     อย่างไรก็ดี จากกรณีของสถาบันอาศรมศิลป์ ในช่วง 5 ปีของการเปลี่ยนผ่านนี้ แน่นอนว่า สถาบันฯ ต้อง เผชิญกับความย้อนแย้งของการดำเนินงานไปในทิศทางใหม่ และความซับซ้อนของปัญหาภายในมากมาย เป็นกรณี ที่ควรนำมาใคร่ครวญเพื่อทำความเข้าใจ ถึงกระบวนการปรับเปลี่ยนตนเองซึ่งแม้จะยังไม่มีคำตอบว่าจะประสบ ผลสำเร็จหรือไม่ก็ตาม     แต่บทเรียนจากการเรียนรู้ในการปรับตัวก็มีความหมายต่อการคลี่คลายสถานการณ์ใน ปัจจุบันไปสู่อนาคตอันใกล้ได้ไม่มากก็น้อย    แม้สถานการณ์จะหนักหน่วงแต่ในขณะเดียวกัน เราก็ยังเห็นโอกาสของการปรับตัว และด้วยความที่สถาบันฯมีกัลยาณมิตรที่ยอดเยี่ยม เช่น ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก นายกสภาฯท่านแรก ที่วางรากฐานอุดมการณ์ของสถาบันตั้งแต่แรกตั้งที่ช่วยให้การดำเนินงานของสถาบันฯ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างประโยชน้ให้กับสังคมตามวิสัยทัศน์ของสถาบันฯ ที่ว่า “อุดมศึกษาทิศทางใหม่ ซึ่งมุ่งสู่การเคลื่อนอารยธรรมทางปัญญาของสังคม ผ่านวิถีชุมชนแห่งการเรียนรู้“ และ ต่อมา ท่านศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ได้ให้ความกรุณาและให้เกียรติดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์ท่านที่สอง รวมทั้งท่านผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้ทรงภูมิปัญญาอื่นๆ ใน ฐานะกรรมการและที่ปรึกษา เช่น อาจารย์พารณ อิสระเสนา ณ อยุธยา /อาจารย์มีชัย วีระไวทยะ/ศาสตราจารย์ อรศิริ ปาณินท์ /อาจารย์ศิริชัยชาญ ฟักจำรูญ /นายแพทย์ประพจน์ เภตรากาศ/ ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย และอีก หลากหลายท่าน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ตรงในการทำงานทั้ง ทางด้านวิชาการและการทำงานในระดับปฏิบัติการร่วมกับชุมชน   ด้วยวิธีการหรือวิธีคิดมุมมองที่สร้างสรรค์     นำหน้าสังคมมาโดยตลอด    ทำให้สถาบันอาศรมศิลป์ได้รับคำชี้แนะให้เดินมาในทิศทางที่เข้าใกล้กับการเปลี่ยนแปลงสู่ “มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม” เสมอมา     แม้เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่พลิกผัน     เผชิญความท้าทายต่อการอยู่รอดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนขนาดเล็กนี้ อย่างไม่อาจคาดการณ์ได้     สถาบันจึงต้องรีบปรับตัวโดยเร็ว  ก่อนที่จะถูก disruption ด้วยเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่ก้าวหน้า โดยการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันของบุคลากรบนสถานการณ์ดังกล่าว     จากพื้นฐานวัฒนธรรมองค์กรการเรียนรู้ร่วมกันมาก่อน และจากกระบวนการปรับตัวดังกล่าวในช่วงห้าปีที่ ผ่านมา     เราได้เกิดการเรียนรู้ขึ้นอยาง่ลึกซึ้งกว้างขวาง และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ ตลอดจนพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้จากภายในของบุคคลอย่างเข้มข้น     อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสถาบันอื่นๆอย่างกว้างขวาง     ผู้เขียนจึงขอใช้บทความนี้สะท้อนบทเรียนอันยากลำบากที่ผ่านมาและยังจะ ไม่ผ่านไปได้ง่ายๆ     และดูเหมือนจะเป็นวงจรของการปรับสมดุลในระบบนิเวศการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษาที่ทุกคนทั้งในและนอกสถาบันจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนต่อไปอีกจนเป็นกิจนิสัยใหม่ที่อยู่กับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาและไม่ขาดทุน     ในที่นี้จึงขอเสนอตัวอย่างการเรียนรู้บางส่วนที่เป็นความซับซ้อนยากที่พบได้ในยามปกติ     ถือว่าเป็นความ รับรู้แบบ new normal ดังต่อไปนี้    ตัวอย่างเช่น ปัญหาความไม่สมดุลของการให้ค่าหรือให้ความสำคัญระหว่างสภาพการดำเนินงานจริง ที่เน้นการบริการวิชาการเพื่อสังคมในสถานการณ์จริง กับการให้ค่าการประเมินสถาบันฯ ที่ผลการประเมินค่อนข้างเป็นความกังวลของสถาบันในกรณีของวิทยฐานะของคณาจารย์ในสถาบันฯ ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างงานบริการ วิชาการ และงานวิจัยในโครงการต่างๆ มากกว่าการทำผลงานทางวิชาการ เป็นต้น     และความไม่สมดุลอีกอย่างหนึ่งคือ ใน ภาระงาน เช่นการประเมิน SAR ในทั้ง 2 ระดับ คือระดับหลักสูตร และระดับสถาบัน ซึ่งจำเป็นต้องอยู่ในกรอบกติกาของการอุดมศึกษาตามกฎหมาย ค่อนข้างเป็นภาระส่วนเกินของสถาบันขนาดเล็ก     ทั้ง 2 กรณี ดังกล่าว ไม่เพียงสะท้อนปัญหาความขัดข้องของการจัดการที่ติดค้างมาเป็นเวลานานเท่านั้น   หากแต่ได้สะท้อนปัญหาในส่วนลึกที่ซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง ทั้งนี้เพราะสถานการณ์ความไม่สมดุลนั้น ยังไม่อาจสรุปว่าเป็นปัญหาโดยตัวของมันเอง เพราะภายใต้กรอบกฎหมาย เช่น พรบ. การอุดมศึกษาฉบับเดิม     สถาบันอาศรมศิลป์เองมิได้ถูกปิดกั้นการดำเนินงาน ตามวิสัยทัศน์ของตน หากก็ยังสามารถที่จะสร้างโอกาสให้กับการดำเนินงานของสถาบันอย่างที่ควรจะเป็นและได้ดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสถาบันเป็นต้นมา จนเกิดผลเชิงประจักษ์ได้ไม่มากก็น้อย    หากแต่สัดส่วนของการให้ค่าการประเมินผลงานเชิงประจักษ์ในด้านนี้ ซึ่งเป็นคุณลักษณะเฉพาะของสถาบันยังไม่อาจเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ของการประเมินขึ้นได้    หากมองปัญหาทั้งสองนี้อย่างผิวเผินอาจจะสรุปว่า ในเมื่อให้ค่ากับการทำงานมากกว่าการเสนอ ผลงานทางวิชาการ จึงเป็นสาเหตุที่บุคลากรทุ่มเทเวลาและความสามารถไปที่จุดนั้นเป็นลำดับแรก และเป็นได้ยาก ที่จะทำให้เกิดคุณภาพสูงทั้งสองอย่างพร้อมๆกัน    หรือกรณีวิธีการประเมิน 2 ระดับ ที่กลายเป็นการแบกรับภาระงาน   มากกว่าจะเป็นการประเมินตนเองเพื่อพัฒนา    ดังนั้นจึงน่าจะยังมีบางเรื่องที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังปัญหาดังกล่าว    

ต่อมา เมื่อสถานการณ์ยิ่งเข้มข้นขึ้นและเรียกร้องการปรับตัวอย่างพลิกผันนั่นแหละ ปัญหาที่แท้จริงจึง สะท้อนออกมาได้ชัดเจน   นั่นก็คืออยู่ที่ mindset ของบุคลากรเอง   ซึ่งในด้านหนึ่งก็มีความพอใจและคุ้นเคยกับการ อยู่ใน comfort zone ทั้งในพื้นที่ปฏิบัติการโครงการต่างๆ  รวมทั้งกฎกติกาบางอย่างภายใต้กฎหมาย    เสมือนมีที่พึ่งพิงที่มั่นคง   แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับละเลยหรือผลักไสกติกาในส่วนที่เป็นมาตรฐานทางวิชาการ    ซึ่งแม้ว่าจะเป็นฐานคิดแบบปัจเจกนิยม และแยกส่วนไม่เชื่อมโยงระหว่างงานปฏิบัติกับงานวิชาการ    แต่แท้ที่จริงแล้ว นั่นคือความท้าทายที่เราจะต้องสร้างนวัตกรรมมาทดแทนมาตรฐานการประเมินนี้ขึ้น     ปัญหานี้จึงย้อนกลับเข้าไปในตัวผู้ปฏิบัติงาน  โดยเฉพาะวิธีคิดมุมมองที่อยู่ในวังวนของความเคยชิน ทักษะ เดิม ความชอบ/ไม่ชอบ    แต่หากเมื่อใดเขาสามารถก้าวออกจากมุมมองงานวิชาการแบบเดิมออกไปแล้ว  จะพบมุมมองงานวิชาการในทางกลับกัน กล่าวคือมีความเชื่อมโยงกับภาคปฏิบัติ และสามารถสังเคราะห์ถอดความรู้จากฐานการปฏิบัติบนบริบทและสถานการณ์จริง ซึ่งประกอบด้วยหุ้นส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย  ทั้งในฐานะที่เป็น input factor ของงานและเป็นผู้รับผลประโยชน์ หรือผลกระทบจริง (beneficiaries)    เพื่อนำมาเสริมพลังการอธิบายสาระความรู้ที่สกัดออกมาจากการปฏิบัติให้เกิดการตรวจสอบทางทฤษฎี  หรือการทำความเข้าใจร่วมกับผู้อื่น ใน แวดวงวิชาการเดียวกัน เพื่อเป็นโจทย์และการขยายผลได้อย่างสร้างสรรค์ต่อไปได้     ดังนั้นแม้จะดูเหมือนว่า สถาบันอาศรมศิลป์กำลังเดินอยู่ในแนวทางของอุดมศึกษาแห่งอนาคตอยู่บ้าง    คือ ในส่วนของการเปิด “พื้นที่นวัตกรรมการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน” และ “บูรณาการ 3 ภารกิจ” ลงบนการ ทำงานนั้นๆ    แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับติดเพดาน mindset และ competency ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเป็น อันดับแรก และกลายเป็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง    จึงกลายเป็นแรงเฉื่อยที่สวนทางกับความคิดสร้างสรรค์ในการเดินไปข้างหน้าอย่างมีพลัง    นั่นก็คือการไม่กล้าปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการทำงานของตนเองให้ก้าวพ้นการยึดเหนี่ยวในกรอบคิดเดิมมาสู่ creative zone อย่างแท้จริงได้     และด้วยกรอบคิดเดิมอีกเช่นกัน ที่พยายามอ้างกรอบกฎหมายและการตีความตามแบบแผนของการเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวอย่างหยุดนิ่ง แต่ขาดการสะท้อนย้อนมองตนเอง เพื่อปรับปรุงทั้งทักษะทางวิชาการในด้านการสร้างความรู้ให้เกิดผลงานวิชาการ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากการปฎิบัติงานจริง และปรับปรุงให้กฎหมายอยู่ในอำนาจของการตีความใหม่อีกระดับหนึ่งได้    

ดังนั้น ผู้บริหารจึงต้องตระหนักถึงปัญหาสำคัญอันดับแรกนี้เป็นเบื้องต้น   แล้วแสวงหาวิธีการที่จะพาบุคลากรทุกคนเข้าสู่ “กระบวนการร่วมเรียนรู้ใหม่” ที่วางอยู่บนสถานการณ์จริงตรงหน้า  เช่น การจัดกระบวนการ ทบทวนวิสัยทัศน์ของสถาบันฯ โดยอิงกับบริบทของการปฏิรูปการเรียนรู้ และบทบาทการรับใช้สังคม    มิให้ทฤษฎี ของ pragmatism กลายเป็นลัทธิอันต้องสยบยอม    ในที่สุดผลจากการเข้าร่วมเรียนรู้กันในเวทีแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์อย่างต่อเนื่อง จึงเห็นพ้องต้องกันให้จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม” (Holistic Learning Center/HLC) ขึ้นในสถาบันฯ เมื่อปี พศ. 2560 และเมื่อดำเนินการต่อมาได้พบกับปัญหาที่หน่วยปฏิบัติการใหม่นี้ ที่ดูเหมือนจะมี อิสระในการจัดการตนเอง และสามารถท้าทายกับปัญหาความเสี่ยงทางการเงินได้บางระดับ แต่กลับไม่สอดคล้อง กับโครงสร้างที่เป็นอยู่    และไม่สามารถเป็นองคาพยพหนึ่งของสถาบันที่มีประสิทธิภาพได้    จึงได้เริ่มจัดกระบวนการทบทวนเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารสถาบันฯใหม่ ให้สอดคล้องกับสภาพจริงของภารกิจที่กำลัง ดำเนินการอยู่     ซึ่งได้ข้อสรุปเป็นหลักการและแนวทางรวมทั้งรูปธรรมของโครงสร้างใหม่    นำเสนอเข้าคณะกรรมการสภาสถาบันพิจารณาไปแล้ว และอยู่ในระหว่างปรับเปลี่ยน จัดทำรายละเอียดให้ชัดเจน    ซึ่งปรากฏว่าเมื่อผู้บริหารตัดสินใจให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้ร่างข้อกำหนด/ข้อบังคับของสถาบันด้วยตัวเอง    แม้ระยะแรก หลายคนจะยังมีระยะห่างเพราะคิดว่าควรเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการร่างเท่านั้น ตนเองไม่มีความรู้ทางด้านกฎระเบียบเหล่านี้เลย     แต่เมื่อเปิดโอกาสให้มีการระดมความคิดเห็นจากบุคลากรทุกฝ่ายทุกหน่วยอย่างทั่วถึง ตั้งแต่คณาจารย์  ผู้ปฏิบัติงานร่วมจากภายนอกสถาบัน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของสถาบัน เพื่อยกร่างข้อกำหนดและ ข้อบังคับของสถาบันชุดใหม่ ให้ตอบรับกับภารกิจจริงของสถาบัน รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับ พรบ. การอุดมการ อุดมศึกษาฉบับใหม่ ที่กำลังรอการประชาพิจารณา และจะประกาศเป็นกฎกระทรวงเพื่อมีผลบังคับใช้ในไม่ช้านี้    เวที การเรียนรู้ในเรื่องนี้กลับกลายเป็นการสร้างความเป็นเจ้าของ หรือ engagement   ที่ดึงตนเองเข้าร่วมรู้ร้อน รู้หนาว กับความเป็นไปของอนาคตขององค์กรเสียเอง 

จากตัวอย่างกระบวนการปรับเปลี่ยนคน ปรับเปลี่ยนสถาบันอาศรมศิลป์ ด้วยการสร้างเวทีการเรียนรู้ดังกล่าวเหล่านั้น    จึงเกิดความเข้าใจเชิงประจักษ์ต่อข้อเสนอของท่านอาจารย์คุณหมอวิจารณ์  ในเรื่องของการปรับ mindset ก็ดี การสร้าง innovative platform หรือ “พื้นที่นวัตกรรม” ขึ้นทั้ง “in campus” และที่เชื่อมโยงกับ ภายนอกองค์กร “in real sector” นั้นก็ดี ว่ามีความสำคัญมากที่สุดในการเปลี่ยนเกมส์ใหม่    เพื่อให้ส่งผลเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างการพลิกผันและการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งอนาคตอย่างจริงจังและถอนรากถอนโคน    เปรียบเสมือนการยิงปืน 2 นัดได้นกทั้งฝูง    เพราะนอกจากจะเปิดโอกาสให้บุคลากรของสถาบันได้ทบทวนสมรรถนะของตน ความเป็นองค์กรของตนเองอย่างลึกซึ้งทั่วถึง   และเกิดความพร้อมที่จะดำเนินภารกิจแบบบูรณาการทั้ง 3 ด้านร่วมกับ “หุ้นส่วน” ที่หลากหลายไปพร้อมๆ กันแล้ว    platform พื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องที่ critical คือความอยู่รอดขององค์กรนี้ ยังสามารถพัฒนาไปเป็นพื้นที่สำหรับฝึกฝนทักษะใหม่   และหล่อ หลอม mindset ของบุคลากรให้พร้อมรับมือทุกสถานการณ์ ไปบนการทำงานนั้นๆด้วยความสร้างสรรค์ และไม่สิ้นสุด    

จากการทบทวนแนวคิดสำคัญๆ ทั้งในและต่างประเทศได้ช่วยเปิดมุมมองที่กว้างและเชื่อมโยง   จนสามารถ มองเห็นถึง ระบบนิเวศการเรียนรู้  ซึ่งมีองค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนรู้ใหม่ของมนุษย์ใน ศตวรรษที่ 21 และการเปลี่ยนแปลงของระบบการจัดการที่เป็นระบบเปิดของสถาบันอุดมศึกษา    รวมทั้งเรื่องราวบทเรียนบทที่หนึ่งของอาศรมศิลป์ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนเล็กๆแห่งหนึ่งนี้โดยสังเขปแล้ว     สุดท้ายนี้จึงหวังว่าจะเกิดบทเรียนที่สองและที่สามอื่นๆตามมา  และได้ร่วมการสะสมประสบการณ์ความรู้แห่งยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงอุดมศึกษาไทย สู่อนาคตใหม่ ที่มีคุณค่าต่อสังคมและประเทศในปัจจุบันทันทีได้ไม่มากก็น้อย    และอาจจะเห็นการเกิดขึ้นของ Co-Creative University ในแวดวงของมหาวิทยาลัยไทยในไม่ช้า    และขอขอบคุณ สมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์ และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท) เป็นอย่างยิ่งที่ได้สร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใหม่ๆ มาโดยตลอด และเปิดโอกาสให้ส่งบทความวิชาการเพื่อร่วมเผยแพร่ใน หนังสือ”วิถีใหม่อุดมศึกษาไทย” ในครั้งนี้เพื่อร่วมเป็นพลังสร้างสรรค์  “ระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่ของอุดมศึกษาไทย” ต่อไป

 รายการอ้างอิง

 Carey, K. (2015). The End of College : Creating the Future of Learning and the University of Everywhere. New York : Riverhead Hardcover. 

Fuller, S. (2004). Philosophy, rhetoric, and the end of knowledge: A new beginning for science and technology studies. Mahwah, N.J: Lawrence Erlbaum Associates. 

Mezirow, J.,(1997). Transformative Learning: Theory to Practice. In P. Cranton (ed.), Transformative Learning in Action: Insights from Practice. 

Miller, J. P. (2005). Holistic learning and spirituality in education: Breaking new ground. New York: State University of New York Press. 

วิจารณ์ พานิช. (2562).ปาฐกถาเกียรติยศศาสตราจารย์ นายแพทย์กษาน จาติกวนิช ครั้งที่ 10 งานครบรอบ 50 ปี วัน พระราชทานนาม  131 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต”. นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล

 สถาบันคลังสมองของชาติ. (2561). มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมที่สหราชอาณาจักร (University Role : Public Engagement in UK) .กรุงเทพฯ : สถาบันคลังสมองของชาติ. 

สุมน อมรวิวัฒน์. (2559). อุดมศึกษา : ด้วยหวังให้บัณฑิตจิตดีงาม. กรุงเทพฯ : มปท. 

สุวิทย์ เมษินทรีย์. (2563). โลกเปลี่ยนคนปรับ รวมไทยสร้างชาติ วิถีใหม่สู่ความยั่งยืน . กรุงเทพฯ : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 

อมรวิชช์ นาครทรรพ.(2556). การอุดมศึกษาไทยในรอบศตวรรษ : จากโอกาสและความหวังในอดีต สู่วิกฤตคุณค่าปริญญาใน ยุคอุดมศึกษาประชานิยม. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

 

 

หมายเลขบันทึก: 691171เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2021 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2021 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท