ชีวิตที่พอเพียง 3979. มนุษย์เส้นตรง


 

              คำสัมภาษณ์ Daniel Kahneman ของ นสพ. The Guardian (๑)    เกี่ยวกับหนังสือเล่มใหม่ของท่าน Noise : A Flaw in Human Judgement (2021)     ทำให้ผมรู้จัก  “มนุษย์เส้นตรง” (linear person)    ว่ามนุษย์ทุกคนเป็น “มนุษย์เส้นตรง”    ไม่คุ้นเคยกับสภาพที่เพิ่ม หรือเปลี่ยนแปลง แบบ exponential 

 ผมชอบสังเกตคนเก่งๆ ระดับอัจฉริยะมาตั้งแต่เด็ก   เพื่อหาทางพัฒนาตนเองบ้าง ด้วยความเจียมตัวว่าเป็นคนทื่อๆ ไม่ปราดเปรียวอย่างเพื่อนๆ อีกหลายคน   มาในระยะหลังผมเกิดความสงสัยว่า ผมเปลี่ยนจาก “มนุษย์เส้นตรง” มาเป็น “มนุษย์ซับซ้อน” ได้อย่างไร 

      “มนุษย์ซับซ้อน” มองกิจกรรม หรือเรื่องราวต่างๆ ว่ามีหลายระนาบ    และตีความได้หลายแบบ คล้ายมีชีวิตในตัวของมันเอง   ชีวิตการทำงาน และการอ่าน ค่อยๆ สอนให้ผมเข้าใจ “ระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว” (complex-adaptive systems)    จึงได้เขียนเรื่อง complex-adaptive systems ไว้มากมาย (๒)

กลับมาที่คำสัมภาษณ์ Daniel Kahneman    ประเด็นที่เขาคุยกันเริ่มด้วยเรื่องการระบาดของโควิด ๑๙    โยงสู่เรื่องการเปลี่ยนแปลงแบบเส้นโค้งตวัดขึ้น (exponential)    ซึ่งฉลาดขนาดท่านยังบอกว่าเข้าใจยาก    เพราะเราคุ้นอยู่กับโลกที่เปลี่ยนแปลงเป็นเส้นตรง    ตัวอย่างหนึ่งของการเติบโตแบบ exponential คือ โซเชี่ยลมีเดีย   

การสนทนาโยงสู่หนังสือ Noise ที่ Kahneman บอกว่า เน้นที่ system noise ที่เกิดขึ้นในองค์กรหรือในระบบ    การตัดสินใจโดยคนต่างคนที่ทำหน้าที่เดียวกัน เช่นผู้พิพากษา ผู้ตัดสินใจจ่ายค่าประกัน  หมอวินิจฉัยผู้ป่วย   แต่ตัดสินใจแตกต่างกันมาก ทั้งๆ ที่ใช้ความรู้หรือเกณฑ์ชุดเดียวกัน    สภาพของการตัดสินใจแตกต่างกันเช่นนี้เรียกว่า noise  และมีมากกว่าที่คนทั่วไปคิดหลายเท่า  อาจถึงสิบเท่า    ที่จริงคนทั่วไปไม่คิดว่าจะมีความแตกต่างในลักษณะ noise ด้วยซ้ำ   

การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นเร็วที่สุดคือเรื่องเทคโนโลยีไอที    โดยเฉพาะเรื่อง AI – artificial intelligence   เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ exponential   ที่จะทำให้มนุษย์เราลำบากมาก เพราะโดยธรรมชาติเป็น “มนุษย์เส้นตรง”

แต่ผมเถียง   ว่าคนเราฝึกฝนและเรียนรู้ให้เข้าใจความซับซ้อนได้    และรู้เท่าทันว่าตนเองไม่เข้าใจความซับซ้อนบางเรื่องหรือหลายเรื่อง    อย่างที่ Kahneman ตอบคำถามอย่างถ่อมตน    ผมคิดว่าคนที่ตระหนักในความซับซ้อนของเรื่องต่างๆ จะเป็นคนถ่อมตน    ความถ่อมตนเป็นคุณสมบัติที่ดี    ดีทั้งในด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น  และดีต่อตนเองในแง่ที่มันกระตุ้นให้เราแสวงหาความรู้ความเข้าใจเรื่องต่างๆ ในหลากหลายแง่มุม      

ความเข้าใจเรื่อง noise   ช่วยให้เราเข้าใจความซับซ้อน และไม่คงเส้นคงวา ของพฤติกรรมมนุษย์   หนังสือเล่มนี้แนะนำวิธีลด system noise   ในงานที่ต้องการความแม่นยำคงเส้นคงวา   

 วิจารณ์ พานิช

๓ มิ.ย. ๖๔        

 

หมายเลขบันทึก: 691088เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2021 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2021 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท