สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก  ๘. กรอบปฏิบัติที่ ๔  พูดเพื่อสอน (teaching talk)


 

บันทึกชุด สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก นี้   เขียนเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learning (ที่ในบันทึกชุดนี้ใช้คำว่า การเรียนรู้เชิงรุก) แนวทางหนึ่ง    โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตามด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)   ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น    ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน    เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สนุกเร้าใจ (student engagement)   กระตุ้นสมองให้เจริญงอกงาม  และสร้างพัฒนาการรอบด้านตามแนวทางของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑    เป็นบันทึกที่เขียนขี้นจากการตีความหนังสือและรายงานวิจัยของศาสตราจารย์ Robin Alexander    นักวิจัยผู้ยิ่งใหญ่ด้านการศึกษาของอังกฤษ    สังกัดมหาวิทยาลัย  Warwick  และมหาวิทยาลัย Cambridge     คือหนังสือ A Dialogic Teaching Companion (2020) (๑)  และรายงานวิจัย Developing  dialogic teaching : genesis, process, trial (2018) (๒)    บันทึกนี้ใช้คำไทยว่า “สอนเสวนา” ในความหมายของ dialogic teaching

บันทึกนี้ตีความจากหนังสือ A Dialogic Teaching Companion (2020) บทที่ ๗ หัวข้อ Repertoitre 4 : Teaching Talk   และส่วนหนึ่งของ Appendix I

นี่คือการพูดของครู เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของศิษย์     

ที่จริงคำพูดเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนตามรายการในบันทึกที่แล้ว ก็เป็นคำพูดที่ครูใช้ในการสอนด้วยทั้งสิ้น   แต่งานวิจัยบอกว่า  ครูใช้คำพูด ๔ ประการต่อไปนี้มากกว่า ได้แก่ พูดเพื่อจัดการสถานการณ์ (transactional)    พูดเพื่อบอกกล่าว (expository)    พูดเพื่อถาม (interrogatory)    และพูดเชิงประเมิน (evaluative) 

ครูที่เก่ง สามารถใช้พลังของความรู้ความเข้าใจกลไกการเรียนรู้ของมนุษย์    ความรู้ความเข้าใจสาระวิชา    และใช้คลังคำพูดของตนที่สั่งสมมา เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของศิษย์   ไม่ใช่เพียงใช้การพูด ๔ หมวดข้างบนเท่านั้น   

ปัจจัยที่ทำให้ทักษะการพูดเพื่อเรียนรู้ของเด็กเจริญงอกงามมาจากครูร่ำรวยคลังคำพูด และคำกระตุ้นการแลกเปลี่ยน  ผสานกับการเป็นครูที่ทรงคุณค่าความเป็นครู  และเน้นสร้างบรรยากาศด้านการต่างตอบแทน (reciprocity) หรือเอื้อเฟื้อต่อกันและกัน 

อย่างไรก็ตาม หนังสือ A Dialogic Teaching Companion แนะนำการพูดเพื่อสอน ๘ ประการต่อไปนี้ 

  • พูดเพื่อการท่องจำ (Rote)    เพื่อให้นักเรียนจำข้อเท็จจริง  สูตร กิจกรรมประจำวัน หรือข้อความในตำรา  โดยการพูดซ้ำๆ 
  • พูดเพื่อช่วยทวนความจำ (Recitation)    ครูใช้คำถามสั้นๆ ให้นักเรียนตอบ  เป็นระยะๆ เพื่อให้นักเรียนทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว   หรืออาจถามเพื่อย้ำสิ่งที่เป็นพื้นความรู้เดิมที่จะต้องเมาต่อยอดความรู้ใหม่     
  • พูดเพื่อสอน (Instruction)    บอกนักเรียนว่าจะทำอะไรต่อไป และทำอย่างไร 
  • พูดเพื่อบอกกล่าว (Exposition)    คล้ายการบรรยายสั้นๆ     บอกข้อมูลหรือเรื่องราว  อธิบายความคิดหรือวิธีการ  หรือบอกให้จด
  • พูดเพื่อนำการอภิปราย (Discussion)   เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด และข้อมูล   เพื่อเผยมุมมองที่แตกต่างออกมา 
  • พูดเพื่อเสนอให้มีการตรวจสอบเหตุผลหรือข้อมูล (Deliberation)   เพื่อชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือของแนวความคิด  ข้อคิดเห็น หรือหลักฐาน     
  • พูดเพื่อให้มีการโต้แย้ง (Argumentation)   ให้มีการเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่งพร้อมข้อมูลหลักฐาน  และเชื้อเชิญให้มีผู้โต้แย้ง 
  • สานเสวนา (Dialogue)    เป้าหมายคือความเข้าใจหรือมติร่วมของกลุ่ม   ผ่านการตั้งคำถามอย่างเป็นระบบ และอย่างตรวจสอบ   มีการถามตอบอย่างเป็นพลวัต   ในลักษณะของการทำงานร่วมกันเป็นทีม ต่างตอบแทน และช่วยเหลือกัน   ผ่านการตรวจสอบเข้มข้นจริงจัง เพื่อเป้าหมายอันทรงคุณค่าร่วมกัน   

ท่านผู้อ่านอ่านรายการการพูดเพื่อสอนทั้ง ๘ ประการแล้ว อาจงง ว่าการสอนสมัยใหม่ยังสอนให้ท่องและช่วยทวนความจำอยู่อีกหรือ    คำตอบคือใช่    การเรียนรู้ที่ดีต้องเรียนจากง่ายไปยาก  และจากผิวไปสู่ลึกและเชื่อมโยง    ตามรายละเอียดในหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง (๓)     แต่การสอนแนวสอนเสวนาจะไม่หยุดอยู่ที่ IRE/IRF    แต่ครูจะมีคำพูดเพื่อให้เกิดการขยายความ (extension) จากคำตอบที่ได้รับ    เริ่มจากการถามหาคำตอบที่ต่าง พร้อมเหตุผลและหลักฐานสนับสนุน       

การเรียนแนวสอนเสวนา ให้คุณค่าต่อข้อเท็จจริง และสูตรต่างๆ ด้วย   แต่ไม่หยุดนิ่งอยู่แค่นั้น   ยังมีการนำความรู้เหล่านั้นไปทดสอบในสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย    เพื่อให้เห็นว่า ในชีวิตจริงความรู้ไม่ได้แข็งทื่อหยุดนิ่ง   แต่มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงขยายความไปตามสถานการณ์ต่างๆ           

การพูดเพื่อสอน จึงใช้การพูดหลากหลายแบบ   แต่ที่ใช้มากที่สุดคือการพูด ๔ ประการหลัง คือ พูดเพื่อนำการอภิปราย    พูดเพื่อเสนอให้มีการตรวจสอบ    พูดเพื่อให้มีการโต้แย้ง    และพูดสู่สานเสวนา     ซึ่งเป็นการพูดของครู ที่กระตุ้นให้นักเรียนคิดซับซ้อน คิดระดับสูง (higher-order thinking)   

วิจารณ์ พานิช

๑๗ เมษายน ๒๕๖๔

         



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท