กรณีศึกษา การศึกษาของลูกน่าจะใช้เป็นกรณีศึกษาได้นะ..พ่อว่า


พ่อจำได้..พี่ชายของหนู(พี่เพชร)เรียนจบจากโรงเรียนนี้(อนุบาลเสาวลักษณ์ หมู่บ้านการเคหะสุราษฎร์ธานี)
และจบออกไป เกือบ 10 ปี พ่อถึงมีหนูมาเป็นลูกสาวของพ่อให้พ่อเลี้ยงอีกคน ...

พฤติกรรมการเรียนของพี่เพชรเมื่อครั้งยังเล็ก  พ่อมานั่งนึกย้อนหลังกลับไปร่วม 20 ปี

ภาพความทรงจำวัยเรียนของพี่เพชรที่พ่อยังพอจำได้มันก็แว๊ปผ่านเข้ามา  หลายฉากหลายตอน

“พี่เพชรเป็นเด็กที่ไม่ค่อยชอบอยู่ในห้องเรียน วันๆ ก็ชอบไปนั่ง ไปนอน ไปทำกิจกรรมเล็กๆ อยู่แต่ในห้องธุรการของโรงเรียนแห่งนี้เสมอและบ่อยมาก ๆ  แต่พ่อกลับชื่นชมทางโรงเรียนและคุณครูประจำชั้น ที่ไม่เคยบ่น ไม่เคยว่า  ไม่เคยตี ไม่เคยบังคับหรือคะยั้นคะยอให้พี่เพชร กลับเข้าห้องเรียนแต่อย่างใด เมื่อชอบนั่งในห้องธุรการ ก็ทำกิจกรรมบ้าง เรียนบ้าง และส่วนใหญ่ก็สอนกันตรงนั้น ตรงห้องธุรการนั้นแหละ”

มาถึงวันนี้  วันที่พี่เพชร เรียนจบระดับอุดมศึกษา พ่อว่านะ!!สิ่งหนึ่งที่พี่เพชร เอาติดมาด้วยตั้งแต่สมัยพี่เพชรเรียนในวัยเด็กนั่นคือ...  

การชอบอยู่นอกห้องเรียน  พ่อไม่เคยเห็นหนังสือเรียนของลูก ไม่เคยเห็นสมุดจด  พี่เพชรสอบผ่านโดยไร้หนังสือเรียน (หากจะมีอยู่บ้าง ก็ซุกอยู่ตามซอกตามเหลือบของห้องนอน... )

พ่อเคยถามพี่เพชรครั้งหนึ่งตอนพี่เพชรสอบว่า...”พ่อไม่เคยเห็นลูกอ่านหนังสือเลย...ลูกจะสอบได้หรือ?..ทำได้หรือ?”

พี่เพชร พูดตอบพ่อว่า   “มันอยู่ในหัวครับพ่อ”  (เชื่อมั้ย!!...พ่อเองก็งง  เพราะชีวิตของพ่อ..พ่อไม่เคยเรียนหนังสือแบบนี้)

อยู่มาจนกระทั่งวันหนึ่ง  ผู้รู้ทางด้านการศึกษาท่านหนึ่ง ได้พูดคุยกับพ่อว่า  “ไม่ต้องห่วงเขา ไม่ต้องกังวลในตัวลูก หากลูกชอบที่จะเรียนแบบนี้ ทำแบบนี้ ต้องปล่อยเขา  มั่นใจในตัวเขา และเชื่อในตัวลูก”

ถึงแม้นว่าพี่เพชร จะไม่ได้เป็นดั่งใจพ่อ แต่ลูกก็มีความเป็นตัวของตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเอง และรางวัลเชิดชูเกียรติที่ลูกได้รับจากมหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็น นักศึกษาผู้มีพัฒนาการยอดเยี่ยม จึงเป็นเสมือนหนึ่งสิ่งที่บอกกับพ่อได้ถึง ความสำเร็จในชีวิตของลูกด้านหนึ่ง มันทำให้พ่ออดคิดถึงคำพูดของผู้รู้อีกท่านหนึ่ง " อาจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช" ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ในบทความทางด้านการศึกษา ใจความว่า“เด็กเขามีความฉลาดหลายแบบ การศึกษาในตอนนี้มันมีความเหลื่อมล้ำในการตีความเรื่องความฉลาด เพื่อนผมหลายคนเรียนหนังสือไม่ได้เรื่อง แต่มีหัวศิลปะ เป็นนักกีฬาขณะที่ครูก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความถนัดของเขา ครูจึงต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ และหาทางทำให้สิ่งที่เขาถนัดเป็นตัวฉุดด้านอื่นๆ ที่เขาไม่ถนัดขึ้นไปด้วย”  

อาจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ท่านเน้นย้ำครับว่า “การที่จะบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาได้นั้น ต้องมีตัวแปรสำคัญคือ “คุณภาพของการศึกษาที่เด็กทุกคนควรได้รับ”  มิใช่รูปแบบการศึกษาเดิม ๆ ที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้นะครับ



“การพัฒนาเด็กต้องมีในทุกด้านผ่านมิติ  2 มิติ(กว้าง*ลึก)”  

มิติกว้าง นั้นก็คือ มิติที่มิใช่แค่การพัฒนาเด็กในวิชาความรู้เท่านั้นแต่ดูรวมไปถึงนิสัยใจคอ  การเคารพผู้อื่น การนึกถึงประโยชน์ ส่วนรวมและการมีความมั่นใจในตัวเอง

ส่วน มิติลึก ก็คือ การเรียนเพื่อให้เกิดการพัฒนาชีวิตมิใช่แค่การเรียนแบบผิวเผิน ไม่ใช่ตอบข้อสอบครูได้ แต่มันต้องลึกเข้าไปในจิตใจ อารมณ์ และแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม

พ่อว่า...ลูกอาจไม่ใช่ทั้งหมดที่ อาจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ท่านพูดถึง แต่พ่อว่า... ลูกมีบางส่วนที่อาจารย์หมอฯท่านพูดถึงอยู่ในนี้นะ  

นั่นก็คือ... ลูกฉีกกรอบออกมาจากรูปแบบการศึกษาเดิม ๆ ที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้ ...(กรณีของลูกน่าจะใช้เป็นกรณีศึกษาได้นะพ่อว่า)  ขอบกราบขอบพระคุณ ข้อคิดข้อเขียน ของอาจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช  เป็นอย่างยิ่ง ที่พ่อนำมากล่าวอ้างถึงในครั้งนี้ครับ

กราบขอบพระคุณมากครับอาจารย์หมอฯ

วิจารณ์_พานิช
โรงเรียนอนุบาลเสาวลักษณ์
เสาวลักษณ์ หนูรอด
ทะเลชล แสงศรี 

 



ความเห็น (1)

กราบขอบพระคุณอาจารย์หมอฯมากนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท